- Details
- Category: วิเคราะห์-เศรษฐกิจ
- Published: Sunday, 04 January 2015 19:15
- Hits: 4758
กางแผนลงทุน'โครงสร้างพื้นฐาน' ปี 58 ลุยสร้าง 4 รถไฟฟ้า 3 มอเตอร์เวย์
ไทยโพสต์ : จากสภาพความเป็นมาในอดีต สถานะปัจจุบันและแนวโน้มอนาคต ทิศทางการพัฒนาประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงคมนาคมเห็นสมควรกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศใน 4 ด้าน ประกอบด้วย การสร้างรากฐานความมั่นคงทางสังคม, การสร้างมาตรฐานความมั่นคงทางเศรษฐกิจ, การสร้างโอกาสสำหรับการใช้ประโยชน์สูงสุดจากการเป็นประชาคมอาเซียน เสริมสร้างความมั่นคง ความปลอดภัยในการเดินทางและการขนส่ง
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม กล่าวถึง ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย 8 ปี ระหว่างปี 2558-2565 ว่า ได้ประเมินมูลค่าลงทุนไว้ที่กว่า 2 ล้านล้าน แบ่งออกเป็น 5 แผนงานครอบคลุมการพัฒนาด้านการขนส่งทั้งระบบ คือ ระบบราง ทางหลวง ทางน้ำและทางอากาศ โดยจะเริ่มตั้งแต่ปี 2558 และเน้นการลงทุนในระบบรถไฟทางคู่ 6 เส้นทาง มีวงเงินรวมถึง 129,308 ล้านบาท ระยะทางทั้งสิ้น 903 กิโลเมตร
ประกอบด้วย 1.เส้นทางฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย, 2.ชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น, 3.ประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร, 4.นครปฐมหัวหิน, 5.มาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ และลพบุรี-ปากน้ำโพ ส่วนระยะที่ 2 จะเร่งศึกษาออกแบบรายละเอียดโครงการเพิ่มอีก 8 เส้นทาง คือ หัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์, ปากน้ำโพ-เด่นชัย, ชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี, ขอนแก่น-หนองคาย, ชุมพร-สุราษฎร์ธานี, สุราษฎร์ธานี-สงขลา, หาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ และเด่นชัย-เชียงใหม่
"ขณะเดียวกันต้องศึกษาการพัฒนาทางคู่มาตรฐาน (สแตนดาร์ดเกจ) ขนาดรางมีความกว้าง 1.435 เมตร 3 เส้นทาง ระยะทางรวม 1,060 กิโลเมตร คือ เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา และนครราชสีมา-มาบตาพุด, กรุงเทพฯ-ระยอง และนครราชสีมาหนองคาย" พล.อ.อ.ประจินกล่าว
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมได้วางแผนกรอบการลงทุนของกระทรวงคมนาคมปี 2558 เน้นไปที่การลงทุนพัฒนาระบบขนส่งทุกประเภท ทั้งโครงข่ายรถไฟระหว่างเมือง การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ เพื่อแก้ปัญหาจราจร การพัฒนาถนนหลวง เพื่อเชื่อมต่อภูมิภาค การพัฒนาท่าเรือเพื่อขนส่งทางน้ำ รวมทั้งเสริมศักยภาพงานขนส่งทางอากาศ
โดยโครงการลงทุนในระยะเร่งด่วนในปี 2558 มีวงเงิน 55,986.64 ล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนทางบก 21,937.60 ล้านบาท ทางราง 27,000.32 ล้านบาท แบ่งเป็นรถไฟทางคู่ 9,219.49 ล้านบาท และรถไฟฟ้า 17,780.83 ล้านบาท ทางน้ำ 2,206.07 ล้านบาท ทางอากาศ 4,831.47 ล้านบาท ที่เหลือเป็นการเชื่อมต่อโครงข่าย กทม.และปริมณฑล 11.18 ล้านบาท ทั้งนี้ วงเงินลงทุนดังกล่าวไม่รวมการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานอู่ตะเภา และโครงการรถไฟฟ้าบางโครงการ
นอกจากนี้ จะเร่งรัดโครงการพัฒนารถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารงานของ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ซึ่งปี 2558 นี้ กระทรวงคมนาคมจะเร่งการประกวดราคารถไฟสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ระยะทาง 18.4 กิโลเมตร
จากนั้นจึงเตรียมเสนอ ครม.พิจารณาอนุมัติรถไฟฟ้าสายใหม่ จะเปิดประมูลจำนวน 3 สายทาง รวมเงินลงทุนประมาณ 214,773 ล้านบาท ได้แก่ สายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรม-สุวินทวงศ์)ระยะทาง 21.2 กิโลเมตร เงินลงทุน 100,523 ล้านบาท หากกระทรวงคมนาคมนำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประมาณเดือนมกราคม ในปี 2558 จะเป็นช่วงเวลาที่ดำเนินการประมูลหาผู้รับเหมาก่อสร้าง คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2559 ส่วน สายสีเหลือง (ลาดพร้าวบางกะปิ-สำโรง) ระยะทาง 30.4 กิโลเมตร เงินลงทุน 55,986 ล้านบาท และ สายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) ระยะทาง 36 กม. เงินลงทุน 58,264 ล้านบาท ในแผนงานประมาณกลางปี 2558 กระทรวงคมนาคมจะเสนอให้ ครม.อนุมัติโครงการ จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการประมูล คาดว่าจะได้ผู้รับเหมาและเริ่มก่อสร้างประมาณกลางปี 2559
ในด้านถนนนั้น กระทรวงคมนาคมก็จะเร่งรัดดำเนินการเช่นกัน โดยจะเดินหน้าการก่อสร้างโครงการก่อสร้างทางพิเศษระหว่างเมือง หรือมอเตอร์เวย์ 3 เส้นทาง ในปี 2558 คือ มอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา ระยะทาง 196 กิโลเมตร อยู่ระหว่างรอกรมทางหลวง (ทล.) เสนอแผนมาให้กระทรวงคมนาคมพิจารณา และหลังจากออกแบบและศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ แล้วจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาเพื่อก่อสร้างในปี 2558
มอเตอร์เวย์ สายพัทยา-มาบตาพุด ระยะทาง 32 กิโลเมตร ที่จะก่อสร้างในปี 2558 เช่นกัน โดยที่ผ่านมาได้รับงบประมาณในการเวนคืนที่ดินแล้ว ส่วนงบประมาณการก่อสร้าง จะใช้เงินของกองทุนมอเตอร์เวย์ในการลงทุน ขณะที่ มอเตอร์เวย์สายบางใหญ่-บ้านโป่ง-กาญจนบุรี ระยะทาง 96 กิโลเมตร จะออกแบบแล้วเสร็จในต้นปี 2558
และนอกจากมอเตอร์เวย์ 3 สาย ที่กรมทางหลวงจะก่อสร้างในปีหน้าแล้ว ยังมีโครงการสำคัญในการขยายถนนให้เป็น 4 ช่องจราจร เช่น ทางหลวงหมายเลข 304 กบินทร์บุรี-อำเภอปักธงชัย ที่ปัจจุบันมีปัญหาคอขวดและยังเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง จึงต้องเร่งดำเนินการให้เดินทางสะดวกขึ้น รวมถึงการพัฒนาทางหลวงสายหลัก ทั้งการขยายช่องจราจรเป็น 4 ช่องทาง และพัฒนาโครงข่ายทางหลวง เชื่อมโยงระหว่างประเทศ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายพัฒนามาบตาพุด พัฒนาการขนส่งทางน้ำ ทั้งพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อรองรับสินค้าและเรือเพิ่ม รวมทั้งพัฒนาท่าเรือ ชุมพร และสงขลา
สำหรับ โครงการสำคัญๆ เช่น การก่อสร้างรถไฟทางคู่ไทย-จีนนั้น พล.อ.อ.ประจินกล่าวว่า เมื่อกลางเดือน ธ.ค.2557 ที่ผ่านมานั้น ไดัมีการลงนามในบันทึกความตกลงระหว่างรัฐบาลไทย-จีน ในการร่วมกันก่อสร้างรถไฟทางคู่ และคาดว่าภายในต้นเดือนมกราคม 2558 จะมีการตั้งคณะกรรมการบริหาร เพื่อศึกษาเส้นทางและแนวทางการหาเงินลงทุน โดยจะศึกษาให้แล้วเสร็จภายใน 10 เดือน
