รายงานสถานการณ์เพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็ก ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 01 November 2022 22:12
- Hits: 1068
รายงานสถานการณ์เพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็ก ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอรายงานสถานการณ์เพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ตามมติคณะกรรมการระดับชาติเพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 [คณะกรรมการระดับชาติเพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย เป็นคณะกรรมการที่แต่งตั้งตามมติคณะรัฐมนตรี (22 ตุลาคม 2562) มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับ ดูแล การดำเนินงานให้เป็นไปตามนโยบายและแผนปฏิบัติการตามแผนระดับชาติเพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย และนำเสนอสถานการณ์และข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเป็นประจำทุกปีหรือเมื่อมีความจำเป็นเร่งด่วน] ทั้งนี้ การดำเนินการเพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กดังกล่าวเป็นการดำเนินการตามพันธกรณีที่ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 182 ว่าด้วยการห้ามและการดำเนินการโดยทันทีเพื่อขจัดรูปแบบที่เลวร้ายที่สุดของการใช้แรงงานเด็ก เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2544 ซึ่งมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. สถานการณ์การใช้แรงงานเด็กทั่วโลก องค์การแรงงานระหว่างประเทศได้จัดทำรายงานประมาณการและแนวโน้มการใช้แรงงานเด็กทั่วโลก โดยการสำรวจประจำปี 2563 พบว่า เด็กทำงานอายุ 5-17 ปี มีจำนวน 222.09 ล้านคน เข้าข่ายเป็นแรงงานเด็ก 160 ล้านคน และเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2559 แรงงานเด็กเพิ่มขึ้นจาก 70 ล้านคน เป็น 86.6 ล้านคน ทั้งนี้ จากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ทำให้เด็กที่ไม่สามารถเข้าสู่การศึกษามีความเสี่ยงที่จะถูกผลักให้เป็นแรงงานเด็ก รวมถึงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอาจทำให้เด็กที่เป็นแรงงานเด็กอยู่แล้วมีชั่วโมงการทำงานที่ยาวขึ้น และอาจถูกบังคับให้ทำงานในรูปแบบที่เลวร้ายเนื่องจากการตกงานและการสูญเสียรายได้ของครอบครัวในกลุ่มที่เปราะบาง
2. สถานการณ์เด็กทำงานในประเทศไทย จากการประมวลผลข้อมูลโครงการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรไตรมาสที่ 3 ปี 2564 พบว่า เด็กอายุ 15-17 ปี มีจำนวน 2.515 ล้านคน เป็นเด็กทำงาน 165,689 คน โดยเด็กส่วนใหญ่จะทำงานอย่างเดียวโดยไม่ได้เรียนหนังสือและทำงานอยู่ในภาคเกษตรกรรม กิจการขายส่ง ขายปลีก กิจการโรงแรม และบริการอาหาร การผลิตซ่อมยานยนต์ และการก่อสร้าง ตามลำดับ
3. สถานการณ์การใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย ในงบปีประมาณ พ.ศ. 2564 มีการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย จำนวน 3,222 คน โดยเป็นการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบการกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับการผลิตหรือค้ายาเสพติดมีมากที่สุด จำนวน 3,157 คน รองลงมาคือ การกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับการใช้ จัดหา หรือเสนอเด็กเพื่อการค้าประเวณี จำนวน 61 คน และการให้เด็กทำงานที่มีแนวโน้มจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ความปลอดภัย หรือศีลธรรมของเด็ก จำนวน 4 คน
