- Details
- Category: สัมภาษณ์พิเศษ
- Published: Monday, 07 July 2014 11:46
- Hits: 6135
อาทิตย์เอกเขนก: วิชา พูลวรลักษณ์ 'เมเจอร์ฯ' บุกกัมพูชาต่อยอดสร้างมูลค่าหนังไทย
ไทยโพสต์ : ในขณะนี้มีธุรกิจมากมายที่ต้องการขยายเข้าสู่กลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน หรืออาเซียน เพื่อต้อนรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ที่กำลังจะมีขึ้นในอีกไม่ช้า เช่น บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) ถือเป็นยักษ์ใหญ่ของผู้ที่ดำเนินธุรกิจโรงภาพยนตร์ของไทยรายหนึ่งก็ว่าได้ จากปัจจุบันเมเจอร์ฯ มีโรงภาพยนตร์แล้ว 72 สาขา หรือคิดเป็น 495 โรงภาพยนตร์ 118,292 ที่นั่ง และโบว์ลิ่งอีก 28 สาขา จำนวน 510 เลน ซึ่งเปิดให้บริการในประเทศไทยถึง 71 สาขา 488 โรงภาพยนตร์ 116,732 ที่นั่ง ขณะที่โบว์ลิ่งในเมืองไทยอยู่ที่ 22 สาขา 375 เลน และในประเทศอินเดีย 6 สาขา 135 เลน
นายวิชา พูลวรลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การจะขยายธุรกิจไปสู่อาเซียนนับว่าเป็นแผนที่เมเจอร์ฯ ได้วางไว้ตั้งแต่แรกอยู่แล้ว ซึ่งก็จะเน้นหนักไปทางกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี อันประกอบไปด้วย กัมพูชา, ลาว, เมียนมาร์ และเวียดนาม วางแผนใน 5 ปีนับจากนี้ ตั้งเป้าที่จะมีโรงภาพยนตร์รวมกันจำนวน 100 สาขาในกลุ่มประเทศดังกล่าว ซึ่งจะผลักดันให้รายได้ที่มาจากต่างประเทศเพิ่มเป็น 15-20% ได้ในอนาคตอีกด้วย
สำหรับ ที่ผ่านมา เมเจอร์ฯ ไม่ได้มีชื่อเสียงในการดำเนินธุรกิจเพียงแค่ในประเทศไทยแค่เท่านั้น หากแต่ยังเป็นที่รู้จักในเอเชียอีกด้วย และประเทศเพื่อนบ้านที่เมเจอร์ฯ ได้เลือกเข้ามาขยายธุรกิจในอาเซียนเป็นประเทศแรก คือ กัมพูชา
"การเลือกที่จะมาเปิดโรงภาพยนตร์ในประเทศกัมพูชาในครั้งนี้ ได้เลือกที่จะมากับทางศูนย์การค้าอิออน มอลล์ ของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งนับว่าเป็นศูนย์การค้าที่มีขนาดใหญ่ เป็นการร่วมทุนกับบริษัท แพลตินั่ม ซีนีเพล็กซ์ จำกัด มีสัดส่วนการถือหุ้นระหว่างเมเจอร์ฯ และพันธมิตรอยู่ที่ 70:30 ซึ่งได้ใช้งบลงทุนราว 150 ล้านบาท ตั้งอยู่ ณ กรุงพนมเปญ บนพื้นที่ประมาณ 6,000 ตารางเมตร มีโรงภาพยนตร์คอยให้บริการรวมทั้งสิ้น 7 โรง หรือประมาณ 1,560 ที่นั่ง คาดการณ์ว่าหากภาพรวมได้รับการตอบรับที่ดีอย่างเช่นทุกวันนี้ไปได้อย่างต่อเนื่อง ก็จะทำให้สามารถคืนทุนได้ในระยะเวลา 3 ปี"
นอกจากพันธมิตรข้างต้นแล้ว เมเจอร์ฯ ก็ยังได้พันธมิตรเป็นบริษัท เซลล์การ์ด จำกัด ค่ายมือถือยักษ์ใหญ่ของกัมพูชา เข้ามาเป็นเนมมิงสปอนเซอร์ให้กับโรงภาพยนตร์และโบว์ลิ่ง ภายใต้ชื่อที่ว่า'Major Cineplex by Cellcard'และ'Cellcard Blu-O'อีกด้วย
ขณะที่บัตรชมภาพยนตร์ที่จำหน่ายในกัมพูชาก็มีอยู่หลายราคา ถ้าเป็นที่นั่งปกติก็จะอยู่ในราคา 5 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่เก้าอี้วีไอพีราคาจะตกอยู่ราว 10 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งการขยายธุรกิจของเมเจอร์ฯ ในต่างแดนจะเน้นไปกับศูนย์การค้าเป็นหลัก แต่ส่วนใหญ่จะเลือกไปกับห้างสรรพสินค้าที่มีศักยภาพ ที่สามารถทำให้เมเจอร์ฯ ประสบความสำเร็จในธุรกิจได้ ซึ่งตรงนี้เองเมเจอร์ฯ จึงไม่ต้องการที่จะเปิดโรงภาพยนตร์กับห้างท้องถิ่น
