- Details
- Category: อบจ.
- Published: Tuesday, 07 October 2014 21:26
- Hits: 7874
จ.เชียงใหม่ เปิดบริการช้อปปิ้งสินค้า OTOP ของจังหวัดผ่าน E-Commerce หวังยกระดับสินค้าสู่ตลาดสากล
นายไพโรจน์ กุลละวณิชย์ พาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า จังหวัดเชียงใหม่มีผู้ประกอบการสินค้า OTOP จำนวน 1,181 ราย 3,296 ผลิตภัณฑ์ ผู้ประกอบการเชียงใหม่แบรนด์ 184 ราย 535 ผลิตภัณฑ์/บริการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในสังกัดกระทรวงพาณิชย์ พัฒนาชุมชน เกษตร ได้ร่วมกันส่งเสริมผู้ประกอบการในการพัฒนาผลักดันสินค้าเข้าสู่ตลาด ทั้งขายในพื้นที่ของจังหวัด อาทิ ถนนคนเดิน ย่านการค้าต่าง ๆ ส่งเสริมไปขายตามจังหวัด ต่างๆ รวมถึงส่งไปขายในต่างประเทศเป็นประจำ ทำรายได้ให้กับจังหวัดเชียงใหม่ ปีละหลายร้อยล้านบาท เพื่อเปิดโอกาสให้กับผู้ประกอบการของจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ จึงได้มอบหมายให้สำนักงานพาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับบริษัท ทริปเปิล เค อินโนเวชั่นเอเย่นต์แอนด์ ซัพพลาย จำกัด ดำเนินการส่งเสริมการค้าขายทางอิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) เพื่อให้เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการขายสินค้า
ดร.ภาสวรรธน์ วัชรดำรงศักดิ์ รองอธิการบดีด้านวิจัยและการถ่ายทอดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (มทร.ล้านนา) ได้กล่าวว่า มทร.ล้านนา เป็นมหาวิทยาลัยด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ผลิตบัณฑิตนักปฏิบัติ เป็นมหาวิทยาลัยนวัตกรรมเพื่อชุมชน ความร่วมมือสามฝ่ายในครั้งนี้ถือเป็นการทำงานร่วมกันของหน่วยงานภาครัฐ(พาณิชย์จังหวัด) ภาคเอกชน (บ.ทริปเปิ้ลเค) และภาคการศึกษา (มทร.ล้านนา) หรือเรียกว่า Public Private Partnership (PPP) โดยมหาวิทยาลัยได้จัดทำระบบฐานข้อมูลผู้ประกอบการไว้แล้ว ดังนั้น เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้นจึงใช้โอกาสนี้ร่วมมือกับเอกชน ที่จะเป็นสื่อกลางในการดำเนินงาน/ประสานงานในด้านช่องทางการตลาดให้กับผู้ประกอบการเพื่อทำการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ
นายกันต์ ก้อนกลีบ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทริปเปิล เค อินโนเวชั่นเอเย่นต์แอนด์ ซัพพลาย จำกัด ได้ชี้แจงถึงแนวทางในการดำเนิน โครงการเชียงใหม่ อี-คอมเมิร์ซ ดังนี้โครงการดังกล่าว เป็นการส่งเสริมช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าอีกช่องทางหนึ่ง คือ จัดจำหน่ายทางอินเตอร์เน็ต หรือเรียกว่า พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์สินค้าและบริการต่างๆของจังหวัดเชียงใหม่ ให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ พัฒนาผลิตภัณฑ์ สินค้าและบริการให้มีมาตรฐานมากขึ้น รวมถึงการเตรียมความพร้อมทางด้านการตลาดเพื่อเข้าสู่ความเป็นสากล และเปิดโอกาสให้ผู้ขายสินค้าและบริการของจังหวัดเชียงใหม่ทั้งขนาดกลางและขนาดเล็ก มีโอกาสเข้าสู่ตลาดได้มากขึ้นและแข่งขันกับบริษัทขนาดใหญ่ได้ และที่สำคัญ คือ การอำนวยความสะดวกให้กับผู้บริโภคโดยไม่ต้องเสียเวลา หรือเดินทางมาซื้อสินค้าหรือบริการด้วย ซึ่งสามารถเลือกซื้อสินค้าผ่านทาง เว็บไซต์ www.shoppingchiangmai.com ได้เลย ทั้งนี้ทางบริษัทได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ในการช่วยดูแลระบบต่างๆ ตลอดจนการดูแลเรื่องมาตรฐานสินค้าและบริการเพื่อให้ได้มาตรฐานยิ่งขึ้น เป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการรวมถึงผู้บริโภคให้สามารถได้เข้าถึงสินค้าและบริการที่มีคุณภาพตามลำดับเพื่อให้สามารถแข่งขันกับสินค้าและบริการอื่นๆ ได้อย่างมั่นคงและมีประสิทธิภาพ โดยทางบริษัทจะช่วยดูแลในเรื่องการตลาด เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในการสร้างตลาดใหม่ตลอดจนมุ่งสู่สากลมากขึ้น
“จังหวัดเชียงใหม่ หวังเป็นช่องทางอีกช่องทางหนึ่งในการขายสินค้าไปสู่ผู้บริโภค หากได้มีการบริหารจัดการที่ดี สินค้าของจังหวัดเชียงใหม่จะก้าวไปสู่ผู้บริโภคได้ทั่วโลก ซึ่งผู้ประกอบการต้องมีการพัฒนาสินค้าให้เป็นที่ต้องการของตลาดด้วยเช่นกัน”นายไพโรจน์ ฯ กล่าว
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย