WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

โฆสิต เชื่อ ครม.ใหม่มีความรู้-ความสามารถขับเคลื่อนประเทศได้ แนะมุ่งสร้างศักยภาพของปท. ไม่จำเป็นต้องใช้นโยบายกระตุ้นศก.ระยะสั้น

    โฆสิต เชื่อ ครม.ใหม่มีความรู้-ความสามารถขับเคลื่อนประเทศได้ แต่แนะต้องโปร่งใส-โครงการลงทุนต้องชัดเจน เชื่อ จีดีพีปีนี้โตตามกรอบ 1.5-2% ปีหน้า 4% แนะรัฐบาลใหม่ เน้นสร้างศักยภาพของปท. ไม่จำเป็นต้องใช้นโยบายกระตุ้นศก.ระยะสั้น ชี้ ตลาดหุ้นช่วงนี้ผันผวน เหตุนลท.ตื่นข่าวผู้ว่าเฟด ส่งสัญญาณอาจขึ้นดบ. แต่เชื่อปีหน้าถึงจะปรับขึ้น

    นายโฆสิต ปั่นเปี่ยมรัษฏ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคาร กรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL เปิดเผยว่า รัฐบาลและคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศนั้น ถือเป็นบุคคลที่มีความรู้ คสามสามารถที่จะเข้ามาขับเคลื่อนประเทศไทยในเวลาสำคัญได้เป็นอย่างที่ แต่สิ่งที่รัฐบาลชุดนี้ควรต้องดำเนินการอย่างมาก คือเรื่องของความโปร่งใส ในด้านการลงทุนต่างๆของภาครัฐฯ และการเตรียมความพร้อมของการดำเนินโครงการ ซึ่งต้องมีความชัดเจน จากที่ผ่านมาไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะไม่มีความชัดเจน

    "เรื่องความซื่อสัตย์ ความโปร่งใสเป็นเรื่องใหญ่ และสำคัญมาก รวมไปถึงการเตรียมโครงการลงทุนต่างๆ ที่ต้องชัดเจน ต้องมีโครงการก่อน แล้วถึงค่อยเบิกจ่ายงบประมาณได้ ไม่ใช่ยังไม่มีโครงการอะไรเลยแต่ไปงบฯไว้แล้วล่วงหน้า เหมือนตอนงบฯ 2 ล้านล้านบาท ทำให้มีปัญหาติดขัด" นายโฆสิต กล่าว

   นอกจากนี้ เรื่องสำคัญอีกเรื่องก็คือ การปฏิรูปประเทศ ซึ่งทุกฝ่ายก็ฝากความหวังไว้ที่รัฐบาลชุดนี้ ซึ่งก็น่าจะเป็นไปได้ด้วยดี ในขณะที่การทำงานภายใต้รัฐบาลทหารนั้น นายโฆสิต ให้ความเห็นว่าตอนนี้ความสงบของประเทศชาติเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพราะการดำเนินงานเพื่อให้เกิดความสงบเป็นข้อแม้ที่สำคัญที่จะทำให้ประเทศก้าวไปข้างหน้าได้ จึงมีความจำเป็นต้องมีฝ่ายความมั่นคงเข้ามาบริหารประเทศร่วมกัน ซึ่งเชื่อว่จะเป็นที่ยอมรับกับสังคมโลกได้

    "ไม่มีประเทศไหนที่เดินหน้าได้โดยไม่มีความสงบ เราก็เห็นทั้งจากในยูเครน อิรัก หรือแม้แต่อิสราเอล มันเดินหน้าไม่ได้ถ้าประเทศไม่สงบฉะนั้น ผมคิดว่าต่างชาติน่าจะเข้าใจในเหตุผล สำหรับไทยนั้นคงไม่มีปัญหาอะไร"นายโฆสิต กล่าว

