รายงานผลการเดินทางเยือนราชอาณาจักรของซาอุดีอาระเบีย ของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 01 November 2022 21:09
- Hits: 1013
รายงานผลการเดินทางเยือนราชอาณาจักรของซาอุดีอาระเบีย ของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอผลการเดินทางเยือนราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และมอบหมายให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามผลการเดินทางเยือนฯ ต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
1. พณ. รายงานว่า รองนายกรัฐมนตรี (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารระดับสูง พณ. และคณะผู้แทนภาคเอกชนไทยเดินทางเยือนซาอุดีอาระเบีย เมื่อวันที่ 27 - 31 สิงหาคม 2565 เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลในการเร่งรัดการส่งออกสินค้าของไทยให้เห็นผลเป็นรูปธรรม รวมถึงเพื่อกระชับและสร้างเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจและความร่วมมือด้านการค้าระหว่างกันโดยรองนายกรัฐมนตรี (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพณิชย์ได้พบหารือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนของซาอุดีอาระเบีย จำนวน 4 แห่ง รวมถึงได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าไทยกับซาอุดีอาระเบีย และได้สำรวจสินค้าไทยในซาอุดีอาระเบีย ซึ่งสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
ประเด็น |
ผลการหารือ |
|
1) การหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างๆ ของซาอุดีอาระเบีย (ได้แก่ กระทรวงสื่อสารมวลชน กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการลงทุน กระทรวงอุตสาหกรรมและทรัพยากรแร่ธาตุ กระทรวงแรงงานและการพัฒนาสังคม และกระทรวงการท่องเที่ยว) |
||
(1) การจัดทำเขตการค้าเสรี (Free Trade Area: FTA) กับกลุ่มประเทศความร่วมมือแห่งอ่าวอาหรับ (Gulf Cooperation Council: GCC) |
ไทยขอรับการสนับสนุนจากซาอุดีอาระเบียในการจัดทำ FTA กับกลุ่ม GCC ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์แห่งซาอุดีอาระเบียยินดีที่จะให้การสนับสนุน และจะช่วยประสานงานกับประเทศสมาชิกเพื่อผลักดันให้เกิดการจัดทำ FTA ไทย-GCC |
|
(2) การจัดตั้งคณะกรรมการร่วมทางการค้าไทย-ซาอุดีอาระเบีย (Joint Trade Committee: JTC) |
ไทยเสนอการจัดตั้ง JTC ไทย-ซาอุดีอาระเบีย ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์แห่งซาอุดีอาระเบียตอบรับข้อเสนอดังกล่าวและได้สั่งการให้ฝ่ายซาอุดีอาระเบียเริ่มหารือกับกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศโดยเร็วเพื่อเร่งจัดทำบันทึกความร่วมมือในการจัดตั้ง JTC ไทย-ซาอุดีอาระเบีย โดยคาดว่าการจัดตั้ง JTC ไทย-ซาอุดีอาระเบีย จะแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2565 |
|
(3) การส่งเสริมการค้าระหว่างไทย-ซาอุดีอาระเบียภายใต้ Saudi Vision 2030 |
- ไทยยินดีให้การสนับสนุนซาอุดีอาระเบียทั้งด้านการค้าและการลงทุน โดยเฉพาะการให้บริการก่อสร้างและวัสดุก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เพื่อให้ซาอุดีอาระเบียสามารถบรรลุเป้าหมายพัฒนาประเทศภายใต้ Saudi Vision 2030 - ไทยขอให้ฝ่ายซาอุดีอาระเบียเป็นแหล่งความมั่นคงด้านพลังงานให้กับไทย และไทยจะเป็นแหล่งความมั่นคงด้านอาหารให้กับซาอุดีอาระเบีย |
|
(4) การขอวีซ่าให้กับภาคเอกชนไทย |
ปัจจุบันเอกชนไทยจำเป็นต้องใช้หนังสือเชิญจากบริษัทคู่ค้าของซาอุดีอาระเบียเพื่อเป็นหลักฐานประกอบการพิจารณาวีซ่า ส่งผลให้การเดินทางไปเจรจาธุรกิจที่ซาอุดีอาระเบียมีความล่าช้า ดังนั้น ไทยได้เสนอให้ซาอุดีอาระเบียพิจารณาวีซ่าของนักธุรกิจไทยจากหนังสือรับรองของหอการค้าไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์แห่งซาอุดีอาระเบียได้สั่งการให้ฝ่ายซาอุดีอาระเบียรีบดำเนินการตามที่ฝ่ายไทยเสนอโดยเร็ว |
|
2) การหารือกับประธานองค์การอาหารและยาซาอุดีอาระเบีย (Saudi Food and Drug Authority: SFDA) |
||
(1) การแก้ไขปัญหาการส่งออกไก่แปรรูปและการทำความเข้าใจกับโรงงานไทย |
ปัจจุบันโรงงานไทยที่ผ่านการรับรองจาก SFDA จำนวน 11 แห่ง เข้าใจว่า สามารถส่งออกได้เพียงแค่ไก่ดิบเท่านั้น ซึ่ง SFDA ชี้แจงว่าอนุญาตให้โรงงานไทยดังกล่าวสามารถส่งออกไก่แปรรูปและไก่ปรุงสุกมายังซาอุดีอาระเบียได้แล้ว ซึ่งไทยจะประสานกับโรงงานไทยดังกล่าวต่อไป |
|
(2) การเร่งรัดการขึ้นทะเบียนโรงงานไก่เพิ่มเติมอีก 28 โรงงาน |
กรมปศุสัตว์อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลจากโรงงานที่ขอขึ้นทะเบียนตามที่ SFDA ขอเพิ่มเติม โดยไทยจะขอให้กรมปศุสัตว์เร่งรวบรวมและจัดส่งข้อมูลให้กับ SFDA และขอให้ SFDA เร่งตรวจสอบโรงงานหลังจากที่ได้รับข้อมูลจากกรมปศุสัตว์แล้ว |
|
(3) การสนับสนุนให้ซาอุดีอาระเบียนำเข้าสินค้าเนื้อสัตว์ เช่น โค และผลิตภัณฑ์เนื้อแพะจากไทย |
SFDA พร้อมที่จะอำนวยความสะดวกให้กับฝ่ายไทย โดยจะมีการหารือร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนของไทยโดยเร็ว นอกจากนี้ ไทยมีแผนเชิญนักธุรกิจซาอุดีอาระเบียร่วมลงทุนโรงงานผลิตเนื้อสัตว์ที่ไทยเพื่อให้การส่งออกเนื้อสัตว์ไปซาอุดีอาระเบีย มีความสะดวกมากยิ่งขึ้น |
|
(4) ความร่วมมือทางวิชาการในการพัฒนาสินค้าฮาลาล |
SFDA แจ้งว่า Islamic University of Madinah ประสงค์ร่วมมือทางวิชาการกับไทยเพื่อพัฒนาสินค้าฮาลาลของไทยให้ตรมาตรฐานของซาอุดีอาระเบีย โดยฝ่ายไทยจะประสานศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการดำเนินการต่อไป |
|
3) การหารือกับประธานสภาหอการค้าซาอุดีอาระเบีย พร้อมผู้แทนภาคเอกชนไทย ซาอุดีอาระเบียกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาประเทศตาม Saudi Vision 2030 ซาอุดีอาระเบียจึงต้องการนักธุรกิจจากทั่วโลกเข้ามาลงทุน และได้เชิญนักธุรกิจไทยให้เข้าร่วมการลงทุนดังกล่าว ในขณะเดียวกัน ฝ่ายไทยได้เชิญนักธุรกิจจากซาอุดีอาระเบียเข้ามาลงทุนในไทยเช่นเดียวกัน |
||
4) การหารือกับประธานคณะกรรมการบริหารบริษัท Saudi Basic Industries Corporation (SABIC) ซาอุดีอาระเบียประสงค์ให้ความช่วยเหลือไทยไม่ให้ขาดแคลนปุ๋ย ซึ่งบริษัท SABIC เป็นบริษัทผลิตปุ๋ยของซาอุดีอาระเบียยินดีช่วยเหลือในประเด็นดังกล่าว โดยรัฐบาลซาอุดีอาระเบียได้ให้โควตาบริษัท SABIC ส่งออกปุ๋ยมายังไทยเพิ่มขึ้น และอนุญาตให้บริษัท MA’ADEN (มาเดน) เจรจาขายปุ๋ยกับไทยด้วย |
2. กิจกรรมส่งเสริมการค้าไทยกับซาอุดีอาระเบีย
2.1 กิจกรรมส่งเสริมการขายสินค้าไทย ณ Manuel Market สาขา Park Avenue กรุงริยาด โดยภายในงานได้มีการจัดแสดงสินค้าไทย จำนวน 30 รายการ เช่น อาหารทะเลกระป๋อง ผลไม้กระป๋อง และข้าว ซึ่งจะผลักดันให้ Manuel Market นำเข้าสินค้าไทยเพิ่มขึ้นจาก 22 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2564 เป็น 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2565
2.2 การลงนามความร่วมมือและการเจรจาธุรกิจระหว่างนักธุรกิจไทยกับนักธุรกิจซาอุดีอาระเบีย ดังนี้
(1) การลงนามความตกลงจัดตั้งสภาธุรกิจไทย-ซาอุดีอาระเบียระหว่างคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน กับสภาหอการค้าซาอุดีอาระเบีย เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนให้เกิดมูลค่าการค้าระหว่างกัน 10,000 ล้านบาท ภายใน 1 ปี
(2) การลงนามความร่วมมือระหว่างนักธุรกิจไทยกับนักธุรกิจซาอุดีอาระเบีย จำนวน 10 คู่ จากหลากหลายกลุ่มสินค้า เช่น อาหาร อาหารสัตว์เลี้ยง และชิ้นส่วนยานยนต์ ทำให้มีมูลค่ารวมกันประมาณ 1,000 ล้านบาท
(3) การเจรจาธุรกิจระหว่างนักธุรกิจไทยและนักธุรกิจซาอุดีอาระเบียทำให้สร้างมูลค่าการสั่งซื้อทันทีประมาณ 440 ล้านบาท และมีมูลค่าการสั่งซื้อ ภายใน 1 ปี ประมาณ 2,070 ล้านบาท สำหรับสินค้าที่ได้รับความสนใจ เช่น อาหารกระป๋อง เครื่องดื่ม และข้าว
2.3 กิจกรรมอื่นๆ ได้แก่ การมอบใบประกาศนียบัตรให้กับที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ด้านการค้าระหว่างประเทศประจำซาอุดีอาระเบีย และ พณ. ได้แต่งตั้งให้ ดร. ยูเซฟ อับดุลลาห์ อัลฮูมูดี เป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ด้านการค้าระหว่างประเทศประจำซาอุดีอาระเบียเพื่อเป็นตัวแทนของไทยในการดูแลและปกป้องผลประโยชน์ทางการค้าของไทย
3. การสำรวจสินค้าไทยในซาอุดีอาระเบีย รองนายกรัฐมนตรี (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) และรัฐมนตรีว่าการกระทวงพาณิชย์ ได้สำรวจสินค้าไทยใน Lulu Hypermarket ซึ่งเป็นไฮเปอร์มาร์เก็ตที่วางจำหน่ายสินค้าไทยมากที่สุดในซาอุดีอาระเบีย โดยสินค้าไทยส่วนใหญ่เป็นสินค้าอาหาร เช่น ข้าว ผัก และผลไม้ อีกทั้งได้หารือกับผู้อำนวยการของ Lulu Hypermarket เพื่อผลักดันให้มีการวางจำหน่ายสินค้าไทยเพิ่มขึ้นและร่วมมือกับฝ่ายไทยจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายระหว่างกันต่อไปในอนาคต
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 1 พฤศจิกายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A11115