WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ผลการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 55 และการประชุมระดับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง

GOV8 copy

ผลการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 55 และการประชุมระดับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง

          คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 55 และการประชุมระดับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง และเห็นชอบสั่งการหน่วยงานที่มีภารกิจเกี่ยวเนื่องตามนัยสรุปประเด็นสำคัญสำหรับการติดตามผลการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน เพื่อนำไปปฏิบัติและติดตามความคืบหน้าต่อไป ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ และให้ กต. รับความเห็นของกระทรวงคมนาคมและสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

          สาระสำคัญของเรื่อง

          กต. รายงานว่า

          1. เมื่อวันที่ 2 - 5 สิงหาคม 2565 รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (นายดอน ปรมัตถ์วินัย) ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 55 และการประชุมระดับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ (1) การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา 11 ประเทศ/องค์กร (2) การประชุมคณะกรรมาธิการสำหรับเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (3) การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (4) การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนบวกสาม (5) การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก และ (6) การประชุม ARF รวมทั้งเข้าร่วมกิจกรรมสำคัญ ได้แก่ การเยี่ยมควรวะนายกรัฐมนตรีกัมพูชาโดยรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน พิธีเปิดการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 55 พิธีลงนามตราสารภาคยานุวัติ TAC ของเดนมาร์ก กรีซ เนเธอร์แลนด์ โอมาน กาตาร์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และพิธีมอบรางวัลอาเซียน ประจำปี 2564 กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา สาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

 

ประเด็น

 

สาระสำคัญ/ผลการหารือฯ

1.1 ภาพรวมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 55

 

(1) การสร้างประชาคมอาเซียน

        (1.1) ที่ประชุมสนับสนุนข้อริเริ่มของกัมพูชาในวาระการดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน โดยเฉพาะการเสริมสร้างความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูตัวอย่างยั่งยืนและเตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาท้าทายในอนาคตร่วมกัน ตามหัวข้อหลัก “ASEAN A.C.T. : Addressing Challenges Together” ในการขับเคลื่อนการสร้างประชาคมอาเซียน การจัดทำวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนภายหลังปี .. 2025 รวมทั้งการส่งเสริมการประสานงานของกลไกอาเซียนในการเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินและภัยพิบัติในอนาคตให้มีประสิทธิภาพตามข้อริเริ่มเชิงยุทธศาสตร์และองค์รวมเพื่อเชื่อมโยงการตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินและภัยพิบัติของอาเซียนของเนอการาบรูไนดารุสซาลาม การดำเนินการตามแผนงานประชาคมอาเซียนของทั้งสามเสา1 อย่างสมบูรณ์ การปฏิบัติตามพันธกรณีวาระสตรี สันติภาพ และความมั่นคง และการเตรียมความพร้อมเพื่อร่วมมือกับประเทศที่จะเป็นที่ตั้งสำนักงานของศูนย์อาเซียนด้านการรับมือกับภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ (ASEAN Centre for Public Health Emergencies and Emerging Diseases: ACPHEED) ได้แก่ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม สาธารณรัฐอินโดนีเซีย และไทย โดยไทยจะเป็นที่ตั้งสำนักงานเลขาธิการศูนย์ ACPHEED ด้วย

        (1.2) ที่ประชุมรับรองเอกสารผลลัพธ์ของการประชุม จำนวน 11 ฉบับ ได้แก่ 1) แถลงการณ์ร่วมของการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 55 2) แผนปฏิบัติการเพื่อดำเนินความสัมพันธ์คู่เจรจาอาเซียน-สหราชอาณาจักร .. 2022-2026 3) แผนปฏิบัติการเพื่อดำเนินการตามความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อาเซียน-สหภาพยุโรป .. 2023-2027 4) ภาคผนวก เอ-ความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์แบบรอบด้านอาเซียน-ออสเตรเลีย 5) ภาคผนวกของแผนปฏิบัติการอาเซียน-จีน .. 2021-2025 : ขับเคลื่อนความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์แบบรอบด้านอาเซียน-จีน 6) แผนงานความร่วมมืออาเซียนบวกสาม .. 2023-2027 7) แผนปฏิบัติการเพื่อเสริมสร้างการดำเนินการตามสนธิสัญญาว่าด้วยเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ .. 2023-2027 8) แถลงการณ์การประชุม ARF เพื่อส่งเสริมสันติภาพ เสถียรภาพ และความมั่งคั่งผ่านการทูตเชิงป้องกัน 9) แถลงการณ์การประชุม ARF เพื่อสนับสนุน การธำรงไว้ซึ่งเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 10) แผนงานของ การประชุม ARF ว่าด้วยความมั่นคงทางทะเล .. 2022-2026 และ 11) กรอบงาน การประชุม ARF เรื่องกระบวนการที่ครอบคลุมสำหรับวาระสตรีฯ (ทั้งนี้ ที่ประชุมไม่ได้มีการรับรองร่างแผนปฏิบัติการการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก .. 2023-2027 ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2565 เนื่องจากยังไม่ได้ข้อสรุปของร่างแผนดังกล่าว)2

