- Details
- Category: วิเคราะห์-เศรษฐกิจ
- Published: Sunday, 18 January 2015 09:18
- Hits: 3988
วันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2558 เวลา 00:12 น. ข่าวสดออนไลน์
รายงานพิเศษ : เจาะสถานการณ์น้ำมันโลก'วิกฤต'และ'โอกาส'เมืองไทย
เพียง 2 สัปดาห์หลังเข้าสู่ปี 2558 ราคาน้ำมันตลาดโลกรูดมหาราชต่อเนื่องจากปีที่แล้วชนิดยังหาจุดต่ำสุดไม่เจอจนต่ำกว่า 50 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล
ส่งผลให้ราคาน้ำมันในเมืองไทยปรับลดถึง 4 ครั้งซ้อน
เริ่มจากวันที่ 2 ม.ค. ราคาขายปลีกน้ำมันทุกชนิดในประเทศได้ปรับลดลงอีก 50 สตางค์/ลิตร ยกเว้นอี 20 ลดลง 50 สตางค์/ลิตร อี 85 ลดลง 20 สตางค์/ลิตร และดีเซลลดลง 50 สตางค์/ลิตร
วันที่ 7 ม.ค.2558 น้ำมันเบนซิน 95 และแก๊สโซฮอล์ 95 ปรับลดราคาขายปลีกลงต่อเนื่องอีก 60 สตางค์/ลิตร ส่วน อี 20 ลดลง 40 สตางค์/ลิตร อี 85 ลดลง 20 สตางค์/ลิตร ขณะที่ดีเซลคงเดิม
วันที่ 12 ม.ค.2558 ราคาน้ำมันเบนซิน 95 และแก๊ส โซฮอล์ 95 ปรับลดลงถึง 1 บาท/ลิตร ส่วนแก๊สโซฮอล์ 91 และอี 20 ลดลง 60 สตางค์/ลิตร และดีเซลลดลง 30 สตางค์/ลิตร ขณะที่อี 85 คงเดิม
ล่าสุดวันที่ 15 ม.ค.2558 ราคาขายปลีกน้ำมันทุกชนิดในประเทศลง 60 สตางค์/ลิตร อี 85 ลดลง 20 สตางค์/ลิตร
ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศ ไทยนับตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557 จนถึงวันที่ 15 ม.ค.2558 ที่เป็นดังนี้
น้ำมันเบนซิน 95 ลดลงไปแล้ว 14.79 บาท/ลิตร จาก 49.15 บาท/ลิตร มาอยู่ที่ 34.36 บาท/ลิตร
แก๊สโซฮอล์ 95 ลดลงแล้ว 13.83 บาท/ลิตร จาก 41.13 บาท/ลิตร มาอยู่ที่ 27.30 บาท/ลิตร
แก๊สโซฮอล์ 91 ลดลง 12.70 บาท/ลิตร จาก 38.68 บาท/ลิตร มาอยู่ที่ 25.98 บาท/ลิตร
อี 20 ลดลง 10.37 บาท/ลิตร จาก 34.95 มาอยู่ที่ 24.58 บาท/ลิตร
อี 85 ลดลง 2.40 บาท/ลิตร จาก 24.28 บาท/ลิตร มาอยู่ที่ 21.88 บาท/ลิตร
และดีเซลลดลง 4.36 บาท/ลิตร จาก 29.85 บาท/ลิตร มาอยู่ที่ 25.49 บาท/ลิตร
ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศไทยที่ปรับลดลงนั้นเป็นตามทิศทางราคาตลาดโลก ที่ล่าสุดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสปิดตลาดประจำวันที่ 14 ม.ค.2558 ลดลง 0.18 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล อยู่ที่ 45.89 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ลดลง 0.84 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล อยู่ที่ 46.59 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบลดลง 2.80 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล อยู่ที่ 42.44 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
ด้วยการประเมินจากหลายฝ่าย ชี้ว่าภายใต้สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่คาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องอย่างน้อยในช่วงครึ่งแรกของปี 2558
ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยลบที่บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ยังคงติดตามเป็นประเด็นหลักคือ อุปทานน้ำมันดิบที่ล้นตลาด หลังจากผู้ผลิตทั้งฝั่งโอเปก และนอกโอเปกยังไม่มีทีท่าที่จะลดกำลังการผลิตลง
มิหนำซ้ำซาอุดีอาระเบียยืนยันว่าประเทศยังสามารถรับมือกับราคาน้ำมันดิบที่อยู่ในระดับต่ำได้ ถึงแม้ว่าราคาน้ำมันที่ทรุดตัวลงจะส่งผลให้ซาอุดีอาระเบียขาดดุลงบประมาณปี 2558 กว่า 3.86 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หลังจากที่มีงบประมาณเกินดุลอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายปี
นอกจากนี้ ยังต้องติดตามวิกฤตเศรษฐกิจของรัสเซีย ซึ่งเป็น ผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลก หลังเศรษฐกิจของประเทศได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันดิบที่ตกต่ำ รวมทั้งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ส่งผลให้ค่าเงินรูเบิลอ่อนค่าลงมากที่สุดเป็นประวัติการณ์
สอดคล้องกับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่ชี้ให้เห็นถึงปัจจัยที่อาจกดดันราคาน้ำมันในตลาดโลกมีโอกาสปรับลดลงไปในทิศทางเดียวกันได้อีก
นายไพรินทร์ ชูโชติถาวรประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. ประเมินว่าแนวโน้มราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกคาดปรับลดลงมายืนอยู่ที่ระดับกว่า 40 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลตลอดทั้งปี เนื่องจากประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลกยังคงยืนยันคงกำลังการผลิตเช่นเดิม
"มองว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกคงจะยืนอยู่ในระดับนี้ไปเรื่อยๆ อีกพักใหญ่ และยอมรับว่ายังมีโอกาสที่จะปรับลดลงไปต่ำกว่าระดับ 40 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ได้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เพราะเวลานี้เหมือนผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลกโดดลงจากหอ ไม่ว่าจะเป็นรัสเซีย สหรัฐที่ยืนยันว่าไม่ลดกำลังการผลิต และซาอุดีอาระเบียก็บอกว่ายังอยู่ได้ เพราะทุกคนต่างหวังไว้ว่าอีกคนหนึ่งจะตกลงมากระแทกพื้นก่อน แต่ลืมไปว่าตัวเองก็ต้องตกลงมากระแทกพื้นด้วยเหมือนกัน ตอนนี้ขาสั่นหมดแล้ว" นายไพรินทร์ กล่าว
ด้าน นายสรัญ รังคสิริประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย ปตท. มองว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่เคลื่อนไหวอยู่ระดับกว่า 40 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ในช่วงนี้ถือเป็นระดับต่ำมากแล้ว และในระยะต่อไปไม่น่าจะปรับลดต่ำลงมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมากนัก
"แต่ยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าราคาน้ำมันตลาดโลกจะปรับสูงขึ้นเมื่อไหร่ เพราะขึ้นอยู่กับอุปสงค์หรือกำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่มประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลก เป็นหลัก"
ขณะที่บทวิเคราะห์แนวโน้มราคาน้ำมัน โดยฝ่ายกลยุทธ์และแผนธุรกิจ หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ของปตท. รายงานว่าล่าสุดรัฐบาลสหรัฐมีแผนขยายการส่งออกก๊าซธรรมชาติเหลวไปนอกประเทศเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 0.5 ล้านบาร์เรล/วัน ในช่วงกลางปี 2558 จากปัจจุบันที่สหรัฐมีขีดความสามารถส่งออกได้ที่ระดับ 0.2 ล้านบาร์เรล/วัน จากกำลังการผลิต 3.8 ล้านบาร์เรล/วัน
ฟากกระทรวงน้ำมันอิรักรายงานการส่งออกน้ำมันดิบในเดือนธ.ค.2557 อยู่ที่ระดับ 2.94 ล้านบาร์เรล/วัน คิดเป็นปริมาณส่งออกสูงสุดในรอบ 34 ปี นับตั้งแต่ปี 2523
ธนาคารเอชเอสบีซี รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตของจีนในเดือนธ.ค.2557 ลดลงจากเดือนก่อน 0.4 จุด อยู่ที่ระดับ 49.6 จุด สะท้อนอุปสงค์ภายในประเทศที่ชะลอตัว ส่งผลให้คำสั่งซื้อใหม่หดตัวเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนเม.ย.2557
ปัจจัยดังกล่าวอาจส่งผลต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนในปี 2557 เจริญเติบโตไม่ถึงระดับ 7.5% ตามที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้
แน่นอนว่า เมื่อขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีน ที่เป็นประเทศบริโภคน้ำมันระดับท็อปของโลกลดลง ราคาน้ำมันโลกยิ่งถูก ซ้ำเติมหนักขึ้น
หน่วยงานกำกับดูแลอนุพันธ์ของสินค้าโภคภัณฑ์ หรือ Commodity Future Trading Commission (CFTC) ของสหรัฐ รายงานสถานการณ์ลงทุนในตลาดซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์ล่วงหน้าไนเม็กซ์ ที่นิวยอร์ก และไอซีอี ที่ลอนดอน สิ้นสุดวันที่ 6 ม.ค.2558 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับเพิ่มสถานะการซื้อสุทธิของสัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า 3,301 สัญญา มาอยู่ที่ 201,437 สัญญา
กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐรายงานดุลการค้าเดือนพ.ย.2557 ขาดดุลลดลงจากเดือนก่อน 7.7% อยู่ที่ 3.9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ต่ำสุดในรอบปี เนื่องจากราคาน้ำมันที่ตกต่ำ ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการนำเข้าน้ำมันดิบลดลง โดยมูลค่าการนำเข้าปิโตรเลียมสหรัฐต่ำสุดในรอบกว่า 5 ปี และดุลการค้าเฉพาะปิโตรเลียมขาดดุลต่ำสุดในรอบ 11 ปี
สำนักงานสารสนเทศทางพลังงานของสหรัฐ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์สิ้นสุดวันที่ 2 ม.ค.2558 ลดลงจากก่อนหน้า 3.1 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 382.4 ล้านบาร์เรล ปริมาณการใช้น้ำมันอยู่ที่ระดับ 19.34 ล้านบาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.6%
รอยเตอร์ประเมินว่า จีนนำเข้าน้ำมันดิบในเดือนธ.ค.2557 สูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 7 ล้านบาร์เรล/วัน โดยเป็นการนำเข้าน้ำมันดิบ เพื่อเก็บสำรองเชิงยุทธศาสตร์ ในช่วงที่ราคาน้ำมันดิบลดลง โดยปริมาณเก็บสำรองน้ำมันดิบของจีน ณ สิ้นปี 2557 อยู่ที่ประมาณ 124 ล้านบาร์เรล เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2556 อยู่ 103%
สําหรับ เมืองไทยราคาน้ำมันที่รูดลงอย่างชนิดน่าตกใจ ถือว่าเป็นทั้งผลบวกและลบ
ในทางบวกย่อมทำให้เศรษฐกิจเฟื่องฟูมากขึ้น และอย่างน้อยก็ตรึงราคาสินค้าได้ระดับหนึ่ง รวมทั้งมีสินค้าบางชนิดเริ่มปรับลดลงตามที่กระทรวงพาณิชย์เริ่มเข้ามาจี้ เช่นเดียวกับกระทรวงคมนาคมขอให้สายการบินลดค่าธรรมเนียมน้ำมันลง ซึ่งแอร์เอเชีย ประกาศปรับลดค่าธรรมเนียมฯเที่ยวบินระหว่างประเทศแล้ว
ส่วนประชาชนได้รับอานิสงส์สูงสุดเพราะเท่ากับมีเงินเหลือในกระเป๋ามากขึ้น เห็นได้จากเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา มีคนเดินทางไปท่องเที่ยวด้วยรถส่วนตัวมากขึ้น และธุรกิจท่องเที่ยวหันมาจับตลาดคนไทยมากขึ้นทดแทนนักท่องเที่ยวแถบยุโรปและรัสเซีย
ขณะที่ภาครัฐสามารถเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันได้มากขึ้นจนเป็นบวกหลายหมื่นล้านบาท และใช้โอกาสนี้ปรับโครงสร้างราคาน้ำมันและก๊าซ โดยไม่มีเสียงต่อต้านมากนัก
ขณะที่ในแง่ลบที่เห็นชัดสุดไม่พ้นกระทรวงการคลัง ระบุว่าภาษีสรรพสามิตนำเข้าน้ำมันในปีนี้ประเมินว่าจะหายวับไปอย่างน้อย 60,000 ล้านบาท
ยังไม่นับพืชผลเกษตรเช่น ยางพารา ได้รับผลกระทบเรื่องราคาด้วย
ขณะที่การส่งออกไปยังประเทศกลุ่มโอเปก รัสเซีย และผู้ส่งออก น้ำมันย่อมได้รับผลกระทบ รวมถึงกลุ่มพลังงานทดแทนต่างๆ อาจจะถูกละเลยเนื่องจากมีต้นทุนสูงกว่าราคาน้ำมันในขณะนี้
จึงเป็นการบ้านอีกข้อของรัฐบาล ที่จะวางแผนรับมือและแก้ไขปัญหาอย่างรอบด้าน
รวมทั้งเตรียมพร้อมในกรณีกลับกัน เมื่อราคาน้ำมันเริ่มดีดตัวสูงขึ้น ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเห็นในช่วงครึ่งปีหลัง