ร่างกรอบท่าทีของประเทศไทยต่อวาระการประชุมภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ครั้งที่ 19 (CITES CoP19)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 08 November 2022 21:03
- Hits: 886
ร่างกรอบท่าทีของประเทศไทยต่อวาระการประชุมภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ครั้งที่ 19 (CITES CoP19)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบในหลักการของร่างกรอบท่าทีของประเทศไทยต่อวาระการประชุมภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ครั้งที่ 19 (CITES CoP19)
2. หากมีความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงแก้ไขร่างกรอบท่าทีของประเทศไทยต่อวาระการประชุมภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ครั้งที่ 19 (CITES CoP19) ที่มิใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้เป็นดุลยพินิจของหัวหน้าคณะผู้แทนไทย (ผู้อำนวยการกองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา) เป็นผู้พิจารณา โดยไม่ต้องนำกลับมาเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาใหม่จนสิ้นสุดการประชุมในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 ณ ปานามา คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ กรุงปานามา ซิตี้ สาธารณรัฐปานามา
สาระสำคัญ
การประชุมภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ครั้งที่ 19 (CITES CoP19) มีข้อเสนอ (Proposals) และวาระการประชุมที่เกี่ยวกับกฎระเบียบ ในการดำเนินงานให้เป็นไปตามอนุสัญญา CITES (Working Documents) ดังนี้
1. วาระที่เกี่ยวข้องกับข้อเสนอ (Proposals) มีวาระที่สำคัญและเกี่ยวข้องกับประเทศไทย เพื่อขอเปลี่ยนแปลงสถานะของชนิดพันธุ์ตามบัญชีแนบท้ายอนุสัญญา ดังนี้
(1) นกกางเขนดง (Kittacincla malabarica) เสนอให้บรรจุอยู่ในบัญชี 2
(2) นกปรอดแม่ทะ (Pycnonotus zeylanicus) เสนอปรับจากบัญชี 2 เป็นบัญชี 1
(3) ตะกอง (Physignathus cocincinus) เสนอให้บรรจุอยู่ในบัญชี 2
(4) ปลาฉลามทุกชนิดในวงศ์ Carcharhinidae (Carcharhinidae spp.) เสนอให้บรรจุอยู่ในบัญชี 2
(5) ปลาฉลามหัวค้อนสกุล Sphyrna spp. เสนอให้บรรจุอยู่ในบัญชี 2
(6) ปลากระเบนน้ำจืด (Potamotrygon albimaculata, P. henlei, P. jabuti, P. leopoldi, P. marquesi, P. signata และ P. wallacei) เสนอให้บรรจุอยู่ในบัญชี 2
(7) ปลาโรนันทุกชนิด (Guitarfishes) ในสกุล Rhinobatidae (Rhinobatidae spp.) เสนอให้บรรจุอยู่ในบัญชี 2
(8) ปลิงทะเลทุกชนิด (Thelenota spp.) เสนอให้บรรจุอยู่ในบัญชี 2
(9) ไม้พะยูงอินเดีย (Dalbergia sissoo) เสนอให้ถอดออกจากบัญชี 2
โดยชนิดพันธุ์ที่อยู่ในบัญชี 1 (Appendix I) เป็นชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่อยู่ในสภาวะเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์ที่มีหรืออาจจะมีผลกระทบจากการค้าซึ่งการค้าชนิดพันธุ์เหล่านี้ต้องเป็นไปโดยความเข้มงวดและโดยไม่มีวัตถุประสงค์เชิงพาณิชย์ เพื่อมิให้เกิดผลกระทบต่อความอยู่รอดของชนิดพันธุ์ และจะอนุญาตโดยมีข้อกำหนดเฉพาะ เช่น กรณีการศึกษาวิจัย การเพาะพันธุ์ เป็นต้น ซึ่งการค้าชนิดพันธุ์ในบัญชี 1 จะต้องได้รับความยินยอมจากประเทศผู้นำเข้าก่อน ประเทศผู้ส่งออกจึงจะออกใบอนุญาตส่งออกได้ และชนิดพันธุ์ที่อยู่ในบัญชี 2 (Appendix II) เป็นชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่มีสถานภาพไม่เสี่ยงใกล้สูญพันธุ์ แต่หากไม่มีการควบคุมการค้าอาจทำให้มีสถานะใกล้สูญพันธุ์เหมือนบัญชี 1 ได้ การค้าจึงสามารถดำเนินการได้โดยมีระบบการควบคุมเพื่อป้องกันมิให้มีการใช้ประโยชน์ที่มากเกินไปจนส่งผลกระทบต่อการอยู่รอดของชนิดพันธุ์ ทั้งนี้ การกำหนดชนิดพันธุ์ในบัญชี 2 ยังครอบคลุมถึงชนิดสัตว์หรือพืชที่มีความคล้ายคลึงกับชนิดพันธุ์ที่มีการค้าด้วย เพื่อประสิทธิภาพในการควบคุมการค้า ซึ่งการค้าชนิดพันธุ์ในบัญชี 2 ประเทศผู้ส่งออกจะต้องออกใบอนุญาตส่งออกเพื่อเป็นการรับรองว่า “การส่งออกนั้นไม่กระทบต่อการดำรงอยู่ของชนิดพันธุ์ตามธรรมชาติ”
2. วาระการประชุมที่เกี่ยวกับกฎระเบียบในการดำเนินงานให้เป็นไปตามอนุสัญญา CITES (Working Documents) ที่สำคัญ ซึ่งเกี่ยวข้องกับประเทศไทย โดยจะขอกล่าวถ้อยแถลง (Intervention) ในที่ประชุม CITES CoP19 ดังนี้
(1) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จะขอกล่าวถ้อยแถลงในวาระที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ตระกูลเสือ และลิ่น
(2) กรมประมง จะขอกล่าวถ้อยแถลงในวาระที่เกี่ยวข้องกับ Introduction from the sea
(3) กรมวิชาการเกษตร จะขอกล่าวถ้อยแถลงในวาระที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกล้วยไม้บัญชี 2 กรณีการยกเว้นไม่ควบคุมการค้ากล้วยไม้ลูกผสม 4 สกุล (Dendrobium, Cymbidium, Phalaenopsis, Vanda) เรื่องความท้าทายในการระบุชนิดและปัญหาที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน
ทั้งนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้จัดทำร่างกรอบท่าทีของประเทศไทยต่อวาระการประชุมภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ครั้งที่ 19 (CITES CoP19) โดยกรอบข้อคิดเห็นและท่าทีของประเทศไทยเป็นไปตามข้อผูกพันที่ไทยในฐานะรัฐภาคีมีต่ออนุสัญญาฯ CITES และตามกรอบของกฎหมายและระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการพิจารณาที่จะไม่ทำให้ประเทศไทยต้องเสียสิทธิประโยชน์ใดๆ จากการทำความตกลงหรือให้ความเห็นดังกล่าว
สำหรับการประชุมภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ครั้งที่ 19 (CITES CoP19) มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14 - 25 พฤศจิกายน 2565 ณ ปานามา คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ กรุงปานามา ซิตี้ สาธารณรัฐปานามา
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 8 พฤศจิกายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A11384