- Details
- Category: บทความทั่วไป
- Published: Monday, 05 January 2015 22:15
- Hits: 4062
วัดฝีมือ 'ซูเปอร์บอร์ด' ตัวจริงหรือเสือกระดาษ
ไทยโพสต์ : 'คณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซูเปอร์บอร์ด' เริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือน มิ.ย.2557 ที่ผ่านมา โดยทันทีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกคำสั่ง "คสช.ที่ 75/2557 เรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการ คนร. จำนวน 17 คน" ซึ่งในส่วนนี้มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นั่งเป็นประธาน ขณะที่กรรมการอื่นๆ ประกอบด้วย รองหัวหน้า และหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจของ คสช.ในขณะนั้น ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงคมนาคม ปลัดกระทรวงพลังงาน ปลัดกระทรวงมหาดไทย เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ไปจนถึงนักวิชาการ องค์กรอิสระ และภาคเอกชน ที่มีความรู้ในการเข้ามาร่วมกันบริหารจัดการภาครัฐวิสาหกิจให้มีการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
วัตถุประสงค์หลักๆ ของการจัดตั้ง คนร.ในครั้งนี้คือ การมีหน้าที่ในการกำหนดยุทธศาสตร์ในการบริหารรัฐวิสาหกิจ การดูแลเรื่องการแต่งตั้งคนที่จะเข้ามาเป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งให้มีความเหมาะสม การพิจารณาอนุมัติการลงทุนของรัฐวิสาหกิจเพื่อให้มีความเชื่อมโยงกันและสอดประสานกับนโยบายของรัฐบาล และเพื่อลดการลงทุนที่ซ้ำซ้อน ซ้ำซาก
นอกจากนี้ ยังต้องเร่งแก้ปัญหา "กำไรลด" และการปรับปรุงรูปแบบการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจประเภทบริษัทมหาชน ให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแข่งขันในภาคธุรกิจ จนกลายเป็นการแข่งขันกับภาคเอกชน หรือผูกขาดเกินไป รวมถึงการเร่งให้เกิดการเบิกจ่ายงบลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รัฐวิสาหกิจมีการเบิกจ่ายงบลงทุนต่ำกว่าเป้าหมายอย่างมาก และการทบทวนบทบาทของรัฐวิสาหกิจ ว่ายังต้องคงสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจต่อไปหรือไม่ โดยการดำเนินการทั้งหมดต้องอยู่ภายใต้นโยบายที่ชัดเจน
ทันทีที่มีความชัดเจนเรื่องตัวคณะกรรมการใน คนร.แล้ว ก็มีการแบ่งงานกัน โดยมีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมา 3 ชุด เพื่อแบ่งหน้าที่ในการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจในแต่ละส่วนธุรกิจ โดยประกอบด้วย 1.คณะอนุกรรมการพิจารณาและกลั่นกรองแผนการแก้ไขปัญหา ของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งมี พล.ท.อนันตพร กาญจนรัตน์ ปลัดบัญชีทหารบก เป็นประธาน และจะมีกรรมการที่อยู่ในชุดคณะอนุกรรมการดังกล่าวราว 9-11 คน โดยได้มีการวางแผนการดำเนินงานไว้ 4 มิติ ได้แก่ 1.ด้านบุคลากร ต้องมีการตรวจสอบว่าคณะกรรมการ หรือผู้บริหารมีความรู้ตรงกับงานที่รับผิดชอบหรือไม่ 2.ด้านการใช้จ่ายงบประมาณ ต้องมีความโปร่งใส 3.ด้านการบริการประชาชนต้องเป็นไปตามมาตร ฐานและตรงเป้าหมาย และด้านที่ 4.การพัฒนาองค์กร ทั้งการปรับปรุงระบบด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ ไปจนถึงการพัฒนาบุคลากร
