ยกฟ้อง'มาร์ค-เทือก'99 ศพ ชี้อำนาจป.ป.ช.-ศาลการเมือง ย้อนคำสั่งให้อัยการฟ้องได้ และความเห็นอธิบดีศาลอาญา
- Details
- Category: วิเคราะห์-การเมือง
- Created: Sunday, 31 August 2014 20:40
- Published: Sunday, 31 August 2014 20:40
- Hits: 3854
วันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2557 เวลา 00:01 น. ข่าวสดออนไลน์
ยกฟ้อง'มาร์ค-เทือก'99 ศพ ชี้อำนาจป.ป.ช.-ศาลการเมือง ย้อนคำสั่งให้อัยการฟ้องได้ และความเห็นอธิบดีศาลอาญา
คอลัมน์ แฟ้มคดี
เหตุการณ์สังหารหมู่กลางเมืองหลวง 99 ศพ เมื่อปี 2553 ยังตราตรึงอยู่ในสายตาและจิตใจผู้คนวงกว้าง การดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องจึงเป็นที่จับตามองมาตลอด
ล่าสุดศาลอาญามีคำพิพากษายกฟ้อง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ และผอ.ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ซึ่งพนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ในความผิดฐานร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา
โดยคำพิพากษาของศาลอาญาให้เหตุผลว่า เป็นคดีที่กระทำความผิดต่ออำนาจหน้าที่ อยู่ในความดูแลของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
ไม่อยู่ในอำนาจที่ศาลอาญาจะพิจารณาได้!!!
ส่งผลให้คดีฆาตกรรมมีแนวโน้มต้องจบลง
ขณะที่กลุ่มทนาย และญาติผู้เสียชีวิต ประกาศเดินหน้ายื่นอุทธรณ์คำพิพากษาต่อไป
ยกฟ้อง"มาร์ค-เทือก"ชี้อำนาจป.ป.ช.
วันที่ 28 ส.ค. ที่ห้องพิจารณา 707 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอาญามีคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อ.4552/2556 ที่พนักงานอัยการ สำนักอัยการพิเศษ ฝ่ายคดีพิเศษ 1 สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์ยื่นฟ้องนายอภิสิทธิ์ เป็นจำเลยที่ 1 และนายสุเทพ เป็นจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80, 83, 84 และ 90
จากกรณีออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่เข้าขอคืนพื้นที่การชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อปี 2553 จนเป็นเหตุให้ นายพัน คำกอง ชาว จ.ยโสธร อายุ 43 ปี คนขับแท็กซี่ และด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ หรือ น้องอีซา อายุ 14 ปี เสียชีวิต บริเวณใกล้สถานีรถไฟแอร์พอร์ตลิงก์ สถานีราชปรารภ เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2553 และนายสมร ไหมทอง คนขับรถตู้ ถูกกระสุนยิงมาจากฝั่งเจ้าหน้าที่ที่รักษาการณ์ในพื้นที่ย่านราชปรารภ บาดเจ็บสาหัส
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงที่ว่าสาเหตุที่บุคคลถึงแก่ความตามและบาดเจ็บสาหัสตามฟ้อง เกิดจากปฏิบัติทางการทหารในการผลักดันผู้ชุมนุม โดยเจ้าหน้าที่ทหารใช้อาวุธปืนจริงและกระสุนจริง เกิดจากการออกคำสั่งของจำเลยทั้งสอง ในฐานะนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรี ผอ.ศอฉ. โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ไม่ได้เป็นการกระทำโดยส่วนตัวหรือไม่ได้กระทำที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ หรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่ของจำเลยทั้งสองตามที่โจทก์คัดค้าน
แม้อาจเข้าข่ายเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบด้วยหน้าที่ ซึ่งเป็นการกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตาม ป.อาญา และพ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 66 ประกอบประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 11 และ 24/2557 กำหนดให้ป.ป.ช.ต้องเป็นผู้มีหน้าที่ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง
หากข้อกล่าวหานั้นมีมูลจึงค่อยส่งเรื่องไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพื่อพิพากษาต่อไป ไม่ได้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลอาญาจึงพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งสอง และยกคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม
อธิบดีศาลอาญาทำความเห็นแย้ง
ขณะที่นายธงชัย เสนามนตรี อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ให้ความเห็นแย้ง โดยระบุว่าคดีนี้เริ่มต้นจากศาลอาญามีคำสั่งในการไต่สวนสาเหตุผู้เสียชีวิตว่าผู้ตายถูกกระสุนปืนเร็วสูงจากเจ้าหน้าที่ทหาร หรือกระสุนจากฝั่งเจ้าพนักงาน ก่อนจะส่งสำนวนให้อัยการเพื่อส่งต่อให้พนักงานสอบสวนดำเนินการตามป.อาญา มาตรา 150 วรรค 10
แล้วจึงยื่นฟ้องต่อศาลตามขั้นตอน เพื่อขอให้จำเลยรับโทษตามป.อาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80,83,84 ไม่ใช่ขอให้ลงโทษในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ
นอกจากนี้ ความผิดฐานก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นฆ่าคนตาย ต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต ขณะที่ป.ป.ช.มีอำนาจไต่สวนความผิดที่มีโทษจำคุกระหว่าง 1-10 ปีเท่านั้น อีกทั้งความผิดฐานฆ่าผู้อื่นเป็นความผิดร้ายแรง ไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ราชการ เนื่องจากเป็นคดีอาญาแผ่นดิน และแม้ป.ป.ช.จะเป็นองค์กรอิสระ แต่ก็ไม่ใช่ศาล ไม่มีอำนาจชี้ขาดหรือพิพากษาลงโทษผู้ใดได้ หากอำนาจชี้ขาดไปอยู่ที่ป.ป.ช. ย่อมเป็นการตัดสิทธิผู้เสียหาย จะเป็นการแปลความกฎหมายที่ปราศจากความยุติธรรมและขัดต่อหลักกฎหมาย
เมื่อจำเลยทั้งสองปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำผิด ก็ควรเข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อให้คดีถึงที่สิ้นสุด เพื่อให้ยุติธรรมทั้งสองฝ่าย ไม่ใช่วินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายตัดสิทธิ์ฟ้องของโจทก์และผู้เสียหาย
อีกทั้ง ไม่ใช่กรณีที่ศาลทั้งสอง มีอำนาจขัดแย้งกัน เมื่อป.ป.ช.ยังไม่ชี้มูลก็ไม่มีเหตุที่จะคาดการณ์ล่วงหน้า แล้ววินิจฉัยว่าศาลอาญาไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ โดยยกอำนาจเด็ดขาดของศาลไปให้ป.ป.ช.ชี้ขาดเสียเอง จึงเห็นว่าเป็นอำนาจของศาลอาญาจะพิจารณาคดีดังกล่าว และญาติผู้ตายย่อมมีสิทธิขอเป็นโจทก์ร่วม
ย้อนคำพิพากษา
อัยการส่งฟ้องได้
คดีนี้ นายอภิสิทธิ์ต่อสู้มาตลอดว่าถูกกลั่นแกล้ง และโจทก์ไม่มีอำนาจยื่นฟ้อง พร้อมยื่นฟ้องนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และพวกรวม 4 คน ในความผิดฐานร่วมกับเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริตและเป็นเจ้าพนักงานสอบสวน กระทำการโดยมีเจตนากลั่นแกล้งให้ผู้อื่นได้รับโทษอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 90, 157, 200
ต่อมาวันที่ 8 ส.ค. ศาลมีคำพิพากษา ระบุว่าพิเคราะห์แล้วเห็นว่า สืบเนื่องจากการชุมนุมของ กลุ่มนปช.ระหว่างปี 2551-2553 มีผู้เข้าร่วมการชุมนุมหลายหมื่นคน ต่อมามีความรุนแรงขึ้น ในหลายพื้นที่ โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรี จึงประกาศใช้พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ.
