- Details
- Category: วิเคราะห์-เศรษฐกิจ
- Published: Monday, 01 September 2014 19:56
- Hits: 3729
อีโค+โฟกัส: การบ้าน 'ทีมเศรษฐกิจ' ประยุทธ์ #1 ชื่อเสียง 'สอบผ่าน' ผลงาน 'รอพิสูจน์'
ไทยโพสต์ : หลังจากได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 29 ของไทย เมื่อวันที่ 21 ส.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เดินหน้าเสนอรายชื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทันที เพื่อให้เป็นไปตามคำมั่นสัญญาที่จะแต่งตั้งให้เสร็จภายในเดือน ก.ย.นี้
'อีโคโฟกัส'ฉบับนี้ ขอโฟกัสไปที่'ทีมเศรษฐกิจ'เนื่องจากเป็นที่จับตาของทุกฝ่าย สำหรับบุคคลที่จะเข้ามาเป็นทีมเศรษฐกิจ ในภาวะที่เศรษฐกิจไทยกำลังถูกท้าทายและเผชิญกับปัจจัยลบรอบด้าน
สำหรับทีมเศรษฐกิจ ครม.ประยุทธ์ #1 นำทีมโดย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี คุมงานเศรษฐกิจ นายสมหมาย ภาษี รมว.กระทรวงการคลัง นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รมว.กระทรวงอุตสาหกรรม นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รมว.กระทรวงพลังงาน พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.กระทรวงพาณิชย์ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.กระทรวงคมนาคม นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมช.กระทรวงพาณิชย์ นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เชื่อมั่นว่าโฉมหน้าว่าที่รัฐมนตรีภายใต้ ครม. พล.อ.ประยุทธ์ เป็นบุคคลที่มีความสามารถทั้งสิ้น และจะมีการทำงานประสานกันได้เป็นอย่างดี เนื่องจากหัวหน้า คสช.ยืนยันชัดเจนว่าเป็นคนคัดเลือกบุคคลที่มีความเหมาะสมเข้ามารับหน้าที่ในแต่ละส่วนด้วยตัวเอง จึงเชื่อว่า ครม.ชุดนี้ จะมีความสามารถและผลักดันให้ประเทศไทยเดินหน้าต่อไปได้อย่างมีศักยภาพ
สำหรับ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร มีความเชี่ยวชาญทั้งด้านการเงินและการคลัง เนื่องจากเคยรับตำแหน่งเป็นทั้งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ รมว.การคลัง จึงจะมีความเข้าใจในระบบการทำงาน และโครงสร้างการทำงานแต่ละส่วนเป็นอย่างดี รวมถึงมีความเข้าใจการทำงานร่วมกับภาคเอกชนด้วยการมองภาพกว้างในการบริหารและดูแลเศรษฐกิจว่าควรเป็นไปในทิศทางไหน
ด้านนายสมหมาย อดีตลูกหม้อกระทรวงการคลัง เชื่อว่าจะใช้ความสามารถ ความเชี่ยวชาญและความคุ้นเคยเข้ามาดูแลงานสำคัญ โดยเฉพาะการปฏิรูปโครงสร้างภาษีทั้งระบบ และช่วยให้ภาครัฐสามารถจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้น
ขณะที่นายจักรมณฑ์ ถือเป็นอีกบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ โดยเฉพาะในเรื่องการจัดโรดโชว์ให้ข้อมูลกับนักลงทุนในต่างประเทศ รู้กระบวนการ วิธีการและแนวคิดที่เหมาะสมเป็นอย่างดี และเชื่อว่าจะเข้ามาพัฒนาแวดวงอุตสาหกรรมให้มีการต่อยอดและมีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น ส่วนนายปีติพงศ์ เชื่อว่าจะสามารถทำงานในการพัฒนาและฟื้นฟูภาคเกษตรของไทยได้อย่างไร้ปัญหา เพราะเป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถไม่แพ้บุคคลอื่นๆ