ทั้งนี้ ภารกิจสำคัญของคณะอนุกรรมการชุดนี้คือ การจัดการรัฐวิสาหกิจที่มีปัญหา "ขาดทุน" อย่างหนัก และที่ดูเหมือนจะเป็นดาวโดดเด่นที่สุดในด้านนี้ คงหนีไม่พ้น การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.), องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.), บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน), บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน), องค์การคลังสินค้า (อคส.), ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์ และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) หรือไอแบงก์ โดยปัญหาหลักๆ นั่นคือ การทำธุรกิจแบบเสือนอนกิน หรือเรียกง่ายๆ ว่ามีการกินค่าหัวคิวกันแบบโฉ่งฉาง
2.คณะอนุกรรมการกำกับและพัฒนาระบบรัฐวิสาหกิจของประเทศ ซึ่งคณะอนุกรรมการชุดนี้มีหน้าที่ในการพิจารณาและจัดทำแผนยุทธศาสตร์ในการพัฒนารัฐวิสาหกิจ ซึ่งจะมี’อารีพงศ์ ภู่ชอุ่’ ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน และ 3.คณะอนุกรรมการกำกับและพัฒนาระบบรัฐวิสาหกิจ ที่มี’ประสาร ไตรรัตน์วรกุล’ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นประธาน
‘กุลิศ สมบัติศิริ’ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ระบุว่า ขณะนี้มีรัฐวิสาหกิจ จำนวน 10 แห่ง กำลังมีปัญหาอย่างหนัก โดยคณะอนุกรรมการแก้ไขและกลั่นกรองปัญหารัฐวิสาหกิจจะเข้ามาทำหน้าที่ดูแลในส่วนนี้โดยตรง โดยจะมีการพิจารณาว่าแผนการฟื้นฟูที่รัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งที่มีปัญหาเสนอมานั้นมีความเป็นไปได้หรือไม่ หากทำไม่ได้ก็จะมีข้อเสนอกลับไปว่าต้องมีการแก้ไขส่วนไหน อย่างไรบ้าง ก่อนจะส่งให้ คนร. ทยอยพิจารณาต่อไปนอกจากนี้ ผลงานของ คนร.หลักๆ ที่ได้เห็นผ่านตา และดูจะโดดเด่นที่สุดคงหนีไม่พ้น "การสั่งตัดสิทธิประโยชน์ของคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ" ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของ คสช. ที่ต้องการให้ตัดสิทธิประโยชน์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอภินันทนาการออกให้หมด อาทิ ค่าตีกอล์ฟ ค่าเลี้ยงรับรอง ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปต่างประเทศ เนื่องจากที่ผ่านมามีข้อมูลระบุว่า รัฐวิสาหกิจบางแห่งมีการจัดทำบัตรเดบิต และโอนเงินเข้าบัญชีตามบัตรทุกๆ เดือน เฉลี่ยเดือนละ 1-3 แสนบาท
‘การรื้อโบนัสรัฐวิสาหกิจ’ก็เคยเป็นอีกหนึ่งกระแสที่ คนร.ได้มีการพิจารณาอยู่ระยะหนึ่ง เนื่องจากบางรัฐวิสาหกิจมีการสั่งจ่ายโบนัสพนักงานสูงถึง 11 เดือน โดยการตัดสิทธิประโยชน์ในส่วนนี้ จะเน้นเรื่องค่าตอบแทนนอกเหนือจากค่าตอบแทนปกติ
'การเสนอจัดระเบียบ 56 รัฐวิสาหกิจใหม่' ก็เป็นอีกหนึ่งในแนวทางแก้ปัญหารัฐวิสาหกิจที่อาจมีหลายแห่งยังดำเนินงานแบบผิดเพี้ยน หรือไม่ตรงกับวัตถุประสงค์การจัดตั้งอยู่บ้าง โดยมีการเสนอจัดเป็น 4 กลุ่ม เพื่อให้ง่ายต่อการปฏิรูปและแก้ปัญหา ได้แก่ กลุ่มที่ต้องเพิ่มประสิทธิภาพเพื่อให้การทำงานและสถานะของรัฐวิสาหกิจนั้นๆ มีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น กลุ่มที่ต้องปรับปรุงเพื่อให้สามารถอยู่รอดได้ กลุ่มที่ควรยกเลิกหรือลดบทบาทลง และกลุ่มที่ดำเนินงานตามบทบาทเดิม
