สรุปผลการประชุมรัฐมนตรีเอเปคด้านป่าไม้ ครั้งที่ 5 (The Fifth APEC Meeting of Ministers Responsible for Forestry : MMRF5) และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 08 November 2022 21:29
- Hits: 1493
สรุปผลการประชุมรัฐมนตรีเอเปคด้านป่าไม้ ครั้งที่ 5 (The Fifth APEC Meeting of Ministers Responsible for Forestry : MMRF5) และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง
คณะรัฐมนตรีรับทราบสรุปผลการประชุมรัฐมนตรีเอเปคด้านป่าไม้ ครั้งที่ 5 (The Fifth APEC Meeting of Ministers Responsible for Forestry : MMRF5) และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ
สาระสำคัญ
การประชุมรัฐมนตรีเอเปคด้านป่าไม้ ครั้งที่ 5 (The Fifth APEC Meeting of Ministers Responsible for Forestry : MMRF5) และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 23 - 25 สิงหาคม 2565 ณ โรงแรมเลอเมอริเดียน เชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
1. รูปแบบการประชุมเป็นแบบผสมผสาน ดังนี้ 1) เขตเศรษฐกิจที่เข้าร่วมประชุมในรูปแบบพบปะกัน (Physical Meeting) จำนวน 19 เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา ชิลี จีน อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี เปรู ฟิลิปปินส์ รัสเซีย สิงคโปร์ จีนไทเป ไทย สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม และ 2) เขตเศรษฐกิจที่เข้าร่วมประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Virtual Meeting) จำนวน 1 เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ บรูไน ทั้งนี้ เขตเศรษฐกิจฮ่องกงแจ้งว่าไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้
2. การประชุมเตรียมการสำหรับการประชุมรัฐมนตรีเอเปคด้านป่าไม้ ครั้งที่ 5 (The Fifth APEC Meeting of Ministers Responsible for Forestry : MMRF5) โดยมีการพิจารณาร่างถ้อยแถลงร่วมรัฐมนตรีเอเปค ด้านป่าไม้ ครั้งที่ 5 “ถ้อยแถลงเชียงใหม่” เพื่อเป็นเอกสารผลลัพธ์การประชุมรัฐมนตรีเอเปค ด้านป่าไม้ ครั้งที่ 5 (The Fifth APEC Meeting of Ministers Responsible for Forestry : MMRF5) ดังนี้
2.1 เอกสารร่างถ้อยแถลงร่วมรัฐมนตรีเอเปคด้านป่าไม้ ครั้งที่ 5 “ถ้อยแถลงเชียงใหม่” กล่าวถึง ผลสำเร็จของการดำเนินงานด้านป่าไม้ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยกำหนดเป้าหมายความสำเร็จในการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ 27.9 ล้านเฮกตาร์ รวมไปถึงการดำเนินการต่อต้านการลักลอบตัดไม้ที่ผิดกฎหมายและการค้าที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมการค้าผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มีการเก็บเกี่ยวจากป่าอย่างถูกกฎหมาย การแสดงเจตจำนงที่จะดำเนินการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน การอนุรักษ์ป่าไม้ และการฟื้นฟูป่า รวมถึงการเสริมสร้างความร่วมมือในการต่อต้านการตัดไม้อย่างผิดกฎหมายและการค้าที่เกี่ยวข้อง โดยร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อสนับสนุนอนุสัญญาและพันธกรณีที่เกี่ยวข้องกับป่าไม้ พร้อมทั้งส่งเสริมการประยุกต์ใช้แนวทางเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy Model : BCG Model) เพื่อส่งเสริมการค้าและผลิตภัณฑ์ที่มาจากไม้ที่ถูกต้องตามกฎหมาย
2.2 ที่ประชุมไม่สามารถหาฉันทามติต่อร่างถ้อยแถลงร่วมรัฐมนตรีเอเปคด้านป่าไม้ ครั้งที่ 5 “ถ้อยแถลงเชียงใหม่” ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นของการใช้ถ้อยคำ “Peace” ที่ปรากฏอยู่ในย่อหน้าที่ 2 ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการเสริมสร้างความร่วมมือด้านป่าไม้ในกรอบเอเปคในอนาคต จึงได้มีการปรับเปลี่ยนผลลัพธ์การประชุมรัฐมนตรีเอเปคด้านป่าไม้ ครั้งที่ 5 เป็นรูปแบบร่างถ้อยแถลงประธานการประชุมรัฐมนตรีเอเปคด้านป่าไม้ ครั้งที่ 5 เพื่อสะท้อนประเด็นที่ที่ประชุมสามารถตกลงกันได้ ทั้งนี้ ร่างถ้อยแถลงประธานการประชุมดังกล่าวได้มีการแจ้งเวียนให้เขตเศรษฐกิจต่างๆ ทราบแล้ว ผ่านทางสำนักงานเลขาธิการเอเปคในเบื้องต้น
3. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (นายวราวุธ ศิลปอาชา) ในฐานะประธานการประชุมกล่าวถ้อยแถลงประธานต่อที่ประชุม โดยได้เน้นย้ำการดำเนินการตามวิสัยทัศน์ปุตราจายา ค.ศ. 2040 ของเอเปค (APEC Putrajaya Vision 2040) ผ่านแผนปฏิบัติการ “เอาทีอารอ” (Aotearoa Plan of Action) ในปี ค.ศ. 2022 พร้อมได้กล่าวชื่นชมความร่วมมือของทุกประเทศที่ช่วยกันดำเนินการจนบรรลุเป้าหมาย APEC 2020 ในการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ให้ได้ 27.9 ล้านเฮกตาร์ ภายในปี ค.ศ. 2020 นอกจากนี้ ยังได้เรียกร้องให้ที่ประชุมร่วมกันพิจารณา การดำเนินงานตามพันธกรณีของเอเปคเกี่ยวกับการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน การอนุรักษ์ป่าและฟื้นฟูป่า การลดการสูญเสียพื้นที่ป่า การเพิ่มพื้นที่ป่าไม้และพื้นที่สีเขียวในเขตเมือง การต่อสู้กับการตัดไม้อย่างผิดกฎหมายและการค้าที่เกี่ยวข้องผ่านการจัดตั้งและดำเนินการเชิงนโยบายของแต่ละประเทศ การสร้างความร่วมมือระหว่างองค์กรระหว่างประเทศและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ส่งเสริมความร่วมมือพหุภาคีเพื่อเสริมบทบาทในการค้าระหว่างประเทศของผลิตภัณฑ์ป่าไม้ การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ รวมถึงพัฒนาเทคโนโลยีและถ่ายทอดเทคโนโลยีโดยสมัครใจ การบูรณาการเพื่อการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนเพื่อแก้ไขปัญหาด้านภาพอากาศ รวมทั้งการบรรเทาและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมีประสิทธิภาพ และส่งเสริมการประยุกต์ใช้แนวทางแบบองค์รวมภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy Model : BCG Model) โดยการประชุมดังกล่าว มีวาระสำคัญ 2 วาระ สรุปได้ดังนี้
วาระที่ 1 “Balance in all aspects: Sustainability through managing forest resources” โดยมี David J. Ganz, Ph.D. ผู้อำนวยการศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า (The Center for People and Forests : RECOFTC) เป็นผู้นำเสนอในประเด็นการจัดการป่าไม้เพื่อการฟื้นฟูและความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมแบบองค์รวมอย่างยั่งยืนและครอบคลุม และการกล่าวถ้อยแถลงของเขตเศรษฐกิจต่างๆ ที่นำเสนอข้อมูลที่เกี่ยวกับการฟื้นฟูป่า การป้องกันรักษาป่า การเพิ่มพื้นที่ป่า ตลอดจนนโยบายและกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนของเขตเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้ความสำคัญของป่าไม้ต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
วาระที่ 2 “Balance in all aspects: Trade of legally harvested forest products” โดยมี Sheam Satkuru ผู้อำนวยการองค์การไม้เขตร้อนระหว่างประเทศ (ITTO) เป็นผู้นำเสนอในประเด็นการส่งเสริมความถูกต้องตามกฎหมายและการจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน และการกล่าวถ้อยแถลงของเขตเศรษฐกิจต่างๆ ที่ให้ความสำคัญต่อความถูกต้องตามกฎหมายของไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ รวมถึงการส่งเสริมการค้าไม้ที่ถูกกฎหมายในภูมิภาค และการป้องกันการทำไม้ผิดกฎหมาย นอกจากนี้ เขตเศรษฐกิจต่างๆ ยังได้นำเสนอข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานในการป้องกันการลักลอบการตัดไม้ที่ผิดกฎหมาย ทั้งในรูปแบบของนโยบายการประยุกต์เทคโนโลยี และโปรแกรมคอมพิวเตอร์ประยุกต์ เป็นต้น
4. การประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการต่อต้านการค้าไม้ที่ผิดกฎหมายและการค้าอื่นที่เกี่ยวข้อง (Meeting of Expert Group on Illegal Logging and Associated Trade : EGILAT) โดยแบ่งการประชุมออกเป็น 2 ครั้ง ก่อนการประชุมรัฐมนตรีเอเปคด้านป่าไม้ ครั้งที่ 5 ได้แก่ การประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการต่อต้านการค้าไม้ที่ผิดกฎหมายและการค้าอื่นที่เกี่ยวข้อง ครั้งที่ 21 (EGILAT 21) ระหว่างวันที่ 14 - 15 กุมภาพันธ์ 2565 และการประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการต่อต้านการค้าไม้ที่ผิดกฎหมายและการค้าอื่นที่เกี่ยวข้อง ครั้งที่ 22 (EGILAT 22) ระหว่างวันที่ 21 - 22 สิงหาคม 2565 โดยมีสาระสำคัญของการประชุมทั้ง 2 ครั้ง สรุปได้ ดังนี้
