กฎเหล็ก สงคราม ประชามติ ประชาธิปไตย วิภาษวิธี สงคราม
- Details
- Category: วิเคราะห์-การเมือง
- Created: Thursday, 21 May 2015 11:34
- Published: Thursday, 21 May 2015 11:34
- Hits: 8292
กฎเหล็ก สงคราม ประชามติ ประชาธิปไตย วิภาษวิธี สงคราม
หากมองจากมุมของกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญระดับ นายไพบูลย์ นิติตะวัน หากมองจาก สปช.ระดับ นายวันชัย สอนศิริ ผ่าน "ประชามติ"
เหมือนกับ 'นักการเมือง' กำลังกลายเป็น 'เหยื่อ'
ไม่ว่านักการเมืองจากพรรคเพื่อไทย ไม่ว่านักการเมืองจากพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่านักการเมืองจากพรรคชาติไทยพัฒนา ไม่ว่านักการเมืองจากพรรคภูมิใจไทย ไม่ว่านักการเมืองจากพรรคชาติพัฒนา
ล้วน'เสร็จ' ให้กับทีเด็ดของ 'คสช.'
เพราะพลันที่มีการทำ'ประชามติ' ร่างรัฐธรรมนูญความหมาย 1 หมายความว่าการเลือกตั้งที่กำหนดไว้ว่าจะเป็นตอนต้นปี 2559 ก็ต้อง "เลื่อน" ออกไป
ความหมาย 1 หมายความว่า 'เวลา' ของรัฐบาลก็จะต้อง 'ยาว'โดยไม่สามารถกำหนดระยะเวลาอย่างแน่ชัด
'นิมิต' อันมาจากฤๅษี'เกวาลัน' จึงสดใส กาววาว
เท่ากับว่านักการเมืองหรือแม้กระทั่งปรปักษ์ที่อยู่ตรงข้ามกับ'คสช.'กลายเป็นปลาที่ติดเบ็ดกันถ้วนทั่ว
ขิงแก่อย่าง คสช.'เหนือกว่าไก่อ่อน'นักการเมือง'อย่างเด่นชัด
บรรดา'มหาปราชญ์' ที่กำหนดเกมและวางหมากนี้อาศัยจุดอ่อนของ
'ร่างรัฐธรรมนูญ'มาเสมือนกับเป็นเหยื่อล่อ
หยื่อล่อให้ "นักการเมือง" เดินหลงเข้าไปใน 'ลอบ'
ขณะเดียวกัน หากมองจากความสุกงอมของ'นักการเมือง' ก็ต้องยอมรับว่าเป็นการยินยอมเดินเข้าสู่ลอบอันวางดักไว้ด้วยความเต็มใจ
เพราะหงุดหงิดกับ'เนื้อหา'ที่ปรากฏผ่านร่างรัฐธรรมนูญจริงๆ
หากเป็นการสมยอมระหว่าง 'คสช.'กับ '36 มหาปราชญ์' ในนามคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ
ก็ต้องถือว่า ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เสียสละ
ก็ต้องถือว่า ดร.สุจิต บุญบงการ หรือแม้กระทั่ง ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช เสียสละให้กับหมากกลอันวางไว้อย่างแยบยลของ "คสช."
เพราะมาจากความยินยอมอย่างเต็มใจของบรรดา "นักการเมือง"
ประเด็น 1 ซึ่งมีความแหลมคมเป็นอย่างมากและไม่ควรมองข้ามอย่างเด็ดขาดก็คือ พลันที่เข้าสู่กระบวนการ "ประชามติ" เท่ากับทุกฝ่ายออกมายืนอยู่กลางแจ้ง เปิดเผย โดยมี "มวลมหาประชาชน" เป็นผู้ตัดสินอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้พ้น
หากเป็น "สงคราม" นี่ก็คือ สงคราม "ประชาชน"
ถามว่าในเกม "ประชามติ" สามารถเอามาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราวมาเป็น'เครื่องมือ'ในการสร้างความได้เปรียบและอยู่ในสถานะที่เหนือกว่าได้หรือไม่
ตอบได้เลยว่า ไม่ได้
จุดร่วมอย่างมีนัยสำคัญก็คือ ทุกฝ่าย ทุกกลุ่ม จะต้องดำรงอยู่อย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกันในสิทธิและเสรีภาพ
เพราะ "ประชามติ" เท่ากับ "ประชาธิปไตย"
ประชาธิปไตยอาจสามารถอ้างว่าแบบสากล หรือแบบไทย-ไทย แต่พลันที่มีคำว่า'ประชามติ'มาเป็นเครื่องกำกับ
นั่นย่อมพ่วงเอาคำว่า "สากล" เข้ามาด้วย
บทบาทและความหมาย 1 ซึ่งสำคัญอย่างยิ่งยวด อันมาพร้อมกับคำว่า'สากล' คือ
คำว่า "อารยะ" ซึ่งตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า "ศิวิไลซ์" ซึ่งก็มาพร้อมกับคำว่า สิทธิ และ เสรีภาพ ในการแสดงออกและเคลื่อนไหวในทางการเมือง
เพื่อระดม "ประชา" จำนวนมหาศาลให้มา "ลงมติ" ร่วมกัน
จะลง "ประชามติ" ภายใต้กระบอกปืนก็ไม่สง่างาม จะลง "ประชามติ" ภายใต้ร่มเงาอันมืดครึ้มของระบอบ "รัฐประหาร" ก็ไม่ได้
เสรีภาพ ภราดรภาพ เสมอภาค จึงต้องกระหึ่ม
กฎเหล็ก 1 ของสงครามก็คือ การดำรงอยู่ของ "การรุก" และ "การรับ" ภายในองค์เอกภาพเดียวกัน
บางคนอาจมองเห็นแต่ด้านของ "การรุก" อันหมายถึงชัยชนะ กระทั่งลืมหรือมองข้ามบทบาทที่ภายในการรุกได้นำไปสู่ "การรับ" อย่างมิอาจปฏิเสธได้
รุกอาจกลายเป็นรับ ขณะเดียวกัน รับอาจกลายเป็นรุก….
มติชนรายวัน ฉบับวันที่18 พ.ค. 2558