นอกจากนี้ ได้มีการเตรียมพิจารณาปรับปรุงทบทวนกฎระเบียบต่างๆ ในการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ ที่มีอยู่กว่า 25 ฉบับ เช่น กฎหมายด้านการเงินการคลัง การกำหนดคุณสมบัติกรรมการ เป็นต้น ให้มีความทันสมัยและครอบคลุมการทำงานของรัฐวิสาหกิจให้มีประสิทธิภาพทั้งระบบ
โดยที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญในเรื่องการแก้ปัญหารัฐวิสาหกิจ การดำเนินงานที่มีความโปร่งใสโดยเฉพาะการเบิกจ่ายงบลงทุน การจัดซื้อและจัดจ้างที่จะเกิดขึ้นในโครงการขนาดใหญ่ของรัฐวิสาหกิจ จึงได้มีการมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำระบบจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นสากลมาใช้สำหรับการลงทุนขนาดใหญ่ มูลค่าโครงการตั้งแต่ 1 พันล้านบาทขึ้นไป เพื่อให้การดำเนินการในส่วนนี้มีความโปร่งใสและเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น
อีกหนึ่งผลงานที่ดูเหมือนจะได้รับการจับตามองของ คนร. ไม่แพ้ผลงานชิ้นอื่นๆ นั่นคือ การมีมติมอบอำนาจให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทำหน้าที่กำกับดูแลธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ โดยสามารถออกกฎเกณฑ์กำกับดูแล และการตรวจสอบความเหมาะสมของผู้บริหาร รวมทั้งมีอำนาจในการสั่งการแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้อย่างอิสระ
เรื่องนี้สร้างความประหลาดใจให้ "กระทรวงการคลัง" ได้ไม่น้อย โดยเฉพาะในส่วนของ "สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)" ที่ไม่คาดคิดว่าจะมีมติดังกล่าวออกมา เพราะ สศค.ยังมีความกังวลอยู่ไม่น้อยกว่า ธปท. อาจจะยังไม่มีความเข้าใจธรรมชาติและบทบาทในการดำเนินงานของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐอย่างเพียงพอ แต่ก็สุดวิสัยจะดำเนินการ เพราะ คนร.ยังคงให้กระทรวงการคลังทำหน้าที่ในการดูแล’นโยบาย’ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐอยู่ จึงเรียกได้ว่า’แบงก์รัฐ’ไม่ได้ออกจากอกไปซะทีเดียว
หนึ่งเหตุผลที่อาจสะท้อนให้เห็นได้ชัดเจนว่า ทำไม? สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐจึงต้องตกอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ธปท. ในที่สุด นั่นคือ ความผิดพลาดในการดำเนินงานของเอสเอ็มอีแบงก์และไอแบงก์ ที่ปัจจุบันมีหนี้เสียอยู่ในระดับสูงไม่ต่ำกว่า 3-4 หมื่นล้านบาท โดยเป็นผลมาจากการแทรกแซงทางการเมือง การทุจริตภายในองค์กรที่ส่งผลร้ายแรงมายังสถานะของธนาคาร จนทำให้ต้องมีการดำเนินการตรวจสอบสถานะ(ดิว ดิลิเจนซ์) เพื่อจัดทำแผนฟื้นฟูให้ธนาคารดังกล่าวยังสามารถเดินหน้าต่อไปได้
'กรณ์ จาติกวณิช'อดีต รมว.การคลัง ให้ความเห็นเกี่ยวกับ’คนร.’ว่า รัฐบาลควรมีการกำหนดนโยบาย และวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนว่าจะให้ คนร.ที่จัดตั้งขึ้นทำหน้าที่ในส่วนใดบ้าง ซึ่งงานที่สำคัญที่สุดเห็นว่า ควรให้มีการ "ปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ" เพราะขณะนี้รัฐวิสาหกิจทั้ง 56 แห่งกำลังมีปัญหาอย่างหนัก ทั้งปัญหาการขาดทุน กำไรลดลง การทำหน้าที่ผิดวัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง ถือเป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไขโดยด่วน
"ในช่วงปี 2546 และปี 2553 ได้มีแนวคิดในการจัดตั้งซูเปอร์บอร์ดมาโดยตลอด และมีการวางนิยามของการจัดตั้งคณะกรรมการชุดนี้อย่างชัดเจนว่า จะต้องเข้ามาบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจอย่างจริงจัง หรือเรียกง่ายๆ ว่าการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจนั่นเอง ซูเปอร์บอร์ดควรมีอำนาจเบ็ดเสร็จในการสั่งการต่างๆ ที่เป็นอำนาจเด็ดขาดที่สุด แต่การจัดตั้งซูเปอร์บอร์ดในขณะนี้ดูเหมือนจะผิดวัตถุประสงค์อยู่บ้าง เพราะการวางบทบาทในการเป็นเพียงที่ปรึกษา ไม่ได้วางให้เป็นคนกวดขัน จึงเห็นว่าการดำเนินการในส่วนนี้ของรัฐบาลเป็นเรื่องที่ใช้โอกาสอย่างเสียของ" กรณ์ ระบุ
นอกจากนี้ 'กรณ์'การจัดตั้งซูเปอร์บอร์ดควรเป็นโอกาสในการจัดระเบียบและดูแลรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้ฝ่ายการเมืองเข้าไปแทรกแซงการทำงานของรัฐวิสาหกิจได้ยากขึ้นในอนาคต เพื่อทำให้การทำงานของรัฐวิสาหกิจในส่วนต่างๆ มีความโปร่งใสมากขึ้น ดังนั้นในภาพรวมแล้วการจัดตั้งซูเปอร์บอร์ดจึงถือเป็น'เรื่องที่ดี'แต่การบริหารจัดการอาจผิดวัตถุประสงค์ไปบ้าง
ด้าน'สมชาย ภาคภาสน์วิวัฒน์'นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง ระบุว่า หากมองในส่วนของหลักการในการจัดตั้ง คนร. หรือซูเปอร์บอร์ดในครั้งนี้แล้ว ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี โดยเหตุผลหลักมาจากงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนของประเทศ มีอยู่เพียง 17% เท่านั้น และในอนาคตก็มีแนวโน้มว่างบประมาณในส่วนนี้จะปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องด้วย นั่นเพราะรัฐบาลยังมีนโยบายในการเดินหน้าโครงการประชานิยมอยู่ โดยจะให้ยกเลิกส่วนนี้ก็คงเป็นเรื่องที่ดำเนินการได้ลำบาก ทำให้แนวโน้มค่าใช้จ่ายของประเทศปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วย
"ปัญหาเชิงโครงสร้างประชากร การดำเนินนโยบายประชานิยม เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้รัฐบาลต้องหารายได้มากขึ้น ซึ่งสะท้อนจากแนวคิดในการขยายฐานภาษี การเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง การเก็บภาษีมรดก ไปจนถึงการปรับเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) เพื่อมาเป็นค่าใช้จ่ายในการดูแลปัญหาดังกล่าว ขณะที่งบลงทุนต่างๆ ที่ดำเนินการผ่านรัฐวิสาหกิจอาจไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควร ซึ่งก็จะมีผลกระทบไปในแง่ของประสิทธิภาพการเบิกจ่ายและการลงทุนในที่สุด ดังนั้น การจัดตั้งซูเปอร์บอร์ดขึ้นมาครั้งนี้ จึงถือเป็นแนวคิดที่ดี หากพิจารณาตามหลักการแล้ว" นายสมชายกล่าว
