- Details
- Category: สำนักนายกฯ
- Published: Tuesday, 24 December 2019 12:16
- Hits: 6767
นายกรัฐมนตรี มอบนโยบายการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณ พ.ศ.2564 บูรณาการแผนงาน เงิน คน เชื่อมโยงนโยบายสู่ภาคปฏิบัติ (Top Down and Bottom Up Policy)
นายกรัฐมนตรี มอบนโยบายการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณ พ.ศ.2564 แก่หัวหน้าส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ย้ำบูรณาการแผนงาน เงิน คน เชื่อมโยงนโยบายสู่ภาคปฏิบัติ (Top Down and Bottom Up Policy)
ณ ห้องแกรนด์ ไดมอนด์ บอลรูม อาคารอิมแพค ฟอรั่ม อิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธีเปิดและมอบนโยบายการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี ให้แก่หัวหน้าส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐ ได้รับทราบนโยบาย และแนวทางในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรี ย้ำรัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาประเทศในระยะยาวตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ . 2561 – พ.ศ. 2580) ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ ในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศให้บรรลุเป้าหมายตามวิสัยทัศน์ “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว สำหรับสถานการณ์คลังไทย ยังคงมีเกินดุลติดต่อกันเป็นปีที่ 5 และระดับสัดส่วนหนี้สาธารณะเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 40 ของ GDP ทำให้บริษัท S&P Global Rating ได้ปรับมุมมองความน่าเชื่อถือของเศรษฐกิจไทยจากระดับมีเสถียรภาพเป็นเชิงบวก เพิ่มความน่าเชื่อถือเป็นครั้งแรกในรอบ 9 ปี นับตั้งแต่ปี 2553 และกลับมาอยู่ในมุมมองเชิงบวกในรอบ 16 ปี นับตั้งแต่ปี 2546 โดยปัจจัยสำคัญ ได้แก่ ภาคการคลังที่แข็งแกร่งและระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP ที่อยู่ในระดับต่ำ ฐานะการเงินระหว่างประเทศและสภาพคล่องที่อยู่ในระดับสูง การมียุทธศาสตร์ชาติระยะยาว ประกอบกับการมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งซึ่งจะช่วยตอบสนองความต้องการของประชาชน ในอนาคตรัฐบาลยังเพิ่มการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐภาคเอกชน (PPP) ต่อไป เพื่อยกระดับศักยภาพเศรษฐกิจไทย
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงแนวทางการดำเนินการงบประมาณปี พ.ศ.2563 ว่า สืบเนื่องจากร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จะมีผลบังคับใช้ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ทำให้ในปัจจุบัน ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐ ต้องใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ไปพลางก่อน ดังนั้น เพื่อให้มีการใช้จ่ายงบประมาณปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 โดยเร็ว เมื่อร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 มีผลบังคับใช้ ขอให้หัวหน้าส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐ เร่งรัดการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 เช่นเดียวกับเงินนอกงบประมาณ เช่น เงินรายได้ เงินสะสมคงเหลือ และการใช้เงินกู้ตามพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ ให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ
ในส่วนแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 นั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จะมีความต่อเนื่องจากงบประมาณปี พ.ศ. 2563 ยังคงนโยบายงบประมาณขาดดุลในจำนวนที่ไม่ส่งผลกระทบต่อวินัยและความยั่งยืนทางการคลัง เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามแนวทางการพัฒนาของยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องทั้งระยะสั้น กลาง และระยะยาว มีเสถียรภาพ และกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคอย่างทั่วถึง เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานราก และลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมของประชาชน โดยย้ำว่าในการจัดทำงบประมาณบูรณาการ ทั้งระหว่างหน่วยงานภายในกระทรวงเดียวกัน และหน่วยงานระหว่างกระทรวง รวมทั้งการบูรณาการระหว่างมิติหน่วยงาน (Function) และมิติยุทธศาสตร์ (Agenda) กับมิติพื้นที่ (Area) โดยเป็นการบูรณการทั้งแผนงาน แผนคน และแผนเงินอย่างเป็นระบบและสอดคล้องกัน มีการกำหนดตัวชี้วัดของแผนที่เป็นไปตามหลักสากล อาทิดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) เป็นต้น
นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการจัดทำคำของบประมาณปี พ.ศ. 2564 ให้เสนอคำขอรับการจัดสรรงบประมาณปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 มาที่สำนักงบประมาณ ภายในวันที่ 24 มกราคม 2563 ภายใต้เป้าหมาย 6 ด้าน ได้แก่ ด้านความมั่นคง สร้างความปลอดภัย และความมั่นคงให้กับประชาชน ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ การพัฒนาภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ คนไทยทุกช่วงวัยให้มีคุณภาพ ส่งเสริมการเรียนรู้ ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้านการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ นายกรัฐมนตรีกล่าวในตอนท้ายว่า เพราะสิ่งสำคัญของการจัดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณของรัฐบาล ต้องให้คำนึงถึงความต้องการและประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web