4.1 การติดตามผลการดำเนินงานตามนโยบาย EGILAT Policy Theme 2019 – 2021 และการจัดทำนโยบายระยะ 2 ปี ต่อไป (EGILAT next two-year policy) ภายใต้หัวข้อนโยบาย Advancing the trade and distribution of legally harvested forest products: Navigating to legal timber
4.2 การดำเนินงานด้านการกำจัดการทำไม้ที่ผิดกฎหมายและการส่งเสริมการค้าไม้ที่ถูกกฎหมาย ประเทศไทย โดยกรมป่าไม้ได้แก้ไข พ.ร.บ. ป่าไม้ (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2562 ซึ่งส่งเสริมให้มีการปลูกสร้างสวนป่าภาคเอกชนเพิ่มขึ้น จากการยกเลิกมาตรา 7 รวมถึงการออกหนังสือรับรองไม้ ผลิตภัณฑ์ไม้และถ่านไม้เพื่อการค้าหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร
4.3 การติดตามความก้าวหน้าที่เกี่ยวกับการจัดทำ Timber Legality Guidance Template และ Law Enforcement Contact Point ประเทศไทย โดยกรมป่าไม้ได้ประสานดำเนินการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิเช่น ITTO, WRI, และ APFNet เป็นต้น เกี่ยวกับการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการทำไม้ที่ผิดกฎหมายและการส่งเสริมการค้าไม้ที่ถูกกฎหมายของหน่วยงานดังกล่าว ทั้งนี้ ประเทศไทย โดยกรมป่าไม้ได้จัดทำ Timber Legality Guidance Template for Thailand ให้กับสำนักงานเลขาธิการเอเปค เพื่อดำเนินการตามขั้นตอน รวมถึงได้แจ้งรายชื่อ Law Enforcement Contact Point ให้กับที่ประชุมเพื่อโปรดทราบใช้เป็นข้อมูลในการติดต่อประสานงานที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายป่าไม้ของไทยต่อไป
4.4 การจัดทำนโยบาย EGILAT Policy Theme II ภายใต้หัวข้อหลัก Advancing the trade and distribution of legally harvested forest products: Navigating to legal timber พร้อมได้เสนอโครงการเพื่อขอรับสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานเลขานุการเอเปค จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ APEC Project EGILAT 01 2022 “Advancing the Trade and Distribution of Legally Harvested Forest Products: Navigating to Legal Timber” โดยมีสหรัฐอเมริกา เป็นผู้ดำเนินการหลัก และ APEC Project EGILAT 02 2022 “Developing integrated Timber Data to Enhance Legal Timber Trade of the APEC through Xylaria Networking” โดยมีสาธารณรัฐอินโดนีเซีย เป็นผู้ดำเนินการหลัก สำหรับประเทศไทยได้ให้การสนับสนุนการดำเนินงานโครงการ
4.5 การรับรอง EGILAT Strategic Plan 2023 – 2026 เพื่อเสนอต่อไปยัง The APEC Senior Official’s Meeting (SOM) Steering Committee on Economic and Technical Cooperation (SCE) เพื่อพิจารณาให้การรับรองต่อไป
5. ผลลัพธ์การประชุม
ร่างถ้อยแถลงร่วมรัฐมนตรีเอเปคด้านป่าไม้ ครั้งที่ 5 “ถ้อยแถลงเชียงใหม่” ไม่สามารถมีฉันทามติรับรองจากที่ประชุม เนื่องจาก สถานการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศที่ยังไม่สงบ ทำให้หลายเขตเศรษฐกิจไม่รับรองร่างถ้อยแถลงร่วมรัฐมนตรีเอเปคด้านป่าไม้ ครั้งที่ 5 “ถ้อยแถลงเชียงใหม่” ดังกล่าว โดยได้ขอปรับเปลี่ยนข้อความของเอกสารผลลัพธ์การประชุม ในรูปแบบของถ้อยแถลงประธานการประชุมรัฐมนตรีเอเปคด้านป่าไม้ ครั้งที่ 5 ดังนี้
5.1 ตัดข้อความในย่อหน้าที่ 2 ออกทั้งหมด เนื่องจากปรากฏข้อความที่ไม่ได้รับฉันทามติใน (ร่าง) ถ้อยแถลงร่วมรัฐมนตรีเอเปคด้านป่าไม้ ครั้งที่ 5 “ถ้อยแถลงเชียงใหม่”
5.2 เพิ่มเติมข้อความในย่อหน้าที่ 3 เพื่อเน้นย้ำวิสัยทัศน์ปุตราจายาของเอเปค ค.ศ. 2040 (APEC Putrajaya Vision 2040) ที่ทุกเขตเศรษฐกิจได้ให้การรับรองแล้ว
