ปริญญา เทวานฤมิตรกุล แจงปมเลือกตั้งเยอรมัน
- Details
- Category: วิเคราะห์-การเมือง
- Created: Wednesday, 08 April 2015 10:02
- Published: Wednesday, 08 April 2015 10:02
- Hits: 7502
สัมภาษณ์พิเศษ : ปริญญา เทวานฤมิตรกุล แจงปมเลือกตั้งเยอรมัน
นําร่างรัฐธรรมนูญที่ร่างเสร็จ 100 เปอร์ เซ็นต์ เข้ารายงานต่อที่ประชุมแม่น้ำ 5 สายแล้ว
9 เม.ย. คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ เตรียมนำร่างดังกล่าวเข้าแลกเปลี่ยนความเห็นต่อสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)
วันที่ 07 เมษายน พ.ศ. 2558 เวลา 15:06 น. ข่าวสดออนไลน์
เนื้อหาสำคัญอย่างระบบการเลือกตั้ง กมธ.ยังคงยึดแบบเยอรมัน
นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ หนึ่งในผู้ร่วมคณะสปช. และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไปดูงานการเลือกตั้งที่เยอรมัน ให้สัมภาษณ์ "ข่าวสด" ตอบข้อสงสัยถึงระบบเลือกตั้งดังกล่าว
ระบบเลือกตั้งไทยกับเยอรมันต่างกันอย่างไร
ระบบ เลือกตั้งในโลกมี 2 ระบบ คือ 1.ระบบเสียงข้างมาก ซึ่งแบ่งประเทศออกเป็นเขตๆ แต่ละเขตให้พรรคส่งผู้สมัครแข่งขันกัน ผู้ชนะเลือกตั้งคือผู้ที่ได้คะแนนเสียงข้างมาก แต่ละพรรคจะได้ส.ส.กี่คนอยู่ที่ชนะกี่เขต เนื่องจากมีการแบ่งเขตจึงเรียกอีกแบบว่าการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต
2.ระบบสัดส่วน แต่ละพรรคจะได้ส.ส.ตามสัดส่วน ของคะแนนที่ได้จากประชาชน คือได้เปอร์เซ็นต์ที่นั่งตามเปอร์เซ็นต์คะแนน เช่น ถ้าพรรค ก ได้คะแนน 10 เปอร์เซ็นต์ จะได้ส.ส. 10 เปอร์เซ็นต์
แต่ละพรรคจึงต้องเสนอบัญชีรายชื่อว่าหากพรรคได้เปอร์เซ็นต์เท่านี้จะมีใครบ้าง ได้เป็นส.ส.ระบบสัดส่วน จึงเรียกอีกแบบว่าการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ หรือปาร์ตี้ลิสต์
ระบบเสียงข้างมาก ข้อดี คือ ประชาชนจะใกล้ชิดกับส.ส. เพราะเขตเลือกตั้งไม่ใหญ่จนเกินไป แต่ข้อเสีย คือ ถ้ารวมทั้งประเทศแล้วพรรคใหญ่จะได้เปรียบ พรรคเล็กจะเสียเปรียบ
ดังนั้น พรรคใหญ่จะมีส.ส.เยอะกว่าความเป็นจริง ขณะที่พรรคเล็กจะมีส.ส.น้อยกว่าความเป็นจริง
อีกทั้ง ยังเป็นระบบที่บีบประชาชนให้เลือกเพียงแค่ 2 พรรคใหญ่ ซึ่งจะนำไปสู่ระบบ 2 พรรคใหญ่ เมื่อตั้งรัฐบาลจะเข้มแข็งกว่าความเป็นจริง สุดท้ายการตรวจสอบถ่วงดุลในสภาจึงขาดความสมดุลอย่างที่ปรากฏ
ขณะที่ระบบสัดส่วน ทุกพรรคจะได้ส.ส.ตรงความเป็นจริง ประชาชนเลือกกี่เปอร์เซ็นต์จะได้จำนวนส.ส.ตามนั้น แต่มีข้อเสีย คือ ประชาชนจับต้องไม่ได้ ไม่รู้ว่าส.ส.บัญชีรายชื่อเป็นใครบ้าง ไม่ต้องมาหาเสียง
เมื่อมีข้อดี-ข้อเสียคนละอย่าง จึงนำทั้ง 2 ระบบมาผสมกัน ซึ่งมี 30 ประเทศที่นำมาผสมกัน
การผสมก็มี 2 แบบ คือ 1.ระบบสัดส่วนผสมแบบคู่ขนาน ที่จะมีทั้งเสียงข้างมากกับสัดส่วนที่ขนานกันไปแต่ไม่เกี่ยวข้องกัน
เลือกตั้งแบบแบ่งเขตก็เลือกไป แบบสัดส่วนก็เลือกไป ส.ส.แต่ละประเภทบวกกันเป็นจำนวนส.ส.แต่ละพรรคที่ได้ ซึ่งเป็นระบบเลือกตั้งแบบที่ประเทศไทยใช้ในการเลือกตั้ง 4 ครั้งล่าสุด ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540
แบบที่ 2.ระบบสัดส่วนผสม ที่นิยมเรียกว่า "ระบบเลือกตั้งแบบเยอรมัน" ความจริงจะเรียกว่าระบบเยอรมันก็ไม่ถูกเพราะโลกนี้มี 9 ประเทศที่ใช้ระบบสัดส่วนผสม แต่ที่เยอรมันประสบความสำเร็จมากที่สุด
ใช้คะแนนสัดส่วนเป็นหลักในการกำหนดว่าพรรคการเมืองแต่ละพรรคจะมีส.ส.กี่คน โดยผสมเอาส.ส.แบบแบ่งเขตเข้าไปด้วย และดูว่าแต่ละพรรคได้คะแนนสัดส่วนกี่เปอร์เซ็นต์ เพื่อคำนวณเป็นที่นั่งส.ส.
หากสภามีส.ส. 500 คน พรรค ก ได้คะแนน 20 เปอร์เซ็นต์ ก็จะได้ส.ส. 100 คน จากนั้นดูต่อว่าพรรค ก ได้ส.ส.แบบแบ่งเขตแล้วกี่คน ขาดอยู่เท่าไหร่ ก็เอาผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อเติมเข้าจนครบ 20 เปอร์เซ็นต์ ทุกพรรคจะมีส.ส.ตามความเป็นจริง รัฐบาลจะเข้มแข็งตามจริง ฝ่ายค้านจะเข้มแข็ง ตามจริง
ข้อดีประการสำคัญคือประชาชนจะ กล้าเลือกพรรคที่ 3 พรรคที่ 4 ได้มากขึ้น ระบบเลือกตั้งแบบนี้จะไม่ถูกบีบให้เลือก 2 พรรค เหมือนระบบเสียงข้างมากเขตละคนเป็นหลักเหมือนที่ผ่านมา
ไทยควรใช้ระบบไหน
ต้องตั้งหลักจากจุดที่ว่าต้องการสภาแบบไหน ถ้าต้องการสภาที่มี 2 พรรคการเมืองเท่านั้นก็ต้องบอกว่าอย่าไปใช้ ระบบสัดส่วน แล้วให้เลือกตั้งระบบเสียงข้างมากเขตละคนทั้งหมดเลย
แต่ระบบแบบนี้บีบให้ต้องแบ่งเขต ในสถานการณ์ที่ประเทศมีความแตกแยกสูงเพราะไม่มีพื้นที่ตรงกลาง แบ่งข้างตีกัน ต้องเลือกแต่พรรคเพื่อไทยหรือพรรคประชาธิปัตย์เท่านั้น ทั้งๆ ที่มีทางเลือกอื่นได้อีก ดังนั้นเราต้องการพื้นที่ตรงกลางโดยมีทางเลือกอื่นได้อีก
หากคิดว่า รัฐบาลไม่ควรมีความเข้มแข็งเกินจริง ประชาชนเลือกพรรคไปเท่าไรรัฐบาลก็ควรเข้มแข็งตามนั้น ฝ่ายค้านมีคะแนนเสียงเท่าไรก็ควรเข้มแข็งตามนั้น
คือให้สภาสะท้อนความเป็นจริงที่เป็นความหลากหลายของประชาชน ประชาชนจะเลือกพรรคไหนให้เป็นเรื่องของประชาชน
ถ้าต้องการสภาแบบนี้ ระบบสัดส่วนผสมหรือที่เรียกว่าระบบเยอรมันคือคำตอบ เพราะทุกพรรคจะมีส.ส.ตามความเป็นจริง โดยที่มีส.ส.แบบแบ่งเขตอยู่ในนั้นด้วย
ระบบเยอรมันมีข้อดีอะไรอีก
ข้อดีประการสำคัญคือจะนำไปสู่การเมืองแบบสมานฉันท์มากกว่าเดิม เมื่อพรรคการเมืองตรงกลางมีบทบาทมากขึ้นจะทำให้เกิดความปรองดองมากขึ้น ไม่ใช่เรื่องแบ่งข้างแล้วเอาชนะกันเหมือนที่ผ่านมา
มีงาน วิจัยรองรับมากมายว่าการเมืองที่ขัดแย้งกันหนัก ระบบเลือกตั้งที่เหมาะสมคือระบบสัดส่วนผสม เพราะจะได้สภาที่สะท้อนความจริง เกิดความประนีประนอมกันมากขึ้น
ไม่มีระบบเลือกตั้งที่ สมบูรณ์แบบในโลกนี้ ทุกระบบเลือกตั้งมีข้อดี ข้อเสีย ระบบสัดส่วนผสมเป็นความพยายามนำข้อดีของทั้ง 2 ระบบมาใช้ แล้วพยายามลดข้อเสียของทั้ง 2 ระบบ คือ สภาสะท้อนประชาชน
ขณะเดียวกัน สภาจะไม่มีพรรคมากเกินไปหากมีด่านขั้นต่ำ เช่น ที่เยอรมันมีด่านขั้นต่ำ 5 เปอร์เซ็นต์ ถ้าพรรคใดได้คะแนนแบบสัดส่วนไม่ถึง 5 เปอร์เซ็นต์ จะถือว่าไม่ได้ส.ส.แบบสัดส่วนเลย เว้นแต่ได้ ส.ส.แบบแบ่งเขตแล้ว 3 คน
ถ้าไทยใช้หลักเกณฑ์ด่าน 5 เปอร์เซ็นต์ การเลือกตั้งเมื่อปี 2554 จะผ่านแค่ 2 พรรค คือ พรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์ จึงไม่แนะนำการตั้งจำนวนเปอร์เซ็นต์ที่ต้องได้สูงถึง 5 เปอร์เซ็นต์ แต่ต้องหาจุดสมดุลระหว่างเสถียรภาพทางการเมืองกับขนาดของพรรคเล็ก แบบไหนที่จะให้เกิดความพอดี
ยากที่ประชาชนจะเข้าใจหรือไม่
ประชาชน เลือกแบบเดิมเหมือนที่เคยเลือกมาแล้ว 4 ครั้ง เลือกส.ส.แบบแบ่งเขตในเขตเลือกตั้งมีใครสมัครบ้างก็เลือก 1 คน ใครได้คะแนนมากสุดก็ชนะการเลือกตั้ง
ส่วนอีกใบก็เลือกพรรค จากเดิมที่เป็นส.ส.สัดส่วนของพรรค ก็เปลี่ยนเป็นใบเลือกพรรคจะเป็นการกำหนดส.ส.ทั้งสภา ใบเลือกพรรคมีความสำคัญมาก ไม่ว่าจะเลือกพรรคใดกากบาทที่กาไปจะเป็นที่นั่งในสภาตามนั้นเลย
ถ้าเราไม่เคยใช้ระบบสัดส่วนมาเลยก็น่ากังวล แต่เราเลือกระบบสัดส่วนมาแล้ว 4 ครั้ง และครั้งนี้ก็เลือกแบบเดิม
เพียงแต่ตอนคำนวณจะเปลี่ยนไป จากเดิมจะคิดแค่ จำนวนส.ส.สัดส่วน แต่ระบบสัดส่วนผสมแบบเยอรมันจะเป็นเปอร์เซ็นต์ของส.ส.ในสภาทั้งหมด ไม่ได้ยุ่งยากอะไรเลย
ที่สำคัญประชาชนไม่จำเป็นต้องเข้าใจ แค่รู้ว่าคะแนนที่เขาเลือกพรรคคือจำนวนส.ส.ทั้งสภา คนคิดคำนวณคือคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
ถ้าถามว่าคนไทยพร้อมหรือไม่กับระบบเลือกตั้งแบบนี้ ต้องบอกว่าคนไทยไม่ใช่ชนชาติที่โง่เขลา เราต้องเลิกดูถูกตัวเองได้แล้ว
ไทยควรปรับใช้อย่างไร
สิ่งที่เป็นความซับซ้อนจริงๆ ของระบบสัดส่วนผสม คือ แบ่งเป็น 6 บัญชี คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญต้องการให้มี 6 บัญชี รวมถึงเรื่องโอเพ่นลิสต์ ที่พรรคการเมืองวิจารณ์กันมาก
เราไม่ควรอย่างยิ่งที่จะเอาระบบเยอรมันมาใช้ทั้งหมด กว่าที่เยอรมันจะเอาระบบการเลือกตั้งมาใช้ซับซ้อนแบบนี้ เขาพัฒนามาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เลือกตั้งมาทั้งหมด 19 ครั้ง มีการปรับปรุงแก้ไขจนดีขึ้นเรื่อยๆ เราสามารถนำมาปรับใช้ได้ง่ายๆ ไม่ซับซ้อน เหมาะสมกับเราได้ ถือเป็นการเรียนรู้ไม่ใช่เลียนแบบทั้งหมด
ยก ตัวอย่างการคิดจำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อ เยอรมันคิดจากจำนวนผู้มาเลือกตั้ง แต่ที่คิดว่าเหมาะสมและง่ายกว่าคือคิดจากจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง แต่ละบัญชีแบ่งเป็น 6 ภูมิภาคก็ดูว่ามีผู้มีสิทธิเลือกตั้งกี่คน ก็คิดออกมาเลยว่าแต่ละบัญชีจะมีส.ส.กี่คน
แต่ของเยอรมัน ไม่ทำแบบนั้น เขาดูว่าแต่ละบัญชีมีคนมาเลือกตั้งกี่เปอร์เซ็นต์ แล้วให้กระจายไปตามนั้นซึ่งมีความ ซับซ้อน ถามว่าเราต้องเอามาใช้หรือไม่ บอกเลยว่าอย่าเพราะยุ่งยากเกินไป
ข้อดี-เสียระบบโอเพ่นลิสต์
การจัดทำบัญชีรายชื่อจัดโดยแกนนำพรรคไม่กี่คน ใครที่อยู่อันดับแรกยิ่งมีโอกาสได้เป็นส.ส. ประชาชนดูห่างไกลจากบัญชี เพราะเป็นของแกนนำพรรค
บางครั้งบุคคลที่ประชาชนอยากให้เป็นส.ส.ถูกจัดไปอยู่อันดับท้ายๆ แสดงให้เห็นว่าประชาชนไม่มีทางเลือก แต่ต้องเลือกตามที่พรรคจัดมา
ประเทศ ที่ใช้ระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนแล้วพรรคการเมืองของเขามีประชาธิปไตยภายใน พรรค ปัญหานี้จะไม่เกิด เพราะการจัดทำบัญชีรายชื่อเป็นกระบวนการที่สมาชิกพรรคมีส่วนร่วม
แต่ประเทศไทยไม่มีประชาธิปไตยภายในพรรค โอเพ่นลิสต์ จึงเป็นทางแก้ แต่เข้าใจดีว่าพรรคการเมืองต้องต่อต้านเพราะเขาจะสูญเสียอำนาจที่เคยเอาแกน นำพรรค ผู้สนับสนุนพรรคอยู่ในบัญชีตามที่เขาต้องการ
แต่ก็มีหนทางประนีประนอม คือให้การจัดทำบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองต้องให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วม