WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

FTIส.อ.ท. เปิดตัวกลุ่มอุตสาหกรรมที่ 44 'กลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์และสุขภาพ' เชื่อ!! สร้างมูลค่าเพิ่ม หวังเป็นอุตสาหกรรมดาวรุ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ

     สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จัดพิธีสถาปนาจัดตั้งกลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์และสุขภาพขึ้น เมื่อวันจันทร์ที่ 17 สิงหาคม 2558 ณ ห้อง MEETING ROOM 1-2 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยกลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวถือเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมลำดับที่ 44 ภายใต้ สภาอุตสาหกรรมฯ โดยการจัดงานในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม (ดร.อรรชกา สีบุญเรือง) ร่วมแสดงความยินดีในงานสถาปนาดังกล่าว

    อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์และสุขภาพ เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมหนึ่งที่มีความสำคัญ และมีศักยภาพ ทางด้านเศรษฐกิจ และความมั่นคงของประเทศ มีขีดความสามารถในการผลิต และส่งออก ก่อให้เกิดรายได้และการจ้างแรงงานจำนวนมาก อีกทั้งตลาดเครื่องมือแพทย์ของโลกมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันจะซบเซาลง แต่ธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ รวมทั้ง ตลาดสินค้าเภสัชกรรมต่างๆ กลับยังคงมีแนวโน้มสดใสและยังคงได้รับความสนใจ และมีการสั่งซื้อสินค้าจากทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง โดยประเทศที่เป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์รายใหญ่ของโลก ได้แก่ เยอรมัน สหรัฐอเมริกา จีน และ ญี่ปุ่น (โดยมีมูลค่ารวมกว่า 3.8 ล้านล้านบาท) ซึ่งหากมองเฉพาะในอาเซียน จะพบว่า ประเทศไทยครองอันดับผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นอันดับ 2 ของอาเซียน รองจากมาเลเซีย โดยในปี 2556 ที่ผ่านมา มีมูลค่าการส่งออกกว่า 90,000 ล้านบาท สร้างมูลค่าทางการตลาดภายในประเทศกว่า 38,000 ล้านบาท และมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละร้อยละ 9.1

    นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ประเทศไทยผลิตได้ ส่วนใหญ่เป็นการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีไม่ซับซ้อนมากนัก โดยเน้นการใช้วัตถุดิบที่มีในประเทศ เช่น ทั้งผลิตภัณฑ์จาก ปิโตรเคมี และยางพาราเป็นหลัก ทำให้สินค้าไทยสร้างมูลค่าเพิ่มจากผลิตภัณฑ์ได้ไม่มาก ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงจำเป็นต้องมีการพัฒนารวมถึงการคิดค้นเทคโนโลยี และขบวนการผลิตที่ประกอบด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อสร้าง Value Creation ต่อยอดสร้างมูลค่าให้กับเทคโนโลยีเดิม นอกจากนี้ ภาครัฐและเอกชนยังต้องสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการส่งเสริมงานวิจัยพัฒนาและออกแบบให้แก่อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ รวมทั้งผลักดันให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีและงานวิจัยใหม่ๆ แก่ผู้ประกอบการ เพื่อนำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ต่อไป

   “อย่างไรก็ตามการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์และสุขภาพ นั้น จำเป็นต้องรวมตัวกันเป็นกลุ่มอุตสาหกรรม เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวกลางประสานระหว่างภาครัฐและเอกชน ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และแผนงานต่างๆ ผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตเครื่องมือแพทย์และสุขภาพ ควบคู่กับการเป็น Medical Hub และสภาอุตสาหกรรมฯ มีความยินดีอย่างยิ่งที่จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางให้การสนับสนุนและผลักดันภารกิจของกลุ่มฯ ให้สำเร็จ โดยจะดำเนินการผลักดันภายใต้

   5 ยุทธศาสตร์ของสภาอุตสาหกรรมฯ ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์ที่ 1.การสร้างความเป็นเอกภาพของสมาชิก ส.อ.ท. ยุทธศาสตร์ที่ 2.ยกระดับอุตสาหกรรมและ SMEs ไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน ยุทธศาสตร์ที่ 3.เป็นองค์กรที่มีธรรมาภิบาลที่ดี ยุทธศาสตร์ที่ 4.พัฒนาบุคลากรและปรับโครงสร้างสภาอุตสาหกรรมให้เข้มแข็ง และยุทธศาสตร์ที่ 5.การเพิ่มขีดความสามารถของภาคอุตสาหกรรม ด้วยเทคโนโลยี และนวัตกรรม” นายสุพันธุ์ กล่าว

