การขอความเห็นชอบต่อร่างเอกสารที่จะมีการลงนามหรือรับรองในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 40 และครั้งที่ 41 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 08 November 2022 20:52
- Hits: 901
การขอความเห็นชอบต่อร่างเอกสารที่จะมีการลงนามหรือรับรองในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 40 และครั้งที่ 41 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างเอกสารในข้อ 2 และ 3 จำนวน 18 ฉบับ โดยหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขร่างเอกสารในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้กระทรวงการต่างประเทศหรือส่วนราชการเจ้าของเรื่องดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก รวมทั้ง ให้นายกรัฐมนตรีหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายร่วมรับรองร่างเอกสารในข้อ 2 และให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ลงนามร่างเอกสารในข้อ 3.1 และให้เลขาธิการอาเชียนเป็นผู้ลงนามร่างเอกสารในข้อ 3.2 ในนามของอาเซียนตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
1. กระทรวงการต่างประเทศขอเรียนเสนอร่างเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 40 และครั้งที่ 41 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง ตามที่ได้ประสานและรวบรวมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี รวม 18 ฉบับ โดยแบ่งเป็นเอกสารที่ผู้นำจะร่วมรับรอง (adopt) จำนวน 16 ฉบับ เอกสารที่รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจะลงนาม จำนวน 1 ฉบับ และเอกสารที่เลขาธิการอาเซียนจะลงนามในนามอาเซียน จำนวน 1 ฉบับ
ทั้งนี้ จะมีเอกสารเพิ่มเติมอีก 9 ฉบับ ซึ่งส่วนราชการเจ้าของเรื่องจะดำเนินการเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป ได้แก่ (1) ร่างถ้อยแถลงผู้นำอาเซียนว่าด้วยปีแห่งเยาวซนอาเซียน พ.ศ. 2565 เพื่อเสริมสร้างบทบาทของเยาวชนในการสร้างประชาคมเซียน และ (2) ร่างปฏิญญาว่าด้วยการสร้างอนาคตที่ยั่งยืน ครอบคลุม และยืดหยุ่นในการส่งเสริมผู้ประกอบการสตรีในอาเซียน โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นส่วนราชการเจ้าของเรื่อง (3) ร่างแถลงการณ์ร่วมอาเซียนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสำหรับการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 27 โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นส่วนราชการเจ้าของเรื่อง (4) ร่างแถลงการณ์ร่วมอาเซียน-จีน ว่าด้วยความร่วมมือด้านความมั่นคงด้านอาหาร โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นส่วนราชการเจ้าของเรื่อง (5) ร่างปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการเชื่อมโยงสิทธิประกันสังคมสำหรับแรงงานข้ามชาติในภูมิภาคอาเซียน โดยกระทรวงแรงงานเป็นส่วนราชการเจ้าของเรื่อง (6) ร่างปฏิญญาเสียมราฐว่าด้วยการส่งเสริมประชาคมอาเซียนที่สร้างสรรค์และมีการปรับตัวเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจเชิงวัฒนธรรมและเชิงสร้างสรรค์ โดยกระทรวงวัฒนธรรมเป็นส่วนราชการเจ้าของเรื่อง (7) ร่างปฏิญญาว่าด้วยการยกระดับบทบาทของการกีฬาเพื่อการสร้างประชาคมอาเซียนและบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และ (8) ร่างปฏิญญาว่าด้วยการส่งเสริมอัตลักษณ์อาเซียนด้วยการคุ้มครอง การกีฬาและการละเล่นพื้นเมืองในโลกสมัยใหม่ โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเป็นส่วนราชการเจ้าของเรื่อง และ (9) ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลของระบบการศึกษาในอาเซียน โดยกระทรวงศึกษาธิการเป็นส่วนราชการเจ้าของเรื่อง
2. สาระสำคัญของร่างเอกสารที่จะรับรอง จำนวน 16 ฉบับ ได้แก่
2.1 ร่างแถลงการณ์ผู้นำอาเซียนในโอกาสครบรอบ 55 ปีของอาเซียน (Draft ASEAN Leaders’ Statement on the 55th Anniversary of ASEAN) เป็นเอกสารที่สะท้อนถึงความสำเร็จของอาเซียนตลอดระยะเวลา 55 ปีที่ผ่านมา โดยเน้นย้ำถึงหลักการที่สำคัญของอาเซียนและความเป็นแกนกลางของอาเซียน ตลอดจนกล่าวถึงความร่วมมือและการดำเนินการที่สำคัญเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของประชาคมอาเซียนในอนาคต โดยครอบคลุมความร่วมมือภายใต้ทั้ง 3 เสาของประชาคมอาเซียนและความสัมพันธ์กับหุ้นส่วนภายนอกของอาเซียน
2.2 ร่างวิสัยทัศน์ผู้นำอาเซียนว่าด้วย “อาเซียน เอ.ซี.ที. : รับมือความท้าทายร่วมกัน” (Draft ASEAN Leaders’ Vision Statement on “ASEAN A.C.T.: Addressing Challenges Together”) เป็นเอกสารที่สอดคล้องกับหัวข้อหลัก (theme) การเป็นประธานอาเซียนปี 2565 ของกัมพูชา โดยเนื้อหาในเอกสารสะท้อนความมุ่งมั่นของอาเซียนในการดำเนินงานร่วมกันเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของประชาคมอาเซียน ผ่านความร่วมมือในด้านต่างๆ ภายใต้ทั้ง 3 เสาของประชาคมอาเซียน รวมทั้งการดำเนินความสัมพันธ์กับภาคีภายนอก
2.3 ร่างแกลงการณ์ผู้นำอาเซียนว่าด้วยวาระความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียนภายหลังปี ค.ศ. 2025 (Draft ASEAN Leaders’ Statement on ASEAN Connectivity Post-2025 Agenda) เป็นเอกสารประกาศเจตนารมณ์และแนวทางการพัฒนาความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียนภายหลังปี ค.ศ. 2025 โดยเฉพาะการฟื้นตัวจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตลอดจนยกระดับการดำเนินงานด้านความเชื่อมโยงภายหลังปี ค.ศ. 2025 ให้เน้นการพัฒนาที่ยั่งยืน ครอบคลุม มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง มีการบูรณาการระดับภูมิภาค และมีนโยบายที่มุ่งสู่อนาคต อาทิ การพัฒนาโครงสร้างพื้นเมืองอัจฉริยะ การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล การสร้างความเข้มแข็งและความเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทาน การเติบโตสีเขียว และการส่งเสริมความร่วมมือกับภาคเอกชนและภาคีภายนอก
2.4 ร่างปฏิญญาผู้นำอาเซียนว่าด้วยการให้ความสำคัญแก่สี่สาขาความร่วมมือหลักของมุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิกภายใต้กลไกที่อาเซียนมีบทบาทนำ (Draft ASEAN Leaders’ Declaration on Mainstreaming Four Priority Areas of the ASEAN Outlook on the Indo-Pacific within ASEAN-led Mechanisms) มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินความร่วมมือกับภาคีภายนอกใน 4 สาขาของมุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก ได้แก่ (1) ความร่วมมือทางทะเล (2) เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ของสหประชาชาติ (3) ความเชื่อมโยง และ (4) ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและสาขาอื่นๆ โดยดำเนินการภายใต้กลไกที่อาเซียนมีบทบาทนำ รวมถึงจัดทำแผนการส่งเสริมมุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก เพื่อส่งเสริมให้คู่เจรจาของอาเซียนได้ร่วมจัดทำโครงการ/กิจกรรมเพื่อให้เกิดสันติภาพ เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาคต่อไป
2.5 ร่างแผนแม่บทอาเซียนด้านการพัฒนาชนบท พ.ศ. 2565-2569 (Draft ASEAN Master Plan on Rural Development 2022 to 2026) มีวิสัยทัศน์และเป้าประสงค์ 6 ประเด็นสำคัญ ดังนี้ (1) ความมั่นคงด้านอาหารและภูมิภาคที่ปลอดภัย ลดภาวะความหิวโหยและทุพโภชนาการ รวมทั้งการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างรับผิดชอบ (2) โอกาสทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นและเอื้อต่อการดำรงชีพและการจ้างงานอย่างต่อเนื่อง ลดความเหลื่อมล้ำและความยากจนของประชาชนในชนบท (3) ชุมชนสำหรับทุกคนผ่านการศึกษา สุขภาพ และบริการขั้นพื้นฐานอย่างเท่าเทียมกัน รวมถึงความคุ้มครองด้านสิทธิมนุษยชนในทุกกลุ่ม รวมถึงกลุ่มคนชายขอบ ผู้หญิง เด็ก เยาวชน และคนพิการ (4) การพัฒนาศักยภาพ การมีส่วนร่วม การสร้างภูมิคุ้มกัน และการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศ ภัยธรรมชาติ และผลกระทบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง (5) การมีส่วนร่วมของชุมชนอาเซียนต่อเวทีระดับภูมิภาคต่างๆ ในข้อริเริ่มด้านสวัสดิการ นโยบาย การมีส่วนร่วม และธรรมาภิบาล และ (6) การลงทุนอย่างรับผิดชอบเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในระบบการเกษตรและอาหาร โดยสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่มีความก้าวหน้าในภูมิภาค มีส่วนร่วมและศักยภาพที่เท่าเทียมระดับโลก ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยเป็นส่วนราชการเจ้าของเรื่อง
2.6 ร่างปฏิญญาผู้นำอาเซียนว่าด้วยเรื่องการยุติความเหลื่อมล้ำและการมุ่งสู่การยุติปัญหาเอดส์ภายในปี ค.ศ. 2030 (Draft ASEAN Leaders’ Declaration on Ending Inequalities and Getting on Track to End AIDS by 2030) มีสาระสำคัญในการร่วมมือกันเพื่อยุติความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมและการยุติการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ ภายในปี 2573 โดยประเทศสมาชิกอาเซียนตกลงที่จะมุ่งมั่นสู่การยุติเอดส์ เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับชุมชน ยุติความเหลื่อมล้ำ สนับสนุนการดำเนินงานที่ยั่งยืนและเพิ่มการจัดหาเงินทุนสำหรับเอชไอวีและเอดส์เพื่อยุติเอดส์ในอาเซียน ภายในปี 2573 ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขเป็นส่วนราชการเจ้าของเรื่อง
2.7 ร่างแผนปฏิบัติการระดับภูมิภาคอาเซียนว่าด้วยสตรี สันติภาพ และความมั่นคง (Draft ASEAN Regional Plan of Action on Women, Peace and Security) มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้การบูรณาการมิติเพศภาวะอยู่ในกระบวนการส่งเสริมสันติภาพ และผลักดันให้วาระสตรี สันติภาพ และความมั่นคงอยู่ภายใต้กระบวนการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศในภูมิภาค รวมทั้งกำหนดกรอบ แนวทาง จัดลำดับความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ และแนวปฏิบัติในการผลักดันประเด็นดังกล่าวในระดับประเทศ และภูมิภาค นอกจากนี้ ยังสนับสนุนให้ประเทศสมาชิกอาเซียนผลักดันประเด็นดังกล่าวในระดับท้องถิ่นและในร่างแผนปฏิบัติการระดับชาติ สนับสนุนความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและส่งเสริมความตระหนักรู้เกี่ยวกับความรับผิดชอบของผู้กำหนดนโยบาย หน่วยงานรัฐบาล และประชาสังคม ผ่านยุทธศาสตร์สำคัญ 5 ด้าน ได้แก่ การคุ้มครอง การมีส่วนร่วม การป้องกัน การบรรเทาและฟื้นฟู และการดำเนินการและการประสานงาน ทั้งนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นส่วนราชการเจ้าของเรื่อง
2.8 ร่างแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยวาระการครบรอบ 20 ปีของปฏิญญาว่าด้วยการปฏิบัติของภาคีฝ่ายต่างๆ ในทะเลจีนใต้ (Draft Joint Statement on the 20th Anniversary of the Declaration on the Conduct of Parties in the South China Sea) มีวัตถุประสงค์เพื่อเน้นย้ำความสำคัญของปฏิญญาว่าด้วยการปฏิบัติของภาคีฝ้ายต่างๆ ในทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญที่อาเซียนและจีนได้ลงนามร่วมกันเมื่อปี 2545 ที่กรุงพนมเปญ ตลอดจนความสำคัญของการรักษาและการส่งสริมสันติภาพ ความมั่นคง เสถียรภาพ ความปลอดภัยและเสรีภาพของการเดินเรือและบินผ่าน รวมถึงการปฏิบัติตาม Declaration on the Conduct of Parties in the South China Sea และส่งเสริมการจัดกิจกรรมความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน
2.9 ร่างแถลงการณ์ร่วมอาเซียน-จีนว่าด้วยการส่งเสริมการพัฒนาร่วมกัน (Draft ASEAN-China Joint Statement on Promoting Common Development) มีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันความร่วมมือภายใต้ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์แบบรอบด้านระหว่างอาเซียนกับจีนให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ด้วยการส่งเสริมการพัฒนาร่วมกันผ่านแนวคิดและนโยบายที่สำคัญ อาทิ การสร้างความร่วมมือระหว่างข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทางกับมุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก และการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างข้อริเริ่มการพัฒนาแห่งโลกกับวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. 2025
2.10 ร่างแกลงการณ์ผู้นำอาเซียน-สหรัฐฯ เพื่อจัดตั้งความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์แบบรอบด้านอาเซียน-สหรัฐฯ (Draft ASEAN-U.S. Leaders’ Statement to Establish the ASEAN-U.S. Comprehensive Strategic Partnership) เป็นเอกสารประกาศการปรับความสัมพันธ์อาเซียน-สหรัฐฯ ให้เป็น “หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์แบบรอบด้าน” โดยเน้นย้ำการขับเคลื่อนความร่วมมือในด้านต่างๆ ได้แก่ การสนับสนุนความเป็นแกนกลางของอาเซียนในสถาปัตยกรรมภูมิภาค และการดำเนินการตามมุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิกผ่านกลไกที่อาเซียนมีบทบาทนำ ความร่วมมือทางทะเล ความเชื่อมโยงในมิติเศรษฐกิจและสังคม การดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยี โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน การเสริมสร้างห่วงโซ่อุปทานที่เข้มแข็ง และการสนับสนุนการเติบโตที่ครอบคลุมและยั่งยืน
2.11 ร่างแถลงการณ์ร่วมสำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียน-แคนาดา สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ 45 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-แคนาดา (Draft ASEAN-Canada 45th Anniversary Commemorative Summit Joint Statement) เป็นเอกสารผลลัพธ์การประชุมสุดยอดอาเซียน-แคนาดา สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ 45 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-แคนาดา โดยเน้นย้ำการขับเคลื่อนความร่วมมือในด้านต่างๆ ได้แก่ การหารืออย่างสร้างสรรค์ภายใต้กลไกการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ARF) ความร่วมมือในการรับมือกับความท้าทายด้านความมั่นคงในรูปแบบเดิมและรูปแบบใหม่ การบริหารจัดการแนวชายแดน การแก้ไขสถานการณ์ในเมียนมา ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ สาธารณสุข การจัดการภัยพิบัติ การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลของภาคเอกชน การส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศและการผลักดันวาระสตรี สันติภาพ และความมั่นคง และการเสริมสร้างความสัมพันธ์ในระดับประชาชน
2.12 ร่างแกลงการณ์ร่วมว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์แบบรอบด้านอาเซียน-อินเดีย (Draft Joint Statement on ASEAN-Indo Comprehensive Strategic Partnership ) เป็นเอกสารประกาศการปรับความสัมพันธ์อาเซียน-อินเดีย ให้เป็น “หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์แบบรอบด้าน” โดยเนันย้ำการขับเคลื่อนความร่วมมือในด้านต่างๆ ได้แก่ การสนับสนุนความเป็นแกนกลางของอาเซียนในสถาปัตยกรรมภูมิภาค การส่งเสริมความร่วมมือภายใต้มุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก และข้อริเริ่มมหาสมุทรอินโด-แปซิฟิก ความร่วมมือทางทะเล การจัดการภัยพิบัติ ความมั่นคงในรูปแบบใหม่ เศรษฐกิจความเชื่อมโยง สิ่งแวดล้อม ความมั่นคงทางอาหาร วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาธารณสุข อวกาศ การลดช่องว่าง การพัฒนา การฟื้นฟูการท่องเที่ยว และการส่งเสริมความสัมพันธ์ในระดับประชาชน
2.13 ร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุมสุดยอดอาเซียน-ออสเตรเลีย ครั้งที่ 2 ว่าด้วยความร่วมมือต่อมุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก (Draft Joint Statement of the 2nd ASEAN-Australia Summit on Cooperation on the ASEAN Outlook on the Indo-Pacific) เป็นเอกสารยืนยันการเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์แบบรอบด้านระหว่างอาเซียนและออสเตรเลียโดยมุ่งเน้นการส่งเสริมความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมภายใต้สาขาหลักในเอกสารมุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก ซึ่งประกอบด้วยความร่วมมือทางทะเล ความเชื่อมโยง เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 และความร่วมมือทางเศรษฐกิจและสาขาอื่นๆ
2.14 ร่างแกลงการณ์ผู้นำการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกว่าด้วยการขับเคลื่อนการเสริมสร้างพลังทางเศรษฐกิจของสตรี (Draft East Asia Summit Leaders’ Statement on Advancing Women’s Economic Empowerment) มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมบทบาทของสตรีในการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโควิด-19 โดยสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และการพัฒนาที่ครอบคลุมบทบาทของสตรี การส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ ทั้งในด้านการเสริมทักษะและศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ และการเข้าถึงการศึกษาด้านเทคโนโลยี การส่งเสริมการสร้างอาชีพและรายได้ในกลุ่มสตรี รวมถึงการสนับสนุนผู้ประกอบการสตรี
2.15 ร่างแถลงการณ์ผู้นำการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกว่าด้วยการเสริมสร้างความร่วมมือด้านพลังงานเพื่อการฟื้นฟูที่ครอบคลุมในยุคหลังโควิด-19 (Draft East Asia Summit Leaders’ Statement on Strengthening Energy Cooperation for a Comprehensive Post-COVID-19 Recovery) มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความมั่นคงทางพลังงานในภูมิภาค ผ่านการสนับสนุนการรักษาห่วงโซ่อุปทานโดยเฉพาะพลังงานสะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การส่งเสริมการแลกเปลี่ยนด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่กลไกการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกด้านพลังงาน รวมถึงการส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนทางวิทยาศาสตร์และการพัฒนาบุคลากรของประเทศที่เข้าร่วมการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานในอนาคต
2.16 ร่างแถลงการณ์ผู้นำการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกว่าด้วยการส่งเสริมอาสาสมัครเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Draft East Asia Summit Leaders’ Statement on Promoting Volunteerism for Sustainable Development) มีวัตถุประสงค์เพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือด้านการส่งเสริมบทบาทของอาสาสมัครในประเทศที่เข้าร่วมการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกในการผลักดันการพัฒนาที่ยั่งยืน ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในการฟื้นฟูจากโควิด-19 สนับสนุนการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการจัดการ อาสาสมัคร การฝึกอบรม รวมถึงการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศระหว่างกัน
3. สาระสำคัญของร่างเอกสารที่จะลงนาม จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่
3.1 ร่างหนังสือให้ความยินยอมต่อการภาคยานุวัติสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยราชอาณาจักรสเปน (Draft Letter of Consent for the Accession to the Treaty of Amity and Cooperation in Southeast Asia (TAC) by the Kingdom of Spain) (ลงนามโดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ) ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ ที่นครนิวยอร์ก เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2565 เห็นชอบต่อคำขอของสเปนในการภาคยานุวัติสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศสมาชิกอาเซียนแต่ละประเทศจะจัดทำหนังสือให้ความยินยอมต่อการภาคยานุวัติสนธิสัญญาฯ ลงนามโดยรัฐมนตรีต่างประเทศ ทั้งนี้ กัมพูชาในฐานะประธานอาเซียนกำหนดจัดพิธีลงนามตราสารภาคยานุวัติโดยราชอาณาจักรสเปนในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 ที่กรุงพนมเปญในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 40 และ ครั้งที่ 41
3.2 ร่างความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการระหว่างอาเซียนกับจีน (Draft Agreement on Technical Cooperation between the Association of Southeast Asian Nations and the Government of the People’s Republic of China) (ลงนามโดยเลขาธิการอาเซียนร่วมกับฝ่ายจีน) มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางวิซาการระหว่างอาเซียนกับจีนผ่านการดำเนินโครงการที่จีนจะให้การสนับสนุน โดยครอบคลุมด้านที่อาเซียนให้ความสำคัญ อาทิ สาธารณสุข การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาต การฟื้นฟูเศรษฐกิจ เป็นต้น
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 8 พฤศจิกายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A11380