"ความเจริญของกรุงพนมเปญในตอนนี้ เปรียบเสมือนบริเวณสุขุมวิทและศูนย์การค้าพารากอนของประเทศไทย มีโครงการระดับหรูทั้งที่พักอาศัยและโรงละครอยู่ในบริเวณใกล้เคียงจำนวนไม่น้อย จากก่อนหน้านี้พื้นที่ไม่ได้มีความเจริญแบบนี้เลย ประชาชนก็ค่อนข้างมีไลฟ์สไตล์ที่ดีเยี่ยม โดยยังมีประชากรที่เป็นชาวต่างชาติเข้ามาพักอาศัยอยู่จำนวนหนึ่ง อาทิ ญี่ปุ่น, จีน และเกาหลี
ประกอบกับในอนาคตคาดการณ์ว่าจะมีศูนย์การค้าอีก 2-3 แห่งเกิดขึ้น จึงไม่ต้องกังวลว่ากำลังซื้อของคนในย่านนี้จะไม่ดีไปได้เลย"
ความเจริญที่ล้ำหน้าของกรุงพนมเปญ แน่นอนย่อมทำให้หลายธุรกิจต่างพากันเข้ามาหาโอกาสในการขยับขาย ซึ่งเมเจอร์ฯ ก็ไม่ได้
มองหาทำเลแต่เพียงสถานที่เจริญแล้วเท่านั้น ยังได้มองหาเมืองอื่นอย่างเสียมราฐในการขยายธุรกิจโรงภาพยนตร์อีกด้วย
"ในตอนนี้ผู้ดำเนินธุรกิจโรงภาพยนตร์ในประเทศกัมพูชาที่โดดเด่นมีเพียง 2 รายเท่านั้น โรงภาพยนตร์ทั้งสิ้น 18 โรง แต่ถ้าจะเป็นระดับมาตรฐานก็จะเหลือเพียง 10 โรง ซึ่งในส่วนที่เหลือก็จะเป็นโรงภาพยนตร์แบบเก่า โดยการเติบโตของโรงหนังในกัมพูชาสามารถมีศักยภาพได้ถึง 200 โรงภาพยนตร์อย่างไม่มีปัญหา"
โอกาสเติบโตที่จะเกิดขึ้นในกัมพูชา นับว่ายังมีอีกค่อนข้างมากในอีก 1-2 ปี ประเทศดังกล่าวจะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น การเกิดของโครงการของศูนย์การค้า โรงแรม ก็จะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน ถ้าไม่มีศักยภาพที่มากพอแล้ว อิออน มอลล์ คงไม่เลือกที่จะเข้ามาขยายธุรกิจแน่นอน เมเจอร์ฯ จึงได้วางงบประมาณไว้กว่า 500 ล้านบาท เพื่อใช้ในการขยายโรงภาพยนตร์ให้ได้ 40-50 โรงในประเทศกัมพูชา
นอกเหนือจากความเจริญและนักลงทุนที่จะเข้ามาหาช่องทางในการทำธุรกิจอย่างไม่ขาดสายแล้ว ประชาชนชาวกัมพูชาก็ค่อนข้างชื่นชอบและนิยมรับชมภาพยนตร์ไทยเป็นอย่างมาก ตัวอย่างเช่นภาพยนตร์เรื่อง'พี่มากพระโขนง'ของค่ายจีทีเอช ที่ได้เข้าฉายในกัมพูชาและสามารถทำรายได้อย่างถล่มทลาย
ซึ่งเมเจอร์ฯ ก็จะมีการนำหนังไทยเข้าไปฉายในกัมพูชาได้ถึง 24 เรื่องต่อปี นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการนำภาพยนตร์ที่สร้างโดยคนไทยออกนอกประเทศได้เป็นอย่างดี เนื่องจากมีโรงภาพยนตร์ของคนไทยเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ซึ่งเมื่อก่อนนี้หนังไทยค่อนข้างที่จะทำตลาดในต่างประเทศได้ยาก เพราะว่าถูกบีบราคาให้อยู่ในขั้นต่ำมาก
ในอนาคต ตลาดของธุรกิจภาพยนตร์ในเอเชียค่อนข้างที่จะมีโอกาสเติบโตอีกมาก จะเห็นได้ว่าช่วงที่ผ่านมา การเปิดตัวภาพยนตร์ฟอร์มใหญ่ก็เริ่มที่จะทยอยเข้ามาจัดงานในเอเชียกันมากขึ้น อาทิ การเปิดตัวภาพยนตร์เรื่อง'ทรานส์ฟอร์เมอร์ส'ที่ฮ่องกง และภาพยนตร์เรื่อง'เอ็กซ์-เมน'ที่เซี่ยงไฮ้ ขณะที่การเติบโตโรงหนังของประเทศมาเลเซียก็เพิ่มขึ้นมากกว่า 100 โรง และหากในอนาคตหนังไทยสามารถเข้าไปเจาะตลาดจีนที่มีโรงภาพยนตร์มากกว่า 2,000 โรงได้ ก็จะยิ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับภาพยนตร์ไทยได้อีกทางหนึ่งด้วย
การขยายธุรกิจของเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ในกัมพูชาครั้งนี้ นับว่าเป็นแสงที่จุดประกายในการส่งสินค้าหนังไทยออกสู่ตลาดต่างประเทศได้ง่ายขึ้น และทำให้นานาชาติได้เห็นถึงศักยภาพของอีกหนึ่งธุรกิจในเมืองไทยภายใต้ชื่อ'เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์'ด้วยเช่นกัน.