    นายเจน นำชัยศิริ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงความเป็นมาของการจัดตั้งกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์และสุขภาพว่า ปัจจุบันประเทศไทยเป็น 1 ใน 2 ประเทศ ในภูมิภาคอาเซียนที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว (อีกประเทศ คือ สิงคโปร์) กล่าวคือ มีประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป อยู่มากกว่า 7 ล้านคน หรือคิดเป็น 10 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มจำนวนสูงขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีสัดส่วนประชากรสูงอายุ (ผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป) มากที่สุดในอาเซียน โดยคิดเป็นร้อยละ 9 ของประชากรทั้งหมด และมีแนวโน้มว่าจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังนั้น การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุจึงถือเป็นความท้าทายที่สำคัญของภาคเอกชนในการพัฒนาและปรับปรุงรูปแบบการดำเนินธุรกิจให้ทันสมัย และสอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของกลุ่มตลาดผู้สูงอายุ โดยอุตสาหกรรมที่คาดว่า จะได้รับอานิสงส์จากการที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม รองเท้า หัตถอุตสาหกรรม และรวมไปถึง กลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการแพทย์สาธารณสุข สุขภาพ รวมถึง เครื่องมือแพทย์ด้วย การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุจึงถือเป็นโอกาสที่สำคัญของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการแพทย์และสาธารณสุขในการขยายตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ

    โดยปัจจุบันจะพบว่าประกอบการกำลังมุ่งความสนใจไปยังธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์สำหรับผู้สูงอายุ เช่น อุปกรณ์ช่วยในการเดิน เก้าอี้นั่งถ่าย เครื่องล้างกระบอกไตเทียม เครื่องปั่นแยกเม็ดเลือด แผ่นโลหะดามกระดูก เป็นต้น ประกอบกับ รัฐบาลเองก็พยายามที่จะผลักดันให้ประเทศไทยเป็น Medical Hub ในภูมิภาคเอเชีย โดยรัฐบาลได้จัดทำ “แผนพัฒนาประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์สาธารณสุขของเอเชีย Thailand: The Excellent Medical Hub of Asia” (พ.ศ.2547 - 2551) โดยมีเป้าหมายเน้นการให้บริการในการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ และได้มีการสานต่อแผนยุทธศาสตร์ระยะที่สอง ภายใต้ “แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ Thailand as World Class Health Care Provider” (พ.ศ.2553 - 2557) ซึ่งเป็นการปรับเป้าหมายจากศูนย์กลางการแพทย์ในระดับภูมิภาค เป็นระดับโลก โดยแผนดังกล่าว สามารถสร้างรายได้รวมในช่วงปีดังกล่าว กว่า 400,000 ล้านบาท นอกจากนี้ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 (พ.ศ.2555 - 2559) ยังระบุให้ ธุรกิจบริการสุขภาพเป็นธุรกิจที่จะได้รับการส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

    นายเจน กล่าวว่า เป็นที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์และสุขภาพ จำนวน 28 บริษัท ได้ร่วมกันแสดงความจำนงต่อสภาอุตสาหกรรมฯ ขอจัดตั้งกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ขึ้น โดยมติที่ประชุมคณะกรรมการสภาอุตสาหกรรมฯ เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2558 ได้เห็นชอบ และสนับสนุนให้จัดตั้งกลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์และสุขภาพขึ้น เป็นกลุ่มอุตสาหกรรม ลำดับที่ 44 ภายใต้สภาอุตสาหกรรมฯ พร้อมทั้งแต่งตั้งคณะผู้ก่อตั้งกลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์และสุขภาพขึ้น เพื่อดำเนินการจัดตั้งกลุ่มฯ ให้เป็นไปตามข้อบังคับสภาอุตสาหกรรมฯ โดยคณะผู้ก่อตั้งฯ ได้จัดให้มีการประชุมจัดตั้งกลุ่มฯ เพื่อพิจารณากำหนดข้อบังคับ และเลือกตั้งคณะกรรมการกลุ่มฯ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดย นายวินิจ ฤทธิ์ฉิ้ม บริษัท เซอร์วิสเอ็นจิเนียริ่ง(1987) จำกัด ได้รับความไว้วางใจจากสมาชิกในกลุ่มฯ ให้ดำรงตำแหน่งเป็น ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์และสุขภาพ ส.อ.ท.

   “จากศักยภาพและโอกาสของอุตสาหกรรมผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์และสุขภาพ คณะกรรมการสายงานอุตสาหกรรม เห็นว่า อุตสาหกรรมนี้จะเป็นดาวรุ่งที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรม แต่อย่างไรก็ตามเพื่อให้กลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์และสุขภาพ มีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน การเพิ่มจำนวนสมาชิกของกลุ่มฯ จึงเป็นปัจจัยที่สำคัญที่จะทำให้การผลักดันภารกิจต่างๆ ของกลุ่มฯ ให้ลุล่วงสำเร็จได้” รองประธาน ส.อ.ท. กล่าว