    นายโฆสิต กล่าวด้วยว่า ในปีนี้ เชื่อว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจ หรือจีดีพี จะเติบโตได้ในกรอบ 1.5-2% ตามที่สภาพัฒน์ประมาณการไว้ แม้ว่าการส่งออกที่ถือเป็นตัวผลักดันหลัก ซึ่งล่าสุดยังติดลบอยู่ รวมไปถึงการบริโภคภาคเอกชน จะไม่สามารถขับเคลื่อนได้ดี แต่เศรษฐกิจก็ยังมีในส่วนของภาคการท่องเที่ยว การลงทุนภาครัฐ และรัฐวิสาหกิจเป็นตัวช่วยได้ ซึ่งคาดว่าในไตรมาส 4 นี้ เมื่อมีรัฐบาลแล้ว การเบิกจ่ายงบประมาณน่าจะช่วยหนุนในเศรษฐกิจทั้งปีนี้ดีขึ้น ส่วนปี 2558 คาดว่าเศรษฐกิจจะกลับมาขยายตัวได้ประมาณ 4% ตามศักยภาพ และส่วนหนึ่งคือฐานที่ต่ำจากปีนี้

    "จุดสำคัญของเศรษฐกิจไทยอยที่การส่งออก เพราะมีสัดส่วนถึง 58% ต่อจีดีพี ซึ่งตอนนี้ยังติดลบอยู่ ขณะที่การบริโภคภาคเอกชน ที่มีสัดส่วน 54.4% ต่อจีดีพีก็ติดหล่ม เพราะฉะนั้นปีนี้เราจึงหวังพึ่ง 2 ส่วนนี้ไม่ได้ ความหวังจึงอยู่ที่การท่องเที่ยว การใช้จ่ายภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ที่มีสัดส่วนเพียง 9.8% 2.9% และ 2.6% ดังนั้นเมื่อดูแล้ว ปีนี้ที่เราจะโต 1.5-2% ก็จะมาจากดุลบัญชีเดินสะพัด ที่เราได้มาจากการบริการ และการทดแทนการนำเข้าของผู้ผลิตสินค้าแม้ส่งออกจะไม่ดีก็ตาม จึงช่วยจีดีพีปีนี้ได้"นายโฆสิต กล่าว

     อย่างไรก็ดี เขากล่าวว่า ยังไม่เห็นถึงความจำเป็นในการใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น แต่ควรเน้นสร้างศักยภาพของประเทศเป็นเรื่องใหญ่ เว้นแต่รัฐบาลมีความจำเป็นจริงถึงจะทำเท่านั้น ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงแนวทางการส่งเสริม หรือสนับสนุนให้ประชาชนบริโภคมากจนเกิน โดยใช้ประชานิยม เพราะยิ่งจะทำให้หนี้สินเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเห็นได้จากหนี้ภาคครัวเรือนในปัจจุบันที่สูงขึ้นมาอยู่ที่ 82% ต่อจีดีพี

    "ไม่มีความจำเป็นต้องเน้นกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นสูงเกินไป ไม่มีความจำเป็นต้องทำให้มันโต ไม่มีความจำเป็นใดๆ ทั้งสิ้น แต่หากเศรษฐกิจติดลบมากๆ อย่างตอนปี 54 ถึงจะจำเป็น เพราะการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบนี้ ไม่ใช่วิถีที่จะทำให้ประเทศเติบโตแบบยั่งยืนได้"นายโฆสิต กล่าว

     เขากล่าวว่า แนวทางที่ถูกต้องคือ การสร้างภูมิคุ้มกันให้ประชาชนรู้จักการออม ซึ่งปัจจุบันการออมภาคครัวเรือนลดลงเหลือเพียง 5% เมื่อเทียบกับปี 2542 ที่อยู่ในระดับ 10% ขณะที่อายุขัยของคนไทยนานขึ้น หรือเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ซึ่งหากไม่มีการออมเงินจะมีปัญหาในอนาคต

    ส่วนภาวะการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ที่ค่อนข้างผันผวนในช่วงนี้ เป็นผลมาจากนักลงทุนบางส่วนเทขายหุ้นออกไป รับข่าวที่นางเจเน็ต เยลเลน ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (เฟด) ส่งสัญญาณว่าอาจปรับขึ้นดอกเบี้ย หากตลาดแรงงานของสหรัฐฯ ดีขึ้น

