- Details
- Category: วิเคราะห์-เศรษฐกิจ
- Published: Thursday, 29 July 2021 13:14
- Hits: 13118
บทวิเคราะห์เศรษฐกิจ ‘โค้งต่อไปของเศรษฐกิจ และโควิด-19’
ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP Research บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) (Dr. Pipat Luengnaruemitchai, Chief Economist, KKP Research, Kiatnakin Phatra Securities Public Company Limited) เผยว่า “บล. เกียรตินาคินภัทร ประเมินว่า ด้วยการฉีดวัคซีนที่เริ่มต้นช้าและปริมาณวัคซีนที่จัดหาได้มีน้อยกว่าที่คาด สัดส่วนของประชากรที่ได้รับวัคซีนครบสองโดสซึ่งมีเพียง 5% ในปัจจุบัน จะเพิ่มขึ้นในอัตราที่ช้ามาก ภายในสิ้นปีจะมีประชากรเพียง ประมาณ 35% ที่ได้รับวัคซีนครบสองโดส ทำให้การแพร่ระบาดและมาตรการล็อคดาวน์อาจจะมีต่อเนื่องไปอย่างน้อยอีกสามเดือน ในกรณีฐาน ได้ปรับลดการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2564 เหลือ 0.5% ส่วนในกรณีที่การระบาดรุนแรงกว่า การล็อคดาวน์อาจยาวนานและรุนแรงกว่า หรือต้องมีการปรับความเข้มข้นของมาตรการล็อคดาวน์ จนกระทบต่อภาคการผลิต และการส่งออกที่เป็นความหวังสำคัญ เศรษฐกิจอาจหดตัว 0.8% ทำให้ประเทศเข้าสู่ภาวะถดถอยอีกครั้งได้
การหยุดชะงักของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่รุนแรงและยาวนานกว่าการระบาดสองครั้งแรก จะส่งผลอย่างรุนแรงต่อวิถีชีวิต การจ้างงาน กระแสเงินสด ฐานะทางการเงิน และความสามารถในการจ่ายคืนหนี้ของครัวเรือนและธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ดังนั้น รัฐบาลควรต้อง (1) มีการวางแผนการใช้มาตรการล็อคดาวน์ที่รอบคอบ สอดคล้องกับสถานการณ์และระดับศักยภาพของระบบสาธารณสุข และสื่อสารกับประชาชนอย่างโปร่งใส (2) การเพิ่มศักยภาพในการตรวจ สอบสวนโรค และรักษา และเร่งจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิผลเพื่อเพิ่มสัดส่วนของประชากรที่มีภูมิคุ้มกัน (3) ออกมาตรการเยียวยาและช่วยเหลือที่เพียงพอและเหมาะสมกับสถานการณ์ เพื่อลดผลกระทบและป้องกันไม่ให้เกิดแผลเป็นถาวรทางเศรษฐกิจ และ (4) เตรียมการเพื่อกระตุ้นและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจหลังโควิด และ (5) รักษาความเชื่อมั่นและเสถียรภาพของระบบการเงิน
ทั้งนี้ แม้ปัจจุบันระดับหนี้สาธารณะต่อรายได้ของไทย มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นใกล้เพดานวินัยทางคลังที่ร้อยละ 60 และคาดว่าจะเกินระดับดังกล่าวในปี 2565 แต่ด้วยระดับอัตราดอกเบี้ยที่ปรับลดลง รัฐบาลยังมีศักยภาพในการสร้างหนี้เพิ่มขึ้นได้ หากมีความจำเป็น แต่รัฐบาลต้องมีแผนในการปรับลดการขาดดุลในอนาคตเพื่อรักษาวินัยทางการคลังและความเชื่อมั่น และต้องมีการจัดลำดับของการใช้จ่ายในปัจจุบันให้สอดคล้องกับความจำเป็นของสถานการณ์”
A7841
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