    ด้าน นายวินิจ ฤทธิ์ฉิ้ม ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์และสุขภาพ ส.อ.ท. กล่าวว่า อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์และสุขภาพ ถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญยิ่งต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ ดังเห็นจากตัวเลขในปี 2557 มูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ 50,331 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากตัวเลข 5 ปีที่แล้วถึง 50% และมูลค่าการส่งออกเครื่องมือแพทย์สูงถึง 93,448 ล้านบาทซึ่งเพิ่มขึ้น 36%

   ทั้งนี้ กลุ่มผู้ประกอบการจึงได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมนโยบายของรัฐบาลให้ประเทศไทยเป็น Medical Hub ของโลก โดยให้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และยั่งยืน ตลอดจนการเป็นอุตสาหกรรมหลักที่สร้างรายได้ให้แก่ประเทศ กลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์และสุขภาพ จึงได้กำหนดยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนกลุ่มฯ ตามวัตถุประสงค์ โดยมียุทธศาสตร์สำคัญ คือ

   1. เป็นการสร้างความเข้มแข็งและเพิ่มศักยภาพในการบริหารจัดการ โดยเป็นเครือข่ายอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์อย่างบูรณาการ ทั้งจากภาครัฐ และเอกชนโดยรวมตลอดทั้ง supply chain

   2. พัฒนาการผลิตเครื่องมือแพทย์ที่มีคุณภาพในระดับมาตรฐานสากล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค

   3. ผลักดันในเชิงนโยบายร่วมกับองค์กรภาครัฐในการส่งเสริมและสนับสนุนใช้ผลิตภัณฑ์ของผู้ผลิตในประเทศที่ได้คุณภาพ

   4. ขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ โดยการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา การใช้เทคโนโลยีเพื่อให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด

   นอกจากนี้ กลุ่มฯ ยังมีนโยบาย เชิงรุกในการทำงานร่วมกับกระทรวงหรือหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ หน่วยงานสปสช., วช., สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ, อย., TCELS, สวทช., สำนักพัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุน, กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, แพทยสภา เป็นต้น เพื่อเป็นการพัฒนาประเทศไปสู่ medical hub ทั้งทางด้านการผลิตและการบริการ

   “วันนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่กลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์และสุขภาพ จะเดินหน้าขับเคลื่อนยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ให้มีศักยภาพที่แข็งแกร่งและเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาระบบสาธารณสุขไทย ตลอดจนส่งเสริมประเทศไทยของเราให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนสืบไป” นายวินิจ กล่าว

    ด้าน ดร.อรรชกา สีบุญเรือง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวแสดงความยินกับการจัดตั้งกลุ่มฯ ในครั้งนี้ว่า การที่ผู้ประกอบการรวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์และสุขภาพขึ้นมานั้น ถือว่าเป็นการแสดงบทบาท หน้าที่ ของภาคอุตสาหกรรมอย่างชัดเจนอีกทางหนึ่งที่ได้ดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมนี้อย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านคุณภาพผลิตภัณฑ์ เทคโนโลยีในการผลิต การดูแลกระบวนการผลิตเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม รวมทั้ง การพัฒนาบุคคลในอุตสาหกรรม สิ่งเหล่านี้ถือเป็นรากฐานที่สำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์และสุขภาพ ให้สามารถเติบโตและแข่งขันได้อย่างยั่งยืน ท่ามกลางภาวะที่มีการแข่งขันในปัจจุบัน

  ที่ผ่านมากระทรวงอุตสาหกรรม ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและศักยภาพของอุตสาหกรรมเครื่องมือทางการแพทย์ ที่สามารถพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศไทยในอนาคต โดยมีเป้าหมายพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมทางการแพทย์และสุขภาพ ที่สำคัญในอาเซียนภายในปี 2563 โดยเน้นผลิตสิค้าที่มีนวัตกรรม และยกระดับมาตรฐานให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลด้วยราคาที่เหมาะสม แทนการนำเข้าสินค้าที่มีราคาสูงจากต่างประเทศ และสร้างโอกาสให้อุตสาหกรรมในประเทศเชื่อมต่อเครือข่ายกับ Supply Chain ของโลก โดยมอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ดำเนินโครงการนำร่อง จำนวน 3 โครงการ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สร้างกระแสการตื่นตัวให้กับทุกภาคส่วนร่วมกันพัฒนาอุตสาหกรรมวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ไทยให้ก้าวหน้าต่อไป ซึ่งทั้ง 3 โครงการนับว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง

    “อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการต่อยอดจากโครงการเดิมที่ได้ดำเนินการในช่วงที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรม มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะหารือร่วมกับกลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์และสุขภาพ ในการผลักดันโครงการเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้อย่างต่อเนื่อง และจะเร่งผลักดันมาตรการอื่นๆ ควบคู่กันไปด้วย เช่น การส่งเสริมการใช้วัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ผลิตในประเทศ และการแก้ไขกฎระเบียบที่ยังเป็นอุปสรรคต่างๆ เป็นต้น” ดร.อรรชกา กล่าว

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!