- Details
- Category: EEC เมกะโปรเจกต์
- Published: Monday, 01 September 2014 09:54
- Hits: 7006
01 กันยายน พ.ศ. 2557 เวลา 00:01 น. ข่าวสดออนไลน์
จับเข่า'ชัชชาติ สิทธิพันธุ์'เทียบ'ไฮสปีดเทรน'2 รัฐบาล
มยุรี นวมมี
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรมว.คมนาคม และอาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กลับมาถูกจับตาอีกครั้งหลังคสช.อนุมัติสร้างรถไฟทางคู่ขนาดทางมาตรฐาน 1.43 เมตร ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าหรือ ไฮสปีดเทรนเดิมใน 2 เส้นทาง คือ หนองคาย-โคราช-สระบุรี-แหลมฉบัง-มาบตาพุด ระยะทาง 737 ก.ม. วงเงิน 392,570 ล้านบาท และ เชียงของ-เด่นชัย-บ้านภาชี ระยะทาง 655 ก.ม. วงเงิน 348,890 ล้านบาท
เนื่องจากโครงการนี้ใกล้เคียงกับ "ไฮสปีดเทรน"ของรัฐบาลที่แล้ว ซึ่งนาย ชัชชาติ เป็นผู้รับผิดชอบ แต่ต้องพับไปเพราะ ศาลรัฐธรรมนูญมองว่าไม่มีความจำเป็น
และ ในโอกาสที่นายชัชชาติมาร่วมเวทีเสวนาเรื่องแผนที่โครงการรถไฟสมัยรัชกาลที่ 5 กับการพัฒนาเมกะโปรเจ็กต์ของไทยปัจจุบัน ซึ่งจัดขึ้นโดยกองบรรณาธิการ ศิลปวัฒนธรรม ที่มติชนอคาเดมี
"ข่าวสด"จึงถือโอกาสจับเข่าคุยถึงโครงการดังกล่าว
การขนส่งระบบรางของไทย
ระบบ รถไฟหรือขนส่งทางรางของไทยในปัจจุบันมีปัญหาหนักมาก การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบ มีปัญหาขาดทุนสะสมมากกว่า 1 แสนล้านบาท อุปกรณ์ทำมาหากินอย่างหัวรถจักร ขบวนรถ และแคร่ขนสินค้า ก็เก่าชำรุดใช้งานมากว่า 50 ปี รางและไม้หมอนก็ชำรุดขาดการบำรุง เพราะรัฐบาลไม่ได้ให้การสนับสนุนเรื่องงบประมาณ ทำให้รถไฟวิ่งช้า เกิดอุบัติเหตุบ่อย
คนจึงใช้บริการลดลงต่อเนื่อง
เห็น ชัดเจนในปี 2533 มีคนใช้บริการ 85 ล้านคน แต่พอปี 2555 ผู้โดยสารหายไปครึ่งหนึ่ง เหลือแค่ 40 ล้านคนเท่านั้น แต่ที่น่ากลัวกว่านั้นก็คือรถไฟยังมีภาระค่าใช้จ่ายในอนาคตมหาศาลมาก เพราะจะต้องเตรียมหาเงินมาจ่ายค่าบำนาญให้กับพนักงานที่กำลังจะเกษียณใน อนาคตมากถึง 1.6 แสนล้านบาท
ปัญหามากควรยุบรฟท.ทิ้ง?
ยุบ ทิ้งไม่ได้ เพราะระบบขนส่งทางรางสำคัญมาก มีต้นทุนขนส่งที่ต่ำกว่าทางถนนคือประมาณ 0.95 บาท/ตัน/ก.ม. ขณะที่ถนนอยู่ที่ 2.12 บาท/ตัน/ก.ม. ซึ่งรัฐบาลต้องสนับสนุนให้มีการขนส่งทางรางมากขึ้น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ปัจจุบันไทยมีต้นทุนโลจิสติกส์ต่อจีดีพีสูงถึง 14.4% หรือคิดเป็นมูลค่า 1.765 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้ คิดเป็นต้นทุนขนส่งเฉพาะการขนส่งสินค้ามากกว่าครึ่ง หรือประมาณ 9 แสนล้านบาท
นโยบายรัฐบาลถูกทางหรือไม่
นโยบาย การสร้างรถไฟทางคู่ขนาดราง 1 เมตรแบบเดิมทั่วประเทศ เพิ่มอีกจำนวน 6 สายทาง ระยะทาง 887 กิโลเมตรวงเงิน 127,472 ล้านบาท เป็นนโยบายที่ดี ผมจะเป็นกำลังใจและเอาใจช่วยรัฐบาล เพราะเราต้องเร่งเพิ่มสัดส่วนการขนส่งไปสู่ระบบรางมากขึ้นจากปัจจุบันใช้ เพียง 2% เท่านั้น
แล้วรถไฟทางคู่ 1.435 เมตร
รัฐบาล ต้องดูให้ดีว่าคุ้มค่าหรือไม่ ผมยังไม่เห็นรายละเอียดของแผน แต่เท่าที่ดูเบื้องต้นน่าจะสร้างเพื่อเน้นการเชื่อมต่อกับจีน เพื่อขนส่งสินค้าเข้าไทยผ่านไปยังแหลมฉบังและส่งออกไปยังต่างประเทศ เกรงว่าจีนอาจจะใช้ไทยเป็นแค่เพียงทางผ่านสินค้าเท่านั้น ซึ่งเราก็จะมีรายได้เพียงแค่การเก็บค่าผ่านทางเท่านั้น
แบบไหนถึงตอบโจทย์ดีที่สุด
พัฒนา 2 ระบบควบคู่กันไปแบบนี้ก็ได้ รถไฟทางคู่ขนาด 1 เมตรเท่าทางเดิมก็เอาไว้สำหรับเชื่อมต่อการเดินทางและขนส่งสินค้ากับประเทศ ในอาเซียน เพราะส่วนใหญ่ใช้ทาง 1 เมตรเหมือนกันอยู่แล้ว ส่วนรถไฟทางคู่ขนาด 1.435 เมตร สามารถเชื่อมกับจีนและประเทศนอกภูมิภาคได้
ความเร็วควรเป็นเท่าไหร่
ประเด็น นี้ถกเถียงกันมากว่าจะสร้างเป็นไฮสปีดเทรน ความเร็วมากกว่า 250 ก.ม./ช.ม. หรือจะสร้างเป็นรถไฟความเร็ว 160 ก.ม. ถึงจะดีกว่า ผมว่าต้องดูที่นโยบายหลักของรัฐบาลว่า จะสร้างรถไฟความเร็วเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจด้านไหน จะเน้นขนคนหรือขนของ ถ้าขนคนก็ต้องสร้างที่มี สปีดที่เร็วมากกว่า 250 ก.ม./ช.ม. แต่ถ้าขนของก็ไม่จำเป็นต้องเร็วมาก แค่ 160 ก.ม./ช.ม. ก็เพียงพอ แต่ก็ต้องคิดให้ดีว่าความเร็วขนาด 160 ก.ม./ช.ม. จะแข่งขันกันกับการขนส่งผู้โดยสารกับสายการบิน โลว์คอสต์ได้หรือไม่ ในภาวะที่อัตราค่าโดยสารไม่ได้แตกต่างกันมากนัก
ความแตกต่างของ 2 รัฐบาล
รัฐบาล ที่แล้วเลือกสร้างไฮสปีดเทรน เพราะต้องการเน้นขนส่งคน กระตุ้น ให้คนเดินทางโดยรถไฟ ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างเมืองใหม่ ระบบเศรษฐกิจใหม่ตามแนวเส้นทาง หวังจะให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวม ขณะที่รัฐบาลนี้เน้นขนส่งสินค้า เพราะใช้ความเร็วแค่ 160 ก.ม./ช.ม. ผมตอบไม่ได้ว่าแบบไหนดีกว่ากัน คงต้องให้หลายๆ ฝ่ายไปช่วยกันคิดว่า ขนส่งคนหรือขนส่งสินค้า จะก่อให้เกิดมูลค่าเศรษฐกิจที่ตกอยู่ในประเทศไทยได้มากกว่า
"ผมคิดว่าคนเราคิดต่างได้ นโยบายก็เปลี่ยนแปลงได้ แต่ต้องอธิบายให้ประชาชนเข้าใจให้ได้ว่าเกิดความคุ้มค่าอย่างไร"