- Details
- Category: วิเคราะห์-เศรษฐกิจ
- Published: Thursday, 03 September 2015 22:54
- Hits: 13184
กูรูธุรกิจมองพื้นฐานไทยยังดี แต่ต้องแก้ขัดแย้ง-ปฏิรูปศก.-ใช้ R&D ช่วยเพิ่มศักยภาพ
นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน (KKP) กล่าวในงานสัมมนาวิชาการ 'ศาสตราจารย์สังเวียนฟอรั่ม 2015'ในหัวข้อ 'ก้าวไปข้างหน้า...กับทิศทางเศรษฐกิจในอนาคต'ว่า การที่จะผลักดันให้เศรษฐกิจไทยมีการเติบโตในระดับ 5% ในอนาคต และก้าวสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วนั้น จะต้องมีการปฏิรูประบบเศรษฐกิจไทยให้มีศักยภาพในการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น โดยจะต้องมีการพัฒนาศักยภาพของบุคคลากรในประเทศให้มีศักยภาพเพิ่มอย่างมาก โดยเฉพาะบุคคลากรของหน่วยงานภาครัฐที่จะต้องเป็นผู้นำ
โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การที่หน่วยงานต่างๆ ของรัฐรวมไปถึงหน่วยงานรัฐวิสาหกิจมีการเติบโตขึ้นอย่างมาก เป็นผลมาจากการที่มีรัฐบาลเข้ามาอุปถัมภ์ ทำให้มีการเติบโตขึ้น แต่ประสิทธิภาพในการทำงานของบุคลากรของภาครัฐยังไมดีพอ เมื่อเทียบกับการเพิ่มขึ้นของอัตราค่าจ้างของพนักงานรัฐ ซึ่งมีการปรับเพิ่มขึ้น 300% ในช่วง 10 ปี
"ระบบเศรษฐกิจของเรายังเป็นระบบอุปถัมภ์ที่ยังต้องพึ่งพาภาครัฐ ทำให้การเติบโตไม่ได้มาจากประสิทธิภาพของบุคลากรในประเทศ จะเห็นได้จากหน่วยงานรัฐที่มีการเติบโตมากขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งหากไม่มีภาครัฐช่วยอุปถัมภ์ไว้ก็จะไม่มีการเติบโต การที่เราจะมีเศรษฐกิจที่เติบโตได้ดีในระดับ 5% เราต้องพัฒนาความสามารถของบุคลากรเราให้ดีและแข่งขันกับคนอื่นได้ แต่มองว่าตอนนี้หากจะโตในระดับ 5% ใด้จะต้องใช้เวลานาน ซึ่งเราต้องมีการ Reform ระบบเศรษฐกิจเราใหม่"นายบรรยง กล่าว
อย่างไรก็ดี มองว่าพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยยังมีความแข็งแรง เนื่องจากดุลบัญชีเดินสะพัดยังอยู่ไนระดับที่ดี สถาบันการเงินยังมีความแข็งแกร่ง และภาคเอกชนยังมีความแข็งแรงในเรื่องของฐานะทางการเงินและมีหนี้ที่อยู่ในระดับต่ำ แต่ในปัจจุบันที่ภาวะเศรษฐกิจทั้งไทยและต่างประเทศที่มีปัจจัยลบและความเสี่ยงค่อนข้างมาก ส่งผลให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยชะลอตัว โดยอย่างดีที่สุดมองว่าเศรษฐกิจไทยจะสามารถขยายตัวได้ 3%
นอกจากนี้ การที่เศรษฐกิจไทยยังเติบโตได้ไม่มากนั้นเป็นผลมาจากปัญหาทางการเมืองภายในประเทศในช่วงที่ผ่านมาหลายครั้ง ทำให้เศรษฐกิจในประเทศเกิดการชะงักงัน ประกอบกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมากขึ้น และมีการใช้ทรัพยากรต่างๆ อย่างเต็มที่ ทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศขยายตัวได้ไม่มาก โดยปัจจัยที่จะช่วยหนุนเศรษฐกิจไทยได้ คือ นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในรูปแบบต่างๆ ของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นนโยบบายประชานิยมต่างๆ ที่อาจมีผลกระทบต่อการขาดทุนของภาครัฐ แต่ก็เป็นสิ่งที่ช่วยหนุนอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศได้