(2) ไทยได้ผลักดันความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ในฐานะผู้ประสานงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของอาเซียน รวมทั้งเน้นย้ำความเป็นหนึ่งเดียวกันของอาเซียน และการเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจผ่านการมีปฏิสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาท้าทายต่างๆ ตลอดจนผลักดันการมีท่าทีของอาเซียนร่วมกันต่อสถานการณ์ความมั่นคงระหว่างประเทศ

(3) ที่ประชุมเห็นชอบการเสนอชื่อรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรีกัมพูชา (ดร. เกา กิม ฮวน) ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการอาเซียนคนใหม่ ต่อจาก ดาโต๊ะ ปาดูกา ลิม จ็อก ฮอย จากบรูไนฯ ซึ่งจะครบวาระในสิ้นปีนี้ และเห็นชอบการเป็นผู้สมัครของอาเซียนของไทยเพื่อรับเลือกตั้งในตำแหน่งสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน แห่งสหประชาชาติ วาระปี .. 2025-2027 ของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

1.2 ประเด็นด้านความมั่นคงในภูมิภาคและระหว่างประเทศ

 

(1) สถานการณ์ในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา

        (1.1) ที่ประชุมแสดงความห่วงกังวลต่อการประหารชีวิตนักเคลื่อนไหวฝ่ายค้าน 4 คน และการปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้อ3 ที่ยังไม่มีความคืบหน้ามากนักและหลายประเทศต้องการให้มีมาตรการกดดันที่เข้มข้นยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการนำข้อตัดสินใจที่จะไม่เชิญผู้แทนเมียนมาระดับการเมืองเข้าร่วมการประชุมอาเซียนไปใช้ให้ครอบคลุมทุกกรอบ และเสนอให้ผู้แทนพิเศษของประธานอาเซียนเรื่องเมียนมาเริ่มการติดต่อกับรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government: NUG) อย่างเปิดเผยและเป็นทางการ

        (1.2) ไทย กัมพูชา และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวย้ำว่าปัญหาในเมียนมามีความซับซ้อน ทั้งจากเหตุผลทางประวัติศาสตร์ กลุ่มชาติพันธุ์ รวมทั้งความขัดแย้งระหว่างฝ่ายทหาร พลเรือน และกองกำลังชนกลุ่มน้อยต่างๆ ที่หยั่งรากลึกนานกว่า 70 ปี จึงไม่สามารถแก้ไขได้ในระยะเวลาอันสั้น และต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน การกีดกันเมียนมาไม่ให้เข้าร่วมการประชุมอาเซียนจึงจะไม่ช่วยแก้ไขปัญหา และจำเป็นต้องมีปฏิสัมพันธ์กับสภาบริหารแห่งรัฐ (State Administration Council: SAC) ต่อไป ในขณะที่การติดต่อกับ NUG ต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบ และระมัดระวังเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อความไว้เนื้อเชื่อใจของ SAC อย่างไรก็ดี ที่ประชุมไม่สามารถหาฉันทามติได้ และเห็นควรเสนอให้ผู้นำพิจารณามีข้อตัดสินใจต่อไป

(2) สถานการณ์ในช่องแคบไต้หวัน ที่ประชุมแสดงความห่วงกังวลต่อสถานการณ์ความตึงเครียดที่อาจนำไปสู่การประเมินสถานการณ์ผิดพลาด โดยรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนได้ออกถ้อยแถลงร่วม เรียกร้องให้ทุกฝ่ายใช้ความยับยั้งชั่งใจและย้ำท่าทีสนับสนุนนโยบายจีนเดียว

(3) สถานการณ์ในยูเครน ที่ประชุมแสดงความห่วงกังวลต่อสถานการณ์การสู้รบและผลกระทบด้านมนุษยธรรมและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน และสนับสนุนการเจรจา เพื่อแก้ไขข้อพิพาทโดยสันติวิธี

(4) สถานการณ์ในทะเลจีนใต้ ที่ประชุมย้ำเสรีภาพในการเดินเรือและบินผ่านการแก้ไขข้อพิพาทโดยสันติวิธี การดำเนินการตามปฏิญญาว่าด้วยการปฏิบัติของภาคีฝ่ายต่างๆ ในทะเลจีนใต้ ซึ่งจะมีการออกแถลงการณ์ฉลองวาระครบรอบ 20 ปี ในการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน ปลายปีนี้ พร้อมทั้งสนับสนุนการเจรจาจัดทำประมวลการปฏิบัติในทะเลจีนใต้ที่ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเล .. 1982 

(5) สถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลี ที่ประชุมแสดงความห่วงกังวลต่อการทดสอบขีปนาวุธของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี (เกาหลีเหนือ) และสนับสนุนความพยายามทางการทูตเพื่อให้ทุกฝ่ายกลับสู่กระบวนการเจรจาเพื่อบรรลุเป้าหมายคาบสมุทรเกาหลีที่ปลอดอาวุธนิวเคลียร์ ทั้งนี้ สหรัฐอเมริกาและประเทศตะวันตกย้ำความจำเป็นที่จะต้องดำเนินมาตรการคว่ำบาตรเพื่อกดดันเกาหลีเหนือต่อไป ในขณะที่ญี่ปุ่นและสาธารณรัฐเกาหลีย้ำเรื่องของการแก้ไขปัญหาการลักพาตัว

1.3 ความสัมพันธ์กับประเทศคู่เจรจาและภาคีภายนอก

 

(1) ไทยได้ร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามตราสารภาคยานุวัติ TAC โดยเดนมาร์ก กรีซ เนเธอร์แลนด์ โอมาน กาตาร์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (รวม 6 ฉบับ) ทำให้สนธิสัญญาฯ มีอัครภาคีรวม 49 ประเทศ ซึ่งจะนำไปสู่การมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีและการดำเนินความร่วมมือในประเด็นที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกัน โดยในส่วนของยูเครนยังมิได้มีการลงนามตราสารฯ เนืองจากเมียนมายังดำเนินกระบวนการภายในไม่แล้วเสร็จ

(2) ที่ประชุมเห็นชอบคำขอเข้าเป็นคู่เจรจาเฉพาะสาขาของบราซิลและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

(3) ประเทศคู่เจรจาและภาคีภายนอกอื่นๆ ได้แสดงความมุ่งมั่นที่จะขยายความร่วมมือกับอาเซียนและยืนยันการสนับสนุนความเป็นแกนกลางของอาเซียน และได้แสดงท่าที ต่อสถานการณ์ที่กระทบต่อความมั่นคงโลก

(4) รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (นายดอนฯ) ได้เป็นประธานการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-ญี่ปุ่น (ในฐานะประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น) ร่วมกับรัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่น (นายฮายาชิ โยชิมาสะ) โดยที่ประชุมแสดงความยินดีที่อาเซียนบรรลุฉันทามติเรื่องการจัดตั้ง ACPHEED และเห็นชอบให้เสนอผู้นำพิจารณาข้อเสนอจัดการประชุมสุดยอดสมัยพิเศษเพื่อฉลองครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น ในปี 2566 โดยญี่ปุ่นประสงค์ให้มี การประชุมสุดยอดวาระปกติในปีเดียวกันด้วย

(5) ประเทศต่างๆ เน้นย้ำความสำคัญของระบบพหุภาคีที่ตั้งบนพื้นฐานของกฎกติกาความเป็นแกนกลางของอาเซียนในโครงสร้างสถาปัตยกรรมของภูมิภาคซึ่งเปิดกว้างและครอบคลุม รวมทั้งให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) การเสริมสร้างขีดความสามารถในการรับมือกับความท้าทายด้านสาธารณสุข การพัฒนาวัคซีน การวิจัยและพัฒนา ตลอดจนประเด็น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งรวมถึงการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด

1.4 พิธีมอบรางวัลอาเซียนประจำปี 2564

 

ไทยได้เข้าร่วมพิธีมอบรางวัลอาเซียนฯ และแสดงความยินดีกับผู้อำนวยการบริหารสถาบันความร่วมมือเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง (นายสุริยัน วิจิตรเลขการ) ซึ่งได้รับรางวัลดังกล่าวจากการส่งเสริมและสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับอาเซียน ตลอดจนสนับสนุนความร่วมมือระดับอนุภูมิภาคที่ช่วยสนับสนุนประชาคมอาเซียนทั้งสามเสาหลัก รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมผ่านการพัฒนาขีดความสามารถ การศึกษา และการวิจัย ซึ่งช่วยสนับสนุนการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุมในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และช่วยลดช่องว่างด้านการพัฒนาในอาเซียน

 

 

aia 720 x100

ใจฟู720x100px

 

          2. กต. พิจารณาแล้วเห็นว่า ผลการประชุมฯ มีประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับส่วนราชการต่างๆ เช่น

 

ประเด็น

 

การดำเนินการที่สำคัญ

 

หน่วยงานที่รับผิดชอบ

1. การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ ครั้งที่ 55

(1) การสร้างประชาคมอาเซียน

 

(1.1) สนับสนุนข้อริเริ่มของกัมพูชาในวาระการดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน โดยเฉพาะการเสริมสร้างความร่วมมือเพื่อการฟื้นตัวอย่างยั่งยืน และเตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาท้าทายในอนาคตร่วมกัน ตามหัวข้อหลัก “ASEAN A.C.T. : Addressing Challenges Together” ในการขับเคลื่อนการสร้างประชาคมอาเซียน การจัดทำวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนภายหลังปี .. 2025

 

กต.

 

(1.2) ส่งเสริมการประสานงานของกลไกอาเซียนในการเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินและภัยพิบัติในอนาคตให้มีประสิทธิภาพตามข้อริเริ่มเชิงยุทธศาสตร์และองค์รวม เพื่อเชื่อมโยงการตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินและภัยพิบัติของอาเซียนของบรูไนฯ

 

กต. กระทรวงมหาดไทย (มท.) และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)

 

(1.3) ส่งเสริมการดำเนินการตามแผนงานประชาคมอาเซียนของทั้ง 3 เสาอย่างสมบูรณ์

 

กต. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงพาณิชย์ (พณ.)

 

(1.4) เตรียมความพร้อมเพื่อร่วมมือกับประเทศที่จะเป็นที่ตั้ง ACPHEED ได้แก่ เวียดนาม อินโดนีเซีย และไทย

 

กต. และ สธ.

(2) ความสัมพันธ์กับประเทศภายนอกภูมิภาค

 

เดนมาร์ก กรีซ เนเธอร์แลนด์ โอมาน กาตาร์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้ลงนามตราสารภาคยานุวัติ TAC

 

กต.

(3) การแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในภูมิภาคและระหว่างประเทศ

 

(3.1) สถานการณ์ในเมียนมา ที่ประชุมไม่สามารถหาฉันทามติและเห็นควรเสนอให้ผู้นำพิจารณามีข้อตัดสินใจเกี่ยวกับการเข้าร่วมของผู้แทนเมียนมาในระดับการเมืองในการประชุมอาเซียนและการดำเนินการตามฉันทามติ 5 ข้อ ต่อไป

 

กต.

 

(3.2) สถานการณ์ในช่องแคบไต้หวัน ที่ประชุมแสดงความห่วงกังวลต่อสถานการณ์ความตึงเครียดที่อาจนำไปสู่การประเมินสถานการณ์ผิดพลาด โดยรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนได้ออกถ้อยแถลงร่วมเรียกร้องให้ทุกฝ่ายใช้ความยับยั้งชั่งใจ และย้ำท่าทีสนับสนุนนโยบายจีนเดียว

 

กต.

2. การประชุมคณะกรรมาธิการสำหรับเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ทิศทางความร่วมมือ

 

ที่ประชุมมอบหมายให้คณะทำงานของคณะกรรมการบริหารสำหรับเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ฯ ดำเนินการหารือในประเด็นที่คั่งค้างของร่างข้อมติสมัชชาสหประชาชาติ เรื่อง สนธิสัญญาว่าด้วยเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ฯ เพื่อนำส่งร่างข้อมติเชิงสารัตถะให้ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ ครั้งที่ 78 ในปี 2566 พิจารณารับรองโดยฉันทามติ

 

กต.

3. การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-ญี่ปุ่น

(1) ภาพรวมความสัมพันธ์

 

ที่ประชุมสนับสนุนข้อเสนอของญี่ปุ่นในการจัดการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ฯ ในปี 2566 และมีมติเสนอให้ผู้นำมีข้อตัดสินใจในเรื่องดังกล่าวในการประชุมสุดยอดอาเซียนต่อไป พร้อมทั้งได้ประกาศตราสัญลักษณ์และคำขวัญสำหรับใช้ในวาระการฉลองการครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์ฯ

 

กต.

