WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

SSS60

โครงการ'อ่านสร้างสุขในโรงเรียนและสถานศึกษา'ปี 3 แนวคิด 'เปิดรั้วโรงเรียน สู่ประตูชุมชน : ก้าวย่างวิถีอ่านสร้างสุข'เน้นสร้างเครือข่ายแกนนำรักการอ่าน พร้อมขับเคลื่อนนครแห่งการอ่านนำร่อง 6 จังหวัด

    สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ( สสส. ) โดยแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) และสำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร สานต่ออุดมการณ์สร้างชาติสร้างสังคมนักอ่าน จากโครงการอ่านสร้างสุขในสถานศึกษาสู่ปีที่ 3 ด้วย โครงการ สถานศึกษาต้นแบบชุมชนอ่านสร้างสุขเพื่อเฟ้นหาสถานศึกษาต้นแบบส่งเสริมการอ่าน และสร้างการมีส่วนร่วมจากชุมชนและภาคีต่างๆ ให้เข้ามาร่วมสร้างสังคมสุขภาวะ สร้างเครือข่ายความร่วมมือให้เกิดสถานศึกษาสร้างสุขทั่วประเทศ ชิงถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

   ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า สังคมไทยเราจะมีแนวโน้มของผู้สูงอายุ มากกว่าเด็กขึ้นไปเรื่อยๆ โครงการสถานศึกษาต้นแบบชุมชนอ่านสร้างสุข  จึงก่อประโยชน์อย่างมาก ที่ทำให้เด็กๆ ได้กลับไปรู้จักชุมชน  รู้จักผู้เฒ่าผู้แก่ ครู ภูมิปัญญาด้านต่างๆ ในชุมชน ได้เรียนรู้จากการฝึกปฏิบัติ ด้วยเครื่องมือง่ายๆ คือหนังสือและการอ่าน ซึ่งจะขยายไปสู่การดูแลกันและกันในเรื่องอื่นๆ ซึ่งได้เกิดเรื่องดีๆ ขึ้นมากมาย การเติบโตของโครงการอ่านสร้างสุขที่ได้สร้างความสุขให้กับสังคมชุมชนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการขยับสู่การร่วมขับเคลื่อน นครแห่งการอ่านจะเป็นนิมิตสำคัญของการทำให้ทั้งเมืองเป็นเมือง 3 ดีวิถีสุข ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของ สสส. ในปีนี้

    ดร.พิชัย สนแจ้ง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การอ่านเป็นการปูพื้นฐานความเป็นพลเมืองที่พึงประสงค์ ซึ่งมีส่วนทั้งทางตรงและทางอ้อมในการกำหนดทิศทางของสังคมอนาคต การวางแนวทางดำเนินงาน นครแห่งการอ่านจึงมุ่งให้หนังสือและการอ่านเข้าถึงเด็กและครอบครัว เพื่อสร้างพลเมืองที่มีคุณภาพ เป็นนครที่คนทุกเพศ ทุกวัย สามารถเข้าถึงบริการการอ่านอย่างทั่วถึงทุกที่และเท่าเทียมเป็นสังคมที่มีสื่ออ่านที่เพียงพอ ทุกคนเกิดความตระหนัก เห็นคุณค่า และใช้ความรู้ในการสร้างเสริมคุณภาพชีวิต ซึ่งการจะสร้างให้เป็น นครแห่งการอ่านได้ควรมียุทธศาสตร์ ๓ ดี ในการสร้างเมืองสื่อสร้างสรรค์ด้านวัฒนธรรมการอ่าน ทั้งระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล หรือชุมชนเล็กๆ หลักการ ดี อันประกอบด้วย สื่อดี  พื้นที่ดี และภูมิดี ซึ่งจะเกิดได้ก็ด้วยความร่วมไม้ร่วมมือของเด็ก เยาวชน คณะครู ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้นำชุมชน หน่วยงานรัฐ เอกชน ตลอดจนผู้บริหารจังหวัด เพื่อสร้างพลเมืองที่มีความตื่นรู้ทางปัญญา มีความรับผิดชอบ  และมีจิตสำนึกรักท้องถิ่น  รักบ้านเกิด ร่วมขับเคลื่อนให้เกิดสังคมที่ดีงามต่อไป

