รายงานความคืบหน้าโครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 08 November 2022 21:32
- Hits: 1269
รายงานความคืบหน้าโครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์
คณะรัฐมนตรีรับทราบความคืบหน้าโครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ ดังนี้
สาระสำคัญของเรื่อง
อก. รายงานว่า
1. คณะกรรมการส่งเสริมการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์1ได้กำหนดให้มีการดำเนินการในระยะยาวเพื่อแก้ไขปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำและส่งเสริมให้นิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์เกิดขึ้นจริง โดยมอบหมายให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)คัดเลือกผู้พัฒนาโครงการที่มีความเหมาะสมในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ ซึ่งต่อมา กนอ. ได้เชิญชวนให้เอกชนเสนอพื้นที่เพื่อจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เป้าหมาย 5 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดสมุทรสาคร สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ในรูปแบบร่วมดำเนินงานกับ กนอ. ภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม โดยมีภาคเอกชน 1 ราย เสนอโครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมทรัพย์สาคร พื้นที่โครงการประมาณ 4,131-3-35.01 ไร่ ในท้องที่ ตำบลกาหลง อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร
2. อก. ได้ตรวจสอบความเหมาะสมในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมทรัพย์สาครพบว่า พื้นที่ ตั้งโครงการฯ อยู่ในเขตผังเมืองรวมจังหวัดสมุทรสาคร พ.ศ. 2560 ซึ่งถูกกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินเป็นที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม (เขตสีเขียว)2 และที่ดินประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม (เขตสีขาวมีกรอบและเส้นทแยงสีเขียว)3 กนอ. จึงให้บริษัทเอกชนดังกล่าวดำเนินการขอแก้ไขการใช้ประโยชน์ที่ดินพื้นที่โครงการให้สอดคล้องกับการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมและประกอบอุตสาหกรรม
3. อก. ได้ขอให้สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสมุทรสาครพิจารณากำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินที่จะจัดตั้งโครงการฯ เป็นที่ดินประเภทอุตสาหกรรมและคลังสินค้า (เขตสีม่วง)4 เพื่อ อก. จะได้ดำเนินการตามขั้นตอนการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมต่อไปซึ่งสำนักงานฯ แจ้งว่า ได้แจ้งเรื่องดังกล่าวให้เทศบาลนครสมุทรสาครดำเนินการ ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการวางและจัดทำผังเมืองรวมเมืองสมุทรสาคร (ปรับปรุงครั้งที่ 3) เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณากำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินเป็นประเภทอุตสาหกรรมและคลังสินค้า (เขตสีม่วง) ต่อมา อก. ได้ขอให้สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสมุทรสาครเร่งการพิจารณาการกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินดังกล่าวโดยด่วน เนื่องจากได้มีการเตรียมความพร้อมของโครงการตามหลักเกณฑ์การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมและได้ว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment: EIA) แล้ว
นอกจากนี้ อก. ได้จัดส่งข้อมูลเพื่อประกอบการดำเนินการและจัดทำผังเมืองรวมที่เสร็จเรียบร้อยแล้วให้เทศบาลนครสมุทรสาคร ประกอบด้วย ข้อมูลการศึกษารายละเอียดของโครงการนิคมอุตสาหกรรมทรัพย์สาคร ข้อมูลการกำหนดกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายในเบื้องต้น โดยเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (New-Growth Engine) ในกลุ่มอุตสาหกรรมเดิม (First S-Curve) และกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ (New S-Curve) ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร และโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมที่ใช้ ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง และข้อมูลการออกแบบผังแม่บทและระบบสาธารณูปโภค
ทั้งนี้ ในการดำเนินโครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ ได้มีภาคเอกชนเสนอพื้นที่เพื่อ ขอจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมทรัพย์สาครเป็นพื้นที่นำร่องภายใต้แนวคิดโครงการนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ และกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศตามแนวนโยบายของรัฐบาลแล้ว รวมทั้งมีการเตรียมความพร้อมโดยประเมินความเพียงพอของสาธารณูปโภค ผลกระทบจากโครงการ และออกแบบผังแม่บทระบบสาธารณูปโภค ต่างๆ ของนิคมอุตสาหกรรมเพื่อรองรับการประกอบกิจการด้วยแล้ว อย่างไรก็ตาม การอนุมัติจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมจะต้องสอดคล้องและไม่ขัดกับกฎหมายการผังเมืองและกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น การดำเนินการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินพื้นที่ที่จัดตั้งโครงการนิคมอุตสาหกรรมทรัพย์สาครให้เป็นที่ดินประเภทอุตสาหกรรมและคลังสินค้า (เขตสีม่วง) จึงเป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จของการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมดังกล่าว
______________________
1 คณะกรรมการส่งเสริมการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ แต่งตั้งตามประกาศกระทรวงยุติธรรม ที่ 328/2564 ลงวันที่ 6 ตุลาคม 2564 โดยมีปลัดกระทรวงยุติธรรมเป็นประธานกรรมการ
2 ที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม (เขตเขียว) มีวัตถุประสงค์เพื่อเกษตรกรรม การสงวนรักษาสภาพทางธรรมชาติและการส่งเสริมเศรษฐกิจการเกษตร โดยห้ามใช้ประโยชน์ที่ดินในบางกิจการ เช่น โรงงาน คลังสินค้า คลังน้ำมัน และสถานี่บรรจุก๊าซ
3 ที่ดินประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม (เขตสีขาวมีกรอบและเส้นทแยงสีเขียว) มีวัตถุประสงค์เพื่อการสงวนรักษาสภาพทางธรรมชาติของพื้นที่ชนบทและเกษตรกรรมในบริเวณที่มีข้อจำกัดด้านการระบายน้ำและมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัย โดยห้ามใช้ประโยชน์ที่ดินในบางกิจการ เช่น โรงงาน คลังสินค้า โรงแรม ที่อยู่อาศัยประเภทบ้านแฝด ตึกแถว และอาคารที่อยู่อาศัยรวม
4 ที่ดินประเภทอุตสาหกรรมและคลังสินค้า (เขตสีม่วง) มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งการจ้างงาน ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค การเก็บรักษาผลผลิตและสินค้าที่เกิดการใช้ประโยชน์และส่งเสริมเศรษฐกิจของเมือง โดยห้ามใช้ประโยชน์ที่ดินที่อาจได้รับอันตรายจากอุตสาหกรรม เช่น สถานที่บรรจุก๊าซ โรงแรม โรงมหรสพ และสถานศึกษา
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 8 พฤศจิกายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A11394