การเสนอให้นาคเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติประเภทสัตว์ในตำนาน
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 01 November 2022 22:54
- Hits: 1106
การเสนอให้นาคเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติประเภทสัตว์ในตำนาน
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้นาคเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติประเภทสัตว์ในตำนานตามมติคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ (กอช.) เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2565 ตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
สปน. รายงานว่า
1. ในการประชุม กอช. เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2564 มีมติเห็นชอบในหลักการที่จะเสนอให้ครุฑและนาคเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติประเภทสัตว์ในตำนาน และมอบให้กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) โดยกรมศิลปากร สำนักงานราชบัณฑิตยสภา (รภ.) และ สปน. หาข้อมูลเพิ่มเติมให้ครบถ้วน และเสนอ กอช. พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง
2. ต่อมา สปน. โดยสำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ ได้หารือร่วมกับผู้แทน วธ. กรมศิลปากร และ รภ. มีมติเห็นชอบในหลักการให้เสนอครุฑและนาคเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติประเภทสัตว์ในตำนวน ทั้งนี้ มีบางหน่วยงานเห็นว่าเหมาะสมที่จะนำเสนอสัตว์ประจำชาติประเภทสัตว์ในตำนาน และบางหน่วยงาน (คณะกรรมการการจัดทำหลักเกณฑ์การใช้คำราชาศัพท์ และคณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมศัพท์วรรณคดีไทย) เห็นว่าไม่อาจกำหนดให้ครุฑและนาคเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติประเภทสัตว์ในตำนานเนื่องจากไม่ใช่สัตว์ในตำนานของไทย แต่เป็นสัตว์ในตำนานอินเดียโบราณ
3. จากการศึกษาพบว่าปัจจุบันประเทศที่มีสัตว์ประจำชาติประเภทตำนาน เทพนิยายและความเชื่อ มีจำนวน 157 ประเทศ รวมทั้งสิ้น 229 รายการ มีบางประเทศที่มีสัตว์ประจำชาติมากกว่า 1 รายการ ซึ่งสัตว์ประจำชาติของประเทศต่างๆ มีสัตว์ที่ปรากฏอยู่จริง เช่น สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์สี่เท้า สัตว์ปีก และเป็นสัตว์ในตำนานเทพนิยายและความเชื่อ แม้ว่าจะไม่มีผู้พบเห็นหรืออาจจะไม่ปรากฏว่ามีแหล่งอาศัยอยู่ในประเทศ แต่คนในชาตินั้นๆ มีความเชื่อและศรัทธาจนมีการสร้างสรรค์เป็นสัญลักษณ์ประจำชาติ สัตว์ในตำนวนประจำชาติจะมีการประกาศในประเทศที่มีประวัติศาสตร์ชาติที่ยาวนาน มีอารยธรรม เช่น ประเทศจีน หมีแพนด้าเป็นสัตว์ประจำชาติ และมังกรเป็นสัตว์ประจำชาติประเภทตำนาน ประเทศอินโดนีเซีย มังกรโคโมโดเป็นสัตว์ประจำชาติ และครุฑเป็นสัตว์ประจำชาติประเภทตำนาน และประเทศกรีซ ปลาโลมาเป็นสัตว์ประจำชาติ และนกฟินิกซ์เป็นสัตว์ประจำชาติประเภทตำนาน ทั้งนี้ สัตว์ในตำนานเหล่านั้นมักจะนำมาเป็นสัญลักษณ์ของประเทศ เป็นตราแผ่นดิน โล่และอาร์ม หรือปรากฏในธงต่างๆ และมีความเกี่ยวข้องกับสถาบันเป็นส่วนใหญ่
4. ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน และมีสัตว์ในจินตนาการ ตำนาน และความเชื่อมากมาย เช่น นาค ครุฑ หงส์ คชสีห์ ราชสีห์ ช้างเอราวัณ และกินรี ปรากฏอยู่ในสิ่งต่างๆ และจะพบว่าเรื่องราวเกี่ยวกับนาคมีความเกี่ยวพันกับวิถีชีวิต สะท้อนถึงตำนานและความเชื่อมาแต่อดีต สื่อออกมาผ่านทางขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลปวัฒนธรรม พิธีกรรมต่างๆ เช่น เป็นผู้พิทักษ์ศาสนา เป็นบันไดเชื่อมระหว่างโลกและสวรรค์ นาคจึงเป็นหนึ่งในคติความเชื่อที่ปรากฏในสังคมไทยมาอย่างยาวนานหลายศตวรรษ ปัจจุบันคติความเชื่อเรื่องนาคยังคงปรากฏในรูปของขนบธรรมเนียมประเพณีพิธีกรรม ทั้งที่เป็นวิถีปฏิบัติสืบทอดมาแต่โบราณ รวมทั้งมีพัฒนาการเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย ขนบธรรมเนียม ประเพณี พิธีกรรมที่ปรากฏอย่างหลากหลายในสังคมไทย เช่น ในวันออกพรรษาซึ่งเป็นวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ขึ้นดาวดึงส์ นาคที่อาศัยอยู่ตามแม่น้ำโขงต่างยินดีปรีดา พากันจุดบั้งไฟถวายการเสด็จลงกลับสู่โลกมนุษย์ของพระองค์เป็นพุทธบูชา ซึ่งความเชื่อดังกล่าวเป็นต้นเค้าของตำนาน เรื่อง “บั้งไฟพญานาค” และในประเพณีไหลเรือไฟ เรือที่ตกแต่งขึ้นก็แทนพญานาคเพื่อลอยไปบูชารอยพระพุทธบาท ดังนั้น การเสนอให้นาคเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติประเภทสัตว์ในตำนานจึงมีความเหมาะสม เพราะจะสร้างให้เกิดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และวัฒนธรรมของชาติ ทั้งนี้ จะเป็น Soft Power ที่สำคัญ ทั้งยังขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยนำทุนทางวัฒนธรรมมาใช้เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ กลายเป็นสินค้าส่งออกทางวัฒนธรรม นำรายได้เข้าประเทศและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ยั่งยืน
5. ในการประชุม กอช. เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2565 ได้พิจารณาการเสนอให้นาคเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติประเภทสัตว์ในตำนานก่อนในเบื้องต้น เนื่องจากนาคมีคติความเชื่อที่ปรากฏในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน โดยเป็นตัวแทนของประชาชน ดังจะเห็นได้จากวัฒนธรรมประเพณีและศิลปกรรมจำนวนมากของไทยที่ผูกพันกับนาค นาคจึงถือเป็นสัญลักษณ์สะท้อนวัฒนธรรมของประชาชนอย่างแนบแน่น การเสนอนาคให้เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติประเภทสัตว์ในตำนานจึงมีความเหมาะสม และสามารถนำมาต่อยอดเป็น Soft Power ในการนำวัฒนธรรมมาใช้เป็นทรัพยากรในการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจอีกด้านหนึ่ง ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการกำหนดให้นาคเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติประเภทสัตว์ในตำนาน โดยให้นำเรื่องดังกล่าวเสนอคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติพิจารณาให้ความเห็นประกอบก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
6. คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติมีมติเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2565 ดังนี้
6.1 เห็นชอบในหลักการกำหนดให้นาคเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติประเภทสัตว์ในตำนาน
6.2 มอบหมายกรมศิลปากร สำนักช่างสิบหมู่ ดำเนินการร่างภาพต้นแบบนาคเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป
6.3 มอบหมาย วธ. ดำเนินการใช้นาคเป็น Soft Power เพื่อวางยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และกำหนดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องต่อไป
ทั้งนี้ คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 6/2565 เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2565 มีมติรับทราบภาพร่างต้นแบบนาคและรายละเอียดประกอบตามที่สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากรเสนอ โดยภาพต้นแบบต้องการสื่อให้เห็นภาพรวมคติความเชื่อเกี่ยวกับนาค เป็นรูปพญานาคสี่ตระกูล คือ ตระกูลวิรูปักษ์ (สีทอง) ตระกูลเอราปถ (สีเขียว) ตระกูลฉัพพยาปุตตะ (สีรุ้ง) และตระกูลกัณหาโคตมะ (สีดำ) และมีนาคตัวใหญ่สุด คือ นาควาสุกรี ที่มีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กับพระพุทธศาสนาและพระมหากษัตริย์ ส่วนรายละเอียดประกอบภาพ เช่น คลื่นน้ำ และศาสนสถาน เพื่อสื่อให้เห็นว่านาคเป็นสัญลักษณ์แห่งน้ำและความอุดมสมบูรณ์ รวมถึงบทบาทการเป็น ผู้พิทักษ์รักษาพระพุทธศาสนา
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 1 พฤศจิกายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A11132