การปรับปรุงหลักเกณฑ์การแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบองค์การมหาชน
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 01 November 2022 22:44
- Hits: 1140
การปรับปรุงหลักเกณฑ์การแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบองค์การมหาชน
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมองค์การมหาชน (กพม.) เสนอ ดังนี้
1. การปรับปรุงหลักเกณฑ์การแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบองค์การมหาชน
2. ให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2560 [เรื่อง ผลการดำเนินการตามมาตรา 5/8 แห่งพระราชบัญญัติองค์การมหาชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559] เฉพาะข้อ 3 เรื่อง หลักเกณฑ์การแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบองค์การมหาชน
สาระสำคัญของเรื่อง
กพม. รายงานว่า
1. ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติหลักเกณฑ์การแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบฯ (มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 11 กรกฎาคม 2560) สำนักงาน ก.พ.ร. ได้แจ้งเวียนหลักเกณฑ์ดังกล่าวเพื่อให้องค์การมหาชนถือปฏิบัติ [ตามหนังสือสำนักงาน ก.พ.ร. ที่ นร 1208/686-723 ลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2560 เรื่อง หลักเกณฑ์ตามมาตรา 5/8 แห่งพระราชบัญญัติองค์การมหาชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559)] ต่อมากระทรวงการคลัง (กค.) ได้ประกาศหลักเกณฑ์ กค. ว่าด้วยมาตรฐานและหลักเกณฑ์ปฏิบัติการตรวจสอบภายในสำหรับหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2561 เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2561 (ออกตามนัยมาตรา 79 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561) ซึ่งกำหนดให้องค์การมหาชนในฐานะที่เป็นหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ถือปฏิบัติตามมาตรฐานและหลักเกณฑ์ดังกล่าว รวมทั้งได้ประกาศหลักเกณฑ์ กค. ว่าด้วยมาตรฐานและหลักเกณฑ์ปฏิบัติการตรวจสอบภายในสำหรับหน่วยงานของรัฐ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2562 และหลักเกณฑ์ กค. ว่าด้วยมาตรฐานและหลักเกณฑ์ปฏิบัติการตรวจสอบภายในสำหรับหน่วยงานของรัฐ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2564 เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2564 ตามลำดับ เพื่อปรับปรุงการปฏิบัติงานตรวจสอบภายในของหน่วยงานของรัฐให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทและโครงสร้างการปฏิบัติงานของหน่วยงานของรัฐในปัจจุบัน ซึ่งสำนักงาน ก.พ.ร. ในฐานะฝ่ายเลขานุการ กพม. ได้พิจารณาหลักเกณฑ์ กค. ดังกล่าวแล้ว พบว่า จะต้องปรับปรุงหลักเกณฑ์การแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบฯ ให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ กค. ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างและองค์ประกอบ คุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม การแต่งตั้ง อำนาจหน้าที่ การประชุม การประเมินผลงาน และการบังคับใช้