ทั้งนี้ การที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้น้อย ส่งผลให้ฉุดอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในอาเซียนรวมขยายตัวได้เพียง 4.7% ในขณะที่ประเทศอินเดียมีการขยายตัวได้ 7.5% ประเทศจีนขยายตัวได้ 6-8% ซึ่งรวมแล้วอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในเอเชียรวมจะเฉลี่ยอยู่ที่ 6.6% ในปีนี้ ส่วนอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกจากการประเมินของ IMF ปีนี้จะขยายตัวที่ 3.3%
นายบรรยง กล่าวต่อว่า การฏิรูประบบเศรษฐกิจไทยได้อย่างสมบูรณ์นั้น จะต้องมีการเริ่มต้นปฏิรูปรัฐวิสาหกิจไทยก่อน เนื่องจากรัฐวิสาหกิจไทยในปัจจุบันยังมีการให้อัตราผลตอบแทนที่ยังต่ำมากไม่ถึง 4% เนื่องจากการบริหารจัดการงานต่างๆ ไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งรัฐวิสาหกิจไทยเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตของประเทศ นอกจากนี้ ยังจะต้องมีการเพิ่มประสิทธิภาพของบุคลากรในองค์กรรัฐวิสาหกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าปัจจุบัน และลดการพึ่งพิ่งรัฐ เพื่อที่จะเป็นการเติบโตได้เองภายในองค์กร
นอกจากนี้ การปฏิรูปเศรษฐกิจไทยยังจะต้องลดการผูกขาดจากภาครัฐและการใช้อำนาจของรัฐให้ลดลง เพื่อที่จะทำให้ทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงการดำเนินงานต่างๆ ได้อย่างสะดวกมากขึ้น และทำให้มีต้นทุนในการดำเนินงานต่ำลง อีกทั้งการปล่อยให้กลไกของเศรษฐกิจเป็นไปตามกลไกตลาดให้มากที่สุด โดยภาครัฐเป็นผู้วางกฏกติกาต่างๆ เพื่อให้ทุกคนดำเนินงานอย่างถูกต้อง อีกทั้งยังจะต้องมีการเปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศเพิ่มมากกว่าปัจจุบัน
"ตัวอย่างที่ดีในการปฏิรูปเศรษฐกิจ คือ สิงคโปร์ ที่ไช้ระยะเวลา 50 ปีในการปฏิรูปเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศ จนเป็นประเทศชั้นนำของโลก และมีรายได้ประชากรต่อหัวสูงแซงอเมริกา เพราะเขามีการปล่อยให้กลไกทุกอย่างเป็นไปตามกลไกตลาดมากที่สุด ภาครัฐเป็นคนวางกฏกติกา และเขาไม่รังเกียจต่างชาติ มีการเชื้อเชิญให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน ทำให้ประเทศพัฒนาขึ้นได้"นายบรรยง กล่าว
ส่วนปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่จะช่วยในการปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศนั้น จะต้องไม่มีการคอร์รัปชั่น ซึ่งเป็นอุปสรรคที่ส่งผลต่อการพัฒนาประเทศอย่างมีนัยสำคัญ
นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม(PTTEP) กล่าวว่า ประเทศไทยยังมีจุดอ่อนในหลายเรื่อง ซึ่งกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยเฉพาะความขัดแย้งจนนำไปสู่ความแตกแยก ทำให้เป็นสิ่งที่ฉุดขีดความสามารถ แม้ว่าพื้นฐานโดยรวมจะยังอยู่ในระดับที่ดีทั้งด้านแรงงาน ภาคการเงินที่ยังมีความเข้มแข็ง