สำหรับ พล.อ.ฉัตรชัย ที่มีชื่อเป็น รมว.พาณิชย์ และนางอภิรดี เป็น รมช.พาณิชย์ ทั้ง 2 คนเป็นบุคคลที่มีความเข้าใจด้านเศรษฐกิจในมุมมองของกระทรวงพาณิชย์เป็นอย่างดี
ขณะที่ พล.อ.อ.ประจิน รองหัวหน้า คสช. ในฐานะหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ จะเข้ามาเสริมการดำเนินงานด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ ผ่านโครงการลงทุน วงเงิน 2.4 ล้านล้านบาท ที่ คสช.เพิ่งอนุมัติไปในช่วงก่อนหน้านี้ ซึ่งจะทำให้การดำเนินงานในส่วนนี้มีความคืบหน้าอย่างรวดเร็ว และช่วยสนับสนุนภาพรวมเศรษฐกิจของไทยให้เติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
"แนวทางการคัดเลือกผู้ที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีใน ครม.ชุดใหม่นี้ เปรียบเสมือนทีมฟุตบอลที่การทำงานจะมีการรับส่งลูกกันไปมาเป็นทิศทางเดียวกัน หรือเพียงมองตาก็รู้ใจ ทำให้การทำงานด้านเศรษฐกิจเดินหน้าไปได้อย่างเข้มแข็ง และจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยกลับมาเติบโตได้อย่างยั่งยืนในที่สุด" นายธนวรรธน์กล่าวนายธนวรรธน์กล่าวว่า หลังจากมีรัฐบาลใหม่อย่างเป็นทางการแล้ว สิ่งที่ควรจะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุดนั้น คือ การกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ให้เกิดกำลังซื้อในประเทศที่มากขึ้น โดยการวางนโยบายกระตุ้นต่างๆ จะต้องมองภาพในระยะยาว ผ่านการเบิกจ่ายงบประมาณให้รวดเร็วกว่าในปัจจุบัน แต่ในปีนี้เศรษฐกิจไทยเสียเวลากับปัญหาการเมืองมาค่อนข้างนาน ทำให้คาดว่าจีดีพีปีนี้จะขยายตัวได้ต่ำกว่า 2% ขณะที่ปี 2558 เชื่อว่าจีดีพีจะเติบโตได้มากกว่า 5%
นายมนูญ ศิริวรรณ นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน กล่าวว่า ปัจจุบันด้านพลังงานกำลังเป็นปัญหาสังคมที่ถกเถียงกันมากมาย สิ่งที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานจะต้องเข้ามาดูแลเร่งด่วน ได้แก่ 1.ความ มั่นคงด้านพลังงานระยะยาวจะจัดการอย่างไร 2.ต้องเร่งพิจารณาโครง สร้างราคาพลังงาน สร้างความชัดเจนด้านการจัดสรรทรัพยากรปิโตรเลียมให้เหมาะสม
อย่างไรก็ตาม เห็นว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ควรต้องรอบรู้ประเด็นปัญหาพลังงาน และมองถึงการแก้ไขปัญหาพลังงานของประเทศแบบระยะยาว ไม่ใช้การแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ และไม่ควรนำพลังงานมาทำประชานิยม เพราะที่ผ่านมาหลายรัฐบาลใช้พลังงานเป็นเครื่องมือสร้างประชานิยมกันมาตลอด ซึ่งเป็นต้นตอของปัญหาพลังงานที่เรื้อรังมาจนถึงปัจจุบัน
"การที่นายณรงค์ชัยจะมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่ เห็นว่ามีความเหมาะสม เนื่องจากเป็นนักเศรษฐศาสตร์ มีความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์มหภาคเป็นอย่างดี มีวิสัยทัศน์ เป็นคนเก่งที่อยู่แวดวงด้านการบริหารมานาน จึงมีประสบการณ์บริหารที่ดี จึงน่าจะสามารถบริหารพลังงานทั้งภาครัฐและเอกชนได้ดี แต่นายณรงค์ชัยอาจจะมีประสบการณ์ด้านพลังงานไม่มากนัก ดังนั้น จึงควรมีทีมงานที่แข็งแกร่งด้านพลังงานเข้ามาช่วยอีกทาง เพื่อให้บริหารงานและแก้ไขปัญหาพลังงานมีประสิทธิผล"นายมนูญ ระบุ