5.3 ปรับปรุงข้อความในย่อหน้าที่ 4 เพื่อเชื่อมโยงแผนปฏิบัติการ “เอาทีอารอ” (Aotearoa Plan of Action) รวมไว้กับย่อหน้าที่ 5 ในการส่งเสริมการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน และการกำจัดการทำไม้ที่ผิดกฎหมายและการค้าที่เกี่ยวข้อง
สำหรับบทเปลี่ยนผ่าน (Transition Paragraph(s)) เป็นการปรับปรุงถ้อยคำเพื่อให้สะท้อนประเด็นที่ที่ประชุมตกลงกันได้ให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ตารางเปรียบเทียบประเด็นเอกสารผลลัพธ์การประชุม ฉบับที่เสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบกับฉบับที่รับรองในการประชุม อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยนหรือระบุเพิ่มเติมจากเอกสารผลลัพธ์ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2565 ไม่ขัดต่อเนื้อหาและหลักการที่ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี อีกทั้ง ยังคงสอดคล้องกับแนวนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ และยังเป็นการกำหนดแนวทางและเป้าหมายการดำเนินงานที่เขตเศรษฐกิจทุกเขตให้การรับรองและเห็นชอบร่วมกันแล้ว จึงไม่ส่งผลกระทบต่อเป้าหมายและทิศทางการดำเนินงานแต่อย่างใด และสอดคล้องกับความเห็นของกระทรวงการต่างประเทศที่เสนอแนวทาง การพิจารณาปรับปรุงรายละเอียดผลลัพธ์การประชุม
6. ประโยชน์ที่ประเทศไทยได้รับจากการประชุม
การประชุมรัฐมนตรีเอเปคด้านป่าไม้ ครั้งที่ 5 (The Fifth APEC Meeting of Ministers Responsible for Forestry : MMRF5) และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง ส่งผลประโยชน์เชิงบวกต่อประเทศไทยเป็นอย่างมาก กล่าวโดยสรุปได้ ดังนี้
6.1 การแสดงบทบาทความเป็นผู้นำที่ชัดเจนของประเทศไทยด้านการบริหารจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน รวมถึง การแสดงศักยภาพในการดำเนินการด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และพื้นที่สีเขียวในทุกมิติ ได้แก่ การพัฒนาเศรษฐกิจบนพื้นฐานทรัพยากรต้นทุนด้านป่าไม้ การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน การบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง และการปฏิบัติการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้และฟื้นฟูระบบนิเวศป่าไม้ของประเทศ
6.2 การเรียกร้องเขตเศรษฐกิจทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ ให้มีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการป่าไม้ ซึ่งช่วยสร้างประโยชน์และโอกาสให้กับประเทศไทยในการพัฒนางานด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้ของประเทศ นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้แต่ละเขตเศรษฐกิจมีช่องทางในการสนับสนุนงบประมาณแก่ประเทศสมาชิกในการดำเนินงานอีกด้วย
6.3 การรับรองถ้อยแถลงประธานการประชุมรัฐมนตรีเอเปคด้านป่าไม้ ครั้งที่ 5 สามารถช่วยให้ทุกเขตเศรษฐกิจสามารถใช้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการป่าไม้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้ง ยังช่วยยกระดับการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามวิสัยทัศน์ปุตราจายาของเอเปค ค.ศ. 2040 (APEC Putrajaya Vision 2040) และแผนปฏิบัติการ “เอาทีอารอ” (Aotearoa Plan of Action) ทำให้ผลการดำเนินงานภาพรวมของเขตเศรษฐกิจทั้ง 21 เขต บรรลุเป้าหมายได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงประเทศไทยด้วยเช่นกัน
6.4 การประชุมรัฐมนตรีเอเปคด้านป่าไม้ ครั้ง 5 สามารถสะท้อนหัวข้อหลักในการเป็นเจ้าภาพเอเปค “Open Connect Balance” ทุกหัวข้อได้อย่างชัดเจน ทั้งนี้ สามารถยกเป็นต้นแบบการปฏิบัติที่ดีให้กับการดำเนินงานด้านอื่น โดยแสดงในภาพรวมของการดำเนินงานภายใต้บทบาทผู้นำของประเทศไทย ในคราวการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิก (The Asia-Pacific Economic Cooperation : APEC) และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 16 - 18 พฤศจิกายน 2565
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 8 พฤศจิกายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A11392