(2) ความร่วมมือด้านสาธารณสุขและโรคโควิด-19

 

ที่ประชุมยินดีต่อการสนับสนุนของญี่ปุ่นในการรับมือกับโรคโควิด-19 ของอาเซียน ทั้งการสนับสนุนเวชภัณฑ์และวัคซีน ความร่วมมือทางวิชาการและความร่วมมือผ่านการปฏิบัติตามกรอบการฟื้นฟูที่ครอบคลุมของอาเซียน

 

กต. และ สธ.

(3) เศรษฐกิจ

 

ที่ประชุมเห็นพ้องที่จะเสริมสร้างความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุน โดยใช้ประโยชน์จากความตกลงทางเศรษฐกิจที่มีอยู่ เช่น ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค และความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ญี่ปุ่น

 

กระทรวงการคลัง (กค.) กต. พณ. และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.)

4. การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-ออสเตรเลีย

(1) ความร่วมมือด้านสาธารณสุขและโรคโควิด-19

 

ที่ประชุมยินดีที่ออสเตรเลียสนับสนุนข้อริเริ่มของอาเซียนในการรับมือกับโรคโควิด-19 เช่น สนับสนุนเงิน 1 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย สำหรับกรอบการฟื้นฟูที่ครอบคลุมของอาเซียนและบริจาควัคซีน 36 ล้านโดสให้แก่อาเซียน

 

กต. สธ. และสถาบันวัคซีนแห่งชาติ

(2) สังคมและวัฒนธรรม

 

ที่ประชุมให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความร่วมมือในการป้องกันและลดผลกระทบจากสาธารณภัยและการเพิ่มพูนความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการขจัดขยะทะเล ซึ่งไทยได้เสนอให้มีการใช้ประโยชน์จากเงินทุนภายใต้ข้อริเริ่ม Australia for ASEAN Futures

 

กต. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) และ มท.

5. การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-จีน

(1) ภาพรวมความสัมพันธ์

 

(1.1) ที่ประชุมย้ำถึงความสำคัญของสถานะความสัมพันธ์อาเซียน-จีน เป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์แบบรอบด้าน และการปฏิบัติตามแถลงการณ์ร่วมของการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ 30 ปี ความสัมพันธ์ฯ ว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์แบบรอบด้าน เพื่อสันติภาพ ความมั่นคง ความรุ่งเรือง และการพัฒนาที่ยั่งยืน

 

กต.

 

(1.2) ที่ประชุมรับทราบข้อเสนอของจีนในการจัดทำแถลงการณ์ร่วมอาเซียน-จีน 2 ฉบับ ได้แก่ 1) แถลงการณ์ร่วมอาเซียน-จีน ว่าด้วยการส่งเสริมการพัฒนาร่วมกัน และ 2) แถลงการณ์ร่วมอาเซียน-จีน ว่าด้วยความร่วมมือด้านความมั่นคงทางอาหาร เพื่อเป็นเอกสารผลลัพธ์การประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน ครั้งที่ 25

 

กต. และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

(2) การเมืองและความมั่นคง

 

ที่ประชุมแสดงความห่วงกังวลต่อสถานการณ์ช่องแคบไต้หวัน ซึ่งประเทศสมาชิกอาเซียนได้แสดงท่าทีสนับสนุนนโยบายจีนเดียว และย้ำว่าไม่ประสงค์จะให้มีการดำเนินการใดๆ ที่เพิ่มความตึงเครียดและบั่นทอนสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค

 

กต.

6. การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-สหพันธรัฐรัสเซีย

การเมืองและความมั่นคงและประเด็นภูมิภาคและระหว่างประเทศ

 

ที่ประชุมสนับสนุนบทบาทที่สร้างสรรค์ของรัสเซียและแลกเปลี่ยนความเห็นในประเด็นภูมิภาคและระหว่างประเทศ โดยเฉพาะสถานการณ์ในยูเครน ซึ่งรัสเซียอธิบายว่าเหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นโดยมีที่มาจากการยั่วยุของฝ่ายตะวันตกและสหรัฐฯ ที่ต้องการควบคุมระเบียบโลก ในขณะที่รัสเซียพร้อมเจรจากับยูเครนและยกตัวอย่างความสำเร็จของการส่งออกเมล็ดธัญพืชในทะเลดำว่า เกิดขึ้นจากการเจรจาของฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งไม่รวมฝ่ายตะวันตก โดยประเทศสมาชิกอาเซียนส่วนใหญ่ยังคงต้องการให้มีการพูดคุยเพื่อหาทางออกอย่างสันติ ถึงแม้ว่าประเทศสมาชิกอาเซียนบางประเทศมีท่าทีเห็นต่าง

 

กต.

7. การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 23

(1) ภาพรวมความสัมพันธ์

 

ที่ประชุมรับทราบรายงานความคืบหน้าและผลการดำเนินการตามแผนงานความร่วมมืออาเซียนบวกสาม .. 2018-2022 และเห็นชอบแผนงานความร่วมมืออาเซียนบวกสามฉบับใหม่ .. 2023-2028

 

กต.

(2) เศรษฐกิจ

 

ที่ประชุมเน้นย้ำความสำคัญของความร่วมมือทางการเงินของอาเซียนบวกสาม มาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคีในการเสริมสร้างเสถียรภาพทางการเงินในภูมิภาค รวมทั้งความสำคัญและประโยชน์ของกลไกการตรวจสอบและติดตามภาวะเศรษฐกิจโดยสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียนบวกสามและมาตรการริเริ่มพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชีย

 

กค. พณ. และธนาคารแห่งประเทศไทย

8. การประชุม ARF ครั้งที่ 29

(1) ทิศทางความร่วมมือ

 

ที่ประชุมรับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุม 3 ฉบับ ได้แก่ 1) แถลงการณ์การประชุม ARF เพื่อส่งเสริมสันติภาพ เสถียรภาพ และความมั่งคั่งผ่านการทูตเชิงป้องกัน เสนอโดยกัมพูชา และร่วมอุปถัมภ์โดยจีนและไทย 2) แถลงการณ์การประชุม ARF เพื่อเน้นย้ำพันธกิจที่จะธำรงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ เสนอโดยจีนและร่วมอุปถัมภ์โดยกัมพูชา รัสเซียและไทย และ 3) กรอบงานการประชุม ARF เรื่องกระบวนการที่ครอบคลุมสำหรับวาระสตรีฯ เสนอโดยสหภาพยุโรป สาธารณรัฐสิงคโปร์ และสหรัฐฯ

 

กต.

(2) กิจกรรม

 

ไทยจะร่วมกับสหรัฐฯ และจีนเป็นประธานร่วมจัดการสัมมนา ARF หัวข้อขยะทะเล-การจัดการขยะมูลฝอยและแนวทางแก้ไขซึ่งคาดว่าจะมีขึ้นในระหว่างสมัยประชุมปี 2565-2566

 

กต. และ ทส.

 

ไทยจะร่วมกับรัสเซียและจีนเป็นประธานร่วมจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ ARF หัวข้อการต่อต้านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อก่ออาชญากรรมซึ่งคาดว่าจะมีขึ้นในระหว่างสมัยประชุมปี 2565-2566

 

กต. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)

 

ไทยจะดำรงตำแหน่งประธานร่วมของการประชุมระหว่างปีว่าด้วยการลดและไม่แพร่ขยายอาวุธร่วมกับสหรัฐฯ และสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา สมัยประชุมปี 2565-2567

 

กระทรวงกลาโหม (กห.) กต. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ สมช.

__________________________________

1 สามเสาหลักอาเซียน ประกอบด้วย (1) ประชาคมการเมืองความมั่นคงอาเซียน (2) ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และ (3) ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน

2 เป็นข้อมูลที่ได้รับจากการประสานงานอย่างไม่เป็นทางการ (ซึ่งไม่ได้ระบุในเอกสารผลการประชุมฯ ที่เสนอคณะรัฐมนตรี)

3 ฉันทามติ 5 ข้อ ได้แก่ (1) ทุกฝ่ายหยุดความรุนแรง (2) ทุกฝ่ายเจรจาอย่างสันติ (3) ให้มีทูตพิเศษเพื่อให้เกิดกระบวนการเจรจา (4) อาเซียนช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และ (5) ทูตพิเศษเข้าไปเมียนมาเพื่อพูดคุยกับทุกฝ่าย

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 8 พฤศจิกายน 2565

สำนักโฆษก   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396

 

A11391

Click Donate Support Web  

EXIM One 720x90 C J

วิริยะ 720x100

AXA 720 x100

PTG 720x100TU720x100sme 720x100

BANPU 720x100QIC 720x100

ธกส 720x100

ais 720x100

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!