- Details
- Category: กทม.
- Published: Monday, 26 February 2018 15:37
- Hits: 3530
กลุ่มร่วมทำงาน SCN-CHO ส่งมอบล็อตแรก 100 คัน ทันตามกำหนด 26 มี.ค.แม้โดนมือมืดแอบทุบกระจก-พังประตู-ไฟหน้า-ไฟท้ายแตกเสียหาย ยันคนกรุงได้ใช้รถเมล์เอ็นจีวีใหม่แน่นอน
กลุ่มร่วมทำงาน SCN-CHO ผู้ดำเนินโครงการจัดซื้อรถโดยสารปรับอากาศใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (เอ็นจีวี) พร้อมซ่อมแซมและบำรุงรักษารถโดยสาร 489 คัน ระยะเวลา 10 ปี ส่งมอบล็อตแรกจำนวน 100 คันภายใน 26 มี.ค. ทันตามกำหนด แม้โดนมือแอบทุบกระจาก-พังประตู-ไฟหน้า-ไฟท้ายแตกเสียหาย 7-8 คัน ด้านผู้จัดการโครงการ 'กริน ชยวิสุทธิ์' เตรียมหามาตรการป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก มั่นใจคนกรุงฯ ต้องได้ใช้รถเมล์ใหม่แน่นอน
นายกริน ชยวิสุทธิ์ ผู้จัดการโครงการจัดซื้อรถโดยสารปรับอากาศใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (เอ็นจีวี) พร้อมซ่อมแซมและบำรุงรักษารถโดยสาร 489 คัน ระยะเวลา 10 ปี ในนามตัวแทนกลุ่มร่วมทำงาน SCN-CHO เปิดเผยว่า กลุ่มฯ มีการทยอยนำรถเมล์เข้ามาบางส่วนแล้ว จนกระทั่งเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา รถมาถึงท่าเรือแหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี แล้วจำนวน 50 คัน จอดอยู่ในท่า B5 และ C3 โดยอยู่ระหว่างกระบวนการทยอยนำออกจากท่าเรือ ปรากฏว่ามีล่องรอยแอบเข้ามาทุบทำลายกระจกรถทั้งด้านหน้าและด้านหลัง รวมถึงทุบทำลายส่วนต่างๆ ของตัวรถ เช่น ไฟหน้า ไฟท้ายรถ และยังพังประตูรถเข้าไปทำลายอุปกรณ์ต่าง ๆ ภายใน ทำให้รถได้รับความเสียหาย ประมาณ 7-8 คัน
ขณะนี้ ได้แจ้งให้ท่าเรือแหลมฉบังทราบเรื่องแล้ว เบื้องต้นท่าเรือฯ แสดงความรับผิดชอบ และได้ส่งประกันเข้ามาประเมินความเสียหายเพื่อชดใช้ค่าเสียหาย แต่ยังไม่สรุปความเสียหายเป็นมูลค่าเท่าไหร่ ทั้งนี้ บริษัทฯ อยู่ระหว่างพิจารณาหามาตรการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุขึ้นอีก
“ยืนยันว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่กระทบต่อแผนการส่งมอบรถให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)ในล็อตแรก 100 คันแน่นอน เพราะขณะนี้ได้นำรถบางส่วนไปติดตั้งชิ้นส่วนตามที่กำหนดไว้ในทีโออาร์ (TOR) ที่ศูนย์โรงงานของบริษัทฯ ที่ตั้งห่างจากท่าเรือแหลมฉบังประมาณ 12-13 กม. ก่อนนำรถเข้ามากรุงเทพฯ ต่อไป”นายกริน กล่าวในที่สุด
อนึ่ง สำหรับรถเมล์ดังกล่าว เป็นรถประกอบสำเร็จจากต่างประเทศ แต่ยังไม่สามารถขับเคลื่อนได้ เพราะต้องนำไปติดตั้งระบบปรับอากาศ , เกียร์ , ระบบก๊าซธรรมชาติ และเครื่องยนต์ ในโรงงานที่กลุ่มบริษัทฯ เตรียมไว้ก่อน คาดว่าจะใช้เวลาติดตั้งอุปกรณ์ประมาณ 10 วัน จากนั้นจึงทยอยเข้ามาจดทะเบียนที่กรมขนส่ง และติดตั้งจีพีเอส และส่งมอบให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ตรวจรับได้ตามกำหนด