WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

โค+โฟกัส: กูรูชี้ทาง..เศรษฐกิจพ้นเสี่ยง แนะรัฐเร่งเบิกจ่ายงบ-ดันลงทุน

       ไทยโพสต์ : สถานการณ์เศรษฐกิจทั่วโลกปัจจุบัน ยังเป็นที่จับตามอง และน่าสนใจอย่างต่อเนื่อง เพราะเศรษฐกิจในประเทศหลัก จะเป็นตัวชี้นำเศรษฐกิจโลกได้ เพียงแค่ตัวเลขเปลี่ยน ก็สามารถทำให้สถานการณ์พลิกได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะความวิตกกังวลเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ทำให้เกิดการชะลอเพื่อดูผลก่อนตัดสินใจลงทุน

     และผลที่ออกมาก็เป็นไปตามคาด หลังคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของเฟด มีมติคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ที่ระดับ 0-0.25% และยืนยันว่าจะตรึงเอาไว้ที่ระดับใกล้ศูนย์ต่อไปอีก แม้ว่าโครงการซื้อพันธบัตรจะสิ้นสุดลงตามกำหนดก็ตาม ทำให้บรรยากาศด้านการลงทุนกลับมาสดใสอีกครั้ง ทั้งตลาดหุ้นไทยและทั่วโลก ที่กลับมาซื้อขายกันอย่างคึกคักหลังรับข่าวดีดังกล่าว

    ทางด้านฝั่งของไทย คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็มีมติเอกฉันท์คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2% เนื่องจากเห็นตรงกันว่า นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในขณะนี้ มีความเหมาะสมและยังจำเป็นต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะเริ่มแรก และเชื่อว่าจะไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงินอย่างแน่นอน

     โดย นายเมธี สุภาพงษ์ เลขานุการ กนง. บอกว่า  เศรษฐกิจโลกยังฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คาดเล็กน้อย โดยเฉพาะเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศยุโรปและญี่ปุ่น และการฟื้นตัวยังมีความแตกต่างระหว่างภูมิภาค แต่ในระยะต่อไปจะปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากคาดว่าจะได้รับแรงสนับสนุนเพิ่มเติมจากนโยบายเศรษฐกิจที่จะออกมาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัวได้ตามคาด รวมถึงเอเชียที่ขยายตัวได้ใกล้เคียงกับช่วงที่ผ่านมา

    สำหรับ ปัจจัยในประเทศ ด้านความเชื่อมั่นและการใช้จ่ายของครัวเรือน ภาคธุรกิจและภาครัฐเริ่มฟื้นตัวและส่งผลให้อุปสงค์ในประเทศปรับดีขึ้น ซึ่งคาดว่าจะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ปรับดีขึ้น และจะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้ต่อเนื่อง แต่ยังมีข้อจำกัดด้านการผลิตและปัญหาราคาสินค้าเกษตรมีผลต่อการส่งออกสินค้า ส่วนภาคการท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัวช้าๆ ก่อนปรับเข้าสู่ระดับปกติ นอกจากนี้ ระบบการเงินและอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในเกณฑ์ที่มีเสถียรภาพ ปัญหาหนี้ครัวเรือนมีอัตราการขยายตัวในทิศทางชะลอลง และภาคอสังหาริมทรัพย์เริ่มปรับตัวดีขึ้น จากอุปทานในช่วงครึ่งปีแรก

    นอกจากนี้ สิ่งที่จำเป็นในการกระตุ้นการบริโภคโดยใช้มาตร การด้านการคลัง ต้องดูความเหมาะสมเป็นรายมาตรการ ซึ่งคงต้องใช้เวลา เพราะการกระตุ้นเกินความจำเป็นจะไม่มีความยั่งยืน โดย ธปท.ยังยืนยันว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มมีการขยายตัวในลักษณะ V-Shape โดยมีสัญญาณการฟื้นตัวตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2/2557 ที่ผ่านมาแล้ว

    ด้าน ธนาคารกสิกรไทย โดย นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ระบุว่า ประเด็นด้านเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจในประเทศหลัก คือ อเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น และจีน ยังมีพัฒนาการที่แตกต่างกัน จึงทำให้ทิศทางนโยบายการเงินเริ่มแตกต่างกันมากขึ้น ซึ่งความเสี่ยงด้านการเงินตามการใช้นโยบายการเงินของเศรษฐกิจหลักนั้น มองว่าตลาดเกิดใหม่ยังได้รับแรงกดดันในส่วนของภาคเศรษฐกิจจริง จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำเข้ารายสำคัญของตลาดเกิดใหม่ทั้งเอเชีย ลาตินอเมริกาและแอฟริกา

   ขณะที่ด้านเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 ยังสามารถหลีกเลี่ยงภาวะถดถอยได้อยู่ที่ 0.4% หลังจากในไตรมาสแรกติดลบ มาจากการส่งออกที่ขยายตัวเล็กน้อย ส่วนการบริโภคภาคเอกชนถึงแม้ครึ่งปีแรกจะหดตัว แต่ในไตรมาส 2 ยังขยายตัวได้ ด้านการลงทุนภาคเอกชนหดตัวลงเล็กน้อย แต่ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสแรก เนื่องจากทั้งภาคธุรกิจและภาคเอกชนมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจมากขึ้นภายหลังความวุ่นวายทางการเมืองสงบลง นอกจากนี้ หนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูงจากการเร่งนโยบายรถคันแรกและบ้านหลังแรก

     นอกจากนี้ การที่มีรัฐบาลเข้ามาช่วยปลดล็อกทางตันด้านการใช้จ่ายภาครัฐและอนุมัติการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน จะเป็นการช่วยยกระดับการแข่งขันของประเทศ ถึงแม้การลงทุนของรัฐในช่วงระยะสั้นจะมีข้อจำกัดบ้าง แต่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นและส่งเสริมการลงทุนจากภาคเอกชน ที่รอความชัดเจนของนโยบายและการลงมือดำเนินการจากภาครัฐ

    นายสมชาย ภคภาสวิวัฒน์ นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกในประเทศหลักยังมีปัญหา จึงมีส่วนทำให้การส่งออกขยายตัวได้น้อย เพราะเศรษฐกิจไทยปรับตัวไม่ทัน ส่งผลให้การส่งออกที่คาดว่าจะเป็นตัวช่วยในการขับเคลื่อนการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ไม่ได้ช่วยมากนัก

     ทั้งนี้ มองว่าการเบิกจ่ายของภาครัฐจะเป็นตัวช่วยในเรื่องเศรษฐกิจได้ แต่จะเห็นผลได้ชัดเจนในปีหน้า โดยเฉพาะการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่ค้างอยู่ 700,000 ล้านบาท ซึ่งหากเร่งดำเนินการก็จะส่งผลดี และถ้าทั้งปีมีตัวช่วยจากงบลงทุนจากภาครัฐ รวมถึงการลงทุนจากภาคเอกชน ก็จะช่วยได้ในระดับหนึ่ง

     ด้าน นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า นโยบายประยุทธ์โนมิกส์ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปรียบได้กับ "กุหลาบ 3 ดอก" ซึ่งขมวดนโยบายด้านต่างๆ ออกมาเป็น 3 หมวดใหญ่ ได้แก่ การปฏิรูปการคลัง การปฏิรูปอุตสาหกรรม และการปฏิรูปภาครัฐ โดยมีเป้าหมาย กระตุ้นเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการวางรากฐานทางเศรษฐกิจสังคมและการเมืองที่แข็งแกร่ง เพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจไทยสามารถก้าวพ้นจากกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูงขึ้น และเพื่อสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นกับสังคมไทย

    ทั้งนี้ นโยบาย 3 ด้าน ประกอบด้วย 1.การปฏิรูปการคลัง โดยการลงทุนภาครัฐมีความจำเป็นมากในการลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ และจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่เอกชน ซึ่งผ่านการลงทุนในโครงการต่างๆ อาทิ รถไฟฟ้า รถไฟทางคู่ เป็นต้น ในขณะที่บทบาทของรัฐวิสาหกิจ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ จะเข้ามาเป็นอีกช่องทางหนึ่งของรัฐบาลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสนับสนุนคนมีรายได้น้อย

    2.การปฏิรูปภาคอุตสาหกรรม เป็นแบบมีเป้าหมายชัดเจน อาทิ การใช้เทคโนโลยีขั้นสูงจะได้รับการส่งเสริมจากบีโอไอ เพื่อยกระดับมาตรฐานของอุตสาหกรรมไทย เนื่องจากประเทศไทยมีศักยภาพในการแข่งขันเพื่อก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางของห่วงโซ่อุปทานโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อส่งเสริมบทบาทและการใช้โอกาสในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และ  3.การปฏิรูปภาครัฐ ซึ่งการปฏิรูประบบภาษีมีความจำเป็นต่อการเพิ่มรายได้ภาครัฐและลดความไม่เท่าเทียมกันในสังคมไทย  ในขณะที่ระบบราชการและเจ้าหน้าที่ภาครัฐจะได้รับการยกระดับสมรรถนะของหน่วยงานภาครัฐให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยลดความล่าช้าในขั้นตอนการทำงาน หรือใช้อำนาจโดยมิชอบ

   แม้เศรษฐกิจไทยจะถูกปัจจัยถ่วงดึงรั้งไว้อยู่บ้าง แต่เชื่อว่าการลงทุนภาครัฐจะเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงปลายปีนี้ต่อเนื่องไปยังปีหน้า ซึ่งแน่นอนว่าจะช่วยกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนให้ฟื้นตัวตาม และช่วยลดต้นทุนการขนส่งและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับเอกชน

  นอกจากนี้ นโยบายเศรษฐกิจที่ภาครัฐมุ่งยกระดับบทบาทภาคเอกชน โดยเฉพาะการส่งเสริมธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) อย่างจริงจัง และการเน้นการค้าชายแดนผ่านการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ ก็จะเป็นปัจจัยสนับสนุนการเร่งตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2558 นี้

   จากที่ผ่านมา ต่างมองกันว่าภาคการส่งออกจะเป็นพระเอกขี่ม้าขาวมาช่วยดันเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี แต่กลับกลายเป็นว่าไม่ได้สวยหรู และแผ่วลงอย่างเห็นได้ชัด  เพราะยังไงภาคส่งออกก็ต้องอาศัยเศรษฐกิจโลกอยู่ดี ซึ่งหากฟื้นตัวช้าอยู่แบบนี้ ก็คงต้องหันไปพึ่งอย่างอื่นแทนไปก่อน และอาจจะต้องใช้เวลาฟื้นฟูพอสมควร หลังจากที่ตกต่ำลงไปอย่างน่าใจหาย

   แต่ถึงอย่างไร ก็ยังพอมีหนทางต่อสู้อยู่บ้าง เพราะตอนนี้ดูเหมือนว่าการลงทุนของภาครัฐจะพลิกมามีบทบาทสำคัญมากขึ้น หลังจากทุกฝ่ายชี้ตรงกันว่าหากรัฐมีการลงทุน เอกชนก็จะลงทุนตาม และแน่นอนว่าสิ่งดีๆ ต่างๆ จะทยอยเดินตามกันมา  ซึ่งก็ต้องฝากความหวังไว้กับการเบิกจ่ายงบประมาณ การตัดสินใจลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของรัฐบาล ว่าจะออกมาได้เร็วแค่ไหน เพราะบางทีเวลาก็ไม่รอใคร ยิ่งเร็วเท่าไรยิ่งดี.

    'มองว่าการเบิกจ่ายของภาครัฐ จะเป็นตัวช่วยในเรื่องเศรษฐกิจได้ แต่จะเห็นผลได้ชัดเจนในปีหน้าโดยเฉพาะการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) ที่ค้างอยู่ 700,000 ล้านบาท ซึ่งหากเร่งดำเนินการก็จะส่งผลดี และถ้าทั้งปีมีตัวช่วยจากงบลงทุนจากภาครัฐ รวมถึงการลงทุนจากภาคเอกชน ก็จะช่วยได้ในระดับหนึ่ง'

 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!