นอกจากนี้ ยังมีสิ่งที่น่าห่วงในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่ยังไม่ได้มีการลงทุนมากนักในปัจจุบัน ดังนั้น การจะรักษาฐานของเศรษฐกิจให้มีความเข้มแข็งต่อเนื่อง นอกเหนือจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแล้ว ควรจะมีการพัฒนาด้านบุคลากรด้านงานวิจัยและเทคโนโลยีให้มากขึ้น เพื่อดึงศักยภาพของทรัพยากรที่มีอยู่ออกมาใช้อย่างเต็มที่
นายเทวินทร์ กล่าวว่า การปฎิรูปเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันต้องมีการทำงานร่วมกันทั้งจากหน่วยงานราชการและภาคเอกชน โดยต้องมีการกำหนดเป้าหมายของประเทศ และนำเป้าหมายนั้นลงไปสู่แผนการปฎิบัติ โดยล่าสุดไทยก็เริ่มดำเนินการตามเป้าหมายดังกล่าว หลังได้มีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ประเทศ 20 ปี เพื่อนำแผนไปสู่ภาคการปฎิบัติ
สำหรับ แผนยุทธศาสตร์ 20 ปี มีเป้าหมายใหญ่ 5 ด้าน ได้แก่ การเป็นประเทศที่มีรายได้ขั้นสูง, การลดความเหลื่อมล้ำของสังคม, การก้าวเข้าสู่สังคมสะอาดที่มีการใช้ชีวิตไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม, การดูแลประชากรอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม และการเน้นความมั่นคงของประเทศ ทั้งในด้านความปลอดภัย พลังงาน เป็นต้น ซึ่งการดำเนินงานต้องให้มีความต่อเนื่องจึงจะทำให้ยุทธศาสตร์ที่วางไว้สำเร็จได้
ขณะที่เป้าหมายการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน ได้วางยุทธศาสตร์รองรับด้วยการมีคัสเตอร์ด้านต่างๆทั้งด้านอุตสาหกรรม เกษตร และการบริการ
ด้านนายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย(SCC) กล่าวว่า การที่ไทยจะหลุดพ้นกับดักของประเทศรายได้ปานกลาง (Middle income trap) นั้นควรจะสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาทางด้านงานวิจัย(R&D) มากขึ้น เพราะจะช่วยเพิ่มมาร์จิ้นและขีดความสามารถของประเทศในการแข่งขันมากขึ้น โดยล่าสุดไทยก็เริ่มให้ความสำคัญโดยวางเป้าหมายจะให้มีการลงทุนด้าน R&D ราว 1% ของจีดีพี ภายในปี 60 ซึ่งการลงทุนส่วนใหญ่จะเป็นภาคเอกชนเป็นคนนำและมีภาครัฐให้การสนับสนุน
นอกจากนี้ ยังควรจะต้องมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานให้เพิ่มมากขึ้น จากในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมาไทยขาดการลงทุนในเรื่องดังกล่าวมาเป็นเวลานาน สังเกตจากความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ที่เพิ่งจะกลับมาเติบโตในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา และส่วนใหญ่เป็นการเติบโตจากงานภาคเอกชน ขณะที่การลงทุนขนาดใหญ่จากภาครัฐยังไม่มีมากนัก
นายกานต์ ยังแสดงความเป็นห่วงถึงข้อจำกัดขีดความสามารถของประเทศอีกด้านหนึ่ง คือต้นทุนพลังงานที่มีแนวโน้มสูงขึ้น เช่น ค่าไฟฟ้าที่ปัจจุบันของไทยนับว่ามีระดับราคาที่แพงกว่าเพื่อนบ้าน โดยอยู่ที่ระดับมากกว่า 3 บาทเศษ/หน่วย และมีแนวโน้มจะเพิ่มเป็น 5 บาท/หน่วยใน 5 ปีข้างหน้า จากข้อจำกัดของการใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่เทียบกับเวียดนาม ปัจจุบันมีค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 2 บาทเศษ/หน่วย และมีแนวโน้มเพิ่มเป็น 3 บาท/หน่วยใน 5 ปีข้างหน้า เป็นต้น
อินโฟเควสท์
ขานรับจาก'เอสเอ็มอี' รบ.อัดฉีด 1.36 แสนล.