2. กพม. ในการประชุมครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2565 ได้มีมติเห็นชอบการปรับปรุงรายละเอียดหลักเกณฑ์การแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบฯ เพื่อให้มีความสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ กค. ว่าด้วยมาตรฐานและหลักเกณฑ์ปฏิบัติการตรวจสอบภายในสำหรับหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2561 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป ซึ่ง กค. เห็นว่า กรณีที่มีการกำหนดหลักเกณฑ์เพิ่มเติมให้คณะกรรมการตรวจสอบมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาตัดสินในกรณีที่ฝ่ายบริหารและผู้สอบบัญชีมีความเห็นไม่ตรงกันเกี่ยวกับทางการเงิน อาจขัดต่อหลักความเที่ยงธรรมและความเป็นอิสระในการปฏิบัติงานของผู้สอบบัญชีซึ่งเป็นข้อกำหนดในจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพและประกาศคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เรื่อง หลักเกณฑ์มาตรฐานเกี่ยวกับการตรวจเงินแผ่นดิน ทั้งนี้ คณะกรรมการตรวจสอบอาจเสนอแนะให้ผู้สอบบัญชีสอบทานหรือตรวจสอบรายการใดๆ ที่เห็นว่าจำเป็นและเป็นเรื่องสำคัญได้ ดังนั้น สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจึงได้ส่งความเห็นของ กค. ให้ กพม. พิจารณาประเด็นดังกล่าวอีกครั้ง ซึ่งคณะอนุกรรมการพัฒนาและส่งเสริมองค์การมหาชนได้พิจารณาประเด็นดังกล่าวแล้วมีมติเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2565 ให้ปรับปรุงอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจสอบองค์การมหาชนจากเดิม “พิจารณาตัดสินในกรณีที่ฝ่ายบริหารและผู้สอบบัญชีมีความเห็นไม่ตรงกันเกี่ยวกับรายงานทางการเงิน” เป็น “พิจารณาให้ข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการองค์การมหาชนในกรณีที่ฝ่ายบริหารและผู้สอบบัญชีมีความเห็น ไม่ตรงกันเกี่ยวกับรายงานทางการเงิน” ทั้งนี้ กค. ไม่ขัดข้องในการปรับปรุงอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจสอบฯ ในประเด็นดังกล่าว
3. หลักเกณฑ์การแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบฯ สรุปได้ ดังนี้
หลักเกณฑ์การแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ องค์การมหาชน (เดิม) |
หลักเกณฑ์การแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ องค์การมหาชน (กพม. เสนอมาในครั้งนี้ ซึ่งปรับให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ กค.) |
|
โครงสร้างและองค์ประกอบ เช่น |
||
- คณะกรรมการตรวจสอบประกอบด้วยประธานกรรมการ และกรรมการตรวจสอบจำนวนไม่น้อยกว่าสองคน และให้ผู้ตรวจสอบภายในขององค์การมหาชนนั้นเป็นเลขานุการของคณะกรรมการ (ไม่ได้กำหนดขนาดองค์ประกอบของคณะกรรมการตรวจสอบฯ) |
- จำนวนสามถึงห้าคน ประกอบด้วย (1) ประธานกรรมการตรวจสอบ (2) กรรมการตรวจสอบไม่น้อยกว่าสองคนแต่ไม่เกินสี่คน และ (3) หัวหน้าผู้ตรวจสอบภายในขององค์การมหาชนนั้นเป็นเลขานะการ |
|
- กรรมการตรวจสอบต้องเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการองค์การมหาชน |
- กรรมการตรวจสอบฯ จำนวนหนึ่งคนมาจากกรรมการองค์การมหาชนนั้นๆ โดยจะเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิหรือกรรมการที่มีชื่อเรียกอย่างอื่นก็ได้ |
|
คุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม เช่น |
||
- กรรมการตรวจสอบฯ ควรเป็นผู้มีความชำนาญหลายด้าน โดยอย่างน้อยต้องมีความเข้าใจในองค์การมหาชนและมีประสบการณ์เพียงพอเพื่อนำเสนอมุมมองได้หลากหลาย และสามารถปฏิบัติงานร่วมกันได้อย่างประสิทธิภาพ |
- คณะกรรมการองค์การมหาชนควรพิจารณาและกำหนดความรู้ความสามารถที่จำเป็นของคณะกรรมการตรวจสอบฯ (List of Competencies) เพื่อให้คณะกรรมการตรวจสอบฯ ที่ได้รับการแต่งตั้งสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิผล โดยควรมีความรู้ที่เพียงพอ ดังนี้ (1) ลักษณะการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐ (2) การเงินและการบัญชี (3) การบริหารจัดการความเสี่ยงและการควบคุมภายใน (4) การตรวจสอบภายใน และ (5) กฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ ข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับองค์การมหาชน |
|
- กรรมการตรวจสอบฯ อย่างน้อยหนึ่งคนต้องเป็นผู้มีความรู้ ความเข้าใจ หรือมีประสบการณ์ด้านการบัญชีหรือการเงิน (กำหนดไว้ในโครงสร้างและองค์ประกอบ) - ในกรณีที่ไม่มีกรรมการองค์การมหาชนที่มีความรู้ความเข้าใจ หรือมีประสบการณ์ด้านการบัญชีหรือการเงิน หรือไม่มีผู้มีประสบการณ์ในสายงานที่เกี่ยวข้องกับบัญชีหรือการเงิน องค์การมหาชนต้องจัดหาที่ปรึกษาจากภายนอกที่มีคุณสมบัติดังกล่าวร่วมเป็นกรรมการตรวจสอบด้วยหนึ่งคน |
- ประธานหรือกรรมการในคณะกรรมการตรวจสอบฯ อย่างน้อยหนึ่งคน ต้องเป็นผู้มีความรู้ ความเข้าใจ หรือมีประสบการณ์ด้านการบัญชีหรือการเงิน เพื่อทำหน้าที่สอบทานความน่าเชื่อถือของงบการเงินได้ |
|
ไม่ได้มีการกำหนดไว้ |
- ไม่เป็นข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง ที่ปรึกษา ผู้ที่ได้รับเงินเดือน ค่าจ้างหรือค่าตอบแทนประจำและไม่เป็นผู้มีส่วนร่วมในการบริหารงานขององค์การมหาชนนั้น โดยให้รวมถึงผู้ที่โอนย้าย ลาออก เกษียณอายุ หรือพ้นสภาพจากองค์การมหาชนที่เคยสังกัด ภายในระยะเวลาสองปีก่อนวันที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการตรวจสอบฯ |
|
การแต่งตั้ง |
||
คณะกรรมการองค์การมหาชนเป็นผู้แต่งตั้งประธานและกรรมการตรวจสอบองค์การมหาชน โดยจำนวนกรรมการตรวจสอบขึ้นอยู่กับขนาดขององค์การมหาชน ขอบเขตความรับผิดชอบ และประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน และให้รายงานการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบหรือการเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการตรวจสอบให้รัฐมนตรีรักษาการตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การมหาชนทราบภายในสามสิบวัน นับแต่ได้มีการแต่งตั้งหรือเปลี่ยนแปลง |
คณะกรรมการองค์การมหาชนเป็นผู้แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการตรวจสอบฯ และให้รายงานการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบหรือการเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการตรวจสอบให้รัฐมนตรีรักษาการตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การมหาชนทราบภายในสามสิบวัน นับแต่ได้มีการแต่งตั้งหรือเปลี่ยนแปลง (ขนาดของคณะกรรมการตรวจสอบฯ ได้กำหนดไว้ในโครงสร้างและองค์ประกอบแล้ว) |
|
วาระการดำรงตำแหน่ง |
||
กำหนดวาระการดำรงตำแหน่งของคณธกรรมการตรวจสอบฯ ตามวาระของการเป็นกรรมการองค์การมหาชนในองค์การมหาชนนั้น |
||
อำนาจหน้าที่ เช่น |
||
- ทบทวนและอนุมัติกฎบัตรของหน่วยตรวจสอบภายในแผนการตรวจสอบและงบประมาณของหน่วยตรวจสอบภายใน |
- จัดทำกฎบัตรของคณะกรรมการตรวจสอบฯ ให้สอดคล้องกับขอบเขตความรับผิดชอบในการดำเนินงานขององค์การมหาชน โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการองค์การมหาชนและมีการสอบทานความเหมาะสมของกฎบัตรดังกล่าวอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง |
|
ไม่ได้มีการกำหนดไว้ |
- สอบทานประสิทธิภาพและประสิทธิผลของกระบวนการควบคุมภายใน กระบวนการบริหารจัดการความเสี่ยงและกระบวนการกำกับดูแลที่ดี รวมถึงระบบบริหารจัดการความเสี่ยงด้านการทุจริตขององค์การมหาชน และระบบการรับแจ้งเบาะแส - สอบทานให้องค์การมหาชนมีการรายงานการเงินอย่างถูกต้องและน่าเชื่อถือ |
|
- พิจารณาและให้ความเห็นต่อคณะกรรมการองค์การมหาชนเกี่ยวกับการแต่งตั้ง โยกย้าย ถอดถอน เลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่ง และประเมินผลงานของผู้ตรวจสอบภายใน (ไม่ได้กำหนดขั้นตอนการประเมินผลงานของ ผู้ตรวจสอบภายในไว้) - พิจารณาตัดสินในกรณีที่ฝ่ายบริหารและผู้สอบบัญชีมีความเห็นไม่ตรงกันเกี่ยวกับรายงานทางการเงิน |
- ให้ข้อเสนอแนะการพิจารณาแต่งตั้ง โยกย้าย ถอดถอน เลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่ง และประเมินผลงานของหัวหน้าหน่วยงานตรวจสอบภายในต่อคณะกรรมการองค์การมหาชน โดยให้ดำเนินการตามขั้นตอนการประเมินผลงานผู้ตรวจสอบภายใน - พิจารณาให้ข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการองค์การมหาชนในกรณีที่ฝ่ายบริหารและผู้สอบบัญชีมีความเห็นไม่ตรงกันเกี่ยวกับรายงานทางการเงิน |
|
การประชุม |
||
คณะกรรมการตรวจสอบองค์การมหาชนควรจัดให้มีการประชุมอย่างน้องปีละสองครั้ง เพื่อตรวจสอบผลการปฏิบัติงานและงบการเงินและจัดทำรายงานเสนอคณะกรรมการองค์การมหาชน |
ควรกำหนดไม่น้อยกว่าสี่ครั้งต่อปี โดยองค์ประชุมและการลงมติที่ประชุมให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในกฎบัตรของคณะกรรมการตรวจสอบฯ ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการองค์การมหาชน และคณะกรรมการตรวจสอบฯ ควรมรการประชุมร่วมกับผู้บริหารขององค์การมหาชน ผู้ตรวจสอบภายในและผู้ตรวจสอบภายนอกอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง |
|
การกำหนดเบี้ยประชุม |
||
ให้กรรมการตรวจสอบฯ ได้รับเบี้ยประชุมในอัตราเดียวกับอัตราเบี้ยประชุมของคณะอนุกรรมการที่คณะกรรมการองค์การมหาชนแต่งตั้งตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การมหาชนนั้น |
||
การประเมินผลคณะกรรมการตรวจสอบ |
||
ไม่ได้มีการกำหนดไว้ |
ต้องดำเนินการอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง ประกอบด้วยการประเมินผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการตรวจสอบฯ ในภาพรวมและการประเมินผลการปฏิบัติงานกรรมการตรวจสอบฯ รายบุคคล (โดยให้รายงานในรายงานประจำปีขององค์การมหาชนหรือเผยแพร่ทางเว็บไซต์ขององค์การมหาชน) |
|
การบังคับใช้ |
||
- เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการปรับปรุงหลักเกณฑ์การแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบฯ ฉบับนี้ ให้สำนักงาน ก.พ.ร. แจ้งให้องค์การมหาชนทราบ เพื่อดำเนินการปรับปรุงแก้ไขตามหลักเกณฑ์ฯ ให้แล้วเสร็จภายในเก้าสิบวัน |
||
ไม่ได้มีการกำหนดไว้ |
- ในกรณีที่ กค. ได้มีการปรับหลักเกณฑ์ฯ เพิ่มเติม ในภายหลัง ให้องค์การมหาชนปรับปรุงหลักเกณฑ์การแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบฯ ให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของ กค.ฯ เพื่อความต่อเนื่องในการบริหารกิจการขององค์การมหาชน |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 1 พฤศจิกายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A11130