- Details
- Category: คลัง
- Published: Friday, 26 July 2024 22:15
- Hits: 10378
คลัง ปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจไทย ปี 67 ขยายตัวที่ร้อยละ 2.7
ผลประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2567
กระทรวงการคลัง ปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2567 ขยายตัวที่ร้อยละ 2.7 ต่อปี เร่งขึ้น จากปี 2566 ที่ขยายตัวได้ร้อยละ 1.9 ต่อปี โดยได้รับแรงสนับสนุนจากภาคบริการ และการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นสำคัญ
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงผลการประมาณการเศรษฐกิจไทยว่า ‘เศรษฐกิจไทยในปี 2567 คาดว่า จะขยายตัวที่ร้อยละ 2.7 (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.2 ถึง 3.2) ขยายตัวจากปี 2566 ที่ขยายร้อยละ 1.9’ โดยได้รับแรงสนับสนุนจากภาคบริการ
และการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นสำคัญ โดยพบว่าในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณดีขึ้นสะท้อนได้จากภาษีมูลค่าเพิ่มที่แท้จริงขยายตัวต่อเนื่อง 2 ไตรมาสและนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน โดยคาดว่า ภาคการท่องเที่ยวในปี 2567 จะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเดินทางเข้ามาในประเทศไทยจำนวน 36.0 ล้านคน ค่าใช้จ่ายต่อคนต่อทริปของนักท่องเที่ยวต่างประเทศปรับตัวดีขึ้นเป็น 47,000 บาทต่อคนต่อทริป ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการยกเว้นการตรวจลงตรา (วีซ่าฟรี) เพิ่มเป็น 93 ประเทศ/ดินแดน ระยะเวลาพำนักไม่เกิน 60 วัน ส่งผลดีต่อภาคการท่องเที่ยว ธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้อง
ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ร้อยละ 4.5 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.0 ถึง 5.0) การลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 3.6 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.1 ถึง 4.1) สำหรับการส่งออกสินค้าจะขยายตัวที่ร้อยละ 2.7 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.2 ถึง 3.2) ขยายตัวได้ในไตรมาสที่ 2 แล้ว และมูลค่าการนำเข้าสินค้าจะขยายตัวที่ร้อยละ 3.1 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.6 ถึง 3.6) โดยเฉพาะสินค้าทุนที่คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นตามการลงทุนภาคเอกชนที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต
ทั้งนี้ ผลประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจครั้งนี้ได้ปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับผลประมาณการเศรษฐกิจไทย ณ เมษายน 2567 ที่ร้อยละ 2.4 เนื่องจาก 1) การส่งออกสินค้ามีสัญญาณขยายตัวได้ดีกว่าที่คาดการณ์ รวมถึงอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าสำคัญคาดว่าจะขยายตัวได้ดีขึ้นตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะขยายตัวได้ที่ร้อยละ 3.2
2) จำนวนและรายได้ที่ได้รับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศสูงกว่าที่คาดการณ์ สะท้อนผลตอบรับที่ดีจากมาตรการดึงดูดนักท่องเที่ยวของภาครัฐ และ 3) การเบิกจ่ายภาครัฐที่ดีกว่าที่คาดการณ์จากการเตรียมความพร้อมเร่งเบิกจ่ายของภาครัฐ และมีทิศทางเร่งขึ้นต่อเนื่องในช่วงท้ายของปีงบประมาณ 2567
ในด้านเสถียรภาพภายในประเทศอยู่ในระดับมั่นคง โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ร้อยละ 0.6 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.1 ถึง 1.1) ตามการปรับตัวลดลงของราคาสินค้าอาหารบางกลุ่ม อีกทั้งราคาสินค้าในหมวดพลังงานที่ลดลงจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ ขณะที่เสถียรภาพภายนอกประเทศ ดุลบริการมีแนวโน้มจะเกินดุลตามการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2567 มีแนวโน้ม ที่จะเกินดุล 11.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 2.4 ของ GDP
ผลประมาณการนี้ไม่ได้นับรวมผลที่คาดว่าจะได้รับในระบบเศรษฐกิจที่เกิดจากโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet (โครงการฯ) ต่อเศรษฐกิจไทย ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้ประเมินเบื้องต้น ณ วันที่ 10 เมษายน 2567
ว่าหากพิจารณาเฉพาะโครงการฯ จะส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจประมาณร้อยละ 1.2 – 1.8 ตลอดทั้งโครงการฯ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับแหล่งที่มาของเงิน เงื่อนไขโครงการฯ จำนวนผู้เข้าร่วมโครงการฯ และพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้รับสิทธิเป็นสำคัญ
อย่างไรก็ตาม ยังควรติดตามปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิด อาทิ 1) ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลกในภูมิภาคต่างๆ ที่เริ่มรุนแรงมากขึ้น อาจเป็นข้อจำกัดและส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไป เช่น สถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างอิสราเอลและอิหร่านที่อาจส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานให้ปรับตัวสูงขึ้น การแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา และความกังวลเรื่องข้อพิพาททะเลจีนใต้เกี่ยวกับ
การอ้างกรรมสิทธิ์หลังมีการซ้อมรบของกองทัพเรือจีนและรัสเซียในบริเวณดังกล่าว 2) ความผันผวนของตลาดการเงินโลกจากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของประเทศคู่ค้าหลักและปัญหาสถาบันการเงินในต่างประเทศ
โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป 3) ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาและทิศทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ 4) การฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย โดยเฉพาะประเทศจีนจากปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ และ 5) ปัญหาหนี้ครัวเรือนและภาคธุรกิจที่จะบั่นทอนการใช้จ่ายในระยะต่อไป
โฆษกกระทรวงการคลังได้กล่าวทิ้งท้ายว่า ปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญในช่วงที่เหลือของปี 2567 ได้แก่ 1) การใช้จ่ายภาครัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่งรายจ่ายลงทุนที่ต้องเร่งรัดการเบิกจ่ายในทุกหน่วยงาน 2) จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ให้ประเทศ โดยเฉพาะในช่วง High Season
และ 3) การเร่งรัดการลงทุนของโครงการลงทุนที่ได้รับการอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมการลงทุนไปแล้ว ซึ่งสอดรับกับวิสัยทัศน์ 8 ด้านภายใต้กรอบนโยบาย Ignite Thailand ของรัฐบาล โดยการส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางในหลายๆ ด้าน ด้วยการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ
โดยเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2567 กระทรวงการคลังได้จัดโครงการศูนย์กลางการเงิน (Financial Hub) ภายใต้หัวข้อ Ignite Finance: Thailand’s Vision for a Global Financial Hub เพื่อพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการเงินโลก
ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่อไป การสนับสนุนประเด็นที่สำคัญเหล่านี้จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืนและมั่นคง ก้าวสู่การเป็นผู้นำในเวทีระดับภูมิภาคในอนาคต