มีชัย ฤชุพันธุ์ 'ไม่ทำให้พรรคอ่อนแอ'
- Details
- Category: วิเคราะห์-การเมือง
- Created: Sunday, 01 November 2015 19:17
- Published: Sunday, 01 November 2015 19:17
- Hits: 13020
มีชัย ฤชุพันธุ์ 'ไม่ทำให้พรรคอ่อนแอ'
01 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558
คอลัมน์ โครงร่างตำนานคน
สาระสำคัญของประเทศอยู่ที่การจัดโครงสร้างอำนาจการปกครองใหม่
โครงสร้างการบริหารจัดการประเทศจะออกมาเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับ 'รัฐธรรมนูญ'ที่กำลังร่างกันอยู่
ดังนั้น แม้การทำงานของรัฐบาลจะประสบความสำเร็จ หรือไม่อย่างไรน่าจะเป็นเพียงเรื่องเฉพาะหน้าที่จะผ่านไปตามกาลเวลา สาระแท้จริงของประเทศ น่าจะอยู่ที่ 'รัฐธรรมนูญ'มากกว่าว่าจะนำพาประเทศเดินไปในทิศทางใด
เดินไปอย่างสอดคล้องกับทิศทางและแรงกดดันของโลก หรือจะเป็นตัวของตัวเองไม่ใส่ใจต่อความรู้สึกของนานาชาติมากมาย
'ประชาธิปไตย'ในแนวทางสากล เป็นเรื่องของการให้ราคากับนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน
ประเทศที่มีการปกครองแบบอำนาจซ้อนอำนาจอยู่ทุกระดับ'นักการเมือง' กับ 'ข้าราชการประจำ' ชิงการควบคุมศูนย์กลางอำนาจมายาวนาน
"นักการเมือง" เข้าสู่อำนาจด้วยการเลือกตั้ง ก่อนที่จะเปิดทางให้ฝ่ายข้าราชการทำรัฐประหาร วนเวียนอยู่อย่างนี้ กลายเป็นต้นเหตุความขัดแย้งไม่จบสิ้น
ใครจะขึ้นสู่อำนาจแล้วแต่ใครจะเข้มแข็งมากกว่ากัน
ในยุคสมัยนี้ "รัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง" พยายามที่จะสร้างกติกาการอยู่ร่วมกันใหม่
ทิศทางที่เปิดออกมาดูเหมือนว่าจะแก้ปัญหาการแย่งชิง โดยการทำให้ "สองอำนาจ" เข้ามาเป็นกลไกร่วมกันในอำนาจรัฐเสียเลย
ต่างฝ่ายต่างมีองค์กรของตัวเองที่มีส่วนในอำนาจรัฐ
ที่ยังไม่ลงตัวเป็นเพียงแค่จะให้น้ำหนักกับฝ่ายไหนอย่างไร จึงจะอยู่ในจุดที่ยอมรับกันได้
ล่าสุด 'นายมีชัย ฤชุพันธุ์' ในฐานะประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ชี้ทิศทางของรูปแบบการเลือกตั้งออกมาแล้ว
เรียกว่าแบบ'จัดสรรปันส่วน' ที่ 'ประธานมีชัย'บอกว่า "เกิดจากแนวคิดให้ทุกคะแนนมีความหมาย ไม่ให้รู้สึกว่าคะแนนหายไป สมกับที่พูดว่าการเลือกตั้งระบอบประชาธิปไตยต้องเคารพเสียงประชาชน"
ที่น่าจะทำให้ 'นักการเมือง' ชื่นใจคือ บทสรุปที่ 'ประธานมีชัย' บอกว่า ระบบการเลือกตั้งดังกล่าวจะไม่ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ แต่จะยิ่งทำให้เข้มแข็งมากขึ้น
"คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญนึกถึงประชาชนเป็นสำคัญ" เป็นคำอธิบายของ "ประธานมีชัย" ซึ่งฟังดูแล้วเป็นไปในแนวทางให้เกียรติกับประชาชนอย่างสูง และให้ราคากับความเข้มแข็งของ "พรรคการเมือง" เป็นอย่างมาก
ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ไม่น่าที่ "นักการเมือง" จะต้องรู้สึกว่าถูกลิดรอนโอกาสในอำนาจแต่อย่างใด
ดังนั้น เมื่อ "นายนพดล ปัทมะ" ผู้มีความรู้ทางกฎหมายจะตีความบทบัญญัติได้แตกฉานอย่างมากคนหนึ่งของประเทศ ออกมาชี้ว่า "มีปัญหาทั้งหลักการและวิธีปฏิบัติ"
"ระบบการเลือกตั้งระบบใหม่จะทำให้มีโอกาสเกิดรัฐบาลผสมสูงขึ้น ซึ่งอาจทำให้การเมืองขาดเสถียรภาพจากการต่อรองของพรรคร่วมรัฐบาล และในกรณีเกิดรัฐบาลผสม จะทำให้พรรคร่วมรัฐบาลเกี่ยงความรับผิดชอบต่อประชาชน ทำให้ระบบความรับผิดชอบทางการเมืองที่จำเป็นในระบอบประชาธิปไตยในเรื่องนโยบายอ่อนแอลง" นายนพดลสรุปแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นกับการเมืองไทย
จึงเป็นเรื่องน่าแปลกอย่างยิ่งว่าเจตนาที่จะให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง เคารพต่อประชาชนที่ "ประธานมีชัย" บอก จึงถูกนักกฎหมายระดับเซียนอย่าง "นายนพดล ปัทมะ" มองอย่างนั้น
เรื่องนี้จึงสมควรจะต้องมีการอธิบายให้ละเอียดยิ่งขึ้น
ว่าใครเบี่ยงเบน เจตนาอย่างหนึ่งแต่อธิบายให้ประชาชนเข้าใจไปอีกทาง
ใครจริงใจกับประชาชน เป็นเรื่องต้องใส่ใจติดตามกันอย่างใกล้ชิดยิ่ง....