ผลการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาบาเซลว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดนของของเสียอันตรายและการกำจัด สมัยที่ 15 การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญารอตเตอร์ดัมว่าด้วยกระบวนการแจ้งข้อมูลสารเคมีล่วงหน้าสำหรับสารเคมีอันตรายและสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชและสัตว์บางชนิดในการค
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 11 October 2022 21:37
- Hits: 1016
ผลการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาบาเซลว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดนของของเสียอันตรายและการกำจัด สมัยที่ 15 การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญารอตเตอร์ดัมว่าด้วยกระบวนการแจ้งข้อมูลสารเคมีล่วงหน้าสำหรับสารเคมีอันตรายและสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชและสัตว์บางชนิดในการค้าระหว่างประเทศ สมัยที่ 10 และการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสตอกโฮล์มว่าด้วยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน สมัยที่ 10 ในรูปแบบ face-to-face
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอผลการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาบาเซลว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดนของของเสียอันตรายและการกำจัด สมัยที่ 15 การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญารอตเตอร์ดัมว่าด้วยกระบวนการแจ้งข้อมูลสารเคมีล่วงหน้าสำหรับสารเคมีอันตรายและสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชและสัตว์บางชนิดในการค้าระหว่างประเทศ สมัยที่ 10 และการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสตอกโฮล์มว่าด้วยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน สมัยที่ 10 ในรูปแบบ face-to-face ระหว่างวันที่ 6-17 มิถุนายน 2565 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส [เป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (30 พฤษภาคม 2565) รับทราบองค์ประกอบคณะผู้แทนไทยสำหรับการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาบาเซลฯ อนุสัญญารอตเตอร์ดัมฯ และอนุสัญญาสตอกโฮล์มฯ สมัยที่ 10 ในรูปแบบ face-to-face และเห็นชอบกรอบการเจรจาและท่าทีของประเทศไทยสำหรับการประชุมรัฐภาคี 3 อนุสัญญา ในรูปแบบ face-to-face] สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. ผลการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาบาเซลฯ สมัยที่ 15 มีมติข้อตัดสินใจที่สำคัญเกี่ยวกับการดำเนินงานตามอนุสัญญาฯ เช่น
1.1 รับรองการแก้ไขภาคผนวกที่ 2 ภาคผนวก 8 และภาคผนวก 9 ของอนุสัญญาบาเซลฯ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับของเสียประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป โดยการเคลื่อนย้ายข้ามแดนของของเสียประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นอันตรายหรือไม่ก็ตาม รัฐผู้ส่งออก รัฐผู้นำเข้า และรัฐที่นำผ่านแดนจะต้องดำเนินการตามกระบวนการแจ้งความยินยอมล่วงหน้า
1.2 รับรองแนวทางเกี่ยวกับการจัดการอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ได้แก่ คู่มือปฏิบัติฉบับแก้ไขสำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อให้แน่ใจว่าการแจ้งการเคลื่อนย้ายของเสียข้ามแดนเป็นไปตามข้อกำหนดการจัดการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
1.3 รับรองแนวทางด้านเทคนิควิชาการ ได้แก่ (1) การจัดการของเสียที่ประกอบด้วย มี หรือปนเปื้อนด้วยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน อย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (2) การจัดการของเสียที่ประกอบด้วย มี หรือปนเปื้อนด้วยปรอท หรือสารประกอบปรอทอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (3) การเผาของเสียอันตรายและของเสียอื่นที่ครอบคุลมการดำเนินการกำจัดด้วยวิธีการเผาบนดินและการใช้เป็นเชื้อเพลิงหรือวิธีการอื่นที่ให้พลังงาน และ (4) การกำจัดของเสียอันตรายและของเสียอื่นด้วยการฝังกลบอย่างถูกหลักวิศวกรรม
1.4 เห็นชอบการปรับปรุงแนวทางด้านเทคนิควิชาการต่างๆ ได้แก่ (1) การจัดการขยะพลาสติกอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (2) การเคลื่อนย้ายข้ามแดนของของเสียประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้แล้ว (3) การจัดการของเสียที่เป็นแบตเตอรี่ตะกั่ว-กรด และแบตเตอรี่อื่นอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (4) การจัดการยางรถยนต์ที่ใช้แล้วและของเสียประเภทยางนอกชนิดอัดลมอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ (5) การเพิ่มเติมสาร Perfluorohexane sulfonic acid (PFHxS), its salts and PFHxS-related compounds1 ที่ได้รับการรับรองสำหรับสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน
2. ผลการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญารอตเตอร์ดัมฯ สมัยที่ 10 มีมติข้อตัดสินใจที่สำคัญเกี่ยวกับการดำเนินงานตามอนุสัญญาฯ เช่น
2.1 เห็นชอบให้บรรจุรายชื่อสารเคมีประเภทสารเคมีอุตสาหกรรม จำนวน 2 ชนิด ได้แก่ สาร Decabromodiphenyl ether2 และสาร Perfluorooctanoic acid (PFOA)3 ในภาคผนวก 3 ของอนุสัญญาฯ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป
2.2 พิจารณาคัดเลือกคณะกรรมการพิจารณาทบทวนสารเคมี 17 คน จากผู้แทนของภูมิภาคต่างๆ โดยนางพาลาภ สิงหเสนี ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะอนุกรรมการอนุสัญญารอตเตอร์ดัมฯ ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้แทนภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เข้าร่วมในคณะกรรมการฯ มีวาระการดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2565-2569
2.3 รับรองแผนการดำเนินงานของคณะกรรมการกำกับการปฏิบัติตามอนุสัญญารอตเตอร์ดัมฯ ระหว่างปี 2565-25664 เช่น การจัดประชุมสัมมนา การให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิค การเสริมสร้างศักยภาพ การฝึกอบรม การสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์และการจัดการความรู้ด้านสารสนเทศ
3. ผลการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสตอกโฮล์มฯ สมัยที่ 10 มีมติข้อตัดสินใจที่สำคัญเกี่ยวกับการดำเนินงานตามอนุสัญญาฯ ได้แก่
3.1 เห็นชอบให้บรรจุรายชื่อสาร PFHxS ภายใต้ภาคผนวก เอ ของอนุสัญญาสตอกโฮล์มฯ โดยไม่มีข้อยกเว้นพิเศษ ซึ่งภาคีสมาชิกจะต้องดำเนินมาตรการในการห้ามการผลิต การใช้ การนำเข้า และการส่งออกสารดังกล่าว
3.2 เห็นชอบให้ยกเลิกข้อยกเว้นพิเศษสำหรับการผลิตและการใช้สาร Hexabromocyclododecane5 สาร Pentachlorophenol6 และสาร Technical endosulfan7 และให้ประเทศภาคียกเลิกการใช้สาร Polychlorinated biphenyl (PCBs)8 ในอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในปี 2568 และมีการจัดการของเสียที่ปนเปื้อนสาร PCBs อย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมภายในปี 2571
4. ประเด็นสำคัญที่ประเทศไทยควรพิจารณาดำเนินการ มีดังนี้
4.1 เตรียมความพร้อมของประเทศไทย กรณีการแก้ไขภาคผนวก 2 ภาคผนวก 8 และภาคผนวก 9 ของอนุสัญญาบาเซลฯ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับของเสียประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ โดยหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้ขอบเขตการปฏิบัติงานตามกฎหมายภายในประเทศ เช่น พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติมและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การดำเนินงานสอดคล้องกับการแก้ไขภาคผนวกดังกล่าว
4.2 นำแนวทางด้านเทคนิควิชาการสำหรับการจัดการของเสียต่างๆ ที่ได้รับการรับรองจากการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาบาเซลฯ มาประยุกต์ใช้ภายในประเทศพร้อมทั้งเผยแพร่ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา และประชาชนทั่วไปนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป
4.3 ควบคุมสารเคมีที่ได้รับความเห็นชอบจากการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสตอกโฮล์มฯ และการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญารอตเตอร์ดัมฯ ให้เป็นวัตถุอันตรายภายใต้พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 เช่น สาร PFOA และ สาร PFHxS
4.4 ดำเนินกิจกรรมหรือโครงการเพื่อสนับสนุนและเสริมสร้างให้มีการดำเนินการตามอนุสัญญาร่วมกับสำนักเลขาธิการร่วมของอนุสัญญาบาเซลฯ อนุสัญญารอตตอร์ดัมฯ อนุสัญญาสตอกโฮล์มฯ และภาคีสมาชิกอื่นๆ
4.5 จัดประชุมคณะอนุกรรมการอนุสัญญาบาเซลฯ อนุสัญญาสตอกโฮล์มฯ และอนุสัญญารอตเตอร์ดัมฯ ภายใต้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเพื่อพิจารณาประเด็นการดำเนินการตามพันธกรณีของอนุสัญญาฯ และข้อเสนอแนะของไทยในการประชุมรัฐภาคีสมัยต่อไป
_____________________
1 PFHxS เป็นสารที่ใช้ในการผลิตโฟมดับเพลิง ลดแรงตึงผิวในการชุบโลหะ ใช้เป็นสารทำความสะอาด เคลือบ และขัดผิวพรม กระดาษ หนังและสิ่งทอ เพื่อป้องกันน้ำและคราบสกปรก
2 Decabromodiphenyl ether เป็นสารที่ใช้เพื่อหน่วงการติดไฟในผลิตภัณฑ์สิ่งทอ พลาสติก กาว ยาแนว สารเคลือบผิวและหมึกพิมพ์
3 PFOA เป็นสารกันน้ำ ลดแรงตึงผิว ใช้เป็นสารเคลือบให้ผิวลื่นในผลิตภัณฑ์ภาชนะ สิ่งทอ รองเท้า ปลอกหุ้มสายไฟ และเทปพันท่อน้ำ
4 ข้อมูลจากการประสาน ทส. เพิ่มเติมเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2565
5 Hexabromocyclododecane เป็นสารหน่วงการติดไฟในสิ่งทอและวัสดุก่อสร้าง
6 Pentachlorophenol เป็นสารกำจัดวัชพืช แมลงศัตรูพืช และยาฆ่าเชื้อ
7 Endosulfan เป็นสารกำจัดแมลงศัตรูพืช
8 PCBs เป็นสารที่มีคลอรีน ไฮโดรเจน และคาร์บอนเป็นองค์ประกอบ ซึ่งพบได้ในอุปกรณ์ไฟฟ้าและสารกำจัดวัชพืชและแมลงศัตรูพืช
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 11 ตุลาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A10420