- Details
- Category: สำนักนายกฯ
- Published: Sunday, 29 May 2022 09:12
- Hits: 6353
'มองเศรษฐกิจโลก สะท้อนเศรษฐกิจไทย' ในการจัดเสวนา 'Better Thailand Open Dialogue ถามมา-ตอบไป เพื่อประเทศไทยที่ดีกว่าเดิม’
ผมมีโอกาสร่วมเสวนาหัวข้อ 'มองเศรษฐกิจโลก สะท้อนเศรษฐกิจไทย' ในการจัดเสวนา 'Better Thailand Open Dialogue ถามมา-ตอบไป เพื่อประเทศไทยที่ดีกว่าเดิม’ พร้อมกับผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่าน ในวันนี้ (19 พ.ค. 65) นำบทสรุปมุมมองของผมที่มีต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยมาให้ได้อ่านกันครับ
[ ตั้งแต่ปี 2563 ประเทศไทยเผชิญปัญหาทางเศรษฐกิจใดบ้าง ]
- ช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 รัฐบาลให้ความสำคัญเรื่องที่ขาดช่วงมานาน เช่น การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การสร้างรายได้จากท่องเที่ยวและบริการ การคุมหนี้ครัวเรือนและวินัยทางการเงินการคลังมาโดยตลอด และดีขึ้นตามลำดับ แต่เมื่อเผชิญโควิด-19 2 ปีเต็ม ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ที่ทั้งโลกไม่มีใครเคยเจอ ไม่รู้วิธีรับมือ นอกจากรอวัคซีน ป้องกันได้แค่ใส่หน้ากากอนามัยและรักษาระยะห่าง ที่ผ่านมานับว่าเราทำกันได้ดี
ปี 2563 ไทยได้รับการจัดอันดับเป็นที่หนึ่งของประเทศที่รับมือกับโควิด-19 ได้ดี และผู้คนกลับมาใช้ชีวิตเกือบเหมือนปกติ แต่เมื่อมีสายพันธุ์ใหม่เดลต้าเกิดขึ้นในโลกและมีความรุนแรง ทุกประเทศแย่งกันหาวัคซีน แม้จะติดขัดอยู่บ้างในช่วงแรก แต่ในที่สุดเราก็มีพร้อมทุกอย่างทั้งวัคซีนและยารักษา และสามารถเปิดประเทศได้ตั้งแต่เดือน พ.ย. ปี 2564 จนถึงทุกวันนี้สถานการณ์ก็ดีขึ้น แม้วิกฤตนี้ยังคงมีอยู่บ้าง แต่เรารู้แล้วว่าจะอยู่กับเขาอย่างไร
- ช่วงต้นปี 2565 เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างยูเครนและรัสเซีย และบานปลายสู่ความขัดแย้งระดับประเทศกลุ่มมหาอำนาจ ซึ่งผลจากการ sanction ส่งผลให้ราคาพลังงาน ปุ๋ย อาหาร และโลหะเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว และแตะในระดับที่สูงที่สุดในรอบ 10 ปี จนทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยที่ก็ปรับสูงขึ้น โลกจึงเหมือนกำลังเผชิญกับวิกฤตซ้อนวิกฤตและเราต้องร่วมฝ่าฟันไปด้วยกันให้ได้อีกระยะหนึ่ง
[ ภาครัฐมีมาตรการรับมือปัญหาเหล่านั้นอย่างไร ]
- ผมเชื่อว่า ประเทศไทยจะรอดและปลอดภัยจากวิกฤตซ้อนวิกฤตนี้ได้จากความร่วมมือของทุกภาคส่วน เหมือนที่เราได้พิสูจน์มาแล้วในช่วงที่โควิด-19 รุนแรงมาก จนภาคการท่องเที่ยวและบริการที่เป็นเครื่องยนต์สำคัญของเศรษฐกิจไทยและมีสัดส่วนสูงถึงราว 20% ของ GDP ปรับลดลงเหลือเกือบศูนย์ การค้าขายติดขัด และประชาชนได้รับผลกระทบเป็นวงกว้างและรุนแรง ซึ่งถือเป็นโจทย์ยากที่สุดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
- รัฐบาลรับมือกับปัญหาด้วยการใช้เงินผ่าน พรก. เงินกู้กว่า 1.5 ล้านล้านบาท ทั้งเยียวยา รักษา และกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการต่างๆ เช่น คนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน เราชนะ ม.33 เรารักกัน พร้อมทั้งจัดหาวัคซีนและยารักษาให้เพียงพอ เราได้เร่งเปิดประเทศเพื่อหารายได้เข้าประเทศ ในขณะที่สาธารณสุข อาสาสมัคร ประชาชน และผู้ประกอบการ ก็ร่วมมือกับรัฐบาลอย่างเต็มที่
- สำหรับ ภูเก็ต แซนด์บอกซ์ เราก็ช่วยกันเร่งฉีดวัคซีนจนสถานการณ์คลี่คลาย และสามารถทำการค้าขาย ลงทุน และเปิดประเทศเพื่อสร้างรายได้เพิ่มในปีนี้ได้ ความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วน ส่งผลให้ในปี 2563 เศรษฐกิจไทยติดลบเพียง 6% และกลับมาเป็นบวกที่ประมาณ 2% ในปีที่ผ่านมา รวมทั้งมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นได้ในปีนี้
- สำหรับผลกระทบจากวิกฤตยูเครน-รัสเซียที่ทำให้สินค้าขึ้นราคาและอัตราเงินเฟ้อสูง รัฐบาลได้ออกมาตรการช่วยราคาพลังงานไม่ให้สูงมาก และยังคงความสามารถในการแข่งขันไว้ได้ โดยเฉพาะการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง เช่น ลดภาระค่าไฟฟ้า และลดภาระนำเงินส่งประกันสังคม
- นอกจากนี้ ประชาชนและภาคเอกชนยังร่วมใจช่วยกันประหยัดพลังงาน และปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ราคาพลังงานที่สูงขึ้น ภาคเอกชนนำเทคโนโลยีต่างๆ มาช่วยลดต้นทุน รวมทั้งลดการพึ่งพาวัตถุดิบราคาแพงจากต่างประเทศ และหันมาใช้วัตถุดิบในประเทศทดแทนเพื่อลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ตลอดจนช่วยกันแบ่งเบาภาระให้แก่ผู้บริโภค เมื่อการเปิดประเทศเป็นไปได้อย่างต่อเนื่องและเราปรับตัวจากเหตุการณ์สินค้าราคาแพงขึ้นได้ ประเทศไทยก็จะรอดพ้นจากวิกฤตซ้อนวิกฤตนี้ไปได้ โดยเรายังมีฐานะการเงินการคลังที่เข้มแข็ง พร้อมรองรับสิ่งใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ผมเชื่อมั่นว่า ประเทศไทยจะรอดพ้นและปลอดภัยจากวิกฤตซ้อนวิกฤตในครั้งนี้หากเราร่วมมือแก้ปัญหาไปด้วยกัน และเราจะสามารถเติบโตได้อย่างพอเพียงและยั่งยืนครับ
#BetterThailand #ประเทศไทยต้องไปต่อ #ขับเคลื่อนไปด้วยกัน #SupattanapongP
Facebook: https://www.facebook.com/supattanapongp
Twitter: https://twitter.com/PSupattanapong