สรุปผลการพิจารณาแนวทางและความเหมาะสมของรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ‘การจัดการตำบลเข้มแข็งตามแนวทางยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ’ ของคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 01 November 2022 21:15
- Hits: 1019
สรุปผลการพิจารณาแนวทางและความเหมาะสมของรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ‘การจัดการตำบลเข้มแข็งตามแนวทางยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ’ ของคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบสรุปผลการพิจารณาแนวทางและความเหมาะสมของรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง “การจัดการตำบลเข้มแข็งตามแนวทางยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ” ของคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำวุฒิสภา ตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทราบต่อไป
เรื่องเดิม
1. สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาได้เสนอรายงานการพิจารณาศึกษาเรื่อง “การจัดการตำบลเข้มแข็งตามแนวทางยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ” ของคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา มาเพื่อดำเนินการโดยคณะกรรมาธิการได้มีข้อเสนอแนะว่า ควรกำหนดให้การขับเคลื่อนการพัฒนาที่มุ่งให้ “ตำบลเข้มแข็ง” เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อส่งสัญญาณและระดมสรรพกำลังความร่วมมือของทุกภาคส่วน มุ่งสู่การสร้างเสริมตำบลเข้มแข็งอย่างจริงจัง เป็นระบบ ควรกำหนดเป็นนโยบายเพื่อส่งเสริมให้ส่วนราชการ ต่างๆ ที่มีภารกิจเกี่ยวข้องกับการปฏิรูปและพัฒนาระบบบริหารราชการแผ่นดินและเกี่ยวข้องกับภารกิจการพัฒนาเชิงพื้นที่ ควรมอบหมายให้คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการกำหนดตัวชี้วัดร่วม “เชิงกระบวนการ” ของส่วนราชการต่างๆ ที่มีภารกิจเข้าไปทำงานในระดับตำบลเพื่อให้การทำงานของทุกส่วนราชการได้ให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมการพัฒนาระบบการจัดการตำบลเข้มแข็งแบบหุ้นส่วนอย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง
2. รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี พิจารณาแล้วมีคำสั่งให้สำนักงาน ก.พ.ร. เป็นหน่วยงานหลักรับรายงานและข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ ไปพิจาณาร่วมกับกระทรวงมหาดไทย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของรายงานและข้อเสนอแนะดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
ข้อเท็จจริง
สำนักงาน ก.พ.ร. ได้จัดประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย สศช. สำนักงาน ป.ย.ป. สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย กรมการปกครอง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมการพัฒนาชุมชน และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) เพื่อพิจารณารายงานและข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ โดยเห็นด้วยในหลักการของรายงานการพิจาณาศึกษาฯ ดังกล่าว โดยมีข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพิ่มเติม สรุปได้ดังนี้
ข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการ |
ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพิ่มเติม |
|
1. การดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ - ควรกำหนดให้การขับเคลื่อนการพัฒนาที่มุ่งให้ “ตำบลเข้มแข็ง” เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อส่งสัญญาณและระดมสรรพกำลังความร่วมมือของทุกภาคส่วน มุ่งสู่การสร้างเสริมตำบลเข้มแข็งอย่างจริงจังเป็นระบบ - ควรกำหนดเป็นนโยบายเพื่อส่งเสริมให้ส่วนราชการต่างๆ ที่มีภารกิจเกี่ยวข้องกับการปฏิรูปและพัฒนาระบบบริหารราชการแผ่นดินและเกี่ยวข้องกับภารกิจการพัฒนาเชิงพื้นที่ ทำความเข้าใจกับแนวคิดและแนวทางการบริหารจัดการแบบหุ้นส่วนในระดับพื้นที่ เพื่อพัฒนาระบบและวิธีการทำงานให้สอดคล้องกับระบบการจัดการตำบลเข้มแข็งในทิศทางนี้ |
- ปัจจุบันรัฐบาลได้จัดตั้ง “ศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.)” เพื่อเป็นกลไกระดับชาติเชิงนโยบายในการดำเนินการแก้ไขปัญหาความยากจนและการพัฒนาคนทุกช่วงวัยได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ ยังได้จัดตั้ง ศจพ. ในระดับต่างๆ เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินการในระดับพื้นที่ โดย ศจพ. ทุกระดับอยู่แล้ว ดังนั้น หากจะกำหนดประเด็น “ตำบลเข้มแข็ง” ให้เป็นวาระแห่งชาติ ควรเป็นการกำหนดให้เป็นวาระสำคัญ (Agenda) หรือประเด็นสำคัญ (Issue) เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและมีอำนาจหน้าที่ร่วมระดมกำลังในการแก้ไขปัญหาโดยจะต้องมีกระบวนการระดมความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างความชัดเจนในกระบวนการปฏิบัติเพื่อให้วาระแห่งชาติขับเคลื่อนได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป |
|
2. บทบาทของราชการทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง - ควรมอบหมายให้คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) กำหนดตัวชี้วัดร่วม “เชิงกระบวนการ” ของส่วนราชการต่างๆ ที่มีภารกิจเข้าไปทำงานในระดับตำบล เพื่อให้การทำงานของทุกส่วนราชการได้ให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมการพัฒระบบการจัดการตำบลเข้มแข็งแบบหุ้นส่วนอย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง ไม่ต่างคนต่างทำเฉพาะตน |
- เห็นด้วยในการกำหนดตัวชี้วัดร่วมของส่วนราชการที่มีภารกิจในระดับตำบลเพื่อให้การทำงานของทุกส่วนราชการได้ให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมการพัฒนาระบบการจัดการตำบลเข้มแข็งแบบหุ้นส่วนอย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง เนื่องจากจะทำให้เกิดความร่วมมือในการทำงานทั้งในด้านฐานข้อมูล งบประมาณ บุคลากร และฐานข้อมูล (Database) |
|
3. การสนับสนุนการพัฒนาระบบการบริหารราชการ - ควรกำหนดให้คณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ จัดให้มี “แผนงานโครงการและงบประมาณสนับสนุนการพัฒนาระบบการจัดการตำบลเข้มแข็งแบบหุ้นส่วน” ในระดับตำบลอย่างเป็นระบบและต่อเนื่องทุกปี |
- เห็นควรให้คณะกรรมการบูรณาการนโยบายพัฒนาภาคพิจารณาความเหมาะสมตามข้อเสนอแนะ อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวควรเป็นเรื่องในความรับผิดชอบโดยตรงของเทศบาล/องค์การบริหารส่วนตำบล เนื่องจากมีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบตามกฎหมาย นอกจากนี้ ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจัดทำแผนและประสานแผนพัฒนาพื้นที่ในระดับอำเภอและตำบล พ.ศ. 2562 ถือเป็นกลไกการจัดทำแผนในระดับพื้นที่ทำให้การจัดทำและประสานแผนพัฒนาตั้งแต่หมู่บ้าน ชุมชน ตำบล และอำเภอมีการบูรณาการและการเชื่อมโยงให้เป็นแผนเดียวกัน สนับสนุนการพัฒนาระบบการจัดการในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี |
|
4. การจัดทำหลักสูตร - ควรกำหนดนโยบายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำ “หลักสูตรการจัดการตำบลเข้มแข็ง” สำหรับผู้บริหารและผู้เกี่ยวข้อง ทั้งระดับประเทศ ภาค จังหวัด อำเภอ และตำบลอย่างกว้างขวางและทั่วถึง |
- การกำหนดนโยบายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำ“หลักสูตรการจัดการตำบลเข้มแข็ง” สำหรับผู้บริหารและผู้เกี่ยวข้อง ทั้งระดับประเทศ ภาค จังหวัด อำเภอ และตำบลอย่างกว้างขวางและทั่วถึง สามารถดำเนินได้เมื่อรัฐบาลเห็นชอบแนวทางการดำเนินงานเรื่อง “ระบบการจัดการตำบลเข้มแข็ง” ที่คณะกรรมาธิการการแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำเสนอ และมอบหมายให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องร่วมกำหนดรายละเอียดต่างๆ ในการดำเนินงานเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ สำนักงาน ป.ย.ป. ได้ให้ความร่วมมือโดยใช้ประสบการณ์จากการดำเนินการโครงการนักบริหารระดับสูง : ผู้นำการเปลี่ยนแปลง (หลักสูตร ป.ย.ป.) และโครงการต้นแบบแนวทางลดความเหลื่อมล้ำด้วยนวัตกรรมภาครัฐ เพื่อประกอบการดำเนินการจัดทำหลักสูตรของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนในระยะต่อไป |
|
5. การจัดให้มีสมัชชาตำบล - ควรกำหนดนโยบายให้หน่วยงานหลักที่เหมาะสม จัดให้มี “สมัชชาตำบลเข้มแข็งแห่งชาติ” ทุกปี เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้บริหารและผู้เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่ทั่วประเทศ ได้นำเสนอการพัฒนาตำบลเข้มแข็งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันและกัน |
- การกำหนดนโยบายให้หน่วยงานที่เหมาะสมโดยจัดให้มี “สมัชชาตำบลเข้มแข็งแห่งชาติ” ทุกปี อาจใช้กลไกการประชุมสภาองค์กรชุมชนตำบลซึ่งจัดปีละ 1 ครั้ง เพื่อสรุปปัญหาที่เกิดขึ้นกับประชาชนในจังหวัด และข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไขเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการ อย่างไรก็ตาม ควรพิจารณาถึงภารกิจและอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานที่ดำเนินการดังกล่าวด้วย |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 1 พฤศจิกายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A11117