   ด้านนางสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. กล่าวว่าจากการที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ( สสส. ) และ 4 หน่วยงานหลักด้านการศึกษาได้ร่วมกันจัดทำโครงการ อ่านสร้างสุขในโรงเรียนและสถานศึกษามาตั้งแต่ปี 2555 เพื่อหนุนเสริมให้เกิดสถานศึกษาต้นแบบที่ใช้แนวคิด อ่านสร้างสุขมาพัฒนาศักยภาพผู้เรียนในทุกด้าน ทำให้เยาวชนได้เปิดกว้างทางความคิดมากขึ้นจึงเป็นที่มาของ โครงการอ่านสร้างสุขที่ขับเคลื่อนจากโรงเรียนสู่ โครงการสถานศึกษาต้นแบบ ชุมชนอ่านสร้างสุข ในปีที่ 3 นี้ ซึ่งทางคณะกรรมการดำเนินโครงการฯ รู้สึกเป็นพระกรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อม เมื่อคณะกรรมการฝ่ายกลั่นกรองโครงการและกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ ได้มีมติเห็นชอบให้โครงการสถานศึกษาต้นแบบ ชุมชนอ่านสร้างสุข เข้าร่วมเป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน พ.ศ. 2558 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานถ้วยรางวัลชนะเลิศในปีนี้

  สำหรับ การติดตามประเมินผลความสำเร็จของโครงการฯ ในสองปีที่ผ่านมา พบว่า เมื่อมีระยะเวลาดำเนินงานอย่างต่อเนื่องนานเท่าใดก็ยิ่งพบความสำเร็จและความงอกงามมากขึ้นเท่านั้น ทั้งในตัวผู้เรียน ครู คณะทำงาน และเครือข่ายในชุมชน 1.ในตัวผู้เรียนพบว่าเด็กที่เข้าร่วมโครงการฯ นี้รักการอ่านมากขึ้น และมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น 2.ในกลุ่มยุวทูตและทูตการอ่าน ไม่เพียงแต่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น แต่ยังเห็นคุณค่าจากการทำงานจิตอาสา ได้ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ผู้ป่วย เด็กเล็กในโรงเรียนและชุมชน ฯลฯ  ทำให้รู้จักการบริหารจัดการเวลา เพื่อการเรียน พัฒนาตนเอง งานจิตอาสา ติดเกมน้อยลง นอกจากนี้ทำให้ชุมชนได้ร่วมกันสอดส่อง ชักชวนบุตรหลานให้สนใจการอ่านมากขึ้น บางครอบครัวเห็นประโยชน์การพัฒนาอาชีพจากการอ่าน มีการค้นพบอาชีพใหม่ๆ จากการอ่าน ส่วน 3.ในโรงเรียน พบแนวทางว่า หากจะแก้ปัญหาการอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ของเด็กวัยเรียน ครอบครัวต้องอ่านหนังสือให้ลูกฟังตั้งแต่เล็กๆ ทำให้เกิดการทำงานแบบบูรณาการจากหลากหลาย ทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคส่วนสาธารณสุข ภาคการศึกษา ชมรมต่างๆ ในชุมชน ซึ่งหลายโรงเรียนกลายเป็นแหล่งศึกษาดูงานที่สามารถขยายแนวคิดของยุทธศาสตร์ 'อ่านสร้างสุข' ได้กว้างขวางมากขึ้น ผลสำคัญเหนืออื่นใด คือ สัมพันธภาพที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงาน ทั้งในระดับครอบครัว โรงเรียน และชุมชน

   ซึ่งในปีนี้จะได้ขยายเครือข่ายความร่วมมือสู่นครแห่งการอ่านต้นแบบใน 6 จังหวัดได้แก่ กรุงเทพมหานคร อุบลราชธานี ลำปาง เชียงราย กระบี่  ขอนแก่น

   นอกจากนี้ ภายในงานประกาศผลโครงการสถานศึกษาต้นแบบชุมชนอ่านสร้างสุข และพิธีมอบถ้วยรางวัลพระราชทาน  สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ยังจัดให้มีงานเสวนา “6 นครแห่งการอ่าน 60 พรรษาสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีโดยท่านผู้ว่าราชการจังหวัดของ 6 จังหวัดได้มอบหมายรองผู้ว่าฯ มาร่วมสนับสนุน

   “เราคาดหวังว่าการจุดประกายเรื่องการอ่านสร้างสุขในครั้งนี้ จะสร้างความตื่นตัวให้กับสังคมมากขึ้น เพื่อได้ตระหนักว่าเพราะเหตุใดครู นักเรียนแม้กระทั่งแกนนำชุมชนต่าง ๆ ต่างลุกขึ้นมาเพื่อดำเนินการในเรื่องนี้อย่างจริงจัง ซึ่งหากจะให้เกิดผลสำเร็จจริงได้ ผู้บริหารระดับสูงระดับจังหวัดก็จะต้องรับลูกตรงนี้ด้วย ยุทธศาสตร์ อ่านสร้างสุขจะเป็นพลังสำคัญในการถักทอและร่วมสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ที่เต็มไปด้วยความสุขและความเกื้อกูลต่อไปนางสุดใจ กล่าว

    สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน                 โทร 02-424-4616       

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!