- Details
- Category: คมนาคม
- Published: Saturday, 03 February 2018 17:46
- Hits: 1829
ทางหลวง ขายซองประมูลงาน Q&M มอเตอร์เวย์บางปะอิน-นครราชสีมา,บางใหญ่-กาญฯ ปลาย มี.ค.คาดรู้ผล ต.ค.เซ็นสัญญา ธ.ค.นี้
นายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า ในวันนี้กรมทางหลวงได้นำเสนอรายละเอียดโครงการและร่างแนวคิดของเอกสารเงื่อนไขการร่วมลงทุน โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง(มอเตอร์เวย์) สายบางปะอิน-นครราชสีมา และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี พร้อมรับฟังความคิดเห็นก่อนสรุปผลและออกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนแบบ PPP Gross Cost ในปลายเดือน ก.พ.นี้ และขายซองประมูลราวสิ้นเดือนมี.ค.
จากนั้น มี.ค.-ก.ค.เอกชนจัดทำเอกสารและยื่นข้อเสนอ และเปิดรับซองในต้นเดือนส.ค. โดยทางกรมทางหลวงจะให้ความสำคัญกับการพิจารณาด้านเทคนิค ว่าใช้ระบบใดมาทำการจัดเก็บค่าผ่านทาง ประกอบกับราคา และคาดว่าจะรู้ผลการประมูลในเดือนต.ค. จากนั้นจะนำเสนอครม.อนุมัติก่อนลงนามสัญญาในธ.ค.61
ทั้งนี้ กรอบวงเงินที่ครม.อนุมัติโครงการมอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-นครราชสีมา มูลค่าปัจจุบัน (NPV)ที่ 3.3 หมื่นล้านบาท ส่วนสายบางใหญ่-กาญจนบุรี มีกรอบวงเงิน NPV ที่ 2.8 หมื่นล้านบาท โดยประเมินปริมาณจราจรในปีแรกของสายบางปะอิน-นครราชสีมา 1.7-1.8 หมื่นคัน/วัน และมีอัตราเติบโต 2-3%ต่อปี ส่วนสายบางใหญ่-กาญจนบุรี คาดปีแรกมีปริมาณจราจร 8-9 พันคัน/วัน และมีอัตราเติบโต 2-3% ต่อปี
โครงการทั้งสองเส้นทาง จะแบ่งกรอบระยะเวลาการลงทุน 2 ระยะ โดยระยะที่ 1 เอกชนจะเป็นผู้ออกแบบ และลงทุนค่าก่อสร้างงานระบบและองค์ประกอบอื่นๆ ระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี 6 เดือน โดยทรัพย์สินที่เอกชนลงทุนก่อสร้างเป็นกรรมสิทธิ์ของกรมทางหลงวง
ระยะที่ 2 เอกชนดำเนินงานและบำรุงรักษาโครงการทั้งหมด ทั้งส่วนงานโยธาที่กรมทางหลวงเป็นผู้ลงทุนและงานส่วนที่เอกชนเป็นผู้ลงทุน โดยเอกชนเป็นผู้ดำเนนิการบริหารจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางและมอบให้กรมทางหลวง ระยะเวลาสัญญาไม่เกิน 30 ปี นับแต่วันเปิดให้บริการ ซึ่งรายได้ค่าผ่านทางทั้งหมดจะเป็นกรรมสิทธิ์ของภาครัฐ
ขณะที่ผลตอบแทนที่รัฐจะจ่ายกลับคืนให้เอกชน แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ค่าลงทุนก่อสร้างงานระบบ และ ค่าจ้างการดำเนินงานและบำรุงรักษาโครงการ (O&M)
อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวว่า เอกชนจะมีระยเวลาก่อสร้างและติดตั้งระบบภายใน 2 ปี และคาดว่าสายบางปะอิน-นครราชสีมา จะเปิดให้บริการก่อนในปลายปี 63 โดยขณะนี้งานก่อสร้างโยธาก้าวหน้าไป 25% ส่วนสายบางใหญ่-กาญจนบุรี มีความก้าวหน้างานโยธาเพียง 5% เพราะยังติดปัญหาการเวนคืนที่ดินทำให้เข้าพื้นที่ไม่ได้ และงานล่าช้ากว่าแผนไปประมาณ 8-9 เดือน ทั้งนี้คาดว่าจะใช้เวลาเคลียร์พื้นที่ได้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน และคาดว่าจะเปิดให้บริการปี 64
"ตอนนี้ มีเอกชนที่แสดงความสนใจมาก 6-7 กลุ่ม โดยมีต่างชาติให้ความสนใจด้วย ได้แก่ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น จีน สิงคโปร์ ฮ่องกง เราไปประกาศเชิญชวนในต่างประเทศด้วย"นายธานินทร์ กล่าว
นายธานินทร์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า กรมทางหลวงเตรียมเปิดประมูลให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายนครปฐม-ชะอำ ระยะทาง 106 กม. วงเงิน 8.6 หมื่นล้านบาท โดยดำเนินการทั้งงานก่อสร้างงานโยธา และการดำเนินงานในการจัดเก็บค่าผ่านทางรวมการบำรุงรักษา(O&M)ด้วย ทั้งนี้คาดว่าจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรีอนุมัติในปลายปีนี้ และหลังจากนั้นจะประกาศเชิญชวนในต้นปี 62 ทั้งนี้เบื้องต้นจะให้ระยะเวลาสัญญา 30 ปี และเริ่มก่อสร้างได้ในปี 63
นอกจากนี้ กรมทางหลวงได้พิจารณาก่อสร้างทางมอเตอร์เวย์ 2 เส้นทางที่จะใช้งบประมาณในปี 62 เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรได้แก่ บางขุนเทียน-มหาชัย ระยะทาง 12 กม. เป็นทางยกระดับ ที่จะสามารถเชื่อมต่อทางด่วนของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.)บนถนนพระราม 2 ใช้งบประมาณกว่า 1 หมื่นล้านบาท และในอนาคตจะขยายเส้นทางไปถึงวังมะนาว และอีกเส้นทางปิ่นเกล้า บริเวณถนนพระบรมราชชนนี ไปถึงพุทธมณฑลสาย 4 บริเวณมหาวิทยาลัยมหิดล ที่มีปัญหาการจราจรติดขัดมากโดยมีปริมาณจราจร 5-6 หมื่นคัน/วัน คาดใช้งบประมาณ 6-7 พันล้านบาท และมีแผนจะขยายเส้นทางไปถึงนครชัยศรี
นอกจากนี้ กรมทางหลวงจะขยายเส้นทางมอเตอร์เวย์ ที่เชื่อมต่อจากโทลเวย์บริเวณอนุสรณ์สถาน ไปถึงรังสิตก่อนระยะทาง 10 กม. และจะขยายต่อเนื่องไปถึงบางปะอิน ซึ่งทั้งหมดจะใช้งบประมาณราว 2.5 หมื่นล้านบาท โดยส่วนแรกจะใช้งบประมาณปี 63 คาดเริ่มงานก่อสร้างได้ในปี 63 คาดเสร็จในปี 64-65
อินโฟเควสท์