โยนหิน ก้อนใหญ่ ถามถึง วาระแห่ง อำนาจ พลานุภาพ แหลมคม
- Details
- Category: วิเคราะห์-การเมือง
- Created: Friday, 06 March 2015 11:32
- Published: Friday, 06 March 2015 11:32
- Hits: 3296
วันที่ 06 มีนาคม พ.ศ. 2558 เวลา 00:01 น. ข่าวสดออนไลน์
โยนหิน ก้อนใหญ่ ถามถึง วาระแห่ง อำนาจ พลานุภาพ แหลมคม
ข้อเสนอในที่ประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่จะกำหนดให้สิ่งที่เรียกว่า “แม่น้ำ 5 สาย” ต้องเว้นวรรคทางการเมือง
แหลมคม ร้อนแรง
แหลมคมเพราะว่าเป้าหมายอยู่ที่การจำกัด “กรอบ” ของแม่น้ำ 5 สายอันประกอบด้วย 1.คสช. 2.รัฐบาล 3.สภานิติบัญญัติแห่งชาติ 4.สภาปฏิรูปแห่งชาติ 5.คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ
ร้อนแรงเพราะมีเสียงสวนกลับอย่างฉับพลันทันใด
ไม่ว่าจะมาจาก นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ไม่ว่าจะมาจาก นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกสปช. ซึ่งกำลังมีบทบาท
หาก นายเจษฎ์ โทณะวณิก กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญไม่นำมา “แถลง” และกลายเป็นข่าวครึกโครม ก็ไม่มีโอกาสได้รับรู้ ได้รับฟัง
นี่คือ “หิน” ก้อนเบ้อเริ่มที่โยนออกมา “ถามทาง”
..................................................
หากมองจากมุมซึ่ง นายเจษฎ์ โทณะวณิก ดำรงอยู่ในฐานะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญอันเป็น 1 ในแม่น้ำ 5 สายก็ต้องขอคารวะ
คารวะใน “สปิริต” คารวะใน “ความเสียสละ”
เพราะหมายถึงว่าตัว นายเจษฎ์ โทณะวณิก นั่นแหละจะหมดหนทาง ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกอยู่ในวุฒิสภาจากการสรรหา ไม่ว่าจะเป็น ส.ส.สังกัดพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง
กระนั้น คำถามก็คือ แล้วคนอื่นจะยอมละหรือ
คนอย่าง นายไพบูลย์ นิติตะวัน เด่นชัดแล้วว่าจะไม่ยอม คนอย่าง นายพีระศักดิ์ พอจิต เด่นชัดแล้วว่าจะไม่ยอม ขณะที่คนอื่นๆ ทั้งในคสช. ทั้งในรัฐบาล ทั้งในสนช. ทั้งในสปช. และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญยังไม่ได้แสดงท่าทีอะไรออกมา
“หิน” ก้อนนี้จะมี “อนาคต” อย่างไรในทางการเมือง
...................................................
บทสรุปในวันสุดท้ายของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญนั่นแหละคือคำตอบ บทสรุปในการลงมติในที่ประชุมสปช.นั่นแหละคือคำตอบ
ที่สำคัญ คือ คำตอบในเรื่อง “สืบทอดอำนาจ”
หากฟังจากคำพูดของหลายๆ คนในคสช.ในรัฐบาลต่างยืนยันครั้งแล้วครั้งเล่าว่ามีระยะเวลาอยู่ในอำนาจไม่น่าจะเกิน 2 ปี
เพื่อจัดระเบียบประเทศ เสร็จแล้วก็อำลา
กระนั้น สังคมก็ยังไม่เชื่อ สังคมก็ยังสงสัย เพราะไม่เคยมีผู้ยึดอำนาจรายใดจะถอนตัวออกจากอำนาจอย่างสิ้นเชิง
ต่างต้องวาง “กติกา” เพื่อรักษา “อำนาจ” ทั้งสิ้น
.....................................................
กระบวนท่าของกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้มีความแหลมคมและน่าติดตามอย่างยิ่ง
เรื่องนี้ไม่เพียงแต่จะตรวจสอบทิศทางของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ หากแต่ยังจะตรวจสอบหลักการของสปช. หลักการของสนช. หลักการของรัฐบาลและหลักการของคสช.
“หิน” ที่โยนถามทางครานี้มี “พลานุภาพ” ทางการเมือง
วันที่ 05 มีนาคม พ.ศ. 2558 เวลา 17:17 น. ข่าวสดออนไลน์
238 นักวิชาการ-นักเขียน-นักคิด เรียกร้องขอเสรีภาพทางวิชาการกลับมาในประเทศไทย จากกรณีสมศักดิ์เจียม
วันที่ 5 มี.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มนักวิชาการ นักคิด นักเขียน จำนวน 238 คนจาก 19 ประเทศ ประกอบด้วย ออสเตรเลีย ออสเตรีย แคนาดา โคลัมเบีย เดนมาร์ก ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น มาเลเซีย เนเธอร์แลนด์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เกาหลี สวีเดน ไต้หวัน ไทย ตุรกี อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา ร่วมกันออกแถลงการณ์เป็นจดหมายเปิดผนึก ในหัวข้อ “นักวิชาการ นักเขียน นักคิด เรียกร้องขอให้เสรีภาพทางวิชาการกลับมาในประเทศไทย” เผยแพร่เมื่อวันที่ 4 มี.ค. จากกรณีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีคำสั่งไล่ออกนายสมศักดิ์ เจียมธีรสุกล
ถ้อยความในแถลงการณ์ระบุว่าตลอด 9 เดือนหลังจากคสช.ก่อรัฐประหารครั้งล่าสุดในไทย เป็นรัฐประหารครั้งที่ 12 ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิ.ย. 2475 ทางกลุ่มนักวิชาการ นักเขียน และนักคิด 238 คนขอร่วมเรียกร้องให้เคารพเสรีภาพทางวิชาการในประเทศไทย การเรียกร้องนี้เป็นแนวร่วมหนึ่งเดียวกับที่นักวิชาการภายในประเทศไทยเรียกร้องไปเมื่อสัปดาห์ก่อน เร่งเร้าจากกรณีนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ถูกไล่ออกจากตำแหน่งที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อย่างไม่เป็นธรรม กลุ่มนักวิชาการ 238 คนตั้งข้อสังเกตว่าว่ามีการจำกัดสิทธิเสรีภาพการแสดงออกอย่างสูงและอยู่ในภาวะน่าเป็นห่วง พร้อมวิจารณ์การไล่นายสมศักดิ์ออก ว่าเป็นตัวอย่างของความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และคณะทหาร
ทั้งนี้ กลุ่มนักวิชาการ 238 คนไม่ได้ยกเสรีภาพทางวิชาการว่ามีความสำคัญเหนือกว่าเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนทุกคน หากแต่ตั้งข้อสังเกตว่าการลิดรอนเสรีภาพทางวิชาการเป็นสิ่งที่ยิ่งอันตรายในช่วงนี้ เนื่องจากเป็นการ “ขัดขวางการเรียนการสอนของอาจารย์และนักศึกษา ที่ภาระหน้าที่ปกติประจำวันคือการคิดและการพิจารณาความรู้และความหมาย ก่อให้เกิดการจำกัดจินตนาการและการทำงาน และขัดขวางการกลับคืนสู่ระบอบที่มีการปกป้องสิทธิเสรีภาพเป็นหลัก”
ในตอนท้ายของจดหมาย นักวิชาการกลุ่มนี้ เรียกร้องให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และทุกมหาวิทยาลัยในประเทศไทย ก้าวออกมาเป็นผู้นำในการสนับสนุนเสรีภาพทางวิชาการและเสรีภาพในการแสดงออกอย่างกว้างขวาง พร้อมกับเสนอว่า การคิดแตกต่างกันไม่ใช่อาชญากรรมถ้าหากไม่ได้คิดต่างกันในรั้วมหวิทยาลัยอันเป็นพื้นที่การเรียนการสอนและการแสวงหาความจริงแล้วพื้นที่สำหรับความคิดนอกรั้วมหาวิทยาลัยจะเริ่มหดหายไปเช่นกัน
แถลงการณ์ดังกล่าวลงชื่อพร้อมลายเซ็นของนักวิชาการ 238 คน ทั้งไทยและต่างประเทศ ได้แก่ นอม ชอมสกี้ สถาบันเอ็มไอที แมสซาชูเซ็ตต์ สหรัฐอเมริกา, แคทเธอรีน โบวี่ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน ทักษ์ เฉลิมเตียรณ มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ สหรัฐ, เควิน ฮิววิสัน มหาวิทยาลัยเมอร์ด็อก ออสเตรเลีย, ดันแคน แม็กคาร์โก มหาวิทยาลัยลีดส์ อังกฤษ, เจเรมี อเดลแมน มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน สหรัฐ, นัดเต อัล อาลี มหาวิทยาลัยแห่งลอนดอน, โรเบิร์ต บี. อัล บริตตัน จากมหาวิทยาลัยแห่งมิสซิสซิปปี สหรัฐ, โจชัว บาร์เกอร์ จากมหาวิทยาลัยโตรอนโต แคนาดา. เวย์เซล บาตมาส มหาวิทยาลัยอิสตันบูล ตุรกี, คริส แบร์รี มหาวิทยาลัยคิงส์คอลเลจ ลอนดอน, โรเบิร์ก บิกเนอร์ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน สหรัฐ, โรซา คอร์ดิลเลรา คาสติลโล มหาวิทยาลัยไฟรเออ กรุงเบอร์ลิน เยอรมนี, แอนิตา ชาน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีซิดนีย์ ออสเตรเลีย, โนโบรุ อิชิกาวะ และมัตสึกิ คาทาโอกะ มหาวิทยาลัยเกียวโต, โซเรน อิวาร์สสัน มหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน เดนมาร์ก, โทมัส ลาร์สสัน มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ อังกฤษ เป็นต้น