- Details
- Category: ปปท.
- Published: Friday, 05 September 2014 19:02
- Hits: 10869
ปปท.สอบจัดซื้อ‘โซลาร์เซลล์’ส่อโคตรโกงแพงกว่าตลาด 100%
แนวหน้า ซ : ปปท.สอบจัดซื้อ‘โซลาร์เซลล์’ ส่อโคตรโกง แพงกว่าตลาด 100% ลุยบุรีรัมย์เจอคาตา ชงตั้งไต่สวนเร่งด่วน
เมื่อวันที่ 4 กันยายน นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) พร้อมด้วยนายนภดล เพชรสว่าง ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ท. เขต 3 นครราชสีมา และคณะทำงานได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการจัดซื้อจัดจ้างโครงการเงินอุดหนุนเฉพาะกิจระบบส่องสว่างพลังงานแสงอาทิตย์หรือ'โซล่าเซลล์'ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ อ.หนองกี่ โนนสุวรรณ และ อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ ป.ป.ท.ได้รับการแจ้งเบาะแสจากสายลับว่า ได้เกิดความไม่ชอบมาพากลในโครงการดังกล่าวเนื่องจากมีเจ้าหน้าที่ขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หลายแห่งในอำเภอนางรอง จ.บุรีรัมย์ ถูกบุคคลกลุ่มหนึ่งบังคับ ขู่เข็ญให้เสนอโครงการเพื่อขอรับเงินอุดหนุนเฉพาะกิจโครงการดังกล่าว และมีการจัดซื้อจัดจ้างโครงการดังกล่าวในราคาสูงเกินความเป็นจริง
จากการลงพื้นที่ตรวจสอบที่ อบต.โคกสว่าง อ.หนองกี่ และ อบต.ดงอีจาน อ.โนนสุวรรณ พบว่ามีการจัดซื้อโซล่าเซลล์ แห่งละ 17 ต้น ในราคาชุดละ 114,000 บาทต่อต้น โดย 1 ต้นจะประกอบไปด้วย เสาชุบกัลป์วาไนซ์ สูง 6 เมตรพร้อมกิ่ง แผงเซลล์ แสงอาทิตย์โมโนคลิสตัล ซิลิกอน ขนาด 130 วัตต์ ชุดโคมไฟพร้อมหลอด LED ขนาด 32 วัตต์ กล่องโลหะชุบกัลป์วาไนซ์ ชุดควบคุมประจุแบตเตอรี่12โวลต์10แอมป์และแบตเตอรี่ชนิดไม่ต้องเติมน้ำ รวม 6 รายการ
ขณะที่จากการตรวจสอบการติดตั้งโซล่าเซลล์ อบต.หนองโสน อ.นางรอง มีการจัดซื้อในราคาชุดละเพียง 42,000 บาทและจากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าคุณภาพ และปริมาณวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้คล้ายกัน
สำหรับ โครงการจัดซื้อจัดจ้างโครงกาโซล่าเซลล์นี้ เป็นไปตามประกาศคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยใช้งบอุดหนุนเฉพาะกิจของกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นในปีงบประมาณ 2556 ทั้งประเทศที่ได้รับจัดสรรงบ 13 จังหวัด 173โครงการ รวมวงเงินทั้งสิ้นกว่า 18,506 ล้านบาท โดยผู้ดำเนินการจัดซื้อคือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ทั้งนี้ จ.บุรีรัมย์ได้รับการจัดสรรงบประมาณดำเนินโครงการดังกล่าวรวม 31 โครงการ กระจายใน 6 อำเภอ 22 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น งบประมาณ 57.587 ล้านบาท
นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการป.ป.ท. กล่าวว่า การลงพื้นที่ได้ข้อมูลที่สำคัญและเข้าข่ายที่มีการทุจริตจริง จากการลงพื้นที่ตรวจสอบ 3 อำเภอ จาก 6 อำเภอ ของจังหวัดบุรีรัมย์ ได้แก่ อำเภอนางรอง อำเภอหนองกี่ และอำเภอโนนสุวรรณ พบว่ามีเพียงอำเภอนางรอง เพียงอำเภอเดียวที่มีการจัดซื้อระบบส่องสว่างพลังงานแสงอาทิตย์ โซล่าเซลล์ ในราคาชุดละไม่เกิน 48,000บาท โดยใช้งบการจัดซื้อทั้งสิ้น 17 ชุด รวมเป็นเงิน 816,000บาท ต่างจาก 5 อำเภอที่เหลือในจังหวัดบุรีรัมย์ ที่มีการจัดซื้อระบบส่องสว่างพลังงานแสงอาทิตย์โซล่าเซลล์ 17 ชุดเท่ากัน แต่มีมูลค่าสูงถึงชุดละ 114,000 บาท โดยใช้งบฯเต็มจำนวนถึง 1,938,000บาท ซึ่งถือเป็นข้อแตกต่างที่เห็นได้ชัด
เพราะมีราคาต่างกันถึงชุดละ 66,000 ต่อต้น เป็นเหตุน่าเชื่อที่จะมีการทุจริตจริงในพื้นที่
อย่างไรก็ตาม ยังพบความผิดปกติอีกหลายอย่าง ทั้งราคาจัดซื้อที่แพงเกินความเป็นจริง แตกต่างจากราคาท้องตลาดถึง 100 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งแต่ละแห่งมีการตั้งงบจัดซื้อจัดจ้างอยู่ที่ราคาประมาณ 1,938,000 บาท แต่ไม่ให้เกิน 2 ล้านบาท เพื่อไม่ให้มีการอีอ๊อกชั่น หรือประมูล โดยจะดำเนินการตรวจสอบให้ครบทั้ง 173 แห่งทั่วประเทศให้แล้วเสร็จภายในปี 2558
“จากข้อมูลที่ตรวจเป็นเหตุให้สงสัยมีการจัดซื้อจัดจ้างโดยมิชอบ ดังนั้นเรื่องนี้ผมจะเสนอให้คณะกรรมการป.ป.ท.ตั้งอนุกรรมการขึ้นไต่สวนอย่างเร่งด่วน และจะตั้งคณะทำงานขึ้นตรวจสอบการใช้งบประมาณโครงการโซล่าเซลล์ทั่วประเทศ 18,506 ล้านบาทที่กระจายลง อบต.ทั่วประเทศ เชื่อว่าอาจจะมีความไม่โปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างเนื่องจากแต่ละอบต.จะจัดซื้อโซล่าเซลล์แห่งละ 17 ต้นเฉลี่ยงบประมาณให้ไม่เกินอบต.ละ 1.9 ล้านบาท ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เป็นโครงการที่มีงบเกิน 2 ล้านบาทขึ้นเพื่อไม่ต้องประมูลผ่านระบบอีอ๊อคชั่น”นายประยงค์ กล่าวระบุ
และหากพบว่า มีการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างไม่เป็นไปตามระเบียบก็จะถูกดำเนินการเอาผิดตามกฎหมาย หรือถ้ามีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการประพฤติมิชอบหรือทุจริตต่อหน้าที่ ก็จะถูกเอาผิดทั้งวินัยและกฎหมายอย่างเด็ดขาดเช่นกันโทษฐานทำให้สูญเสียงบประมาณแผ่นดิน
ด้านนายเกรียงศักดิ์ แผ้วพลสง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองโสน อำเภอนางรอง กล่าวว่า ทางอบต.ได้รับการจัดสรรงบประมาณปี 2556 มูลค่ากว่า 1,938,000บาท ให้จัดซื้อระบบส่องสว่างพลังงานแสงอาทิตย์ โซล่าเซลล์ ด้านนายอำเภอก็ได้เปิดให้บริษัทต่างๆ เข้ามายื่นซองประมูลเพื่อแข่งขันกัน แต่ราคาครั้งแรกที่ได้รับการเสนอ นายอำเภอเห็นว่ามีราคาที่สูงเกินจริง จึงได้เรียกประชุมทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และให้เจ้าหน้าที่ลงไปตรวจสอบราคาจริงในท้องตลาด จึงทราบว่าราคาต้นทุนการจัดสร้างไม่น่าเกิน48,000บาท จึงเปิดให้มีการเสนอราคาแข่งขันใหม่อีกครั้ง โดยผลสรุปการประมูลโครงการได้ราคาต่ำกว่าที่ตั้งไว้ และมีเงินงบประมาณเหลือส่งคืนให้กับสำนักงบประมาณอีกกว่า 1,200,000 บาท