- Details
- Category: วิเคราะห์-เศรษฐกิจ
- Published: Saturday, 09 August 2014 11:12
- Hits: 3147
แบงก์ดาหน้าขานรับ ศก.โตเครื่องยนต์เศรษฐกิจ คสช.เดินหน้าลุ้นสิ้นปี GDP แตะ 3.5%
บ้านเมือง : ธนาคาร สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ มองครึ่งปีหลังเศรษฐกิจโตชัดเจน GDP ขยายตัวถึง 3.5% ดอกเบี้ยนโยบาย อาจขยับขึ้นอีก 1% ในปีหน้า ขณะที่ ไทยพาณิชย์ คาดรัฐบาลชุดใหม่ช่วยฟื้นเศรษฐกิจได้รวดเร็ว ส่วน กรุงศรีฯ เร่งปล่อยสินเชื่อ เอสเอ็มอี กระตุ้นการลงทุน
น.ส.อุสรา วิไลพิชญ์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ (ไทย) เปิดเผยว่า แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจไทย (GDP) ในช่วงครึ่งปีหลังจะไม่ต่ำกว่า 5% โดยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะเริ่มเห็นชัดมากขึ้นจากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เริ่มดำเนินนโยบายต่างๆ รวมถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น จะส่งผลให้ในช่วงครึ่งปีหลังการบริโภคในประเทศปรับตัวดีขึ้น โดยทั้งปีมองว่า GDP จะเติบโตได้ 3.5% หรืออาจจะมากกว่า
ขณะที่ปี 58 มองว่าจากการที่ภาครัฐฯ จะมีการดำเนินนโยบายต่างๆ ตั้งแต่ช่วงปลายปีนี้เป็นต้นไป ซึ่งโครงการต่างๆ จะสามารถดำเนินการได้เต็มที่ในปีหน้า รวมถึงการบริโภคที่จะกลับมาฟื้นตัวอย่างชัดเจนในปีหน้า ในขณะเดียวกันมองว่าประเทศไทยมีศักยภาพในการเติบโตสูง โดยภาคเอกชนมีหนี้ในระดับต่ำ ขณะที่ตัวเลขด้านการบริโภคสูงกว่าหนี้สาธารณะถึง 2 เท่า จึงคาดว่า GDP ของไทยมีแนวโน้มเติบโตได้ไม่ต่ำกว่า 6% ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยนโยบายจึงอาจจะมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอีก 1% จากปัจจุบันอยู่ที่ 2%
"เรามองว่าการเติบโตของเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังจะเติบโตได้ดีขึ้นจากการลงทุนของภาครัฐฯ ที่แท้จริง แม้ปีนี้คงจะไม่ได้ชัดเจนนัก แต่ปีหน้าจะเข้ามาอย่างชัดเจน ทั้งการลงทุน และการบริโภคที่จะช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตได้มากในปีหน้าเป็นต้นไป"
สำหรับ ค่าเงินบาท นั้น ในช่วงไตรมาส 4/57 มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นไปทดสอบที่ระดับ 31.50 บาท/ดอลลาร์ และมีโอกาสขึ้นไปแตะระดับ 31.00 บาท/ดอลลาร์ได้ โดยเชื่อว่าเงินทุนต่างชาติจะไหลกลับเข้ามา โดยเฉพาะตลาดทุนและตลาดตราสารหนี้มากขึ้น เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาเงินต่างชาติไหลกลับเข้ามายังประเทศไทยน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ
ทั้งนี้ มองว่าการกลับเข้ามาลงทุนครั้งนี้จะเป็นการกลับเข้ามาลงทุนโดยตรง (FDI) โดยเฉพาะนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นที่เป็น SME ในธุรกิจผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ และธุรกิจผลิตรถยนต์ เพื่อที่จะเป็นฐานการส่งออกไปยัง กัมพูชา ลาว เวียดนาม และพม่า หรือประเทศลุ่มแม่น้ำโขง (CLMV)
น.ส.อุสรา กล่าวต่อว่า อัตราเงินเฟ้อในปี 58 จะไม่ปรับตัวสูงขึ้นมากนัก โดยคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 2.5-3% ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยขึ้นอยู่กับการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมัน เนื่องจากประเทศไทยเป็นผู้นำเข้าน้ำมันเป็นอันดับ 2 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งหากราคาน้ำมันดิบไม่ผันผวนรุนแรงมากนัก อัตราเงินเฟ้อก็อาจจะไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก
นางกรรณิกา ชลิตอาภรณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ธนาคารยังคงเป้าสินเชื่อปีนี้เติบโตราว 5% จากปัจจัยเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังที่ดีขึ้น แม้ว่าในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากทางการเมืองส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัวลงค่อนข้างมาก ซึ่งเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าระดับสินเชื่อของธนาคารเติบโตในระดับเลข 2 หลักมาตลอด โดยปี 56 สินเชื่อเติบโตในระดับ 12% จากภาวะทางเศรษฐกิจอยู่ในช่วงขาขึ้น
ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งปีหลังก็เริ่มเห็นสัญญาณที่ดีขึ้น โดยภาพของสินเชื่อเริ่มกลับเข้าสู่ในภาวะปกติจากภาพรวมเศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้น ธนาคาร ความคาดหวังว่าการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ที่จะเข้ามาช่วยในการบริหารประเทศ ให้ภาพรวมเศรษฐกิจ ฟื้นตัวได้ดียิ่งขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ นายสยาม ประสิทธิศิริกุล ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าธุรกิจ SME ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งปีหลัง ประกอบกับภาครัฐออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี รวมถึงความเชื่อมั่นผู้ประกอบการและผู้บริโภคมากขึ้น และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐมีความชัดเจน จึงมองว่า ธนาคารกรุงศรีฯ จะสามารถปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอีครึ่งปีหลังโตได้ที่ร้อยละ 8.6 เพิ่มขึ้นจากครึ่งปีแรกที่ปล่อยสินเชื่อได้เพียงร้อยละ 4.4 จากยอดคงค้าง 191,497 ล้านบาท เห็นได้จากยอดการปล่อยสินเชื่อในเดือนกรกฎาคม 2557 ซึ่งสูงถึงร้อยละ 33 ธนาคารกรุงศรีฯ จึงมั่นใจว่าจะสามารถปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอีในปีนี้ได้ 206,800 ล้านบาท หรือขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 13 เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มียอดปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอี 183,300 ล้านบาท ส่วนปีหน้ามองว่า เศรษฐกิจจะขยายตัวได้ดีกว่าปีนี้
ฉะนั้น การปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอีจะขยายตัวมากกว่าร้อยละ 13 อย่างแน่นอน ซึ่งถือว่าเป็นภาวะปกติที่อัตราการเติบโตของสินเชื่อเอสเอ็มอีจะต้องสูงกว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ 3-4 เท่า ขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ขณะนี้ไม่น่าเป็นห่วง เพราะมีสัญญาณดีขึ้น โดยเดือนมิถุนายน 2557 เอ็นพีแอลอยู่ที่ร้อยละ 2.7 ลดลงจากเดือนพฤษภาคม ที่เอ็นพีแอลอยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 3 เนื่องจากธนาคารฯ เน้นการปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้ และลูกหนี้เองเริ่มมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจ จึงชำระหนี้เพิ่มมากขึ้น