ส่งออกไทย ก.ย.63 หดตัวน้อยลงที่ -3.9%...คาดทั้งปี 63 หดตัวที่ -7.0%
- Details
- Category: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
- Published: Saturday, 12 June 2021 11:13
- Hits: 305
ส่งออกไทย ก.ย.63 หดตัวน้อยลงที่ -3.9%...คาดทั้งปี 63 หดตัวที่ -7.0% (ศูนย์วิจัยกสิกรไทย)
ส่งออกไทยในเดือนก.ย. 2563 อยู่ที่ 19,621.3 ล้านเหรียญฯ หดตัวร้อยละ 3.9 YoY ท่ามกลางอุปสงค์โลกที่ฟื้นตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ส่งผลให้ 9 เดือนแรกการส่งออกไทยหดตัวร้อยละ 7.3 YoY โดยเป็นผลมาจากการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ขยายตัวได้ดีเป็นหลัก ซึ่งปัจจัยผลักดันส่วนหนึ่งมาจากการทำงานที่บ้าน (work from home) ที่ส่งผลให้อุปสงค์ของสินค้าเหล่านี้เพิ่มขึ้นทั่วโลก ประกอบกับมีการเร่งส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เนื่องจากมีความกังวลเกี่ยวกับความตึงเครียดทางการค้าและเทคโนโลยีระหว่างจีนและสหรัฐฯ นอกจากนี้ การส่งออกสินค้าเกษตรก็กลับมาขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังและผักผลไม้ ขณะที่สินค้าประเภทอาหาร เช่น ทูน่ากระป๋อง สุกรแช่เย็นแช่แข็ง เครื่องดื่ม และอาหารสัตว์เลี้ยงก็ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ขณะที่ สินค้าที่การส่งออกหดตัวในเดือนก.ย. 2563 ส่วนมากยังเป็นสินค้ากลุ่มเดิมๆ เช่น รถยนต์ เครื่องจักรกล น้ำมันสำเร็จรูป ยางพารา ข้าว และน้ำตาลทราย ขณะที่การส่งออกทองคำในเดือนก.ย. 2563 กลับมาหดตัวที่ร้อยละ 9.2 เนื่องจากราคาทองคำที่ปรับลดลง หลังจากขยายตัวอย่างมากในเดือนก่อนหน้า
หากพิจารณารายตลาดส่งออกของไทย พบว่า การส่งออกไปยังสหรัฐฯ ยังคงขยายตัวได้ดีเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน ขณะที่การส่งออกไปยังจีน เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย รวมถึงบางประเทศในอาเซียน เช่น เวียดนาม และมาเลเซีย ก็พลิกกลับมาขยายตัว ขณะที่การส่งออกไปยังญี่ปุ่นและสหภาพยุโรปก็หดตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากอุปสงค์โลกมีการฟื้นตัว โดยส่วนหนึ่งเกิดจากความต้องการที่สะสมจากช่วงก่อนหน้า (pent-up demand)
ทั้งนี้ เนื่องจากการส่งออกไทยใน 9 เดือนแรกหดตัวน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ ส่งผลให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยทบทวนประมาณการส่งออกไทยปี 2563 โดยคาดว่า จะหดตัวลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 7.0 จากคาดการณ์เดิมที่ร้อยละ 12.0 โดยสินค้าที่การส่งออกขยายตัวได้ดีในช่วงที่ผ่านมา มีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องในไตรมาส 4/2563 อย่างไรก็ดี การส่งออกไทยในช่วงไตรมาส 4/2563 ยังเผชิญความเสี่ยงจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลก โดยการแพร่ระบาดซ้ำโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุโรปที่การแพร่ระบาดระลอกสองนั้นรุนแรงกว่าในรอบแรกอาจส่งผลให้ความต้องการสินค้าไทยนั้นลดลง ขณะที่ปัจจัยทางการเมืองต่างๆ เช่น ความไม่แน่นอนของการเลือกตั้งในสหรัฐฯ และประเด็นเบร็กซิทที่ยังตกลงกันไม่ได้ น่าจะเป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและกดดันการส่งออกของไทยในระยะข้างหน้า ขณะที่ประเด็นความตึงเครียดระหว่างจีนและสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะยังคงคุกรุ่นและจะเป็นปัจจัยกดดันการค้าโลกอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ราคาทองคำมีแนวโน้มที่จะยังคงผันผวน ท่ามกลางความเสี่ยงที่ยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งการส่งออกทองคำจะเป็นตัวแปรสำคัญที่อาจส่งผลให้การส่งออกไทยผันผวนได้ในระยะข้างหน้า
A6392
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