    "พอข่าวนี้ออกมาตอนนี้ก็เลยตื่นเต้นกันใหญ่ แต่อย่าเพิ่งไปตีความ เพราะยังมาไม่ถึง ผมเชื่อว่าปีนี้ยังไม่ขึ้น แต่ปีหน้าถึงจะขึ้น เพียงแต่ตามธรมมชาติของนักลงทุน จะไม่รอโดยจะขายออกไปก่อน เห็นจากตลาดหุ้นที่ผันผวน ขึ้นๆลงๆ ระหว่างวันมาก" นายโฆสิต กล่าว

   เขากล่าวว่า ตอนนี้เงินทุนไหลเข้าในประเทศเริ่มลดลงเนื่องจากข่าวดังกล่าว ซึ่งมีผลอย่างมากต่อการดึงดูดให้เม็ดเงินไหลกลับออกไป จากก่อนหน้านี้ตั้งแต่ปี 2009 เป็นต้นมา ที่มีเม็ดเงินไหลเข้ามามาก เพราะอัตราดอกเบี้ยสหรัฐที่ต่ำ ประกอบกับการออก QE ของเฟด แต่เมื่อสหรัฐฯ เตรียมจะขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้ง จึงเป็นปกติที่เงินทุนจะเคลื่อนย้ายออกไปหาผลตอนแทนที่ดีกว่า

   "จริงๆแล้ว ไม่มีอะไรที่จะตื่นตะลึง และกระทบกับเศรษฐกิจโลกมากไปกว่า 2 เรื่องใหญ่ คือ สหรัฐฯขึ้นดอกเบี้ยและ จีนเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยขึ้นมา เพราะว่าขนาดเศรษฐกิจของ 2 ประเทศนี้ใหญ่มาก และมีผลกระทบต่อทั้งโลก"ประธานกรรมการบริหาร BBL ระบุ

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

ภาคธุรกิจขานรับครม.ชุดใหม่ แนะบริหารงานโปร่งใส-เลิกประชานิยม ส่งเสริมการออม

    นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคาร กรุงเทพ (BBL) กล่าวว่า รัฐบาลชุดใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศ ล้วนแต่เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถที่เข้ามาขับเคลื่อนประเทศไทยในเวลาสำคัญ โดยสิ่งที่รัฐบาลควรต้องดำเนินการอย่างมาก คือเรื่องของความโปร่งใส ด้านการลงทุนต่างๆของภาครัฐ และการเตรียมความพร้อมของการดำเนินโครงการ ซึ่งต้องมีความชัดเจน จากที่ผ่านมาไม่สามารถดำเนิการได้ เนื่องด้วยยังไม่มีความชัดเจนและติดขัดขั้นตอนบางประการ อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญที่สุดคือเรื่องของการปฎิรูปประเทศ ซึ่งทุกฝ่ายก็ฝากความหวังไว้ที่รัฐบาลชุดนี้ ซึ่งก็น่าจะเป็นไปได้ด้วยดี

    "ผมมองว่ารัฐบาลชุดนี้ดีนะ เราได้คนที่มีความรู้ความสามารถที่จะมาช่วยขับเคลื่อนประเทศไทย ในเวลาสำคัญ เชื่อมั่นว่าความรู้ความสามารถของท่านทั้งหลายจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ"นายโฆสิต กล่าว

    ส่วนการทำงานภายใต้รัฐบาลทหาร ตนเองมองว่าความสงบของประเทศชาติมีความสำคัญที่สุด ซึ่งการดำเนินงานเพื่อให้เกิดความสงบเป็นข้อแม้ที่สำคัญที่จะทำให้ประเทศสามารถก้าวไปข้างหน้าได้ จึงมีความจำเป็นต้องมีฝ่ายความมั่นคงเข้ามาบริหารประเทศร่วมกัน ขณะที่ก็เห็นว่าน่าจะเหมาะสมกับยุคสมัย และเชื่อว่าจะเป็นที่ยอมรับกับสังคมโลกได้

   "ไม่มีประเทศไหนที่เดินหน้าได้โดยไม่มีความสงบ เห็นได้จาก ยูเครน อิรัก หรือแม้กระทั่งอิสราเอล มันเดินหน้าไม่ได้ทั้งนั้น ฉะนั้น ความสงบเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะเดินหน้าประเทศภายใต้กรอบนี้ ผมคิดว่าต่างชาติน่าจะเข้าใจในเหตุผล สำหรับไทยก็คงไม่มีปัญหา" นายโฆสิต กล่าว

    นายโฆสิต กล่าวว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) โอกาสที่จะเติบโตได้ในปีนี้ 1.5-2% (อิงตามข้อมูลของสภาพัฒน์) น่าจะเป็นไปได้ ขณะที่ก็มองว่ายังไม่เห็นถึงความจำเป็นในการใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งควรจะทำเฉพาะเรื่องที่จำเป็นเท่านั้น ขณะเดียวกันก็ควรหลีกเลี่ยงกับแนวทางการส่งเสริมให้เกิดการบริโภคเพิ่มมากขึ้นหรือประชานิยม เพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโตในระยะสั้น ซึ่งจะส่งผลเสียต่อวินัยการออม รวมถึงก่อให้เกิดหนี้ในภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้น

   อย่างไรก็ตาม แนวทางที่ถูกต้องคือ การสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนให้รู้จักการออม โดยปัจจุบันการออมภาคครัวเรือนลดลงเหลือ 5% เมื่อเทียบกับปี 42 ที่อยู่ในระดับ 10% ขณะที่อายุขัยของคนไทยจะนานขึ้น หรือเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ซึ่งหากไม่มีการออมเงินจะมีปัญหาในอนาคตได้

   ขณะที่ปี 58 คาดว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) น่าจะเติบโตได้ 4% เป็นไปตามศักยภาพของประเทศ และเติบโตจากฐานที่ต่ำในปี 57

   นายโฆสิต กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ภาวะการซื้อขายหลักทรัพย์ของไทยค่อนข้างผันผวน จากที่มีการรับข่าว นางเจเน็ต เยลเลน ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (เฟด) ส่งสัญญาณอาจจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หากตัวเลขภาคแรงงานออกมาดี ส่งผลให้นักลงทุนบางส่วนเทขายหุ้นออกไป ซึ่งมองว่าเฟดจะยังไม่ขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้อย่างแน่นอน แต่จะเป็นการปรับขึ้นในปีหน้า เตือนนักลงทุนอย่างตื่นตระหนก

     ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย และผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ประเทศไทยต้องตอบโจทย์ระยะสั้น ปานกลาง และระยะยาวให้ได้ จะเห็นได้จากปัจจุบันที่เศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัวช้ากว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ โดยที่ผ่านมาคาดว่าจะมีการฟื้นตัวขึ้นได้ในไตรมาส 3/57 แต่กลับไม่มีสัญญาณการฟื้นตัว และยังคงเผชิญหน้ากับความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะปัญหาระหว่างรัสเซียและยูเครน ส่งผลให้การส่งออกของไทยขยายตัวติดลบ และไม่น่าจะเป็นไปตามเป้าหมายที่คาดว่าจะขยายตัวในปีนี้ได้ 3% ซึ่งอาจจะทำให้การส่งออกขยายตัวลดลงเหลือ 1-1.5%

    ทั้งนี้ จากเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ ก็จะส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าเกษตร เช่น ข้าวและยางพารา ที่ราคาอยู่ในระดับที่ทรงตัว ซึ่งน่าจะมีผลต่อกำลังซื้อของไทยที่ชะลอตัวต่อเนื่อง เนื่องจากเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆค่อนข้างนิ่ง ประชาชนไม่กล้าจับจ่ายใช้สอย และเด็กที่จบการศึกษาใหม่ก็จะหางานทำได้ช้า

                อินโฟเควสท์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!