มติชนออนไลน์ : วันที่ 03 กันยายน พ.ศ. 2558
พลันที่ได้รับมอบหมายจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแหง่ชาติ (คสช.) ให้คุมบังเหียนทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล
แนวทาง มาตรการต่างๆ ในการกระตุ้น ปลุกความกระปรี้กระเปร่าทางเศรษฐกิจ ก็หลั่งไหลจาก นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี
เพราะปัญหาเศรษฐกิจกำลังเป็นสาเหตุหนึ่งที่จะเขย่าเสถียรภาพรัฐบาล
โดยเฉพาะปัญหาปากท้อง ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ส่งผลให้การใช้จ่ายของประชาชนผู้มีรายได้น้อยซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศไม่หมุนเวียน ขณะที่การส่งออกก็ประสบกับภาวะถดถอย
ทีมเศรษฐกิจใหม่เอี่ยมของรัฐบาลจึงออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อให้เงินหมุนเวียนช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยด้วยวาง 3 มาตรการ วงเงินรวม 1.36 แสนล้าน ประกอบด้วยอัดฉีดผ่านกองทุนหมู่บ้าน 60,000 ล้านบาท สนับสนุนวงเงินลงสู่ท้องถิ่นตำบลละ 5 ล้านบาท รวม 36,000 ล้านบาท และเร่งรัดใช้จ่ายงบลงทุนโครงการขนาดเล็กวงเงินไม่เกิน 1 ล้านบาท วงเงินรวม 40,000 ล้านบาท
ซึ่งคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบไปเรียบร้อยแล้ว
มาตรการดังกล่าว ก่อให้เกิดความเห็นจากผู้ประกอบการ
นายพรชัย รัตนตรัยภพ ประธานเครือข่ายผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย ให้ความเห็นว่า การที่รัฐบาลปรับเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจ และมีการสื่อนโยบายถึงภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด ยังมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ผ่านมามติ ครม. ได้ทำให้ภาคเอกชนโดยเฉพาะเอสเอ็มอีมีความเชื่อมั่นมากขึ้น เพราะมีนโยบายชัดเจนว่าจะช่วยเหลือรากหญ้า ผ่านมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อ หากประชาชนเกิดความเชื่อมั่นและกำลังซื้อกลับมาจริง เอสเอ็มอีก็จะสามารถขายของได้ เกิดรายได้เพื่อจะนำไปลงทุนต่อ
"สิ่งที่เอสเอ็มอีต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน อันดับหนึ่งไม่ใช่มาตรการด้านสินเชื่อ หรือการตลาด แต่คือความเชื่อมั่น เพราะหากรัฐบาลทำให้ประชาชน ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่น จะเกิดกำลังซื้อตามมา ซึ่งกำลังซื้อนี่เองที่จะทำให้เอสเอ็มอีมียอดขายเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ผลประกอบการดีตาม" นายพรชัยระบุ และว่า สาเหตุที่ต้องการให้เอสเอ็มอีมียอดขายเพิ่มขึ้น เพราะสถานการณ์ในช่วงที่ผ่านมาของปีนี้ค่อนข้างแย่ในทุกอุตสาหกรรม จนยอดขายลดลงถึงระดับ 50% ทำให้ต่างปรับตัว ทั้งการลดต้นทุนและลดการทำงานล่วงเวลา หรือโอที โดยกลุ่มที่หนักสุด คือ อุตสาหกรรมยานยนต์ที่เอสเอ็มอีในกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ ที่ยอดคำสั่งซื้อจากค่ายรถยนต์ลดลงมาก ทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ถึงขนาดต้องปรับลดพนักงานชั่วคราว
ขณะที่ นายอธิภูมิ กำธรวรรินทร์ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สภาอุตสาหกรรมจังหวัดลำปาง และกรรมการผู้จัดการ บริษัท มีศิลป์เซรามิค จำกัด ผู้ผลิตเซรามิกจำหน่ายทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ให้ความเห็นว่า ในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมาเซรามิกลำปางเจอกับภาวะปัจจัย ทั้งดี และไม่ดีเข้ามามาก
โดยเฉพาะปัจจัยภายนอกที่มีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเซรามิกใน จ.ลำปาง ที่ทำให้ต้นทุนการผลิตขยับขึ้นแบบก้างกระโดด ทั้งราคารก๊าซแอลพีจี ภาคอุตสาหกรรม นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ทำให้อุตสาหกรรมเซรามิก ไม่สามารถเติบโตต่อไปได้ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ก็ต้องแบกรับภาระ และประคองให้ธุรกิจอยู่รอดต่อไปให้ได้
"ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมเซรามิกลำปางเจอภาวะมรสุมหลายด้าน ทำให้ผู้ประกอบการ ตั้งหน้าตั้งตารอความช่วยเหลือของภาครัฐเพียงอย่างเดียว โดยที่ผู้ประกอบการหลายรายมักจะมองว่าลำปางเป็นเมืองเซรามิก ภาครัฐสมควรที่จะให้การสนับสนุนช่วยเหลือ แต่การช่วยเหลือของภาครัฐ ในระดับจังหวัดหลายโครงการก็เป็นประโยชน์บ้าง แต่อีกหลายโครงการก็ไม่ได้ประโยชน์มากนัก" นายอธิภูมิระบุ และว่า เมื่อเจอปัญหาระดับนโยบายของประเทศ ที่กระทบต่ออุตสาหกรรมเซรามิก ทำให้ภาครัฐระดับจังหวัดไม่สามารถที่จะช่วยเหลือได้เต็มที่ ทำให้ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมเซรามิกลำปาง จึงต้องหันไปตั้งความหวัง เพื่อพึ่งรัฐบาลในแต่ละยุคสมัย ซึ่งได้รับการช่วยบ้าง และไม่ได้บ้าง
"สำหรับในรัฐบาลชุดปัจจุบันที่ได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา ทางผู้ประกอบการเซรามิกใน จ.ลำปาง มองเห็นถึงการช่วยเหลืออีกครั้ง ที่ผ่านมาทางเซรามิกมองถึงการขอความช่วยเหลือกับรัฐบาลในเรื่องสินเชื่อหมุนเวียน การให้รัฐบาลส่งเสริมด้านการตลาดใหม่ๆ ทั้งใน และต่างประเทศ ในลักษณะเหมือนกับสินค้าโอท็อป และการขอสนับสนุนด้านการพัฒนาศักยภาพของอุตสาหกรรมเซรามิก เพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อไปในอนาคต" นายอธิภูมิระบุ และว่า อยากให้รัฐบาลเห็นความสำคัญต่ออุตสาหกรรมเซรามิก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรากฐานเศรษฐกิจของประเทศ ได้ช่วยสนับสนุน และส่งเสริม เพื่อให้อุตสาหกรรมเซรามิกมีความเติบโต เมื่อระบบอุตสาหกรรมเข้มแข็ง การจ้างงานในพื้นที่ก็จะเข้มแข็ง และอยู่ได้ในภาวะฟื้นตัวในภาคเศรษฐกิจในปัจจุบัน
