- Details
- Category: สำนักนายกฯ
- Published: Wednesday, 24 July 2019 22:33
- Hits: 5490
เปิด 'นโยบายรัฐบาล' มุ่งสู่ประเทศพัฒนาแล้วในศตวรรษที่ 21 หลัก 12 ด้าน และนโยบายเร่งด่วน 12 ด้าน
ภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ด้วยวิสัยทัศน์ 'มุ่งมั่นให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วในศตวรรษที่ 21'
คำแถลงนโยบายหลัก 12 ด้าน และนโยบายเร่งด่วน 12 ด้าน ของรัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีวิสัยทัศน์คือ 'มุ่งมั่นให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วในศตวรรษที่ 21’โดยหัวใจของทุกนโยบาย คือ การใช้งบประมาณแผ่นดิน หรือ ‘ภาษีประชาชน’ อย่างคุ้มค่า ยึดกรอบวินัยการเงินการคลัง มีความโปร่งใส และตรวจสอบได้
ที่สำคัญเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บท แผนการปฏิรูปประเทศ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบาย และแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ โดยอยู่บนรากฐานหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อนำไปสู่การพัฒนาประเทศที่ งเติบโตเชิงคุณภาพ’ ไม่ใช่ ‘การเติบโตเชิงปริมาณ’
การแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภา แบ่งเป็น 2 ส่วนสำคัญ คือ นโยบายหลัก 12 ด้าน ซึ่งเป็นทิศทางการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลในช่วง 4 ปีข้างหน้า และ นโยบายเร่งด่วน 12 ด้าน ที่ถือเป็นปัญหาเฉพาะหน้าที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการแก้ไข เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนโดยเร็วที่สุด
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริหารประเทศในศตวรรษที่ 21 หรือ 'ยุคดิจิทัล' ปัญหาทุกด้านมีความสลับซับซ้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะประเทศไทยในขณะนี้ถือว่าอยู่ในช่วงระยะของการเปลี่ยนผ่านและต้องต่อสู้กับปัญหาใหม่ ๆ หลายประการ ทั้งจากการต่อสู้กับความยากจนในอดีต ก็ได้แปรเปลี่ยนเป็นการต่อสู้กับความเหลื่อมล้ำในหลายรูปแบบ เช่น ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ความเหลื่อมล้ำของโอกาส และความเหลื่อมล้ำของรายได้และทรัพย์สิน หรือแม้แต่การต่อสู้กับความไม่สงบ ภายในประเทศในอดีต มาสู่การต่อสู้กับภัยคุกคามที่ไม่มีแบบแผนในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเครือข่ายยาเสพติดข้ามชาติ เครือข่ายการก่อการร้ายข้ามชาติ โรคระบาด และสงครามไซเบอร์
ประเด็นท้าทายเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความเสี่ยงของการบริหารประเทศที่รัฐบาลจะต้องเผชิญได้เป็นอย่างดี ดังนั้น รัฐบาลนี้จึงมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาประเทศไทยให้หลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ดูแลประชาชนอย่างทั่วถึง แก้ไขปัญหาปากท้องและสร้างรายได้ให้เพียงพอต่อการดํารงชีวิตของประชาชนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ คนไทยในทุกช่วงวัยจะต้องมีความพร้อม ทั้งในด้านหลักคิด คุณธรรม และจริยธรรม และมีศักยภาพที่จะดําเนินชีวิตในศตวรรษที่ 21 ที่เน้น ‘การเติบโตเชิงคุณภาพ’ ไม่ใช่ ‘การเติบโตเชิงปริมาณ’
ดังนั้น การกำหนดนโยบายทั้งระยะสั้น หรือ ระยะยาวต้องพินิจพิเคราะห์ตรึกตรองอย่างถ้วนถี่ ถึงเป้าหมายและผลสัมฤทธิ์ ทั้ง นโยบายหลัก 12 ด้าน และ นโยบายเร่งด่วน 12 ด้าน เพื่อให้ไปสู่เป้าหมายเดียวกัน คือ การนำพาประเทศไทยไปสู่ประเทศไทยเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วในศตวรรษที่ 21 ดังนั้นการเดินไปสู่เป้าหมายดังกล่าวได้ สิ่งสำคัญอันดับแรก คือ การแก้ปัญหาเร่งด่วน ที่ผ่านการร่วมกันคิดและกลั่นกรองจากพรรคร่วมรัฐบาล ‘19 พรรคการเมือง’ ออกมาเป็นนโยบายเร่งด่วน 12 ด้าน ถือเป็น ‘สัญญาประชาคม’ ต่อพี่น้องประชาชนที่ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งต่างคาดหวังต่อรัฐบาลใหม่ที่เข้ามาบริหารประเทศ
โดยเฉพาะเรื่องที่ 1. การแก้ไขปัญหาในการดํารงชีวิตของประชาชน รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน รูปธรรมของนโยบาย ประกอบด้วย ลดข้อจํากัดในการประกอบอาชีพ พัฒนาระบบขนส่งสาธารณะด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล กทม. เมืองหลวงสตรีทฟู้ด ลดหนี้ 3 ส่วน คือ 1. กองทุนหมู่บ้าน 2. กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา 3. หนี้สินนอกระบบ ปราบปรามแก๊ง "ฉ้อโกงออนไลน์' ปรับปรุงระบบ 'ภาษี' การขยายโอกาสการเข้าถึง 'สินเชื่อที่อยู่อาศัย' ปรับปรุง 'ระบบที่ดินทํากิน" ให้เกษตรกรเข้าถึงได้ ลดอุปสรรคการประกอบอาชีพ'ประมงพาณิชย์' และ 'ประมงชายฝั่ง'รวมถึงดูแล 'ประมงพื้นบ้าน' ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล
ส่วนนโยบายที่ 2. การปรับปรุงระบบสวัสดิการและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน จุดเด่นของนโยบาย คือ การสานต่อและทำทันที ประกอบด้วย บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เบี้ยยังชีพ ‘ผู้สูงอายุ’’คนพิการ’ ที่มีรายได้น้อย ขยายสิทธิกลุ่ม’มารดาตั้งครรภ์’’เด็กแรกเกิด’’เด็กวัยเรียน’ ลดความเหลื่อมล้ําของ "คุณภาพการบริการสุขภาพ" ทั้งระบบ พัฒนาศักยภาพโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตําบล (รพ.สต.) และสนับสนุนอาสาสมัครสาธารณสุขประจําหมู่บ้าน (อสม.) เพื่อนำไปสู่การให้บริการการรักษาพยาบาลที่ดีแก่พี่น้องประชาชน ทั้งสองส่วนถือว่าอยู่ในหมวดสังคมด้านการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน
ปัญหาเศรษฐกิจถือเป็นปัญหาใหญ่ที่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เพราะประเทศไทยเผชิญทั้งปัญหาจากภายในประเทศ อาทิ ภัยพิบัติ ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ การส่งออกชะลอตัว หรือปัจจัยภายนอกจากสงครามการค้าโลกระหว่างชาติมหาอำนาจแต่ส่งผลสะเทือนถึงเศรษฐกิจไทย จึงเป็นที่มาของการกำหนดนโยบายเร่งด่วน เรื่องที่ 3. มาตรการเศรษฐกิจเพื่อรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจโลก เริ่มตั้งแต่การเร่งรัดจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2563 เพื่ออัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ เตรียมมาตรการตั้งรับ "การกีดกันทางการค้า" เร่งเพิ่ม'ช่องทาง' การส่งออกที่ถือเป็นรายได้หลักของประเทศ ขยายความร่วมมือทางการค้าและเศรษฐกิจกับประเทศที่มีศักยภาพ ที่สำคัญต้องส่งเสริม การท่องเที่ยว "เมืองหลัก''เมืองรอง'และ'การท่องเที่ยวชุมชน' ซึ่งถือเป็นรายได้สำคัญในการพัฒนา
ปัญหาเร่งด่วนที่กำลังเผชิญหน้าในขณะนี้ คือ ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ รัฐบาลจึงกำหนดนโยบายมาตรการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร ในข้อที่ 4. การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและพัฒนานวัตกรรม เพราะการทำการเกษตรยุคใหม่ต้องใช้ 'นวัตกรรม' เข้ามาลดต้นทุนการผลิต พร้อมกับสร้างหลักประกันทางรายได้ให้แก่เกษตรกร จึงกลายเป็นที่มาของนโยบาย การ "บริหารจัดการน้ํา'และ 'คุณภาพดิน'ด้วยเทคโนโลยี Agri-Map กําหนดเป้าหมาย "รายได้'จากข้าว ยางพารา มันสําปะหลัง ปาล์ม อ้อย ข้าวโพด ด้วยการชดเชย'ประกันรายได้" และ ดำเนินการ'ประกันภัยสินค้าเกษตร'ส่งเสริม 'เกษตรพันธสัญญา' รวมถึงการส่งเสริมการใช้ 'ยางพารา'ในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ หรือถนนยางพาราทั่วประเทศ และส่งเสริมการใช้ "ผลผลิตทางการเกษตร' ใน "อุตสาหกรรมพลังงาน" เพื่อแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรล้นตลาด รวมถึงเร่งศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี 'กัญชา' "กัญชง" รวมถึงพืชสมุนไพรเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมทางการแพทย์เพื่อยกระดับราคาสินค้าเกษตรได้อีกทางหนึ่ง
รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ย้ำอยู่เสมอว่าจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เช่นเดียวกับกลุ่มผู้ใช้แรงงาน จึงกำหนดนโยบายที่ 5. การยกระดับศักยภาพของแรงงาน โดยเฉพาะการยกระดับรายได้ หรือค่าแรงขั้นต่ำ ต้องสอดคล้องกับการพัฒนา 'ทักษะฝีมือแรงงาน' ผ่านกลไก 'คณะกรรมการไตรภาคี' รวมถึงสนับสนุนการปรับ "เปลี่ยนทักษะ' และ 'เปลี่ยนสายอาชีพ'ให้ตรงกับความต้องการของ 'ตลาดแรงงาน''อุตสาหกรรมเป้าหมาย' และ 'ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี' หรือ Disruptive Technology
ปัญหาเศรษฐกิจถือเป็นหัวใจสำคัญของการบริหารประเทศ โดยเฉพาะระยะเร่งด่วน ที่ต้องมีการวางรากฐานเพื่อรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคดิจิทัล รัฐบาลจึงกำหนดนโยบายที่ 6. การวางรากฐานระบบเศรษฐกิจของประเทศสู่อนาคต โดยมุ่งเน้นการต่อยอด 'อุตสาหกรรมเป้าหมาย' เร่งพัฒนาขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ อาทิ'เศรษฐกิจชีวภาพ''เศรษฐกิจหมุนเวียน'เศรษฐกิจสีเขียว'พร้อมกับสนับสนุนการลงทุน'เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก''เขตเศรษฐกิจพิเศษ''เมืองอัจฉริยะ' โดยระบบโครงข่าย '5G' ที่จะเข้ามาขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลในอนาคตอันใกล้นี้
อีกหนึ่ง นโยบายที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ มุ่งมั่นและตั้งใจ คือ การพัฒนาคนให้มีความพร้อมไปสู่ศตวรรษใหม่แห่งการเปลี่ยนแปลง ดังนั้น จึงกำหนดนโยบายการศึกษาเป็นวาระเร่งด่วนเช่นกัน ด้วยนโยบายข้อที่่ 7. การเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 กล่าวคือ เด็กไทยยุคใหม่ต้องเก่งวิชา'วิทยาศาสตร์'เทคโนโลยี''วิศวกรรม'คณิตศาสตร์'โปรแกรมเมอร์''ภาษาต่างประเทศ' เด็กไทยยุคใหม่ต้องรู้ 'ภาษาคอมพิวเตอร์' หรือ Coding ตั้งแต่ระดับ 'ประถมศึกษา'โรงเรียนทุกแห่งทั่วประเทศต้องมีคุณภาพถึงระดับตำบล และต้องมี 'หลักสูตรออนไลน์' ประกอบการเรียนการสอน ที่สำคัญต้องมีความเชื่อมโยงระหว่างระบบการศึกษากับภาคธุรกิจ เรียนจบแล้วต้องมีงานทำ! นี่คือ แนวทางการพัฒนาคนให้ก้าวทันศตวรรษที่ 21
ปัญหาเร่งด่วนลำดับถัดมา คือ'การทุจริตคอร์รัปชัน' ถือเป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ตระหนักดีตั้งแต่เป็นรัฐบาลสมัยแรก จึงกำหนดไว้ในข้อที่ 8. การแก้ไขปัญหาทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ ทั้งฝ่ายการเมืองและฝ่ายราชการประจํา คือ ต้องดำเนินการคู่ขนานทั้ง 'นักการเมือง'และ 'ข้าราชการประจำ' โดยไม่ละเว้น ด้วย 'มาตรการทางการเมือง' ควบคู่ไปกับ "มาตรการทางกฎหมาย' กับผู้กระทําผิด และต้องนํา 'เทคโนโลยี'มาใช้ 'เฝ้าระวัง' การทุจริตประพฤติมิชอบ รวมถึงเร่งรัดขั้นตอนของกฎหมายกับผู้กระทําผิด ที่สำคัญต้องเปิดกว้างให้ภาคเอกชน และประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ป้องกัน และเฝ้าระวังการทุจริตในโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ
อีกปัญหาเร่งด่วนที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ไม่เคยทอดทิ้ง คือ การแก้ไขปัญหายาเสพติดและสร้างความสงบสุขในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ที่ระบุไว้ในข้อ 9. คือ 'การแก้ปัญหายาเสพติด' ที่ต้องใช้กระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนบังคับใช้'กฎหมาย' อย่างเคร่งครัด สร้างความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน ทำลาย 'แหล่งผลิต' และ 'เครือข่าย' ที่สำคัญต้องฟื้นฟูดูแลรักษา 'ผู้เสพ' พร้อมสร้าง 'โอกาส''อาชีพ' และ 'รายได้'ให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตปกติในสังคมได้ สำหรับ ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ คือ น้อมนํายุทธศาสตร์พระราชทาน 'เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา' เร่งรัดการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบ จัดสวัสดิการที่เหมาะสมสําหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐในพื้นที่ และการแก้ไขปัญหายึดหลัก ‘กฎหมายไทย’ และ’หลักการสากล’
รัฐบาลทราบดีว่า "หัวใจการบริหารประเทศ" คือ ‘ข้าราชการ’ ดังนั้นการพัฒนา'ระบบ' และ 'คน' ถือเป็นสิ่งสำคัญ จึงกำหนดนโยบายข้อที่ 10. การพัฒนาระบบการให้บริการประชาชน หรือ รัฐบาลดิจิทัล เริ่มต้นที่การพัฒนาระบบจัดเก็บและเปิดเผยข้อมูลของภาครัฐ การอนุมัติหรืออนุญาตทางราชการด้วยระบบดิจิทัลในอนาคต ต้องลดข้อจํากัดด้านกฎหมายที่เป็นปัญหาอุปสรรคต่อการทําธุรกิจและการดํารงชีวิตของประชาชน และต้องแก้ไขกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม ล้าสมัย ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ
ทุกวันนี้ ปัญหาภัยพิบัติถือเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสู่ภาวะโลกร้อน ทำให้ฤดูกาลต่าง ๆ แปรปรวนและทวีความรุนแรงขึ้น ดังนั้นการวางมาตรการตั้งรับและช่วยเหลือเยียวยาเป็นสิ่งสำคัญ จึงกำหนดนโยบาย 11. การจัดเตรียมมาตรการรองรับภัยแล้งและอุทกภัย เริ่มด้วยมาตรการป้องกัน'ก่อน' เกิดภัย การให้ความช่วยเหลือ 'ระหว่าง'เกิดภัย การแก้ไขปัญหาใน 'ระยะยาว'โดยเฉพาะ'ระบบเตือนภัย' ต้องมีการจัดระบบติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง รวมถึงกําหนดมาตรการ 'บรรเทาความเดือดร้อน' ประชาชนให้ได้มากที่สุดและทันท่วงที และที่สำคัญต้องเร่งพัฒนาการปฏิบัติการ 'ฝนหลวง' เพื่อช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรไม่ให้พืชผลทางการเกษตรต้องยืนต้นตายจากการขาดแคลนน้ำ หรือภาวะภัยแล้ง และนโยบายเร่งด่วนลำดับสุดท้าย คือ 12. การสนับสนุนให้มีการศึกษา การรับฟังความเห็นของประชาชน และการดําเนินการเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ที่ทั้งพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านให้ความสำคัญ
ทั้งหมดนี้ คือ นโยบายเร่งด่วน 12 ด้านที่รัฐบาลจะเร่งดำเนินการให้เกิดผลสัมฤทธิ์ให้เร็วที่สุด
นโยบายหรือยุทธศาสตร์ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ตอกย้ำอยู่เสมอ คือ ประเทศไทยต้องหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง และต้องลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ระหว่างคนจนและคนรวย โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ดังนั้นการสานต่อความมุ่งมั่นดังกล่าวจึงกลายเป็นที่มาของการกำหนดวิสัยทัศน์ของรัฐบาลชุดนี้ มุ่งมั่นให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วในศตวรรษที่ 21 โดยรัฐบาลได้กําหนดนโยบายในการบริหารราชการแผ่นดิน สำหรับนโยบายในช่วง 4 ปีถัดไป ด้วยนโยบายหลัก 12 ด้าน ประกอบด้วย
1. การปกป้องและเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์
2. การสร้างความมั่นคงและความปลอดภัยของประเทศ และความสงบสุขของประเทศ
3. การทํานุบํารุงศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม
4. การสร้างบทบาทของไทยในเวทีโลก
5. การพัฒนาเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของไทย
6. การพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจและการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค
7. การพัฒนาสร้างความเข้มแข็งจากฐานราก
8. การปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้และการพัฒนาศักยภาพของคนไทยทุกช่วงวัย
9. การพัฒนาระบบสาธารณสุขและหลักประกันทางสังคม
10. การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและการรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน
11. การปฏิรูปการบริหารจัดการภาครัฐ
12. การป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ และกระบวนการยุติธรรม
ทั้งนโยบายหลัก 12 ด้าน และนโยบายเร่งด่วน 12 ด้าน สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ ให้ความสำคัญอย่างมาก คือ "กรอบวินัย ด้านการเงินการคลังของประเทศ” เพื่อไม่ให้ถูกมองว่าใช้งบประมาณจำนวนมหาศาล เหมือนกับนโยบาย "ประชานิยม" ในอดีต โดยรัฐบาลยืนยันว่าการดำเนินงานทั้งหมดมีแหล่งที่มาของเงินชัดเจน และจะทำงานภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลัง
โดยเฉพาะนโยบายด้านสังคมที่เกี่ยวข้องกับ การศึกษา สาธารณสุข และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อวางรากฐานการพัฒนาประเทศในระยะยาว ที่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก ในขณะที่รายได้จากภาษีของประเทศมีอยู่อย่างจํากัด ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องเร่งรัดพัฒนาระบบ จัดเก็บภาษีของรัฐให้มีความครอบคลุมมากขึ้น มุ่งเน้นการขยายฐานภาษีและปรับโครงสร้างภาษีให้มีความเป็นธรรม รวมทั้งเร่งส่งเสริมการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว เพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศ ซึ่งเม็ดเงินดังกล่าวจะกลับมาสู่ระบบภาษีที่จะนํามาใช้ในการดําเนินนโยบาย เพื่อพัฒนาประเทศทั้งในเชิงเศรษฐกิจและเชิงสังคมตามนโยบายรัฐบาล
นอกจากนี้ แผนงานหรือโครงการใดที่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจและเป็นการ วางรากฐานการพัฒนาประเทศในระยะยาว รัฐบาลจะพิจารณาให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการลงทุนเพื่อพัฒนาประเทศ รวมทั้งพิจารณาใช้เครื่องมือทางการเงินสมัยใหม่ อาทิ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทยในโครงการที่มีความคุ้มค่าทางการเงิน เพื่อลดภาระการลงทุนจากงบประมาณแผ่นดินและการกู้เงิน
'แหล่งที่มาของงบประมาณ' จึงเป็นสิ่งสำคัญที่รัฐบาลคำนึงถึง ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจว่าการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินที่มาจากภาษีประชาชนทุกบาททุกสตางค์ จะอยู่ภายใต้ "กรอบวินัย การเงินการคลังอย่างเคร่งครัด โปร่งใส และตรวจสอบได้ เพื่อให้ฐานะการเงินการคลังของประเทศ มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ" กรอบของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บท แผนการปฏิรูปประเทศ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบาย และแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ
ทั้งหมดล้วนมีเป้าหมาย คือ ขับเคลื่อนการยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตของประชาชน เพื่อเป็นรากฐานสําคัญ ในการก้าวไปสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วบนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในระยะ 20 ปี ข้างหน้าตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ ภายใต้วิสัยทัศน์ ‘มุ่งมั่นให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วในศตวรรษที่ 21’ นำโดยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ภาพ / ข่าว : กลุ่มสื่อสารเชิงกลยุทธ์ สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
Click Donate Support Web