- Details
- Category: การศึกษา
- Published: Tuesday, 31 March 2015 00:16
- Hits: 2989
'ปรับห้องเรียน เปลี่ยนอนาคต' เด็กไทย
ไทยโพสต์ : ด้วยปรัชญาของ "ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21" คือการเรียนรู้ที่ ไม่มีพรมแดน ไม่มีเส้นคั่นกั้นแบ่งระหว่างวิชาการในห้องเรียนและนอกห้องเรียน... เทคโนโลยีคือกุญแจสำคัญที่ผสมผสานจินตนาการ ความจริง และความรู้ เข้าไว้ด้วยกัน โครงการ "ซัมซุง สร้างพลังการเรียนรู้สู่อนาคต" หรือ Samsung Smart Learning Center ถูกจุดประกายขึ้นเมื่อกว่า 2 ปีก่อน มีเป้าหมายพัฒนาเด็กไทยก้าวไปให้ถึงองค์ความรู้ที่เชื่อมต่อกับทักษะในการใช้เทคโนโลยี โดยสนับสนุน ห้องเรียนแห่งอนาคต
"ห้องเรียนแห่งอนาคตทำให้เด็กๆ ได้ใช้เทคโนโลยีประกอบการเรียนรู้ ได้ฝึกทักษะอย่างรอบด้าน สามารถหาความรู้ได้ด้วยตนเอง และนำมาต่อยอดเพื่อพัฒนาตนเองได้ โดยเฉพาะทักษะการคิดริเริ่มสร้างสรรค์ การทำงานเป็นทีม และความรับผิดชอบ" วาริท จรัณยานนท์ ผู้จัดการโครงการ Samsung Smart Learning Center กล่าวในเวทีสัมมนา "Education for the Future ปรับห้องเรียน เปลี่ยนอนาคต" เมื่อวันที่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมา ณ ห้องเวิลด์บอลรูม โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์
โดยระบุว่า ซัมซุงเป็นหนึ่งในภาคเอกชนที่มองเห็นปัญหา และพยายามเข้าไปช่วยเหลือด้านการศึกษา ซึ่งที่ผ่านมาได้ทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และโรงเรียนต่างๆ มาตั้งแต่ปี 2556 มีโรงเรียนนำร่อง 10 แห่ง
ความสำเร็จในปีแรกทำให้มีการขับเคลื่อนต่อในปี 2557 โดยขยายโรงเรียนนำร่องทั่วประเทศเป็น 31 แห่ง และจะขยายเป็น 40 แห่งในปี 2558 โดยทำงานร่วมกับครูและนักเรียนประมาณ 50,000 คน
ห้องเรียนแห่งอนาคตเน้นการทำงานเป็นกลุ่ม มีองค์ประกอบสำคัญ 6 ด้าน คือ สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ใหม่, การเข้าถึงเทคโนโลยี, หลักสูตรและการเรียนรู้สำหรับศตวรรษที่ 21, การพัฒนาครูโดยเปลี่ยนจากผู้สอนมาเป็น โค้ช ที่เรียนรู้ไปพร้อมกับเด็ก, การเตรียมความพร้อมเด็กให้เป็น Active Learning และการวัดและประเมินผลที่เด็กสามารถประเมินตัวเองได้เชษฐ เชษฐสันติคุณ ที่ปรึกษาโครงการ Samsung Smart Learning Center กล่าวเสริมว่า จากการประเมินผลพบว่านักเรียนที่ผ่านโครงการนี้ร้อยละ 40 มีการเปลี่ยนแปลงดีขึ้น ด้านทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม เช่น กล้าคิด กล้าแสดงออก ใช้เทคโนโลยีเก่งขึ้น รวมถึงมีทักษะชีวิตและอาชีพเพิ่มมากขึ้น แบ่งเวลาเป็นและมีความรับผิดชอบต่องาน กล้าเผชิญหน้ากับปัญหา
วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง นักวิชาการและผู้แปลหนังสือทักษะแห่งอนาคตใหม่การศึกษาเพื่อศตวรรษที่ 21 กล่าวว่า กรอบแนวคิดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ประกอบด้วย การเรียนรู้วิชาหรือเนื้อหาหลัก แต่ต้องบูรณาการความรู้อื่นๆ เพิ่มเติมด้วย เพราะไม่มีความรู้ใดแบ่งแยกออกเป็นวิชาได้อย่างชัดเจน โดยเน้นทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม ทักษะการสื่อสารและเทคโนโลยี สุดท้ายคือทักษะชีวิตและประกอบอาชีพ
สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) มองว่า สิ่งแรกที่ควรทำเพื่อปรับห้องเรียน เปลี่ยนอนาคตให้แก่เด็กไทย คือการ "คืนครูสู่ห้องเรียน" ถือเป็นหนึ่งในหัวใจของการปฏิรูปการศึกษา เพราะจากงานวิจัยพบว่าจะช่วยให้นักเรียนมีผลการเรียนดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
เป็นแนวทางสะท้อนความหมายของคำว่า Education for the Future นั่นคือเส้นทางใหม่ที่เด็กไทยต้องเรียนรู้ และก้าวไปสู่โลกแห่งศตวรรษที่ 21 ได้อย่างเต็มภาคภูมิ.