กระทรวงพลังงานเยือนอะแลสกา เร่งเจรจาโครงการความร่วมมือด้านก๊าซธรรมชาติเหลวร่วมกับรัฐอะแลสกา (Alaska LNG) เพื่อเสริมความมั่นคงด้านพลังงานไทย
- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Saturday, 31 May 2025 13:02
- Written by: admin
- Hits: 296
กระทรวงพลังงานเยือนอะแลสกา เร่งเจรจาโครงการความร่วมมือด้านก๊าซธรรมชาติเหลวร่วมกับรัฐอะแลสกา (Alaska LNG) เพื่อเสริมความมั่นคงด้านพลังงานไทย
นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยผู้บริหารบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) เดินทางไปรัฐอะแลสกา เพื่อพบหารือกับผู้ว่าการรัฐอะแลสกา กรรมาธิการด้านรายได้และกรรมาธิการด้านทรัพยากรธรรมชาติรัฐอะแลสกา ประธานบริษัท Alaska Gasline Development Corperartion และผู้แทนบริษัท Glenfarne ซึ่งเป็นภาคส่วนที่สำคัญทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาโครงการลงทุนเพื่อผลิตและส่งออกก๊าซธรรมชาติเหลวจากรัฐอะแลสกา สหรัฐอเมริกา
การเดินทางไปเจรจาโครงการก๊าซธรรรมชาติเหลวครั้งนี้ เป็นผลสืบเนื่องมาจากการเยือนไทยของ Mr. Mike Dunleavy ผู้ว่าการรัฐอะแลสกา เมื่อเดือนมีนาคม 2568 ที่ผ่านมา ซึ่งสหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของประธานาธิบดี Donald Trump ได้เสนอข้อริเริ่มความร่วมมือกับไทยในการพัฒนาโครงการ Alaska LNG เพิ่มเติมจากความร่วมมือเดิมที่ไทยได้มีการนำเข้าน้ำมันและรับซื้อ LNG จากสหรัฐอเมริกามาอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว
ซึ่งการเจรจาครั้งนี้ เป็นการสนับสนุนแนวนโยบายของกระทรวงพลังงานในการแสวงหาแหล่งเชื้อเพลิงเพื่อรองรับความต้องการใช้พลังงานของไทยที่เพิ่มขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติซึ่งถือเป็นเชื้อเพลิงคาร์บอนต่ำที่มีบทบาทสำคัญในช่วงของการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน
โดยความร่วมมือในโครงการดังกล่าวยังเป็นโอกาสในการสร้างความร่วมมือในการลงทุนและผลิตก๊าซธรรมชาติเพื่อสร้างเสริมความมั่นคงด้านพลังงานของไทยและผลักดันบทบาทของไทยในการเป็นศูนย์กลางการค้า LNG ในภูมิภาคเอเชียในอนาคตอีกด้วย
ทั้งนี้ การเจรจาในครั้งนี้จะช่วยเน้นย้ำความสนใจของไทยที่จะร่วมมือกับสหรัฐอเมริกาในการพัฒนาโครงการ Alaska LNG ในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นในด้านการลงทุนในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม การร่วมลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานในแหล่งดังกล่าว รวมถึง การนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวระยะยาวจากสหรัฐอเมริกาในราคาที่เหมาะสม
ซึ่งแหล่งอะแลสกาถือเป็นแหล่งผลิตปิโตรเลียมที่มีศักยภาพในเชิงพาณิชย์และได้รับการสนับสนุนเชิงนโยบายจากรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีทรัมป์อย่างเข้มแข็ง รวมถึง มีศักยภาพของปริมาณก๊าซสำรองที่พิสูจน์แล้วในพื้นที่ North Slope กว่า 40 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต ที่สามารถผลิตและส่งออก LNG ได้กว่า 40 ล้านตันต่อปี
