- Details
- Category: ธปท.
- Published: Saturday, 13 June 2020 15:35
- Hits: 5795
ธปท.เตรียมคลอดหลักเกณฑ์กำกับธุรกิจ digital lending ภายใน ส.ค.นี้
ธปท.เตรียมออกหลักเกณฑ์กำกับดูแลสินเชื่อรูปแบบใหม่ digital lending หรือสินเชื่อดิจิทัล เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อแนวทางกำกับดูแล 1 มิ.ย.- 30 มิ.ย.นี้ หวังพ่อค้า แม่ค้า หาบเร่แผงลอยเข้าถึงแหล่งเงินทุนแทนการกู้นอกระบบ ขอกู้ได้สะดวกผ่านแอป เบื้องต้นวงเงินไม่เกิน 20,000 ใช้คืนใน 3 เดือน ดอกเบี้ยร้อยละ 28 ต่อปี
ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่ประกาศในเว็บไซต์ เรื่องขอเชิญแสดงความคิดเห็นต่อแนวทางกำกับดูแลสินเชื่อดิจิทัล (digital lending)โดยจะเปิดรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน - วันที่ 30 มิถุนายน 2563 โดยคาดว่าจะประมวลความคิดเห็นทั้งหมดและประกาศใช้หลักเกณฑ์ได้ภายในเดือนสิงหาคม 2563
ธปท.เผยว่า อยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางกำกับดูแล "สินเชื่อดิจิทัล" ซึ่งเป็นสินเชื่อประเภทใหม่ ที่จะช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการเงินเพิ่มมากขึ้น และบรรเทาปัญหาจากการใช้สินเชื่อนอกระบบที่ มีอัตราดอกเบี้ยสูง และอาจไม่ได้รับการคุ้มครองอย่างเหมาะสม ในขณะเดียวกัน การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลจะช่วยให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถลดต้นทุนในการให้บริการ และบริหารความเสี่ยงได้ดียิ่งขึ้น
*ผู้ที่ประสงค์จะประกอบธุรกิจสินเชื่อดิจิทัล ให้ยื่นขออนุญาตและนำส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจสินเชื่อดิจิทัลตามหลักเกณฑ์ที่ ธปท. กำหนด โดยผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อดิจิทัลจะต้องเป็นสถาบันการเงินหรือบริษัทที่ได้รับอนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อดิจิทัล และต้องใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลในการให้บริการอย่างน้อยในขั้นตอนของ 1.การวิเคราะห์และอนุมัติสินเชื่อ 2.การเบิกจ่ายเงินและการชำระคืนสินเชื่อ และ 3.การให้บริการลูกค้า
นอกจากนี้ ธปท.ส่งเสริมให้ผู้ประกอบธุรกิจใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลในขั้นตอนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการให้สินเชื่อด้วย อาทิ การใช้ช่องทางดิจิทัลสำหรับการสมัครใช้บริการของลูกค้า เช่น การใช้แอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือ หรืออินเทอร์เน็ตในการรับสมัครใช้บริการสินเชื่อ เป็นต้น
*ธปท.จะพิจารณาแนวทางอนุญาตการประกอบธุรกิจสินเชื่อแบบดิจิทัล โดยไม่จำกัดวัตถุประสงค์ในการใช้สินเชื่อ (สินเชื่อดิจิทัล) โดยยึดหลักการมุ่งตอบโจทย์ผู้ใช้บริการเป็นสำคัญ และคำนึงถึงปัจจัยสำคัญอื่นร่วมด้วย ได้แก่
-การให้บริการสินเชื่อของผู้ประกอบธุรกิจต้องไม่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพการเงิน หรือความเชื่อมั่นของระบบสถาบันการเงิน
-เปิดโอกาสให้มีการแข่งขันอย่างเสรีระหว่างผู้ประกอบธุรกิจ ป้องกันมิให้มีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงต่อการใช้อำนาจเหนือตลาด
-ลูกค้าได้รับความคุ้มครองในระดับที่เหมาะสม ป้องกันพฤติกรรมหลอกลวงและเอาเปรียบลูกค้า โดยเน้นหลักการความโปร่งใส และเป็นธรรม
*ผู้ประกอบธุรกิจแต่ละรายสามารถให้วงเงินสินเชื่อดิจิทัลต่อลูกค้า 1 ราย ณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งได้ไม่เกิน 20,000 บาท โดยกำหนดระยะเวลาการชำระคืนสินเชื่อดิจิทัลไม่เกิน 3 เดือนหลังจากที่ลูกค้าเบิกถอนยอดสินเชื่อนั้น
ธปท. เข้าใจว่าการให้สินเชื่อแก่ลูกค้ารายย่อยซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของสินเชื่อดิจิทัล เช่น พ่อค้าแม่ค้า หาบเร่แผงลอย และแรงงานที่ไม่มีรายได้ประจำหรือไม่มีหลักฐานเพื่อพิสูจน์รายได้นั้น อาจมีความเสี่ยงสูง
อย่างไรก็ดี การนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ในกระบวนการปล่อยสินเชื่อจะทำให้ต้นทุนดำเนินการ (operating cost)ลดลงได้ รวมทั้งทำให้สามารถพิจารณาความเสี่ยงของลูกค้าแต่ละรายได้ถูกต้องมากขึ้น จึงช่วยลดความเสี่ยงจากการปล่อยกู้ให้กลุ่มลูกค้ารายย่อยเหล่านี้ได้บางส่วน
*ด้วยเหตุนี้ ธปท. จึงกำหนดเพดานดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการ หรือค่าธรรมเนียมใดๆ (effective rate) ของสินเชื่อดิจิทัลที่ร้อยละ 28 ซึ่งสอดคล้องกับความเสี่ยง และไม่เป็นภาระของลูกค้ามากเกินไป โดยเฉพาะกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่ปกติพึ่งพาหนี้สินนอกระบบ
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย