รายงานประจำปีกองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 27 September 2022 22:47
- Hits: 1426
รายงานประจำปีกองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานประจำปีกองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคมเสนอ และให้เสนอสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาทราบต่อไป
สาระสำคัญของรายงานฯ
รายงานประจำปีกองทุนฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 มีสาระสำคัญ สรุปได้ดังนี้
1. ส่วนที่ 1 ข้อมูลทั่วไป
กองทุนฯ จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการจัดประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม พ.ศ. 2562 โดยกำหนดให้ตั้งไว้ที่สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง (สป.กค.) มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้จ่ายในการจัดประชารัฐสวัสดิการที่เป็นการให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยหรือเพื่อสนับสนุนโครงการที่ให้บริการทางสังคมที่เป็นการช่วยเหลือประชาชนในภาวะลำบากทุกประเภท โดยมีการบริหารงานผ่านคณะกรรมการซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานกรรมการ
โดยในการดำเนินการคณะกรรมการฯ ได้มีคำสั่งคณะกรรมการฯ ที่ 1/2562 ลงวันที่ 21 พฤษภาคม 2562 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้น 3 คณะ ได้แก่ คณะอนุกรรมการนโยบายการจัดประชารัฐสวัสดิการ คณะอนุกรรมการบริหารข้อมูลโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ และคณะอนุกรรมการดำเนินการประชารัฐสวัสดิการ
2. ส่วนที่ 2 ผลการดำเนินงานของกองทุนฯ
ผลการดำเนินงานของกองทุนฯ ประกอบด้วยการจัดสวัสดิการให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 2 รูปแบบ ได้แก่ (1) สวัสดิการบรรเทาภาระค่าครองชีพที่ไม่ได้กำหนดระยะเวลาสิ้นสุดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 - 2564 ได้แก่ ค่าใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคที่จำเป็น ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และการปรับเพิ่มเบี้ยความพิการ และ (2) สวัสดิการบรรเทาภาระค่าครองชีพที่มีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 - 2564 ซึ่งเป็นสวัสดิการตามมาตรการต่างๆ โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 เช่น มาตรการชดเชยเงินให้แก่ผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยใช้ข้อมูลจากจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้มีรายได้น้อยได้ชำระ (มาตรการชดเชยเงิน) และมาตรการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในช่วงปลายปี ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เช่น มาตรการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปา และมาตรการชดเชยเงิน ปีงบประมาณ พ.ศ 2564 เช่น มาตรการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปา และการจัดสรรสวัสดิการภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 เช่น โครงการช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้แก่ประชาชนซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID – 19 เพื่อช่วยเหลือผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐของกระทรวงการคลัง โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และโครงการเราชนะ
3. ส่วนที่ 3 ผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการใช้จ่ายของกองทุนฯ
3.1 ผลต่อประสิทธิภาพในการจัดสรรสวัสดิการ
โครงการลงทะเบียน มีเกณฑ์ในการคัดกรองผู้ที่ควรจะได้รับสิทธิจึงทำให้ผู้ที่ผ่านการคัดกรองดังกล่าวเป็นผู้มีรายได้น้อยตัวจริงและสมควรได้รับการช่วยเหลือเป็นพิเศษจากภาครัฐ ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 14.6 ล้านคน (คงเหลือจำนวน 13.5 ล้านคน ณ เดือนตุลาคม 2564) โดยรัฐบาลได้ดำเนินการจัดสรรสวัสดิการผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐอย่างรัดกุม โปร่งใส ตรวจสอบได้ เนื่องจากเป็นการเติมวงเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จะต้องนำไปใช้จ่ายยังร้านที่กำหนด เช่น ร้านธงฟ้าประชารัฐพัฒนา เศรษฐกิจท้องถิ่น (จำนวนประมาณ 122,842 ร้านค้าทั่วประเทศ ณ เดือนกันยายน 2564) ร้านก๊าซหุงต้มที่กระทรวงพลังงานกำหนด บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งทำให้เงินที่ภาครัฐใช้จัดสรรสวัสดิการกว่า 48,216 ล้านบาท ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ไม่รั่วไหล ถึงมือประชาชนอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย และใช้จ่ายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และตรงกลุ่มเป้าหมาย
3.2 ผลต่อการบรรเทาภาระค่าครองชีพ
โดยในปี 2560 รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังได้ดำเนินการประชารัฐสวัสดิการลงในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยในระยะแรกของการดำเนินการมีสวัสดิการทั้งสิ้น 5 กลุ่มสวัสดิการ ได้แก่ กลุ่มที่ 1 วงเงินเพื่อซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น กลุ่มที่ 2 วงเงินค่าโดยสารสาธารณะ กลุ่มที่ 3 วงเงินส่วนลดค่าก๊าซหุงต้ม กลุ่มที่ 4 วงเงินค่าสาธารณูปโภคพื้นฐาน กลุ่มที่ 5 เพิ่มเบี้ยดำรงชีพ สำหรับผู้พิการที่มีบัตรจะได้รับการจัดสรรสวัสดิการเบี้ยดำรงชีพเพิ่ม ต่อมามีการเพิ่มสวัสดิการที่กำหนดช่วงเวลาสิ้นสุดเอาไว้ เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจและสังคมในช่วงเวลานั้น กลุ่มที่ 6 สวัสดิการอื่นๆ ที่สิ้นสุดแล้ว แต่ยังมีภาระต้องจ่ายมาจนถึงปัจจุบัน กลุ่มนี้มีหลากหลายรายการที่แม้จะสิ้นสุดมาตรการไปแล้ว แต่ยังมีการจ่ายให้ผู้มีรายได้น้อยที่ตกค้างอยู่จำนวนหนึ่ง เช่น มาตรการชดเชยภาษีมูลค่าเพิ่ม มาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มาตรการพยุงการบริโภค และมาตรการค่าเดินทางไปรับการรักษาพยาบาลของผู้สูงอายุที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ กลุ่มนี้มีการใช้จ่ายจากเงิน กองทุนฯ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ทั้งสิ้น 7.13 ล้านบาท และกลุ่มที่ 7 เพิ่มกำลังซื้อช่วง COVID – 19 สวัสดิการนี้ใช้เงินกู้จากพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 จำนวน 500,000 บาท
3.3 ผลต่อการพยุงกำลังซื้อและการบริโภคของประเทศ
การบริโภคภาคเอกชนเป็นองค์ประกอบสำคัญในผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product : GDP) มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 55 ของ GDP เมื่อพิจารณาจากจำนวนผู้มีรายได้น้อยเฉพาะที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ณ เดือนตุลาคม 2564 มีจำนวน 135 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ และในจำนวนนี้เป็นผู้ที่มีการใช้จ่ายต่ำกว่าเส้นความยากจนถึง 9.9 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 73 ของผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยพบว่าผู้มีรายได้น้อยมักจะมีแนวโน้มของการนำเงินออกมาใช้จ่ายค่อนข้างมาก เมื่อเทียบกับเงินที่ได้มา ขณะเดียวกันการใช้จ่ายผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ยังเป็นการกระจายรายได้เข้าสู่ชุมชนเศรษฐกิจฐานรากโดยตรงอีกทาง เพราะนอกจากการที่ผู้มีรายได้น้อยจะได้รับประโยชน์โดยตรงจากการถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจำเป็นต้องใช้วงเงินเพื่อซื้อสินค้าอุปโภคและก๊าซหุงต้มกับร้านธงฟ้าฯ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ค้ารายย่อยที่มีความเกี่ยวข้องกับชุมชน จึงนับได้ว่าเป็นการกระจายเข้าสู่ร้านค้าชุมชน และเศรษฐกิจฐานรากอย่างแท้จริง ซึ่งทำให้ผลประโยชน์ต่อด้านเศรษฐกิจมหภาคทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้น กองทุนฯ จึงมีบทบาทอย่างมากต่อการพยุงกำลังซื้อและการบริโภคของประเทศในยามที่เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจอื่นๆ อ่อนแออันเกิดจากผลกระทบของวิกฤตโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และช่วยให้เศรษฐกิจฐานรากไม่ทรุดลงมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
3.4 ผลต่อการวางรากฐานในการพัฒนาประเทศ
โครงการลงทะเบียนฯ ยังส่งผลประโยชน์ทางอ้อมที่ไม่สามารถประเมินค่าเป็นตัวเงินได้ เช่น การนำเทคโนโลยีด้านดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาองค์กรเพื่อการเติบโตแบบก้าวกระโดด (Exponential Growth) ได้แก่ Big Data เป็นการสร้าง Data Mining ในมิติต่างๆ เช่น อายุ อาชีพ และรายได้ เป็นต้น นำไปสู่การสร้าง Data Visualization ทั้งในด้านจำนวนคน มูลค่าการใช้จ่ายของแต่ละบุคคลในแต่ละสวัสดิการ และการใช้เทคโนโลยี Blockchain ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่สนับสนุนการสร้างโครงข่ายข้อมูลที่อนุญาตให้ใช้ร่วมกันได้ระหว่างหน่วยงานต่างๆ ช่วยให้บูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงานต่างๆ ทำให้กองทุนฯ สามารถปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันได้ตลอดเวลา (Real Time) และสามารถเรียกดูข้อมูลได้ตลอดเวลา
4. ส่วนที่ 4 รายงานของผู้สอบบัญชี และรายงานการเงินของกองทุนฯ ที่ผ่านการตรวจสอบจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินแล้ว
งบแสดงฐานะการเงิน ณ วันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2564 กองทุนฯ มีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 36,737,083,197.42 บาท หนี้สินรวมทั้งสิ้น 103,971,559.64 บาท รวมหนี้สินและสินทรัพย์สุทธิ/ส่วนทุน 36,737,083,197.42 บาท
งบแสดงผลการดำเนินงานทางการเงิน สำหรับปี สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2564 มีรายได้รวม 77,514,489,600 บาท และมีค่าใช้จ่ายรวม 48,126,430,318.46 บาท รวมรายได้สูงกว่าค่าใช้จ่ายสุทธิ 29,388,059,281.54 บาท
งบแสดงการเปลี่ยนแปลงสินทรัพย์สุทธิ/ส่วนทุน สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2564 มียอดคงเหลือ ณ วันที่ 30 กันยายน 2564 จำนวน 36,633,111,637.78 บาท
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ (รองนายกรัฐมนตรี) 27 กันยายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A91042