และส่งออกไปยังภูมิภาคเอเชียได้อย่างสะดวกผ่านทางมหาสมุทรแปซิฟิกในราคาที่แข่งขันได้ เนื่องจากเป็นแหล่งก๊าซที่มีขนาดใหญ่ ต้นทุนเนื้อก๊าซต่ำ และสหรัฐฯ มีการใช้เครื่องจักรในการผลิตและการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ โดยคาดว่าจะสามารถขนส่ง LNG มายังไทยได้ภายใน 10-15 วัน ในขณะที่ขนส่งจากแหล่งในตะวันออกกลางใช้ระยะเวลาถึง 25-30 วัน
นอกจากนี้ คณะฯ ยังได้เข้าพบกับผู้บริหารท้องถิ่นของเมือง Keanu ซึ่งเป็นที่ตั้งของโครงการผลิตก๊าซธรรมชาติของอะและสกาที่ดำเนินการอยู่แล้ว พบว่าประชาชนในท้องถิ่นของรัฐอะแลสกาให้ความสำคัญและให้การยอมรับโครงการฯ
โดยมองว่าเป็นกลไกสำคัญในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานและสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจของท้องถิ่นมาอย่างยาวนาน และยินดีที่จะร่วมมือกับนานาประเทศในการพัฒนาขยายการพัฒนาโครงการ Alaska LNG ในอนาคต
สำหรับ แนวทางการผลักดันความร่วมมือดังกล่าว กระทรวงพลังงานจะมีการพิจารณาปริมาณของการนำเข้าก๊าซจากแหล่ง Alaska LNG ที่มีความเหมาะสม ซึ่งอาจอยู่ที่ประมาณ 3-5 ล้านตันต่อปี โดยขึ้นอยู่กับราคาและเงื่อนไขต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการเจรจา ทั้งนี้ ปลัดกระทรวงพลังงานได้มอบหมายให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน)
ซึ่งเป็นบริษัทผู้ที่ได้รับใบอนุญาตการเป็นผู้ประกอบการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ ( LNG Shipper) ของไทย ให้มีการเจรจาในรายละเอียดของโครงการและพิจารณาความเหมาะสมในเชิงธุรกิจสำหรับการผลักดันความร่วมมือในโครงการ Alaska LNG ร่วมกับฝ่ายสหรัฐฯ ต่อไปEASTW โชว์ผลประกอบการ Q1/68 พร้อมแจ้งเปลี่ยนกรรมการ เดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจน้ำสู่ความยั่งยืน”
นายบดินทร์ อุดล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) อีสท์ วอเตอร์ เปิดเผยว่า หลังจากโครงการวางท่อทดแทนของบริษัทแล้วเสร็จสมบูรณ์ทั้งหมดตั้งแต่ไตรมาส 4/2567 ทำให้ Water Grid ความยาว 553 กิโลเมตรของอีสท์ วอเตอร์กลับมาเป็นโครงข่ายท่อส่งน้ำที่สมบูรณ์ที่สุด สร้างความมั่นคงด้านน้ำให้กับอีอีซี
และให้บริการลูกค้าได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ส่งผลให้ EBITDA ในไตรมาสแรกของปี 2568 เพิ่มขึ้นร้อยละ 39.45 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาดังที่ได้รายงานงบการเงินไตรมาส 1/68 ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สะท้อนให้เห็นว่าบริษัทได้ก้าวผ่านจุดต่ำสุด และคาดว่าผลประกอบการของบริษัทจะดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต
นอกจากนี้ ในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 68 ผู้แทนจากการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ได้ย้ำจุดยืนในการสนับสนุน และเล็งเห็นความสำคัญของ อีสท์ วอเตอร์ ในฐานะผู้พัฒนาระบบบริหารการส่งน้ำและโครงข่ายท่อส่งน้ำสายหลักเพื่อพัฒนาพื้นที่อีอีซี
