ขอยกเว้นมติคณะรัฐมนตรีที่ห้ามใช้ประโยชน์ป่าชายเลน เพื่อดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 11 October 2022 22:03
- Hits: 1106
ขอยกเว้นมติคณะรัฐมนตรีที่ห้ามใช้ประโยชน์ป่าชายเลน เพื่อดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) เสนอ
1. วันที่ 23 กรกฎาคม 2534 (เรื่อง รายงานการศึกษาสถานภาพปัจจุบันของป่าไม้ชายเลนและปะการังของประเทศ)
2. วันที่ 22 สิงหาคม 2543 (เรื่อง มติคณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติ เรื่อง การแก้ไขปัญหาการจัดการพื้นที่ป่าชายเลน)
3. วันที่ 17 ตุลาคม 2543 (เรื่อง มติคณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติ ครั้งที่ 3/2543) เรื่อง การแก้ไขปัญหาการจัดการพื้นที่ป่าชายเลน)
เพื่อเข้าทำประโยชน์พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าคุ้งกระเบน และป่าอ่าวแขมหนู ตำบลคลองขุด อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี รอบที่ 2 เพื่อดำเนินโครงการส่งเสริมและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและปลูกไม้ยืนต้นรอบอ่าวคุ้งกระเบนในท้องที่ดังกล่าว (เนื้อที่ 1,650 ไร่)
สาระสำคัญของเรื่อง
สำนักงาน กปร. รายงานว่า
1. พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรวงห่วงใยราษฎรที่ประสบปัญหาทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ ถูกทำลายลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะป่าชายเลนซึ่งเป็นแหล่งอาหารและแหล่งเจริญเติบโตของสัตว์น้ำวัยอ่อนถูกบุกรุกทำลายกลายเป็นพื้นที่รกร้างไร้ประโยชน์เชิงเศรษฐกิจ รวมทั้งเครื่องมือจับสัตว์น้ำที่ทันสมัยทำให้ปริมาณสัตว์น้ำในแหล่งทำการประมงลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศ และมีแนวโน้มที่จะขยายความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น จึงมีพระราชดำริในการศึกษาพัฒนาพื้นที่ในเขตที่ดินชายฝั่งทะเล เพื่อแนะนำให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจและเห็นถึงความสำคัญของการใช้และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติด้านต่างๆ อย่างเหมาะสม โดยในปี 2524 ได้พระราชทานพระราชดำริแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรีว่า “ให้พิจารณาพื้นที่ที่เหมาะสมจัดทำโครงการพัฒนาด้านอาชีพการประมงและด้านการเกษตร ในเขตพื้นที่ชายฝั่งทะเลของจังหวัดจันทบุรี” จึงได้เริ่มมีการจัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริขึ้นในปี 2525 โดยมีวัตถุประสงค์ เช่น (1) ศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับการประมง การป่าไม้ รวมทั้งการเกษตรและอุตสาหกรรมในลักษณะผสมผสานที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และ (2) ศึกษาการพัฒนาด้านการประมง เช่น การเพาะเลี้ยงชายฝั่ง และการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และระบบนิเวศน์
2. ในปี 2530 ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ในฐานะประธานอนุกรรมการดำเนินงานโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี ได้ขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในเขตป่าสวนแห่งชาติป่าคุ้งกระเบนและป่าอ่าวแขมหนูซึ่งตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของอำเภอท่าใหม่ ตำบลคลองขุด และกิ่งอำเภอนายายอาม ตำบลสนามไชย จังหวัดจันทบุรี เนื้อที่ 1,650 ไร่ เพื่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และปลูกไม้ยืนต้นตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จากกรมป่าไม้ ตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2530 - 16 