แต่การตั้งคณะกรรมการแต่ละชุดขึ้นมาดูแล ควรจะมีการดำเนินงานให้เป็นเฉพาะส่วนธุรกิจด้วย โดยมีการดึงเอาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในเชิงลึกในแต่ละธุรกิจด้วย ไม่ใช่เพียงตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อดูแลในภาพรวมให้ครอบคลุมเท่านั้น โดยขณะนี้มองว่า "ซูเปอร์บอร์ด" ยังมีปัญหาเรื่องการดึงคนที่เข้ามานั่งเป็นกรรมการในแต่ละชุดว่ามีความรู้ความสามารถ และเข้าใจธรรมชาติของธุรกิจแต่ละรัฐวิสาหกิจอย่างแท้จริงหรือไม่ ซึ่งเห็นว่าเรื่องนี้ "ไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่ได้แปลว่าบุคคลที่อยู่ในชุดซูเปอร์บอร์ดไม่ใช่บุคคลที่ไม่มีความรู้ความสามารถ แต่อยากให้มองเจาะลงไปในแต่ละภาคธุรกิจมากกว่า
โดย'สมชาย'ยอมรับว่าการจัดตั้งซูเปอร์บอร์ดที่เป็นรูปเป็นร่างขึ้นในครั้งนี้ มีข้อดีให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ทำให้เกิดการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานของแต่ละรัฐวิสาหกิจ ว่าแห่งใดบ้างควรมีการปรับปรุง แก้ไข เพิ่มประสิทธิภาพ โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจที่มีปัญหาการขาดทุนซ้ำซาก หรือบางรัฐวิสาหกิจอาจต้องมีการวางแผนในการปรับตัวเพื่อรองรับการแข่งขันในเชิงธุรกิจในอนาคต หรือบางแห่งอาจเกินเยียวยา ทั้งการปรับปรุง และการแก้ไข ก็อาจต้องพิจารณายุบหรือขายกิจการออกไปในที่สุด
"มันมีข้อดีให้เห็นชัดเจน คือ มีการเอารัฐวิสาหกิจทั้งหมดมากางให้เห็นชัดเจนว่าแห่งไหนควรมีการปรับปรุงอย่างไร หรือแห่งไหนควรยุติกิจการ ซึ่งต้องยอมรับว่าที่ผ่านมามีหลายรัฐวิสาหกิจที่กลายเป็นปัญหาของประเทศ มีผลการขาดทุนหนักอย่างต่อเนื่อง มีการทุจริต เป็นเครื่องมือทางการเมือง ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไขให้ได้" สมชาย ระบุ
แต่สิ่งหนึ่งที่อาจต้องมีการปรับปรุงแก้ไขนั่นคือ "อำนาจในการตัดสินใจดำเนินการ" ที่ปัจจุบันอาจยังต้องรอความเห็นจากรัฐบาลอีกชั้นหนึ่งก่อนจะมีมติที่เด็ดขาดในบางเรื่อง แต่ในภาพรวมถือว่ามีเสถียรภาพสูง รวมถึงการดึงบุคคลที่มีความรู้ความสามารถที่แท้จริงในแต่ละภาคธุรกิจเข้ามาร่วมในคณะอนุกรรมการแต่ละชุดให้มากขึ้น เพื่อช่วยกลั่นกรอง และเป็นตัวเชื่อมโยงในการคัดเลือกบุคคลที่มีความรู้ความสามารถที่แท้จริงเข้ามาทำหน้าที่เป็นฝ่ายปฏิบัติในแต่ละรัฐวิสาหกิจด้วย เช่น การคัดเลือกดีดีการบินไทย ซึ่งต้องยอมรับว่ามีอยู่หลายครั้งหลายหนว่าได้บุคคลที่มีความรู้ความสามารถจริง แต่ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจการบินอย่างแท้จริง ก็อาจจะกลายเป็นปัญหาในแง่มุมของการรับนโยบายจากฝ่ายบริหารเพื่อมาปฏิบัติต่อ เนื่องจากอาจไม่มีความเข้าใจในธรรมชาติของธุรกิจการบินได้
ดังนั้น จึงพูดได้ว่า การจัดตั้ง คนร. หรือซูเปอร์บอร์ดของประเทศไทยในครั้งนี้ ตามหลักการแล้วมีทั้งข้อดี โดยเฉพาะจะเป็นการจัดระเบียบการทำงานของรัฐวิสาหกิจ แต่ก็ยังมีข้อเสียแฝงอยู่ด้วย ส่วนความสัมฤทธิผลในการแก้ปัญหานั้น "ยังคงต้องรอดู" นั่นเพราะภาพรวมเศรษฐกิจโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงไป การปรับเปลี่ยน ปรับปรุงบทบาทของรัฐวิสาหกิจจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่จะกลายเป็นหน่วยงานในการเชื่อมโยงเศรษฐกิจของไทยภายหลังการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558 ดังนั้น จึงอาจมีประเด็นปัญหาตามมา นั่นคือ "การพัฒนารัฐวิสาหกิจ" ที่อาจจะต้องรอเวลา
นอกจากนี้ เห็นควรว่าจะต้องมีการจัดอันดับความสำคัญของการลงทุนและรัฐวิสาหกิจ ว่าประเทศไทยในขณะนั้นควรดำเนินการลงทุนเรื่องใดก่อน และรัฐวิสาหกิจที่มีหน้าที่รองรับในส่วนนั้นจะต้องพร้อมเพื่อดำเนินการในทันที ซึ่งนี่ก็ยังคงเป็นเรื่องที่ "ต้องรอเวลา" ในการแก้ไข เช่นเดียวกัน
ด้าน 'ลัษมณ อรรถาพิช'เศรษฐกรอาวุโส สำนักงานผู้แทนประเทศไทย ธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ให้ความเห็นว่า คนร. หรือซูเปอร์บอร์ดนั้น มีหน้าที่หลักในการกำกับดูแลการทำงานของรัฐวิสาหกิจให้เป็นไปอย่างถูกต้อง และเหมาะสมมากขึ้น ภายใต้ประสิทธิภาพอย่างเต็มที่ แต่อาจไม่ใช่หน่วยงานที่รับนโยบายลงไปเพื่อปฏิบัติเอง ดังนั้นจึงอาจไม่ผิดหากจะบอกว่า คนร.นั่งแท่นเป็นที่ปรึกษา กำกับและดูแลนโยบายรัฐวิสาหกิจ เพื่อมอบหมายให้ สคร. หรือรัฐวิสาหกิจต่างๆ นำไปปฏิบัติตาม
และที่ผ่านมา คนร.ก็มีการทำแผนการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของรัฐวิสาหกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในรัฐวิสาหกิจที่มีปัญหา โดยการวางแนวทางปฏิบัติ กำหนดขอบข่ายการดำเนินงาน ซึ่งจะช่วยทำให้รัฐวิสาหกิจสามารถเดินหน้าเข้าสู่การแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา
"ต้องยอมรับว่าขั้นตอนในการกำกับและดูแลรัฐวิสาหกิจมีหลายชั้น และค่อนข้างซับซ้อน การที่ คนร.เกิดขึ้น จึงถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะเป็นกลไกในการกำหนดนโยบายที่ชัดเจน และมีอำนาจสูงสุดเพียงพอด้วย ซึ่งนโยบายทั้งหมดจะถูกส่งต่อไปยังผู้ปฏิบัติ นั่นคือคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจเพื่อให้ดำเนินการตามหลักการ และวัตถุประสงค์การจัดตั้งอย่างถูกต้องที่สุดด้วย" ลัษมณ ระบุ
ยังคงเป็นคำถามตามมาว่า หน้าที่ของ คนร. หรือซูเปอร์บอร์ดที่วางไว้ ควรจะเป็นการกำกับดูแล หรือทำหน้าที่เป็นเพียงที่ปรึกษาในเชิงนโยบายมากกว่า แต่ทั้งหมดทั้งมวลจะต้องไม่ลืมว่า "รัฐวิสาหกิจหลายแห่งยังมีปัญหา" ซึ่งเกิดจากการแทรกแซงทางการเมืองเป็นหลัก การเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ แสวงหากำไร กลายเป็นชนวนเหตุสำคัญที่ทำให้หลายรัฐวิสาหกิจไม่อยู่ในสถานะที่พร้อมจะดำเนินการ นั่นกลายเป็นคำถามอีกว่า แล้ว คนร. หรือซูเปอร์บอร์ด มีความพร้อมที่จะแก้ปัญหานี้อย่างจริงจังหรือไม่
ความโปร่งใสในการใช้จ่ายงบประมาณ ผ่านการจัดซื้อจัดจ้าง อาจกลายเป็นจุดอ่อนที่สุดที่ทำให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชัน และถูกแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง แม้ว่าการใช้จ่ายงบประมาณผ่านการลงทุนของรัฐวิสาหกิจจะมีความสำคัญในการเป็นเครื่องมือช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ แต่หากทำโดยไม่มีความรอบคอบ ปราศจากความโปร่งใสแล้ว นั่นถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงหรือไม่เช่นกัน ถือเป็นความท้าทายสำคัญอย่างยิ่งสำหรับ คนร. หรือซูเปอร์บอร์ด การสางปัญหาที่เกิดขึ้นในรัฐวิสาหกิจที่ถูกฝังรากมาเป็นเวลานาน อาจไม่ใช่งานง่าย แต่ก็เป็นเรื่องที่ต้องทำ ขณะที่ความสำเร็จของผลงานก็ยังเป็นเรื่องที่ยังคงต้องติดตามกันต่อไปว่าประเทศไทยจะได้เห็นมิติใหม่จากการทำงานของรัฐวิสาหกิจ ภายใต้การดูแลของ คนร. หรือ ซูเปอร์บอร์ด.