รายงานผลการดำเนินงานของคณะกรรมการประชาสัมพันธ์แห่งชาติ (กปช.) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 01 November 2022 21:23
- Hits: 1077
รายงานผลการดำเนินงานของคณะกรรมการประชาสัมพันธ์แห่งชาติ (กปช.) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบทั้ง 3 ข้อตามที่คณะกรรมการประชาสัมพันธ์แห่งชาติ (กปช.) เสนอ ดังนี้
1. รับทราบสรุปรายงานผลการดำเนินงานของ กปช. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565
2. มอบหมายหน่วยงานภาครัฐรับข้อเสนอของประชาชนไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
3. มอบหมายกระทรวงมหาดไทย (มท.) เน้นย้ำผู้ว่าราชการจังหวัด 76 จังหวัด ให้ความสำคัญกับงานประชาสัมพันธ์และสื่อสารมวลชนในพื้นที่และให้หน่วยงานในระดับจังหวัดสนับสนุนและประสานการดำเนินงานร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนและพัฒนางานประชาสัมพันธ์ในภาพรวมของประเทศให้เกิดประสิทธิภาพ
สาระสำคัญของเรื่อง
กปช. รายงานว่า ได้ดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายและแผนการประชาสัมพันธ์แห่งชาติ ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2563-2565 ตามแนวทางการพัฒนาด้านการประชาสัมพันธ์และสื่อสารมวลชนของประเทศ ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม โดยผลการดำเนินงานของ กปช. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 สาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานตามแนวทางการพัฒนาที่ 1 สร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจของประชาชนต่อเรื่องสื่อสารที่สำคัญ ของคณะอนุกรรมการจัดทำนโยบายและแผนการประชาสัมพันธ์แห่งชาติ กำกับ ติดตาม และประเมินผล ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565
1.1 ประเมินผลการรับรู้และความเข้าใจของประชาชนต่อเรื่องสื่อสารที่สำคัญ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จำนวน 7 เรื่อง และกำหนดเรื่องสื่อสารสำคัญประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ดังนี้
เรื่อง |
ผลการรับรู้/ข้อเสนอของประชาชน |
หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง |
||
(1) การฟื้นฟูผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวเพื่อรองรับการเปิดประเทศในปี 2565 |
ประชาชนรับรู้ ร้อยละ 76 และเสนอว่าควรเน้นการเสนอข้อมูลข่าวสารตามสถานการณ์จริง เพื่อเป็นข้อมูลในการเตรียมรับสถานการณ์ของผู้ประกอบการ โดยควรสื่อสารมาตรการการเปลี่ยนแปลงขั้นตอนควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ถึงผู้ประกอบการล่วงหน้า รวมทั้งควรสื่อสารให้ครอบคลุมทุกภาคส่วนและเหมาะสมกับบริบทแต่ละพื้นที่ด้วยการส่งเสริมอัตลักษณ์ประจำภูมิภาค เพื่อใช้เป็นจุดดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยวให้เข้ามาในประเทศไทยเพิ่มขึ้น |
กระทรวงการคลัง (กค.) กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) และกระทรวงพาณิชย์ |
||
(2) การพัฒนาทักษะอาชีพและการจัดหาตำแหน่งงานใหม่เพื่อความพร้อมต่อความต้องการหลังโรค โควิด-19 |
ประชาชนรับรู้ ร้อยละ 85 และเสนอว่าควรเสนอข้อมูลข่าวสารโดยใช้สื่อออนไลน์ที่เข้าถึงประชาชน ในรูปแบบที่สั้นและเข้าใจง่าย และควรสื่อสารเชิงรุกเรื่องมาตรการการจ้างงานทั้งในประเทศและต่างประเทศรวมทั้งการพิจารณาขึ้นค่าแรงขั้นต่ำและแผนการสร้างงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษ นอกจากนี้ ควรส่งเสริมโครงการนัดพบแรงงานอย่างต่อเนื่องเพื่อให้แรงงานได้รับรู้และเข้าถึงอาชีพที่ตรงต่อความต้องการมากยิ่งขึ้น |
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงแรงงาน (รง.) และกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) |
||
(3) ระบบสาธารณสุข และการบริหารจัดการสถานการณ์โรคโควิด-19 แบบเชิงรุก |
ประชาชนรับรู้ ร้อยละ 98 และเสนอว่าควรเสนอข่าวสารที่ไม่สร้างความตื่นตระหนก ซึ่งการสื่อสารข้อมูลไปยังประชาชนควรมีความชัดเจนและสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ ซึ่งควรเน้นย้ำเรื่องมาตรการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคโควิด-19 ควบคู่ไปกับนโยบายการกระตุ้นการท่องเที่ยวและการพัฒนาระบบบริการสาธารณสุข เพื่อให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นต่อภาครัฐมากขึ้น |
กค. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รง. และกระทรวงสาธารณสุข |
||
(4) ความเข้าใจถึงวิถีชีวิตแบบ New normal เพื่อใช้ชีวิตกับโรคโควิด-19 ในระยะยาว |
ประชาชนรับรู้ ร้อยละ 98.25 โดยส่วนใหญ่ต้องการรับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตวิถีใหม่จากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง เช่น วิธีการป้องกันและการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเสนอว่าควรปรับรูปแบบการสื่อสารให้สามารถเข้าใจง่าย ชัดเจน และนำเสนอบนแพลตฟอร์มที่หลากหลาย เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มสามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ |
อว. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) รง. มท. ศธ. และสำนักนายกรัฐมนตรี (นร.) |
||
(5) การบริหารจัดการควบคุมแรงงานต่างด้าว |
ประชาชนรับรู้ ร้อยละ 89 และเสนอว่าควรสื่อสารเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง ไม่ควรสื่อสารเฉพาะช่วงเวลาที่มีประเด็นข่าวหลังเหตุการณ์ รวมทั้งควรสื่อสารเพิ่มเติมเรื่องปรับเปลี่ยนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการจ้างแรงงานต่างด้าวให้สะดวกต่อผู้ประกอบการ และข้อมูลรายการที่ถูกร้องเรียนและรายการที่มีข้อยุติแล้ว รวมทั้งเพิ่มช่องทางการร้องเรียนให้มากขึ้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนว่าภาครัฐมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง |
รง. |
||
(6) ส่งเสริมค่านิยมที่ดีของไทย |
ประชาชนรับรู้ ร้อยละ 99.25 และเสนอว่าควรเสนอเรื่องความหลากหลายทางวัฒนธรรมท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่ด้วยการเผยแพร่วัฒนธรรมไทยในรูปแบบ Soft Power รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้เรื่องบทบาทหน้าที่พลเมือง และการรู้เท่าทันสื่อให้แก่ประชาชนเพื่อสร้างค่านิยมที่ดีให้แก่ประชาชนไทยและชาวต่างประเทศ |
กต. กก. อว. กระทรวงวัฒนธรรม ศธ. และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย |
||
(7) การปราบปรามทุจริตและความโปร่งใสของรัฐ |
ประชาชนรับรู้ ร้อยละ 93.50 และเสนอว่าควรมีการสื่อสารใน 3 ประเด็น คือ (1) การประชาสัมพันธ์ข่าวการทุจริต (2) ข้อมูลรายละเอียดการบริการสำหรับประชาชน และ (3) รายงานผลตลอดขั้นตอนการทำงานเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนเกี่ยวกับกระบวนการตรวจสอบและปราบปรามจากภาครัฐอย่างจริงจัง |
มท. กระทรวงยุติธรรม และ นร. |
ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการจัดทำนโยบายฯ ได้วิเคราะห์และประมวลผลข้อมูลการประเมินผลฯ ดังกล่าว ทำให้เห็นแนวโน้มเพื่อกำหนดเรื่องสื่อสารที่สำคัญ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล จำนวน 7 เรื่อง ได้แก่ (1) การพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG) (2) การฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโรคโควิด-19 (3) การบริหารจัดการระบบสาธารณสุขและสถานการณ์โรคอุบัติใหม่ (4) สังคมสูงวัยกับวิถีชีวิตในอนาคต (5) การรู้เท่าทันสื่อสารสนเทศและดิจิทัล (6) การส่งเสริมค่านิยมที่ดีของไทย และ (7) ธรรมาภิบาลในการบริหารงานภาครัฐ
1.2 จัดทำแผนปฏิบัติการด้านการประชาสัมพันธ์แห่งชาติ (พ.ศ. 2566-2570) เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางการดำเนินงานประชาสัมพันธ์และสื่อสารมวลชนของประเทศ ภายใต้เงื่อนไขและบริบทที่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการเสนอสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อให้ความเห็นประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี
2. ผลการดำเนินงานตามแนวทางการพัฒนาที่ 2 สร้างความตระหนักรู้ทัศนคติเชิงบวก และการมีส่วนร่วมของประชาชนไทยและชาวต่างประเทศต่อการต่างประเทศ ของคณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์แห่งชาติด้านต่างประเทศ ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐรวม 29 หน่วยงาน เพื่อกำหนดและจัดทำรายละเอียดเรื่องสื่อสารที่สำคัญด้านต่างประเทศ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จำนวน 4 เรื่อง สรุปได้ ดังนี้
เรื่อง |
ผลการดำเนินงาน |
|
(1) APEC 2022 & Hub Thailand ศูนย์กลางของนานาประเทศ |
เน้นย้ำการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย ในปี 2565 และโมเดลเศรษฐกิจ BCG ในรูปแบบของสื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆ เช่น อินโฟกราฟิก บทความ และคลิปวิดีโอ |
|
(2) Tech and Innovation นวัตกรรมไทยไฮ-เทคโนโลยี |
เสนอข้อมูลข่าวสารไปยังประชาชนไทยและชาวต่างประเทศ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นเกี่ยวกับนโยบายส่งเสริมนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงของไทย ซึ่งนำไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมในอนาคต ผ่านการสื่อประชาสัมพันธ์หลากหลายรูปแบบ เช่น อินโฟกราฟิก คลิปวิดีโอ และ การจัดกิจกรรม |
|
(3) Health Care สาธารณสุขไทยในระดับโลก |
เน้นการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับมาตรฐานความปลอดภัยทางสาธารณสุขของไทย รวมทั้งมาตรการด้านบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพที่มีศักยภาพสูงในการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลาย พร้อมทั้งเน้นย้ำความเชื่อมั่นให้กับชาวต่างประเทศในการกลับเข้ามาใช้บริการในประเทศไทย |
|
(4) Thai Culture… Universal Soft Power วัฒนธรรมไทยก้าวไกลสู่สากล |
ผลิตสื่อประชาสัมพันธ์ในรูปแบบอินโฟกราฟิก บทความ คลิปวิดีโอ สปอตสัมภาษณ์ และรายการ เพื่อสร้างการรับรู้ เข้าใจ เชื่อมั่น และทัศนคติที่ดีต่อประเทศไทยในสายตาชาวต่างประเทศผ่านวัฒนธรรมที่เป็นอัตลักษณ์ไทย |
ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์ฯ ได้จัดทำรายละเอียดและกำหนดเรื่องสื่อสารที่สำคัญด้านต่างประเทศ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 4 เรื่อง ภายใต้แนวคิดหลัก New Chapter of Thailand : New Opportunities and Innovation ได้แก่ (1) BCG Economy เศรษฐกิจยุคใหม่...เพื่ออนาคตไทย (2) Tech and Innovation นวัตกรรม ไฮ-เทคโนโลยี เช่น การประชุม BIMSTEC (3) Health Care ความก้าวหน้าทางการแพทย์ระดับโลก และ (4) Thai Soft Power ความเป็นไทยสู่สากล
3. ผลการดำเนินงานตามแนวทางการพัฒนาที่ 3 บริหารจัดการข้อมูลข่าวสาร พัฒนาสื่อสร้างสรรค์ สร้างการรู้เท่าทัน และการมีส่วนร่วม ของคณะอนุกรรมการบริหารจัดการข้อมูลข่าวสารภาครัฐเพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจให้แก่ประชาชน มีผลการดำเนินงานที่สำคัญ เช่น (1) การผลิตสื่อสร้างสรรค์และพัฒนาสื่อเผยแพร่เพื่อเสริมสร้างการรู้เท่าทันและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน เช่น รายการเปลี่ยนโฉมประเทศไทย รายการ NBT รวมใจคนไทยไม่ทิ้งกัน และรายการ Spokesman Live!!! และ (2) ประชาสัมพันธ์เชิงรุกเพื่อแก้ไขปัญหาข่าวปลอม (Fake News) ในรูปแบบของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม พร้อมระบบชี้แจงประเด็นสำคัญที่ทันต่อสถานการณ์ หรือ ID IA IR Chat เพื่อให้ได้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง นำไปขยายผลส่งต่อให้ประชาชนทราบผ่านช่องทางต่างๆ ของภาครัฐ ได้แก่ เพจข่าวจริงประเทศไทย และสื่อประชาสัมพันธ์ของ ดศ.
4. ผลการดำเนินงานคณะอนุกรรมการพัฒนาคลังข้อมูลข่าวสารอัจฉริยะ โดยคณะอนุกรรมการพัฒนาฯ ได้หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงความซ้ำซ้อนของ (ร่าง) โครงการพัฒนาคลังข้อมูลข่าวสารอัจฉริยะ และแนวทางการดำเนินโครงการฯ และเสนอต่อที่ประชุม กปช. เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2565 ซึ่งที่ประชุมมีมติมอบหมายให้คณะอนุกรรมการพัฒนาฯ เตรียมโครงการฉบับที่สมบูรณ์ครอบคลุมทุกประเด็น เพื่อเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการบริหารและจัดหาระบบคอมพิวเตอร์ นร. และคณะกรรมการบริหารและจัดหาระบบคอมพิวเตอร์ของ ดศ. ก่อนเสนอสำนักงบประมาณพิจารณาจัดสรรงบประมาณสำหรับดำเนินการต่อไป
5. ผลการดำเนินงานตามแนวทางการพัฒนาที่ 4 ยกระดับบุคลากรด้านการประชาสัมพันธ์และสื่อสารมวลชนของประเทศ ของคณะอนุกรรมการพัฒนาบุคลากรด้านการประชาสัมพันธ์และสื่อสารมวลชนของประเทศ มีผลการดำเนินงานที่สำคัญ เช่น (1) ขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ในการพัฒนาหลักสูตร/ชุดวิชาด้วยการจัดทำชุดวิชาการเรียนรู้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-Learning) 2 ชุดวิชาใหม่บรรจุลงเว็บไซต์ IPRMOOC ได้แก่ การสื่อสารในภาวะวิกฤตและการผลิตสื่อดิจิทัล และปรับปรุงหลักสูตรที่กรมประชาสัมพันธ์จัดอบรมในปี 2565 โดยเน้นรายวิชาการสื่อสารในยุคดิจิทัลเพิ่มขึ้น และ (2) พัฒนาศักยภาพของผู้ปฏิบัติงาน โดยจัดโครงการฝึกอบรม “เปิดโลกสื่อยุคใหม่ก้าวสู่การสื่อสารยุคดิจิทัล” ให้แก่ผู้บริหารและบุคลากรของหน่วยงานภาครัฐ 20 กระทรวง เพื่อส่งเสริมให้มีทักษะในการสื่อสารประชาสัมพันธ์ทางสื่อออนไลน์และสามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง
6. ผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์แห่งชาติระดับจังหวัด 76 จังหวัด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ตามแนวทางการพัฒนาทั้ง 4 แนวทาง เช่น (1) จัดทำแผนปฏิบัติการประชาสัมพันธ์แห่งชาติระดับจังหวัด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ซึ่งสอดคล้องกับ 4 แนวทางการพัฒนาภายใต้นโยบายและแผน การประชาสัมพันธ์แห่งชาติ ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2563-2565 (ฉบับปรับปรุงให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี) และ (2) การบริหารประเด็นที่สอดคล้องกับเรื่องสื่อสารที่สำคัญ ประจำปี 2565 เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานประชาสัมพันธ์และสื่อสารมวลชนระดับประเทศสู่การปฏิบัติ เช่น 1) การฉีดวัคซีนเชิงรุก 2) มาตรการการป้องกันตนเองด้วยการตรวจหาเชื้อโรคโควิด-19 และ 3) การเตรียมเปิดโรงเรียน โดยมุ่งเน้นสร้างการรับรู้และเข้าใจให้กับประชาชนผ่านเรื่องสื่อสารที่สำคัญระดับประเทศตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ ด้วยการเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์และช่องทางอื่นๆ ของหน่วยงานในพื้นที่ ทั้งสื่อวิทยุ และสื่อโทรทัศน์
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 1 พฤศจิกายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A11119