รายงานสถานการณ์การส่งออกของไทย เดือนสิงหาคม และ 8 เดือนแรกของปี 2565
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 05 October 2022 22:34
- Hits: 1430
รายงานสถานการณ์การส่งออกของไทย เดือนสิงหาคม และ 8 เดือนแรกของปี 2565
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานสถานการณ์การส่งออกของไทย เดือนสิงหาคม และ 8 เดือนแรกของปี 2565 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ดังนี้
สาระสำคัญ
1. สรุปสถานการณ์การส่งออกของไทย เดือนสิงหาคม และ 8 เดือนแรกของปี 2565
การส่งออกของไทยในเดือนสิงหาคม 2565 มีมูลค่า 23,632.7 ล้านเหรียญสหรัฐ (861,169 ล้านบาท) ขยายตัวร้อยละ 7.5 ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 18 หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวร้อยละ 10.1 มีปัจจัยหนุนจากการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรที่ขยายตัวสูงต่อเนื่อง โดยเฉพาะอาหารแปรรูปที่มีความต้องการสูง ขณะเดียวกันสินค้าอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัวสูงอีกครั้งหลังชะลอตัวในเดือนก่อนหน้า ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจโลก อาทิ ภาวะเงินเฟ้อที่ทำให้กำลังซื้อทั่วโลกชะลอตัว ภาวะวิกฤตด้านอสังหาริมทรัพย์ของจีน และปัญหาขาดแคลนพลังงานในสหภาพยุโรป ทั้งนี้ การส่งออกของไทย 8 เดือนแรกขยายตัวร้อยละ 11.0 และเมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวร้อยละ 8.5
มูลค่าการค้ารวม
มูลค่าการค้าในรูปเงินเหรียญสหรัฐ เดือนสิงหาคม 2565 การส่งออก มีมูลค่า 23,632.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 7.5 การนำเข้า มีมูลค่า 27,848.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 21.3 ดุลการค้า ขาดดุล 4,215.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ภาพรวม 8 เดือนแรกของปี 2565 (มกราคม-สิงหาคม) การส่งออก มีมูลค่า 196,446.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 11.0 การนำเข้า มีมูลค่า 210,578.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 21.4 ดุลการค้า ขาดดุล 14,131.7 ล้านเหรียญสหรัฐ
มูลค่าการค้าในรูปเงินบาท เดือนสิงหาคม 2565 การส่งออก มีมูลค่า 861,169 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 20.4 การนำเข้า มีมูลค่า 1,026,654 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 35.5 ดุลการค้า ขาดดุล 165,485 ล้านบาท ขณะที่ภาพรวม 8 เดือนแรกของปี 2565 (มกราคม-สิงหาคม) การส่งออก มีมูลค่า 6,635,446 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 21.9 การนำเข้า มีมูลค่า 7,218,870 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 33.4 ดุลการค้า ขาดดุล 583,424 ล้านบาท
การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร
มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 4.6 ขยายตัวต่อเนื่อง 21 เดือน สินค้าที่ขยายตัวดี ได้แก่ ข้าว ขยายตัวร้อยละ 15.3 (ขยายตัวในตลาดอิรัก สหรัฐฯ แคนาดา มาเลเซีย และเนเธอร์แลนด์) น้ำตาลทราย ขยายตัวร้อยละ 173.5 (ขยายตัวในตลาดอินโดนีเซีย มาเลเซีย กัมพูชา ลาว และไต้หวัน) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 18.5 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย แคนาดา และซาอุดิอาระเบีย) ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง และไก่แปรรูป ขยายตัวร้อยละ 125.4 (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร จีน เนเธอร์แลนด์ และเกาหลีใต้) อาหารสัตว์เลี้ยง ขยายตัวร้อยละ 25.5 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์) ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ ขยายตัวร้อยละ 9.4 (ขยายตัวในตลาดจีน กัมพูชา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และอินโดนีเซีย) ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 14.3 (ขยายตัวในตลาดจีน รัสเซีย ออสเตรเลีย แคนาดา และไต้หวัน) เครื่องดื่ม ขยายตัวร้อยละ 14.9 (ขยายตัวในตลาดเวียดนาม กัมพูชา จีน ลาว และมาเลเซีย) ไอศกรีม ขยายตัวร้อยละ 71.2 (ขยายตัวในตลาดมาเลเซีย สหรัฐฯ เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย และเวียดนาม) สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ยางพารา หดตัวร้อยละ 2.8 (หดตัวในตลาดจีน มาเลเซีย ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และบราซิล) ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง หดตัวร้อยละ 63.8 (หดตัวในตลาดจีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย สหรัฐฯ และฮ่องกง) ทั้งนี้ 8 เดือนแรกของปี 2565 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 15.2
การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม
มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 9.2 โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัวดี ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 22.5 (ขยายตัวในตลาดออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น มาเลเซีย และเวียดนาม) อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัวร้อยละ 31.2 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ อินเดีย เยอรมนี สหราชอาณาจักร และเบลเยี่ยม) แผงวงจรไฟฟ้า ขยายตัวร้อยละ 25.1 (ขยายตัวในตลาดสิงคโปร์ สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น และไต้หวัน) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 15.6 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย อินเดีย และเวียดนาม) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 61.1 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ออสเตรเลีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เวียดนาม และสิงคโปร์) เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 32.8 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เมียนมา กัมพูชา และแคนาดา) หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ53.6 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน เม็กซิโก ญี่ปุ่น และเนเธอร์แลนด์) แผงสวิทซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า ขยายตัวร้อยละ 29.7 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และสโลวัก) ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ สินค้าเกี่ยวกับน้ำมัน หดตัวร้อยละ 11.4 (หดตัวในตลาดจีน กัมพูชา อินเดีย ญี่ปุ่น และอินโดนีเซีย) ผลิตภัณฑ์ยาง หดตัวร้อยละ 0.2 (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย และเยอรมนี) ทั้งนี้ 8 เดือนแรกของปี 2565 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 9.0
ตลาดส่งออกสำคัญ
การส่งออกไปยังตลาดประเทศคู่ค้ายังคงมีความไม่แน่นอน ท่ามกลางความเสี่ยงที่กดดันภาวะเศรษฐกิจการค้าโลก สรุปได้ดังนี้ (1) ตลาดหลัก ขยายตัวร้อยละ 8.3 โดยขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ร้อยละ 16.3 อาเซียน (5) ร้อยละ 5.8 CLMV ร้อยละ 41.1 สหภาพยุโรป (27) ร้อยละ 19.0 ญี่ปุ่นกลับมาขยายตัวร้อยละ 6.6 ในขณะที่จีน หดตัวร้อยละ 20.1 (2) ตลาดรอง ขยายตัวร้อยละ 6.9 ขยายตัวในทวีปออสเตรเลีย ร้อยละ 19.0 ตะวันออกกลาง ร้อยละ 38.4 และลาตินอเมริกา ร้อยละ 27.4 ขณะที่เอเชียใต้ ทวีปแอฟริกา และรัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS หดตัวร้อยละ 2.1 ร้อยละ 10.1 และร้อยละ 21.6 ตามลำดับ (3) ตลาดอื่นๆ หดตัวร้อยละ 40.3 อาทิ สวิตเซอร์แลนด์ หดตัวร้อยละ 40.1
2. มาตรการส่งเสริมการส่งออกและแนวโน้มการส่งออกระยะต่อไป
การส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการเชิงรุกและลึก เพื่อผลักดันและอำนวยความสะดวกการส่งออกของผู้ประกอบการไทย โดยการดำเนินงานที่สำคัญในรอบเดือนที่ผ่านมา อาทิ (1) การเพิ่มจำนวนกิจกรรมส่งเสริมการค้าร่วมกับภาคเอกชน จากแผนเดิมที่กำหนดไว้ 185 กิจกรรม ในปี 2565 เพิ่มขึ้นอีก 345 กิจกรรม แบ่งเป็นแผนเชิงรุก 231 กิจกรรม และแผนเชิงรับ 114 กิจกรรม เพื่อผลักดันการส่งออกครึ่งปีหลังให้ขยายตัวเกินกว่าเป้าหมายที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งไว้ (2) การเจาะตลาดรูปแบบใหม่ที่มีความชัดเจนและมีรูปธรรมมากขึ้น โดยมีเป้าหมายเจาะตลาด 36 ประเทศ 105 เมือง เช่น ตลาดซาอุดิอาระเบีย กลุ่มประเทศสหภาพยุโรป เป็นต้น (3) การสนับสนุนนโยบายขยายความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับเอกชน (Enhancing The Dots) ในการส่งเสริมการส่งออก การค้าชายแดน และการบริโภคภายในประเทศ โดยร่วมมือกับหอการค้าแห่งประเทศไทย และกลุ่มผู้ประกอบการ MOC Biz Club เพื่อแก้ไขปัญหาและอุปสรรคทางการค้าให้กับภาคเอกชน
แนวโน้มการส่งออกระยะถัดไป กระทรวงพาณิชย์ประเมินว่า ยังคงมีสัญญาณบวกที่ช่วยสนับสนุนการส่งออก โดยเฉพาะความต้องการสินค้าอาหาร ขณะที่นโยบายของสหรัฐฯ ที่จำกัดการเข้าถึงสินค้าเทคโนโลยีของจีน อาจทำให้มีอุปทานชิปประมวลผลส่วนเกินจากผู้ผลิตเข้าสู่ตลาดมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาคการผลิตอุตสาหกรรมของไทย นอกจากนี้ การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในประเทศคู่ค้าสำคัญอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าเป็นปัจจัยบวกที่ทำให้ไทยสามารถรักษาความสามารถในการแข่งขันไว้ได้ อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยกดดันจากปัญหาเงินเฟ้อ การขาดแคลนพลังงานในทวีปยุโรป และวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ของจีน
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 5 ตุลาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A10190