- Details
- Category: วิเคราะห์-เศรษฐกิจ
- Published: Monday, 02 February 2015 20:22
- Hits: 2956
ความผันผวนของตลาดการเงินโลกและผลกระทบต่อไทย และประเด็นความสัมพันธ์ไทยสหรัฐฯ
ตลาดการเงินมีความผันผวนเพิ่มสูงขึ้นอีก เงินบาทแข็งค่าอย่างมากเมื่อเทียบกับเยนและยูโร กระทบส่งออกปรับประมาณการส่งออกเหลือเติบโต 1.5-2.5% ยังไม่เกิดสงครามค่าเงินเป็นเพียงการตอบโต้การไหลเข้าของเงินทุนระยะสั้นเก็งกำไร ดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯฟื้นตัวอย่างชัดเจนต่อเนื่อง คาดว่าอัตราเงินเฟ้อไทยอยู่ในระดับต่ำและมีแนวโน้มปรับตัวลดลงได้อีกในช่วงที่เหลือของปี
ขณะที่ผลการประชุมของธนาคารกลางออสเตรเลีย อังกฤษและอินเดียจะยังคงดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไป
1 ก.พ. 2558 ที่มหาวิทยาลัยรังสิต
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป
ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า ในช่วง 6 เดือนข้างหน้า ตลาดการเงินมีความผันผวนเพิ่มสูงขึ้นอีก จากการดำเนินนโยบาย QE ของธนาคารกลางยุโรป (เริ่มต้นเข้าซื้อพันธบัตรและตราสารหนี้เพิ่มอีก 6 หมื่นล้านยูโรต่อเดือนตั้งแต่เดือนมีนาคมจนถึงกันยายน ปี 2559 รวมเม็ดเงิน 1.1 ล้านล้านยูโร) เม็ดเงินที่อัดฉีดเข้าสู่ระบบการเงินโลกสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ และธนาคารกลางญี่ปุ่นก็ผ่อนคลายนโยบายการเงินและทำ QE เพิ่มเติมเช่นกัน
การดำเนินมาตรการรับมือกับการเคลื่อนย้ายเงินทุนระยะสั้นเก็งกำไรไหลเข้าประเทศที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงและมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ดีกว่าทำให้เกิดภาวการณ์แข่งขันการลดค่าเงินเพื่อประคับประคองภาคการผลิตเพื่อการส่งออกของประเทศตัวเอง ไม่ถึงขั้นเกิดสงครามค่าเงิน (Currency War) อย่างที่มีการวิตกกังวลกัน ค่าเงินรูเบิลและเศรษฐกิจรัสเซียจะทรุดตัวมากกว่าเดิมในช่วงครึ่งปีแรก ขณะที่การต่อรองเงื่อนไขการกู้เงินของรัฐบาลใหม่กรีซจะทำให้เจ้าหนี้อาจไม่ปล่อยสภาพคล่องให้รัฐบาลกรีซและมีผลกระทบลูกโซ่ต่อฐานะของธนาคารในเยอรมันและฝรั่งเศส รัฐบาลใหม่กรีซจากพรรคไซริซามีท่าทีชัดเจนในการต่อต้านมาตรการรัดเข็มขัดของเจ้าหนี้ แต่ยังคงใช้เงินยูโรและเป็นสมาชิกของอียูต่อไป ผลกระทบต่อความปั่นป่วนของตลาดการเงินโลกจึงมีจำกัด อย่างไรก็ตาม ทางการไทยควรมีมาตรการและนโยบายที่เหมาะสมในการดูแลความผันผวนในตลาดการเงินที่มีผลกระทบต่อภาคการผลิตและภาคส่งออก และต้องดำเนินการให้เท่าทันต่อสถานการณ์ที่มีพลวัตสูง
จะเห็นสัญญาณเงินบาทแข็งค่าอย่างมากเมื่อเทียบกับเยนและยูโรตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นไป และเงินบาทจะอ่อนค่าลงเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐอเมริกา โดยคาดว่า ดุลการค้าในไตรมาสแรกปีนี้ (2558) จะเกินดุลการค้าไม่ต่ำกว่า 9 พันล้านดอลลาร์ และเกินดุลบัญชีเดินสะพัดไม่น่าจะน้อยกว่า 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์ นับเป็นการเกินดุลทั้งสองบัญชีสูงสุดเป็นประวัติการณ์เป็นผลจากการลดลงของราคาน้ำมันเป็นหลัก ไม่ได้เกิดจากการชะลอของเศรษฐกิจแล้วจึงมีการชะลอการนำเข้าและการส่งออกขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นแต่อย่างใด ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป ม. รังสิต ได้ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวของมูลค่าส่งออกของไทยลงมาอยู่ที่ระดับ 1.5-2.5%
ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอเมริกายังคงแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักโดยดัชนีชี้นำเศรษฐกิจสหรัฐฯปรับตัวดีขึ้นติดต่อกันโดยเดือนธันวาคมเพิ่มขึ้น 0.5% และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวสูงสุดนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2550 ยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกอยู่ในระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน เม.ย. พ.ศ. 2543 สะท้อนการฟื้นตัวของการจ้างงานที่แข็งแกร่ง การขาดดุลงบประมาณต่อจีดีพีต่ำสุดนับจากปี พ.ศ. 2550 แต่การขยายตัวของภาคการผลิตสหรัฐฯยังไม่สูงนัก ทำให้ ธนาคารกลาง คงยอดดอกเบี้ยใกล้ 0% ไปจนถึงกลางปี พ.ศ. 2558 โดยมีความเป็นไปได้ที่ คณะกรรมการกำหนดนโยบายทางการเงินจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลังจากวันที่ 17 มิถุนายน
ผศ.ดร.อนุสรณ์ วิเคราะห์ว่า ผลการประชุมของธนาคารกลางออสเตรเลีย อังกฤษและอินเดียจะยังคงดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไป และภาวะดังกล่าวจะยังคงสร้างแรงกดดันทำให้กระแสเงินไหลเข้าระยะสั้นเก็งกำไรในตลาดการเงินของไทยเพิ่มขึ้นต่อไปและบาทจะยังทะยอยแข็งค่าต่อเนื่อง แม้นระดับความเสี่ยงทางการเมืองเพิ่มขึ้นจากความสัมพันธ์ที่ไม่ปรกติระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกาแต่คาดว่าสถานการณ์จะไม่ลุกลามบานปลาย จึงไม่มีผลกดดันให้เงินไหลออกและเงินบาทอ่อนค่า