และยังได้ย้ำว่า "การสร้างความเชื่อมโยงด้านการขนส่งในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เป็นการขนส่งสินค้าข้ามแดนในอนาคต จะกระทำได้โดยไม่ต้องขนถ่ายสินค้าที่ชายแดน ซึ่งรถบรรทุกสามารถวิ่งเชื่อมต่อจากไทยไปประเทศลาวและจีนได้เลย โดยในส่วนของการเชื่อมโยงของไทย จะมีการพัฒนาใน 3 เส้นทาง คือเส้นทางสายที่ 9 มุกดาหาร-ลาว-เวียดนาม เส้นทางหมายเลข 12 นครพนม-เวียดนาม และเส้นทางบึงกาฬ-ปากเซ ซึ่งจะพัฒนาให้ขนส่งได้ทั้งผู้โดยสารและสินค้าอย่างมีมาตรฐาน
นอกจากนั้น ยังได้มีการตั้งสมาคมการรถไฟแห่งอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เพื่อบูรณาการข้อมูล ทั้งด้านเทคนิค ด้านกฎหมาย และการฝึกอบรม เพื่อประสานและบูรณาการรถไฟสายนี้ ให้เป็นการนำร่องการเชื่อมโยงในภูมิภาค ทั้งด้านการปฏิบัติการ และความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์เพื่อแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีการก่อสร้าง
ส่วนการสร้างทางรถไฟระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก ที่ทางการญี่ปุ่นแสดงความสนใจนั้น ได้มีการเริ่มดำเนินงานตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2557 ที่ผ่านมา เนื่องจากรัฐบาลเห็นว่าการสร้างทางรถไฟคู่ขนานไปกับถนน จะมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ โดยได้เผยแพร่แผนงานให้กับประเทศที่สนใจ ทั้งจีน ญี่ปุ่น เกาหลี และประเทศในยุโรป ซึ่งญี่ปุ่นมีความเป็นไปได้ที่จะเข้าร่วมกับทางการไทยในการสร้างทางรถไฟใน 3 เส้นทาง คือ เส้นทางแม่สอดมุกดาหาร เส้นทางพุน้ำร้อน-ระยอง หรือเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนหลังจากญี่ปุ่นตั้งรัฐบาลใหม่ และทั้งสองประเทศได้หารือในการเดินทางเยือนอย่างเป็นทางการต่อไปในอนาคต
เมื่อมีแผนงานที่ชัดเจนกันแล้วว่าในปี 2558 นี้จะมีโครงการอะไรบ้าง ซึ่งในด้านเงินลงทุนในยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งนั้น เบื้องต้นได้จัดสรรในด้านเงินลงทุน โดยเป็นเงินที่มาจากเงินงบประมาณ 28.34% แผนบริหารหนี้สาธารณะ 51.59% รายได้รัฐวิสาหกิจ 4.48% และการร่วมทุนกับภาคเอกชน (พีพีพี) 15.59% ซึ่งในส่วนนี้มาจากกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดเมื่อเดือน ธ.ค.2557 ที่ผ่านมานั้น กระทรวงคมนาคมได้หารือกับเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อหาแนวทางในการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน สำหรับใช้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การขนส่งคมนาคมของกระทรวงคมนาคมในปี 2558 และหากมีความเป็นไปได้ก็จะแยกให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องไปหารือกับ ก.ล.ต.โดยตรงต่อไป อย่างไรก็ตามภายในเดือนมกราคม 2558 นี้ จะมีความชัดเจนในการจัดตั้งกองทุนดังกล่าว.
"กระทรวงคมนาคมได้วางแผนกรอบการลงทุนของกระทรวงคมนาคมปี 2558 เน้นไปที่การลงทุนพัฒนาระบบขนส่งทุกประเภท ทั้งโครงข่ายรถไฟระหว่างเมือง การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเพื่อแก้ปัญหาจราจร การพัฒนาถนนหลวงเพื่อเชื่อมต่อภูมิภาค การพัฒนาท่าเรือเพื่อขนส่งทางน้ำ รวมทั้งเสริมศักยภาพงานขนส่งทางอากาศ"