- Details
- Category: กรมศุลกากร
- Published: Tuesday, 31 August 2021 11:15
- Hits: 4889
กรมศุลกากรชี้แจง กรณีสินบนนำจับและขบวนการฟอกรถหรู
อธิบดีกรมศุลกากร ชี้แจง กรณีสื่อมวลชนได้นำเสนอบทความ'ผ่าเส้นทางสินบนนำจับรถหรู กลวิธีฟอกผิดเป็นถูก' กล่าวถึงการดำเนินงานของกรมศุลกากร
นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร ได้ชี้แจงเพิ่มเติม ประกอบการทำความเข้าใจ ในเรื่องการจับกุมรถยนต์และการนำรถยนต์ไปขายทอดตลาด ดังนี้
ตาม พ.ร.บ. ศุลกากร กำหนดให้ของที่ยึดไว้ตาม พ.ร.บ.นี้ ผู้จับกุมจะต้องส่งมอบให้พนักงานศุลกากรเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป และเมื่อของตกเป็นของแผ่นดินแล้วให้จำหน่ายตามระเบียบที่กรมศุลกากรกำหนด ซึ่งในกรณีนี้ เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมรถยนต์ และส่งมอบให้กรมฯ จึงเป็นหน้าที่ที่กรมฯ จะต้องรับมอบเพื่อเก็บรักษาและดำเนินการจำหน่ายเมื่อคดีสิ้นสุดและรถยนต์ตกเป็นของแผ่นดิน ทั้งนี้ การจำหน่ายรถยนต์ของกลางที่คดีสิ้นสุดแล้ว กรมฯ จะจำหน่ายโดยวิธีประมูลขายทอดตลาด ซึ่งเป็นไปตามนโยบายที่กระทรวงการคลังได้กำหนดไว้ ตั้งแต่ ปี 2521
ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา กรมศุลกากรได้พัฒนาปรับปรุงการดำเนินงานโดยนำมาตรการต่าง ๆ มาใช้เพื่อให้การประมูลขายทอดตลาดรถยนต์มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ รักษาผลประโยชน์ในการสร้างรายได้ให้กับภาครัฐ แต่ไม่เอื้อประโยชน์กับขบวนการฟอกรถ (หากมี) โดยมีการดำเนินงาน ดังนี้
- ในการรับรถยนต์ของกลางนั้น ผู้จับกุมจะต้องมีบันทึกการจับกุม และหนังสือรายงานผลการตรวจสอบของ 7 หน่วยงาน ได้แก่ กองพิสูจน์หลักฐาน กองทะเบียนประวัติอาชญากร กองการต่างประเทศ กรมการค้าต่างประเทศ กรมการขนส่งทางบก ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ และศูนย์เทคโนโลยีและการสื่อสารของกรมศุลกากร ยื่นให้กับเจ้าหน้าที่ศุลกากรพร้อมรถยนต์ของกลาง เพื่อยืนยันว่า รถยนต์ของกลางนั้น ไม่มีประวัติการแจ้งหาย ไม่มีการแก้ไขเลขเครื่องยนต์/ตัวถังรถ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันมิให้ขบวนการฟอกรถนำรถยนต์โจรกรรมมาให้เจ้าหน้าที่จับกุมในการจำหน่ายรถยนต์
- กรมศุลกากรมีการแต่งตั้งคณะกรรมการจำหน่ายรถยนต์ของกลาง ซึ่งประกอบด้วย ที่ปรึกษา/รองอธิบดี เป็นประธานกรรมการ และมีหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ นอกจากนี้ ยังมีการแต่งตั้งอนุกรรมการประเมินราคารถยนต์ของกลาง เพื่อกำหนดราคาประมูลขายทอดตลาด และคณะอนุกรรมการดำเนินการขายทอดตลาด เพื่อพิจารณาในแต่ละขั้นตอนด้วยความรอบคอบก่อนการนำเสนออธิบดีให้ความเห็นชอบ ทั้งนี้ เพื่อให้การประมูลรถยนต์ การกำหนดราคาประมูลรถยนต์ และการดำเนินการประมูลเป็นไปอย่างเที่ยงธรรม ป้องกันการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ และสร้างความโปร่งใส และให้สาธารณชนสามารถตรวจสอบการทำงานของกรมศุลกากรได้
- กรมฯ มีนโยบายเปิดกว้างให้สาธารณชนสามารถเข้ามาร่วมการประมูลรถยนต์ เพื่อป้องกันการฮั้วประมูลโดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2563 ได้กำหนดให้มีการเปิดประมูลทั้งด้วยวาจาที่สถานที่ทำการประมูล ณ กรมศุลกากร ควบคู่กับการประมูลทางออนไลน์สำหรับผู้สนใจซึ่งไม่สามารถเข้าร่วมประมูลที่สถานที่จัดประมูลได้ สามารถร่วมประมูลโดยใช้คอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือ เข้าร่วมประมูลในช่วงเวลาเดียวกันผู้ประมูลที่สถานที่ประมูล (real time)
- กรมฯ ได้ประกาศให้สาธารณชนทราบล่วงหน้า สำหรับการประมูลรถยนต์ไม่น้อยกว่า 15 วัน และเผยแพร่ผ่านสื่อต่าง ๆ ทั้งทางหนังสือพิมพ์ สื่อออนไลน์ วิทยุ โทรทัศน์ ฯลฯ รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้สนใจสามารถเข้ามาชมรถยนต์เพื่อตัดสินใจก่อนวันประมูล
- กรมฯ ได้มอบหมายให้บริษัทเอกชนซึ่งมีความเป็นมืออาชีพในการประมูลรถยนต์ เข้ามาเป็นผู้ดำเนินการจัดการประมูลรถยนต์
- ในกรณีที่ชิ้นส่วนสำคัญของรถยนต์ขาดหาย โดยเฉพาะกล่อง ECU รถยนต์คันนั้นจะไม่ถูกนำมาประมูลขาย เพื่อป้องกันมิให้มีผู้หนึ่งผู้ใดถอดกล่องเพื่อกีดกันมิให้ผู้สนใจคนอื่น ๆ เข้าประเมินและกดราคาประมูลรถยนต์เพื่อประโยชน์ของตนเอง
ดังนั้น ในการรับมอบรถยนต์ของกลางจากผู้จับกุมเพื่อเก็บรักษา และการจำหน่ายรถยนต์เมื่อคดีสิ้นสุดโดยวิธีการประมูลขายทอดตลาด จึงเป็นการดำเนินการภายใต้กฎหมายและระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยกรมศุลกากรมีการกำหนดมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่ากระบวนการประมูลขายทอดตลาดรถยนต์จะมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ รักษาผลประโยชน์ในการสร้างรายได้ให้กับภาครัฐ แต่จะไม่เอื้อประโยชน์กับขบวนการฟอกรถ ทั้งนี้ หากปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่ผู้หนึ่งผู้ใดเข้าไปมีส่วนร่วมในขบวนการฟอกรถ กรมฯ พร้อมที่จะพิจารณาความผิดและดำเนินการทั้งทางวินัย ทางละเมิดและทางอาญา อย่างจริงจัง และเด็ดขาดต่อไป
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