และส่งกรรมการผู้แทนเพื่อถ่ายทอดและส่งต่อนโยบายรัฐที่อยู่ในขอบเขตหน้าที่ให้รับไปดำเนินการให้สำเร็จอย่างรวดเร็ว กปภ. พร้อมสนับสนุนในการสร้างผลประกอบการที่ดีและมีสถานะทางการเงินที่มั่นคง เพื่อเดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจด้านน้ำสู่ความยั่งยืน ให้สามารถจ่ายเงินปันผลกลับมายังผู้ถือหุ้นและ กปภ. ได้อย่างต่อเนื่อง
ในกรณีที่อาจมีข้อสงสัยเรื่องสถานะทางการเงิน และการพิพาทกับภาครัฐ บริษัทขอชี้แจงว่า บริษัทได้เตรียมเงินสำหรับไถ่ถอนหุ้นกู้ ครั้งที่ 1/2558 ชุดที่ 2 ที่จะครบกำหนดในวันที่ 16 มิถุนายน 2568 จำนวน 1,200 ล้านบาทเรียบร้อยแล้ว ส่วนแผนการออกหุ้นกู้เป็นแนวทางปรกติในการบริหารการเงินของธุรกิจโดยทั่วไป ซึ่งในปี 2568 บริษัทจัดเตรียมความพร้อมสำหรับการออกหุ้นกู้ใหม่จำนวน 2,000 ล้านบาท
โดยขึ้นอยู่กับสถานการณ์ โอกาสและความจำเป็นในการขับเคลื่อนธุรกิจ ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเงินมาชำระหนี้ของหุ้นกู้เดิม ส่วนเรื่องคดีความ ประกอบด้วยคดีแพ่งที่กรมธนารักษ์ฟ้องอีสท์ วอเตอร์ เรื่องการขับไล่และให้รื้อถอนทรัพย์สินจากพื้นที่พิพาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างขั้นตอนการดำเนินคดีในชั้นศาล ซึ่งบริษัทได้ยื่นคำให้การต่อศาลเรียบร้อยแล้ว
และคดีปกครองที่อีสท์ วอเตอร์ ฟ้องกรมธนารักษ์ตั้งแต่ปี 2566 ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า หนังสือที่ธนารักษ์แจ้งอีสท์ วอเตอร์ นั้น "มิใช่คำสั่งทางปกครอง" จึงพิพากษา "ยกฟ้องบริษัท" ซึ่งไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจแต่อย่างใด เนื่องจากบริษัทสร้างท่อทดแทนทรัพย์สินที่ได้ส่งคืนกรมธนารักษ์ครบถ้วน เรียบร้อยแล้ว
นอกจากนี้ บริษัทได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 7 พ.ค. 68 เรื่องการแต่งตั้งกรรมการทดแทนกรรมการที่ลาออก ได้แก่ นายธนวัฒน์ ปัญญาสกุลวงศ์ กรรมการจากผู้ถือหุ้น กนอ. และนายสำเริง แสงภู่วงศ์ กรรมการอิสระ ส่งผลให้บริษัทได้คณะกรรมการบริหารที่มีความรู้ความสามารถมาช่วยขับเคลื่อนบริษัทครบทุกตำแหน่ง
“อีสท์ วอเตอร์ ยืนยันจุดแข็งการเป็นหนึ่งเดียวในภาคตะวันออกที่มี Water grid ความยาว 553 กิโลเมตร เชื่อมโยงแหล่งน้ำสำคัญในภาคตะวันออก บูรณาการทำงานร่วมกับภาครัฐและสร้างความมั่นคงในการบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในระบบสูบส่งน้ำขนาดใหญ่มากกว่า 30 ปี
สร้างความมั่นใจและตอบสนองให้แก่ลูกค้าที่ต้องการเสถียรภาพและคุณภาพของน้ำที่ส่งมอบ บริษัทจึงพร้อมเปิดธุรกิจต่อยอดด้านน้ำ และธุรกิจใหม่อื่นๆ ที่เน้นผลตอบแทนสูงสุดบนพื้นฐานแห่งความยั่งยืน พร้อมเดินหน้าจับมือกับพันธมิตรทางธุรกิจที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งร่วมกัน และพร้อมให้บริการแก่ลูกค้าทั่วประเทศ”นายบดินทร์ กล่าวทิ้งท้าย