นางนุชรี แซ่เจ้า อายุ 36 ปี ผู้ประกอบการธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพ จ.นครศรีธรรมราช ให้ความเห็นว่า การกู้เงินของผู้มีรายได้น้อยกับปานกลางค่อนข้างยาก เงื่อนไขจากสถาบันการเงินไม่ได้เปิดง่ายแบบที่เห็นๆ กันในภาพยนตร์ หรือตามสื่อโฆษณาต่างๆ เอาตั้งแต่เงินในบัญชีย้อนหลัง ทำบัญชีย้อนหลัง คนค้ำ คนกู้ร่วม จิปาถะ ล้วนเป็นเงื่อนไขที่ยากมากสำหรับพวกเรา
"เมื่อก่อนเคยขอกู้ตามโครงการเหมือนกัน แต่ติดตรงไม่ได้ทำบัญชี ขายข้าวแกง อาหารตามสั่ง ถามว่าใครจะมาทำบัญชี แล้วใครจะวิ่งเอาเงินไปฝากเข้าฝากออก รายได้วันละ 3,000 บาท แต่รายจ่ายบางวันขาดทุน จะกู้เงินมาต่อทุน มาต่อเติม ฯลฯ เงื่อนไขจึงมากมาย หากเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ๆ หนี้สินบานเบอะยังให้กู้ ความเชื่อมั่นของสถาบันการเงินกับคนจนจึงยาก พูดก็พูดได้ เป็นเหมือนยาหอม" นางนุชรีระบุ และว่า หากรัฐบาลตั้งใจจริงก็ควรให้สถาบันการเงินเชื่อมั่นในตัวผู้ประกอบการรายย่อย อะไรก็ได้ปล่อยให้ผู้ประกอบการได้นำเงินมาหมุนเวียนสร้างรายได้ในระยะสั้นๆ แล้วหนี้เก่าไม่ต้องพูดถึง หากไม่เชื่อก็ให้คณะกรรมการเข้ามาตรวจสอบ ให้เดินตามแผน ตามโครงการ ซึ่งก่อนกู้ให้ผู้ประกอบการวาดแผนโครงการของตัวเองว่าจะบริหารการเงินอย่างไร วันนี้ผู้ประกอบการรายย่อยที่จะสร้างให้เศรษฐกิจหมุนเวียนมีมากกว่าผู้ประกอบการขนาดใหญ่ อย่าไปหวังว่าคนรวยจะเอาเงินมาใช้
ขณะที่ นางอาทิตยา ศิริมัชชาดากุล เจ้าของร้านมัชชาดาไหมไทย หนึ่งในผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอี ใน อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา ให้ความเห็นว่า ถือเป็นเรื่องที่ดี ที่รัฐบาลออกแผนกระตุ้นเศรษฐกิจในลักษณะนี้ออกมา เพราะที่ผ่านมากลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอีที่ขายผ้าไหมใน อ.ปักธงชัย เคยมีอยู่ทั้งหมดกว่า 100 ราย แต่ปัจจุบันเหลืออยู่ประมาณ 50 รายเท่านั้น เนื่องจากที่เหลืออีกครึ่งหนึ่ง ปิดกิจการไปเพราะประสบกับปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน ไม่มีออเดอร์สั่งเข้ามา
"แต่ละร้านต้องเก็บสินค้าไว้ในสต๊อกเป็นจำนวนมาก จึงไม่มีเงินมาหมุนเวียนค่าเช่าร้าน ค่าจ้างพนักงาน และค่าใช้จ่ายจิปาถะ ดังนั้น หากได้รัฐบาลเข้ามาช่วยเรื่องเงินทุน ไม่ว่าจะเป็นเงินกู้ หรือเงินช่วยเหลือเรื่องตลาดค้าขาย จะทำให้ร้านผ้าไหมเหล่านี้กลับมามีความคึกคักขึ้นได้อีกครั้ง" นางอาทิตยากล่าวทิ้งท้าย
ความคึกคักจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ อย่างไร ต้องติดตามผลกันต่อไป….