ต่อมาเมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2553 เจ้าหน้าที่ทหารเข้าปฏิบัติการขอคืนพื้นที่บริเวณแยกผ่านฟ้าและถนนราชดำเนิน จนเกิดการปะทะกับกลุ่มที่อ้างว่าเป็นชายชุดดำ มีเจ้าหน้าที่ทหารและผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต
จากนั้นโจทก์ที่ 2 มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ทหารสามารถใช้อาวุธปืนและจัดให้มีหน่วยพลทหารซุ่มยิงระยะไกลได้ ซึ่งการชุมนุมของกลุ่มนปช.ดำเนินเรื่อยมา และได้ยุติลงเมื่อเหตุการณ์วันที่ 19 พ.ค. 2553 ทำให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก ซึ่งบางรายเสียชีวิตจากการกระทำของ เจ้าหน้าที่ทหาร หลังจากนั้นพนักงานอัยการได้ยื่นไต่สวนชันสูตรสาเหตุการตาย
โดยศาลมีคำสั่งว่าผู้เสียชีวิตบางราย โดยเฉพาะนายพัน คำกอง ที่เสียชีวิตจากกระสุนปืนความเร็วสูงที่ยิงมาจากฝั่งของเจ้าหน้าที่ทหาร ดังนั้นการกระทำของจำเลยทั้งสี่ จึงเป็นการดำเนินการไปตามพยานหลักฐาน กระทำไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย พยานหลักฐานที่นำสืบของโจทก์จึงยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสี่ มีเจตนาบิดเบือนแจ้งข้อกล่าวหาหรือกลั่นแกล้งโจทก์แต่อย่างใด
ส่วนที่โจทก์ระบุว่า ขณะเกิดเหตุโจทก์ทั้งสองมีตำแหน่งทางการเมือง คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจการสืบสวนสอบสวนของป.ป.ช.นั้น เห็นว่า คดีที่จำเลยได้ดำเนินการทำสำนวนและส่งให้พนักงานอัยการนั้น เป็นคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ซึ่งอัยการสูงสุดก็ได้มีคำสั่งให้ฟ้องโจทก์ ดังนั้นการกระทำของจำเลยทั้งสี่ จึงเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ ไม่ได้บิดเบือนหรือกลั่นแกล้ง จึงพิพากษายกฟ้อง
นั่นคือข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในหลายๆ แง่มุม ต่อคดีนี้
แม้ศาลอาญาจะมีคำพิพากษายกฟ้องไปแล้วก็ตาม แต่ก็ยังอยู่ในขั้นตอนที่พนักงานอัยการ จะพิจารณายื่นอุทธรณ์
คงจะต้องรอผลการอุทธรณ์ของสำนักงานอัยการสูงสุดต่อไป
รวมทั้งพนักงานสอบสวนดีเอสไอเองจะต้องศึกษาคำพิพากษาของศาลอาญาล่าสุด ว่าจะมีผล ต่อสำนวนการไต่สวนชันสูตรศพที่ศาลอาญาชี้ไปก่อนแล้วว่า ตายด้วยกระสุนของเจ้าหน้าที่หรือฝั่งเจ้าหน้าที่อีกกว่าสิบสำนวนหรือไม่ อย่างไร
ยังจะต้องติดตามกันต่อไป
รายชื่อเหยื่อที่ศาลชี้ผลไต่สวนแล้วว่าตายด้วยปืนฝั่งจนท.
1.นายพัน คำกอง ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 15 พ.ค.2553 หน้าคอนโดฯ ไอดีโอ ใกล้สถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ ถนนราชปรารภ
2.นายชาญณรงค์ พลศรีลา ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2553 หน้าปั๊มน้ำมันเชลล์ ถนนราชปรารภ
3.นายชาติชาย ชาเหลา ถูกยิงเสียชีวิต เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2553 หน้าอาคารอื้อจือเหลียง ถนน พระราม 4
4.ด.ช.คุณากร หรือ อีซา ศรีสุวรรณ อายุ 14 ปี ถูกยิงเสียชีวิตบริเวณสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ ถนนราชปรารภ
5.พลฯ ณรงค์ฤทธิ์ สาละ ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2553 หน้าอนุสรณ์สถาน ถนนวิภาวดีรังสิต
6.นายฟาบิโอ โปเลงกี ช่างภาพชาวอิตาลี ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 19 พ.ค. บริเวณถนนราชดำริ
7.นายรพ สุขสถิต, 8.นายมงคล เข็มทอง, 9.นายสุวัน ศรีรักษา, 10.นายอัฐชัย ชุมจันทร์, 11.นายอัครเดช ขันแก้ว,12.น.ส.กมนเกด อัคฮาด ถูกยิงเสียชีวิตในวัดปทุมวนาราม เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2553
13.นายจรูญ ฉายแม้น, 14.นายสยาม วัฒนนุกูล โดยทั้งคู่ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2553 หน้าโรงเรียนสตรีวิทยา ถนนดินสอ
15.นายถวิล คำมูล ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 19 พ.ค.2553 บริเวณป้ายรถแท็กซี่ข้างรั้วสวนลุมพินี ถนนราชดำริ
16.นายนรินทร์ ศรีชมภู ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2553 ถูกยิงบริเวณถนนราชดำริ ก่อนไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาลตำรวจ