WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

จุดเสี่ยง'สนช.'เดินเครื่องถอดถอน

30 กันยายน พ.ศ. 2557 เวลา 00:01 น. ข่าวสดออนไลน์


รายงานพิเศษ : จุดเสี่ยง'สนช.'เดินเครื่องถอดถอน

      ข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีผลบังคับใช้ ภายหลังสนช.ลงมติเห็นชอบเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา 

       ประเด็น สำคัญคือเรื่องการถอดถอน ที่ยังคงมีความเห็นต่างว่า สนช.มีอำนาจหรือไม่ รวมถึงกรณีข้อกฎหมายที่คาบเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งถูกยกเลิกไปแล้ว จะนำมาใช้อ้างอิงในกระบวนการได้หรือไม่ 

      สิ่งที่เกิดขึ้นจะกลายเป็น ข้อจำกัดต่อการพิจารณาถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งทางการเมือง ทั้งที่สนช.มีจุดแข็งเรื่องจำนวนเสียงด้วยหรือไม่

ธานี อ่อนละเอียด

สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ 

     เมื่อข้อบังคับการประชุมสนช. 2557 บังคับใช้แล้ว กระบวนการถอดถอนก็ต้องเดินหน้า ขณะนี้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่สำนักเลขาฯสนช. มีสำนวนถอดถอนค้างอยู่ 3 เรื่อง คือ 

      1.ของนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา 2.นาย สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และ 3.ของอดีต ส.ว. 36 คนที่ร่วมสนับสนุนแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราที่มา ส.ว. 

     ทั้ง 3 สำนวนนี้ ประธานสนช.ให้ฝ่ายกฎหมายศึกษาว่าเข้าองค์ประกอบการถอดถอนหรือไม่ หากเข้าก็จะบรรจุระเบียบวาระการประชุมภายใน 30 วัน เพื่อดำเนินการต่อไป

    นอกจากนี้ ยังหมายรวม ถึงกรณีถอดถอนอื่นๆ ของ ผู้ดำรงตำแหน่งเป็นคณะกรรมการองค์กรตามรัฐ ธรรมนูญ ตลอดจนถึงคดี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ หากป.ป.ช.ชี้มูลความผิด ก็ต้องเดินตามกระบวนการนี้ด้วย 

    ค่อนข้างแน่ชัดว่าจำนวนเสียงที่ใช้ ถอดถอน 3 ใน 5 มีเพียงพอ หากคดีใดเข้าสู่การพิจารณาถอดถอนของ สนช. ก็จะเป็นประวัติศาสตร์ที่นัก การเมืองถูกถอดถอนทันที

     สำหรับ บางคดี ที่ถูกชี้มูลนั้นคาบเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญฉบับเก่าที่ไม่ใช้แล้ว จำเป็นต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนหรือไม่ โดยเฉพาะ ทั้ง 3 คดีดังกล่าวนั้น วุฒิสภาได้รับเรื่องจากป.ป.ช.มาในขณะที่รัฐธรรมนูญปี 2550 ยังบังคับใช้ แต่เมื่อจะเข้าสู่กระบวนการถอดถอน รัฐธรรมนูญดังกล่าวถูกยกเลิกแล้ว จะดำเนินการอย่างไร

    ผมและเพื่อนสมาชิก สนช. หลายคนเห็นว่า เราสามารถแก้ไขกรณีดังกล่าวได้โดยให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาส่งสำนวนถอด ถอนทั้ง 3 กลับไปให้ ป.ป.ช. ยืนยันอีกครั้งว่า ระยะเวลาคาบเกี่ยวตั้งแต่การชี้มูลจนมาถึงกระบวนการถอดถอนของรัฐธรรมนูญคนละ ฉบับกันนั้นสามารถดำเนินการได้หรือไม่ 

      ทั้งนี้ เพื่อเป็นเกราะป้อง สนช. ว่าดำเนินการไปตามคำยืนยันของป.ป.ช. เพราะการถอดถอนอาจส่งผลกระทบต่อการทำหน้าที่ของสนช.ได้ หากผู้ถูกชี้มูลระหว่างการคาบเกี่ยวของเวลาบังคับใช้รัฐธรรมนูญเห็นว่าไม่ ได้รับความเป็นธรรม อาจนำไปสู่การฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ 

       หรือร้องเรียนต่อป.ป.ช.เข้าชื่อขอถอดถอนสนช.ได้อีกด้วย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

      การผ่านร่างข้อบังคับเรื่องการถอดถอนและการให้บุคคลพ้นจากตำแหน่งทาง การเมือง จะต้องมีปัญหาตามมาแน่นอน

      เพราะ รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวไม่ได้ระบุเรื่องดังกล่าวไว้ชัดเจน เพียงแต่บอกว่าให้สนช.ปฏิบัติหน้าที่แทน ส.ส. และ ส.ว. เท่านั้น แต่กลับตีความกันว่าสนช.มีอำนาจเหมือน ส.ว. คือสามารถถอดถอนผู้อื่นได้

    ปัญหา ที่จะตามมาคือ เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวไม่ได้ระบุชัดเจน แต่กลับไปอ้างถึงรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ที่ให้อำนาจ ส.ว. ไว้ แต่ขณะนี้รัฐธรรมนูญ 2550 ถูกยกเลิกไปแล้ว จะเกิดเป็นความซ้ำซ้อนว่าสรุปจะให้ยึดรัฐธรรมนูญฉบับใด 

      เมื่อฉบับเก่ายกเลิกไปแล้วก็ไม่มีผลบังคับใช้ทางกฎหมาย ดังนั้นประเด็นเรื่องการถอดถอนจึงอาจเข้าข่ายกระทำโดยไม่มีรัฐธรรมนูญรองรับ

      ส่วน อีกเหตุผลคือ รัฐธรรมนูญ 2550 ให้อำนาจ ส.ว. ในการถอดถอน เพราะ ส.ว. ที่ครึ่งหนึ่งมาจากการเลือกตั้ง และอีกครึ่งหนึ่งมาจากการสรรหา ซึ่งถือว่ามีความชอบธรรมในการถอดถอนนักการเมือง แต่สนช.ไม่ได้มีความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องหรือยึดโยงกับประชาชนเลย ทั้งหมดเป็นบุคคลที่ถูกแต่งตั้งขึ้นมา แล้วจะหาความชอบธรรมในประเด็นนี้จากที่ใด 

    ในภาวะปัจจุบันที่ไม่ใช่ ภาวะปกติ คงมีการให้อำนาจ สนช.กระทำการเรื่องดังกล่าวได้ ซึ่งอาจได้เห็นการรับลูกกันระหว่าง สนช.กับองค์กรอิสระที่มีสำนวนคดีเกี่ยวกับการถอดถอน โดยเฉพาะของอดีตนายกฯ อีกทั้งยังมีการเร่งดำเนินคดีอย่างผิดปกติ ทั้งที่มีคดีอื่นก่อนหน้านี้ที่ยังไม่ได้พิจารณา 

     ที่กล่าวว่าทำ แล้วจะเป็นปัญหา เพราะสิ่งนี้อาจนำไปสู่การบ่มเพาะความขัดแย้ง เหมือนที่สนช.บางคนยังพูดว่าต้องระวังว่าจะเป็นการเรียกแขก มันจะเป็นปัญหาที่ส่งผลในระยะยาว หากไม่มีใครใช้สถาบันการเมืองเป็นตัวแก้ไขปัญหาเพราะเห็นแล้วว่าช่วยอะไรไม่ ได้ การจัดการกับความขัดแย้งก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นไปในรูปแบบอื่น ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องอันตรายอย่างมาก 

     ทำไมสนช. จึงไม่รอให้ผู้ที่จะเข้ามาดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องถอดถอนนี้ เป็นรัฐสภาหรือฝ่ายนิติบัญญัติที่มาจากการเลือกตั้ง มีที่มาอย่างถูกต้องชอบธรรม เป็นผู้รับหน้าที่นี้ เชื่อว่าจะเป็นการลดระดับความขัดแย้งได้ รอภายในระยะเวลาอีกแค่ปีเดียวที่จะมีการเลือกตั้ง 

     หากยังเดินหน้าทำต่อไปเกรงว่าจะทำให้สถานการณ์นำไปสู่ไม้ขีดก้านเดียว 

สิงห์ชัย ทุ่งทอง 

อดีต ส.ว.อุทัยธานี

     ประเด็นการถอดถอนมีความเห็นแตกต่างกันออกไป แม้เราจะพูดเรื่องข้อกฎหมายได้ แต่ต้องไม่ลืมว่ากฎหมายมีไว้เพื่อให้สังคมเกิดความสงบสุข 

      มอง ว่าสนช.อาจไม่ได้มองประเด็นการถอดถอนเลยก็ได้ แม้จะมีอำนาจหน้าที่เหมือนส.ส. และ ส.ว.ก็ตาม เพราะเป้าหมาย คสช. นั้นเน้นยุทธศาสตร์สร้างปรองดอง เชื่อว่าเขาคงไม่ดึงย้อนกลับไปถึงบุคคลที่ ป.ป.ช. กล่าวหากรณีแก้รัฐธรรมนูญในครั้งนั้น แต่ผมอาจมองโลกสวยเกินไปก็ได้ 

     ส่วน ใครจะตีความว่าสนช.มีอำนาจถอดถอนก็ไม่ผิด แต่ผมสนใจเนื้อหามากกว่า เพราะกฎหมายเชิงรัฐศาสตร์สร้างขึ้นมาเพื่อให้สังคมขับเคลื่อน แต่เมื่อรัฐธรรมนูญปี 2550 ถูกฉีกไปแล้ว การถอดถอนน่าจะไม่มีน้ำหนัก 

      อย่าลืมว่าเป้าหมายของการรัฐประหารเพื่อให้สังคมเดินหน้า ถ้าเป็นไปตามที่คนอื่นมองคือถอดถอน บ้านเมืองคงไม่จบไม่สิ้นแน่นอน 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!