WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ADB หั่นคาดการณ์ศก.ไทย ปีนี้เหลือโต 1.6% จากเดิม 2.9% หลังมองภาคการผลิต การส่งออก ยังไม่ฟื้นตัว ส่วนปีหน้า คาดโต 4.5%

   ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย(ADB) ปรับคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP)ของไทยในปีนี้ เหลือเติบโต 1.6% จากเดิมคาดการณ์ไว้ที่ 2.9% เนื่องจากประเมินว่าการส่งออกจะเติบโตได้เพียง 1% เท่านั้น ส่วนในปี 58 ADB คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ 4.5% ส่วนการส่งออกคาดเติบโต 6-7% ขณะที่การลงทุนภาครัฐและเอกชนจะขยายตัวราว 3-4% ซึ่งการประมาณการณ์ครั้งนี้ยังไม่รวมปัจจัยเรื่องมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลกำลังเตรียมจะผลักดันออกมา

    น.ส.ลัษมณ อรรถาพิช เศรษฐกรอาวุโส ประจำประเทศไทย ธนาคารพัฒนาเอเซีย (ADB) กล่าวว่า การที่ ADB ปรับลดการคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปีนี้ลงเหลือ 1.6% เนื่องจากการหดตัวของเศรษฐกิจในครึ่งปีแรกที่ปรับตัวลดลงแรงกว่าคาดการณ์ โดยติดลบ 0.1% และข้อมูลเศรฐกิจในเดือนก.ค.แสดงให้เห็นว่าภาคการผลิต การส่งออก และการนำเข้ายังไม่ฟื้นตัวนัก

   ส่วนในปี 58 ยังคงคาดการณ์เศรษฐกิจไทยไว้ที่ 4.5% เท่าประมาณการเดิม แต่มองว่ายังเป็นการเติบโตแบบไม่เต็มศักยภาพ และเมื่อการลงทุนภาครัฐและเอกชนเริ่มฟื้นตัว เศรษฐกิจสหรัฐที่ดีขึ้นอย่างชัดเจนโต 3% และเศรษฐกิจยุโรปที่คาดว่าจะฟื้นตัวดีขึ้น 1% น่าจะช่วยส่งผลให้การส่งออกเข้มแข็งขึ้น

   ทั้งนี้ ปัจจัยบวกมาจากการลงทุนภาครัฐที่จะดำเนินการได้ในงบประมาณปี 58 หลังจากที่ชะงักงันเพราะเหตุการณ์ทางการเมือง โดยคาดว่าการลงทุนภาครัฐจะขยายตัวได้ถึง 3-4% ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่การลงทุนภาคเอกชน คาดว่าจะฟื้นตัวขึ้นในปีหน้า จากความเชื่อมั่นในภาคธุรกิจที่ดีขึ้น การอนุมัติโครงการลงทุนของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(BOI) และมาตรการช่วยเหลือด้านเงินทุนให้แก่ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs) รวมทั้งการส่งออกที่มีแนวโน้มดีขึ้นในปีหน้า ก็จะมีส่วนทำให้การลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้น

   "ADB มองการส่งออกจะดีขึ้นในปี 2558 คาดว่าโต 6-7% จากปีนี้ที่คาดการณ์จะขยายตัวเพียง 1% โดยได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศอุตสาหกรรมหลัก และการนำเข้าจะเพิ่มขึ้นตามการลงทุนเพื่อการผลิตที่เพิ่มขึ้น ทำให้ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลน้อยลง โดยการคาดการณ์ในครั้งนี้ยังไม่รวมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่กำลังจะออกมาในระยะต่อไป โดยมีเพียงการประเมินแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน วงเงิน 2.4 ล้านล้านบาทเท่านั้น" น.ส.ลัษมณ กล่าว

   พร้อมระบุว่า เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงที่ต้องติดตาม ได้แก่ ความล่าช้าในการดำเนินโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและหนี้ครัวเรือน โดยเฉพาะอัตราการเพิ่มขึ้นของหนี้ค้างชำระ 3 เดือน ที่เพิ่มขึ้นมาตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4 ปี 2556 เป็น 31% ซึ่งมีความเสี่ยงว่า อาจเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL) ในระบบในอนาคต จะส่งผลให้แรงกดดันด้านการเงินของครัวเรือนจะเพิ่มสูงขึ้นไปอีก

   ขณะที่อัตราเงินเฟ้อในปีนี้คาดว่าอยู่ ที่ 2.2% และเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในปี 2558 มาที่ 2.6% ตามการปรับโครงสร้างราคาพลังงานที่สูงขึ้น และกระทบต่อต้นทุนการผลิต ซึ่งต้องจับตาการปฎิรูปพลังงานและภาษีของประเทศ และสนับสนุนให้มีการจัดโซนนิ่งภาคการเกษตร

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!