นายพิชัย ถิ่นสันติสุข ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ที่ผ่านมากระทรวงอุตสาหกรรมอยู่ในยุคที่ตกต่ำที่สุด ทั้งในด้านชื่อเสียง และการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศ ไม่มีความคิดสร้างสรรค์ด้านการพัฒนาและสร้างอุตสาหกรรมใหม่ๆ ทั้งที่ประเทศกำลังจะก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในต้นปี 2559
โดยที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรมมัวแต่ไปมุ่งแก้ปัญหาเฉพาะเรื่องใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) อยู่อย่างเดียว ทำให้กระทรวงอุตสาหกรรมอยู่ในยุคที่ตกต่ำอย่างแท้จริง
ดังนั้น ไม่ว่าใครจะเข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมคนต่อไป ถือว่าดีทั้งหมด เพราะไม่มีอะไรจะเสียแล้ว แต่ผู้ที่จะมาเป็นรัฐมนตรีจะต้องเร่งสร้างยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมประเทศใหม่ทั้งระบบ ต้องช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้ามากขึ้น ลดต้นทุนค่าแรงงาน และจัดสรรพื้นที่อุตสาหกรรมอย่างเหมาะสม
"การที่นายจักรมณฑ์มาเป็นรัฐมนตรีอุตสาหกรรม ถือว่าสอบผ่าน เนื่องจากเป็นนักวิชาการมาก่อน น่าจะมีความคิดในเชิงอุตสาหกรรมใหม่ได้ และที่ผ่านมาก็ไม่พบว่ามีปัญหาทางด้านการเมือง จึงน่าจะเป็นคนเหมาะสม บริหารงานอุตสาหกรรมได้ดี" นายพิชัยกล่าวสำหรับสิ่งที่ควรเข้ามาพัฒนาอุตสาหกรรมไทยในด้านพลังงานนั้น เห็นว่าควรเปลี่ยนเกษตรอุตสาหกรรมให้เป็นเกษตรพลังงาน คือ นำพืชส่วนเกินจากการบริโภค มาพัฒนาเป็นพลังงาน สร้างมูลค่าเพิ่ม โดยเฉพาะข้าว ยางพารา ปาล์ม และอ้อย ซึ่งทุกวันนี้มีเพียงการนำอ้อยมาทำเป็นพืชพลังงานอันเดียว ซึ่งพืชอื่นๆ ยังมีศักยภาพที่เป็นพลังงานได้อีกมาก
นายบุญฤทธิ์ มหามนตรี ประธาน บริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ตั้งแต่มีการตั้งทีมที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา โดยส่วนตัวก็เห็นว่าบุคคลเหล่านั้นล้วนแล้วแต่มีคุณสมบัติที่ดีและเหมาะสมอยู่แล้ว มองว่าหากมีผู้ที่จะเข้ามาดูแลเรื่องเศรษฐกิจหรือเป็นรัฐมนตรีในส่วนนี้ คงจะเป็นบุคคลใดสักคนก็ได้ที่อยู่ในทีมที่ปรึกษาตั้งแต่แรกเริ่ม เพราะเป็นกลุ่มบุคคลที่มีคุณภาพอยู่แล้ว
"สำหรับประเทศไทยในตอนนี้ ไม่ต้องมีซูเปอร์แมน หรือวีรบุรุษ แต่ควรจะมีการทำงานที่เป็นซูเปอร์ทีม เพื่อช่วยกันคิด และนำบทเรียนต่างๆ ที่เกิดขึ้นของประเทศกลับมาทบทวนมากกว่า สิ่งสำคัญในขณะนี้คือ การมีทีมเวิร์กที่ดีในการช่วยกันคิดแก้ไขปัญหา อันที่จริงเศรษฐกิจของไทยไม่ได้มีความอ่อนแอ แต่ที่ผ่านมามีเพียงบางนโยบายที่ทำให้เป็นเช่นนั้น" นายบุญฤทธิ์กล่าว
นายไชยวัฒน์ เหลืองอมรเลิศ ประธานกรรมการ บริษัท ซิตี้วอล์ค จำกัด ผู้บริหารสยามพาร์คซิตี้ สวนสยาม กล่าวว่า มีความเชื่อมั่นอยู่แล้วว่าคนที่จะเข้ามาดูแลด้านเศรษฐกิจจะมีคุณภาพ เพราะในตอนนี้ประเทศไทยมีนายกฯ ที่มีความสามารถเป็นทุนอยู่แล้ว มองว่าไม่ว่าจะทำการสรรหาบุคคลใดก็ตามเข้ามาดูแลเรื่องของเศรษฐกิจ แต่ท้ายสุดทุกอย่างย่อมขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรีคนเดียวเท่านั้น