เมษายน 2560 รวมระยะเวลา 30 ปี (รอบที่ 1) (ตามหนังสืออนุญาตให้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดในเขตป่าสงวนแห่งชาติเพื่อประโยชน์ในการศึกษาหรือวิจัยทางวิชาการ เล่มที่ 7 ฉบับที่ 25 ลงวันที่ 17 เมษายน 2530) โดยศูนย์ศึกษาฯ ได้จัดสรรการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวเป็น 3 ส่วน ได้แก่ (1) พื้นที่เลี้ยงกุ้งทะเลในพื้นที่ป่าชายเลนเสื่อมโทรมที่ไม่สามารถฟื้นฟูได้ ประมาณ 728 ไร่ (2) พื้นที่ฟื้นฟูป่าชายเลนหลังแปลงนากุ้ง ประมาณ 312 ไร่ โดยพื้นที่ตามข้อ (1) และ (2) ได้จัดสรรให้เป็นพื้นที่เลี้ยงกุ้งทะเลและปลูกป่าชายเลนหลังแปลงนากุ้ง 104 แปลง แปลงละ 10 ไร่ และ (3) พื้นที่อนุรักษ์ป่าชายเลนที่เหลืออยู่รอบอ่าวคุ้งกระเบน 610 ไร่ พร้อมคัดเลือกประชาชนในพื้นที่เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ โดยมอบเอกสารสิทธิที่ดินในรูปแบบสิทธิทำกิน พร้อมจัดฝึกอบรมเกี่ยวกับการเลี้ยงกุ้งแบบพัฒนาตามโครงการและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ การปลูกป่าชายเลน การบำรุงรักษาคลองส่งและระบายน้ำ และอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อโครงการฯ โดยในปี 2530 มีประชาชนในพื้นที่ร่วมเป็นสมาชิกโครงการเพื่อเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลและอนุรักษ์ป่าชายเลน 114 ครัวเรือน และในปี 2540 มีสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 208 ครัวเรือน*
3. การดำเนินโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ ส่งผลให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนและทรัพยากรธรรมชาติ ได้แก่
3.1 สามารถป้องกันการบุกรุกป่าชายเลน โดยชาวบ้านมีส่วนร่วมในการป้องกันและอนุรักษ์ป่าชายเลนรอบอ่าวคุ้งกระเบน ประมาณ 610 ไร่ ให้คงความสมบูณ์ตลอดไป
3.2 สามารถฟื้นฟูป่าชายเลนรอบอ่าวคุ้งกระเบนจากพื้นที่ป่าชายเลน 610 ไร่ เพิ่มขึ้นเป็น 1,300 ไร่ และเป็นป่าชายเลนที่สมบูรณ์
3.3 เป็นแบบอย่างการพัฒนาอาชีพการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลอย่างยั่งยืนผสมผสานกับการปลูกป่าชายเลน ตลอดจนการบำบัดน้ำทะเลที่ผ่านการเลี้ยงกุ้งทะเลด้วยป่าชายเลน
3.4 พื้นฟูป่าชายเลนเพื่อเป็นแหล่งวางไข่และอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนในอ่าวคุ้งกระเบน เพื่อสร้างแหล่งอาหารชุมชนในพื้นที่ประมาณ 4,000 ไร่
3.5 ลดภาวะโลกร้อน โดยป่าชายเลนรอบอ่าวคุ้งกระเบนสามารถดูดซับปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 54,621 ตัน หรือ 2,023 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี
3.6 รูปแบบการเลี้ยงกุ้งทะเลเป็นมิตรกับป่าชายเลน ลดข้อกีดกันทางการค้าของประเทศคู่ค้า กรณีกล่าวอ้างถึงการเลี้ยงกุ้งทะเลในประเทศไทยทำลายป่าชายเลน
3.7 เป็นแหล่งท่องเที่ยวชั้นนำของจังหวัดจันทบุรี โดยพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้ระบบนิเวศวิทยาป่าชายเลนควบคู่กับการอนุรักษ์ ตลอดจนบริหารจัดการเพิ่มมูลค่าป่าชายเลนด้านการท่องเที่ยวเพื่อสร้างรายได้ให้แก่แหล่งชุมชนในพื้นที่
ทำให้ศูนย์ศึกษาฯ ได้รับรางวัลต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น รางวัลการท่องเที่ยวยอดเยี่ยม ด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ สะพานทางเดินป่าชายเลนอ่าวคุ้งกระเบน จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และรางวัลการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก
4. ปัจจุบันการขอเข้าทำประโยชน์ในเขตพื้นที่ดังกล่าวสิ้นอายุการอนุญาตแล้ว(ตั้งแต่วันที่ 16 เมษายน 2560) โดยผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ในฐานะประธานอนุกรรมการดำเนินงานโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ ได้มีหนังสือถึงสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดจันทบุรี เนื่องจากมีความประสงค์จะขอทำประโยชน์พื้นที่เดิมดังกล่าว รอบที่ 2 เป็นระยะเวลาอีก 30 ปี เพื่อดำเนินโครงการส่งเสริมและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและปลูกไม้ยืนต้นรอบอ่าวคุ้งกระเบน ในท้องที่ตำบลคลองขุด อำเภอท่าใหม่จังหวัดจันทบุรี สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดจันทบุรีจึงได้ส่งเรื่องการขอเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าวให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งพิจารณาและได้รับแจ้งว่า พื้นที่ที่ขออนุญาตอยู่ในเขตป่าชายเลนตามมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งในการขออนุญาตจะต้องดำเนินการขอยกเว้นมติคณะรัฐมนตรีที่ห้ามใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าชายเลนโดยเด็ดขาดก่อนเพื่อสามารถดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2536 เกี่ยวกับการผ่อนผันให้ส่วนราชการที่ดำเนินการตามโครงการพระราชดำริและโครงการเพื่อความมั่นคง เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ที่ขออนุญาตเท่าที่จำเป็นไปพลางก่อน จนกว่าจะได้รับอนุญาต ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ คณะอนุกรรมการดำเนินงานโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน (19 มกราคม 2560) สภาองค์การบริหารส่วนตำบลคลองขุด อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี (12 พฤศจิกายน 2563) และสภาเทศบาลตำบลสนามไชย อำเภอนายายอามจังหวัดจันทบุรี (28 มกราคม 2564) มีมติเห็นชอบการขออนุญาตการเข้าทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติดังกล่าวต่อไปอีก 30 ปี ด้วยแล้ว
5. สำนักงาน กปร. ได้มีหนังสือไปยังกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบการเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าว โดยเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2565 ทส. แจ้งว่า (1) หากสำนักงาน กปร. มีความประสงค์เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าวจะต้องเสนอขอยกเว้นมติคณะรัฐมนตรี จำนวน 3 ฉบับ โดยหน่วยงานเจ้าของโครงการต้องดำเนินการจัดสรรงบประมาณให้กับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการปลูกป่าทดแทนเพื่อการอนุรักษ์หรือรักษาสภาพแวดล้อมไม่น้อยกว่า 20 เท่าของพื้นที่ป่าชายเลนที่ใช้ประโยชน์ ตามระเบียบกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ว่าด้วยการปลูกและบำรุงป่าชายเลนทดแทนเพื่อการอนุรักษ์หรือรักษาสภาพแวดล้อม กรณีการดำเนินการโครงการใดๆ ของหน่วยงานของรัฐที่มีความจำเป็นต้องเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าชายเลน พ.ศ. 2556 อย่างเคร่งครัด และ (2) เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติให้ยกเว้นแล้ว จึงเสนอเรื่องต่อกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเพื่อขออนุญาตทำประโยชน์ในเขตป่าชายเลนตามขั้นตอนและระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป
ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวไม่เข้าข่ายที่จะต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม
__________________
* ปี 2540 – ปัจจุบัน มีจำนวนสมาชิกคงที่ประมาณ 200 ครัวเรือน เนื่องจากความจำกัดของพื้นที่
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 11 ตุลาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A10427