4. ผลการประเมินจัดระดับสถานการณ์แรงงานเด็ก โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริกา ตามรายงานประจำปี 2563 ประเทศไทยมีผลการประเมินจัดระดับความก้าวหน้าในการดำเนินการขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายที่สุดในระดับปานกลาง ซึ่งในรายงานระบุว่าเด็กในประเทศไทยยังคงเกี่ยวข้องกับการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายที่สุด และการแสวงประโยชน์ทางเพศเชิงพาณิชย์ ซึ่งบางครั้งเป็นผลมาจากการค้ามนุษย์ รวมถึงมีกลุ่มเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปี เข้าร่วมการแข่งขันมวยไทยซึ่งถือเป็นงานอันตราย ถึงแม้ว่าประเทศไทยพยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่ก็ยังไม่สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ เนื่องจากกฎหมายไม่ได้ให้ความคุ้มครองแก่แรงงานเด็กนอกระบบการจ้างงาน รวมถึงจำนวนพนักงานตรวจแรงงานและทรัพยากรที่ไม่เพียงพอต่อการตรวจสถานที่ทำงานซึ่งอยู่ห่างไกล โดยเฉพาะในภาคการจ้างงานนอกระบบ
5. การขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายของประเทศไทย โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม มีผลการดำเนินงานที่สำคัญตามนโยบายและแผนปฏิบัติการด้านการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย เช่น (1) การป้องกันและแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายโดยมีอบรมอาชีพแก่เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจากจบการศึกษาภาคบังคับ จัดสวัสดิการการสงเคราะห์และคุ้มครองสวัสดิภาพ และส่งเสริมและพัฒนาอาชีพทางการเกษตร (2) การช่วยเหลือ คุ้มครองและบำบัดฟื้นฟูเด็กที่ถูกใช้แรงงานในรูปแบบที่เลวร้ายโดยขับเคลื่อนแนวทางการตรวจประเมินอายุเด็กทางคดีแก่เด็กที่ตกเป็นเหยื่อเพื่อใช้ประกอบการดำเนินคดีอาญาที่เกี่ยวข้อง และจัดให้มีศูนย์ติดตามดูแลด้วยความห่วงใย โดยดำเนินการส่งต่อเด็ก เยาวชนที่ใกล้จบคดีให้ได้รับการศึกษาและการฝึกอาชีพ และ (3) การบูรณาการพัฒนาระบบและกลไกการขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายและการสื่อสารสาธารณะโดยมีการจัดทำกรอบแนวทางการดำเนินงานของสถานประกอบกิจการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ จัดทำโครงการเพิ่มประสิทธิภาพเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเพื่อยกระดับการคุ้มครองแรงงานนอกระบบ และจัดทำคู่มือเพื่อผู้ปฏิบัติงานสำหรับการสืบสวน สอบสวน กรณีการบังคับใช้แรงงานและการใช้แรงงานเด็ก (โครงการ ATLAS Project)
6. ข้อเสนอแนะจากการวิเคราะห์สถานการณ์และผลการดำเนินงานประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เช่น (1) การพัฒนาระบบการจัดเก็บข้อมูลและสถิติที่เกี่ยวข้องควรดำเนินโครงการสำรวจการทำงานของเด็กในภาพรวมของประเทศไทยอย่างต่อเนื่องทุกๆ 4 ปี (2) พัฒนากฎหมาย ระเบียบ ประกาศ รวมถึงแนวปฏบัติที่เกี่ยวข้อง เช่น การออกกฎหมายหรือระเบียบคุ้มครองเด็กที่ทำงานนอกระบบ การกำหนดอายุขั้นต่ำที่อนุญาตให้ทำงานได้ การปรับปรุงประเภทหรือลักษณะงานที่เป็นอันตรายสำหรับเด็กให้สอดคล้องกับหลักสากล และการตรากฎหมายเพื่อคุ้มครองเด็กจากการแข่งขันชกมวย (3) พัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานให้เข้าใจรูปแบบที่เลวร้ายของการใช้แรงงานเด็กอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง และควรเพิ่มจำนวนพนักงานตรวจแรงงานหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ให้เพียงพอต่อสถานการณ์ด้านแรงงานในปัจจุบัน (4) สร้างความตระหนักและความสำคัญต่อการขจัดการใช้แรงงานเด็กในทุกรูปแบบผ่านกิจกรรมรณรงค์ในทุกภาคส่วน เพื่อให้เด็กได้รับการพัฒนาทั้งด้านร่างกาย จิตใจและมีพัฒนาการสมวัย มีภูมิคุ้มกันปกป้องตนเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของการใช้แรงงานเด็กและ (5) ควรให้ความสำคัญกับการคุ้มครองเด็กจากภัยในรูปแบบออนไลน์ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีการทำงานในเชิงบูรณาการ เพื่อส่งเสริมและป้องกันคุ้มครองเด็กและเยาวชนให้มีความเข้าใจในการใช้สื่อออนไลน์อย่างปลอดภัย รู้เท่าทัน และไม่ตกเป็นเหยื่อการใช้ สื่อออนไลน์ในทางที่ผิด
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 1 พฤศจิกายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A11126