"ประเทศไทยต้องมีความเชื่อมั่นในตัวของผู้นำ ซึ่งประเทศที่จะสามารถก้าวไปสู่การเจริญได้ ตัวผู้นำเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด โดยยังมองว่านายกรัฐมนตรีย่อมรู้ดีอยู่แล้วว่าต้องแก้ไขปัญหาอะไรบ้าง เพราะก่อนรัฐประหารคงต้องมีการศึกษาด้านต่างๆ มาเป็นอย่างดีแล้ว" นายไชยวัฒน์ ระบุ
นายโอภาส ศรีพยัคฆ์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเม้นท์ กล่าวว่า การที่ได้นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ เชื่อว่าจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศได้มากขึ้น
สำหรับ ครม.ชุดใหม่ มั่นใจว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ไปในทิศทางที่ดีได้ อย่างไรก็ดี หลังจากนี้อยากให้มีการบริหารในเรื่องนโยบายที่จะมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ พร้อมๆ กับการบริหารทรัพยากรบุคคลให้มีคุณภาพ เพราะเชื่อว่าการบริหารประเทศให้มีประสิทธิภาพ ต้องเริ่มจากการทำให้บุคลากรมีคุณภาพ และจะทำให้การบริหารงานต่างๆ ดีตามไปด้วย
นายพิสิฏฐ์ พันธุ์สมิง ผู้อำนวยการสายงานบริหารธุรกิจ บมจ.แอกซ่าประกันภัย เชื่อว่าหลังจากนี้ภาพรวมเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัว ซึ่งนายกฯ คนใหม่น่าจะเหมาะสมกับสถานการณ์ในขณะนี้
"ประเทศไทยประสบปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองมาเป็นเวลาหลายปี ซึ่งหาทางออกไม่ได้ และมีผลกระทบเป็นวงกว้าง ก็น่าจะถึงเวลาที่ประเทศไทยต้องจัดการปัญหาเพื่อตั้งต้นกันใหม่ จะเป็นใครก็ได้ที่เป็นที่ยอมรับของทุกๆ ฝ่ายเป็นส่วนใหญ่" นายพิสิฏฐ์กล่าว นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท หลักทรัพย์ ทิสโก้ ระบุว่า จากการบริหารงาน 3 เดือนที่ผ่านมาของ พล.อ.ประยุทธ์ มองว่าเป็นผู้ที่มีความเหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะสามารถทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจกลับมาเติบโตได้ค่อนข้างดี อีกทั้งยังทำให้ประเทศชาติสงบและก้าวต่อไปข้างหน้าได้
ทั้งนี้ ภารกิจของนายกรัฐมนตรี 1 ปีนับจากนี้ ควรเป็นการเร่งสร้างความสมานฉันท์ของคนในชาติ สร้างความปรองดอง และเร่งปฏิรูปในทุกๆ ด้าน
นายไพบูลย์เชื่อว่าการพิจารณาแต่งตั้งรองนายกฯ และรัฐมนตรีที่มีความรู้ ความสามารถ มาช่วยงานของ พล.อ.ประยุทธ์ จะได้ทีมเศรษฐกิจที่ดี ที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้มีการเติบโตได้ดี ซึ่งจะช่วยให้ตลาดหุ้นไทยสามารถปรับตัวไปในทิศทางที่ดีได้ด้วย นอกจากนี้ ทั่วโลกมักจะเน้นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และนักลงทุนจะให้น้ำหนักมากกับแผนโรดแม็พเศรษฐกิจระยะยาว จึงอยากให้รัฐบาลพัฒนาจุดนี้ให้มากพอสมควร เพื่อให้ตัวเลขเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังฟื้นตัวได้ตามเป้าที่ตั้งไว้.