- Details
- Category: วิเคราะห์-เศรษฐกิจ
- Published: Thursday, 12 February 2015 14:38
- Hits: 3068
วันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 เวลา 00:01 น. ข่าวสดออนไลน์
มุมมอง เศรษฐกิจ ผ่าน ปรีดิยาธร เทวกุล มุมมอง ในด้านดี
ขณะที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ตื่นเต้นการสามารถเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเดือนมกราคมได้เป็นจำนวนมากถึง 40,000 กว่าล้านบาท
ตื่นเต้นเพราะเป็นจำนวนที่ “สูง” กว่าเมื่อเดือนมกราคม 2557
หากย้อนกลับไป “ฟื้น” ความทรงจำอันเกิดขึ้นในเดือนมกราคม 2557 ก็แทบไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นหรือน่าประหลาดใจ
ที่เดือนมกราคม 2557 เก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้ 30,000 กว่าล้านบาท
อย่างน้อยการชุมนุมของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2556 ก็เป็นปัจจัย 1 และปัจจัย 1 ซึ่งมีผลสะเทือนอย่างรุนแรงและล้ำลึกยิ่งในทางเศรษฐกิจ
คือ มาตรการ “ชัตดาวน์” กทม.ในเดือนมกราคม 2557
ภายในความตื่นเต้นของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล จึงสะท้อน “เงาหลัง” อันสยดสยอง ภายในความตื่นเต้นของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล จึงสะท้อน “ความเป็นจริง”
ความเป็นจริงอันร้ายกาจ ตามสำนวน “ศรีบูรพา”
..........................................
กระนั้น เมื่อนำเอาความเป็นจริงเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มของเดือนมกราคม 2558 มาประสานกับคำร้องทุกข์ของหน่วยราชการซึ่งรับผิดชอบในการเก็บภาษี
ความตื่นเต้นของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อาจ “จางคลาย”
เพราะไม่เพียงแต่กรมศุลกากรและกรมสรรพสามิตจะออกมาโอดครวญว่า โอกาสที่จะจัดเก็บภาษีได้ต่ำกว่าประมาณการมีสูงเป็นอย่างสูงยิ่ง เท่านั้น
หากแม้กระทั่งกรมสรรพากรก็ขอปรับลด “ประมาณการ”
มีการฟื้นตัวในเชิงเปรียบเทียบจริงของเดือนมกราคม 2558 กับของเดือนมกราคม 2557 แต่นั่นจำกัดกรอบเพียงภาษีมูลค่าเพิ่มหรือ “แวต” ขณะที่ภาษีในส่วนอื่นๆ เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า และเป็นไปได้ที่กระทรวงการคลังจะขอปรับลดจากประมาณการลงมาอีก
นี่คือ “ความเป็นจริง” อันดำรงอยู่ในระบบ “ภาษี”
...........................................
ยิ่งหากศึกษาถึงการคาดการณ์บรรยากาศของการจับจ่ายใช้สอยเนื่องในเทศกาลวันวาเลนไทน์จากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
แล้วก็ต้องทอดถอนใจ
เขาสรุปและคาดการณ์ว่า ปีนี้จำนวนเม็ดเงินในการใช้จ่ายเป็นอัตราที่ต่ำสุดในรอบ 6 ปี ทั้งๆ ที่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ ตรงกับวันหยุดสุดสัปดาห์
เหตุผลก็คือ ผู้คนไม่มี “อารมณ์” ที่จะใช้เงิน
นี่ย่อมสะท้อนลักษณะ 2 ด้าน นั่นก็คือ คนมีเงินอยู่ในมือไม่อยากใช้เงิน ขณะเดียวกัน คนไม่มีเงินก็ไม่รู้จะเอาเงินจากไหนมาจับจ่าย
มิใช่ “กำลังซื้อ” ประการเดียว หากขึ้นอยู่กับ “อารมณ์” ด้วย
...............................................
บรรยากาศและสถานการณ์ในทางเศรษฐกิจเช่นนี้จึงมีหนทางเดียวเท่านั้นในการปลอบประโลม
นั่นก็คือ พยายามมองโลกในแง่ดี ว่าสภาพเลวร้ายคงไม่ดำรงอยู่อย่างถาวร เมื่อรัฐบาลพยายามเป็นอย่างมากเช่นนี้ก็ย่อมจะต้องคลี่คลายและขยายตัวไปในด้านดี
มองโลกใน “ด้านดี” เอาไว้และ “ยืนหยัด” สู้ต่อไป